คอร์ต ข้อควรรู้การออกแบบคอร์ตในบ้าน - บ้านและสวน
courtyard

ข้อควรรู้การออกแบบคอร์ตในบ้าน

คอร์ต ภายในบ้าน ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับบ้านที่ตั้งอยู่ในเมืองและอาจต้องเจอปัญหาเพื่อนบ้านไม่น่ารัก ถนนเสียงดัง ไม่เป็นส่วนตัว หรือวิวรอบข้างไม่สวยงาม มาดูไอเดียออกแบบบ้านพร้อมคอร์ตกัน

คอร์ต

ที่มาของคอร์ตยาร์ต

คอร์ตยาร์ด (Courtyard) หรือ คอร์ต (Court) คือ ลานหรือพื้นที่ไม่มีหลังคาคลุม และมีผนังหรืออาคารโอบล้อมทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในการออกแบบบ้านสมัยใหม่ เนื่องจากไม่อาจพึ่งพาสภาพแวดล้อมรอบบ้านได้ เช่น ข้างบ้านไม่น่ารัก ติดทางด่วนมีเสียงดัง อยู่ใกล้ตึกสูงทำให้รู้สึกมีคนมองตลอดเวลา หรืออยากได้พื้นที่เปิดโล่งที่เป็นส่วนตัว มาดูวิธีการออกแบบและข้อพิจารณาของการทำคอร์ตในบ้านกัน

เริ่มปรากฏการทำ คอร์ต สำหรับเป็นลานเลี้ยงสัตว์ในหมู่บ้านเมื่อหลายพันปีก่อนคริสต์ศักราช อยู่ในช่วงยุคหินใหม่ (Neolithic หรือ New Stone Age) ซึ่งอยู่ระหว่างยุคหินกลางกับยุคโลหะ เป็นยุคที่เปลี่ยนจากสังคมล่าสัตว์เป็นสังคมเกษตรกรรม โดยอาศัยรวมกันเป็นหมู่บ้าน เริ่มทำการเกษตรอย่างเป็นระบบ มีการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งและสร้างที่พักอาศัยถาวร ทั้งยังพบการทำคอร์ตในหลายประเทศทั่วโลก อย่างซากเมืองโบราณแถบเมโสโปเตเมีย ประเทศแถบตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมถึงหลายประเทศในเอเชียอย่างไทยและจีนก็มีการทำพื้นที่เปิดโล่งในบ้านเช่นกัน

คอร์ต

การทำที่ว่างในคอร์ตกับที่ว่างรอบบ้านต่างกันอย่างไร

พื้นที่ คอร์ต เป็นการสร้างมุมมองและพื้นที่ใช้งานร่วมกัน จึงเหมาะกับพื้นที่ที่ต้องการให้เกิดกิจกรรม และสร้างการรับรู้หรือให้มองเห็นกันได้ และเป็นวิธีเพิ่มพื้นผิวอาคารเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติและเพิ่มการระบายอากาศ แต่เมื่อมีคอร์ตมาคั่นพื้นที่ใช้งานในบ้านแล้ว มักจะทำให้ระยะการเดินในบ้านไกลขึ้น

การสร้างบ้านโดยเว้นพื้นที่ว่างไว้รอบบ้านจะทำให้แต่ละห้องได้ทัศนียภาพต่างกัน พื้นที่ภายในบ้านกระชับทำให้ระยะการเดินไม่ไกลกันและดูแลภายในบ้านได้ง่าย แต่ถ้าที่ดินมีขนาดเล็ก พื้นที่ว่างรอบบ้านแต่ละด้านก็จะถูกแบ่งย่อยจนใช้งานไม่ค่อยได้ จึงเหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่กว้างพอสมควรหรือต้องการเว้นระยะห่างจากพื้นที่ข้างเคียง

รูปแบบของคอร์ต

คอร์ตเกิดจากการจัดวางอาคารที่สัมพันธ์กันพื้นที่ว่าง หากต้องการบ้านที่มีคอร์ตจึงควรเริ่มตั้งแต่การจัดวางผังอาคาร ซึ่งสามารถวางผังเป็นอาคารเดี่ยวและกลุ่มอาคาร เพื่อโอบล้อมหรือเปิดพื้นที่โล่งโดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ คอร์ตที่อยู่ภายนอกอาคาร (Outdoor Courtyard) และคอร์ตที่อยู่ภายในอาคาร (Inner Courtyard) โดยมีรูปแบบการทำคอร์ต ดังนี้

คอร์ต

คอร์ตในกลุ่มอาคาร

การสร้างอาคารหลายหลังเป็นกลุ่มจะเกิดพื้นที่ว่างระหว่างอาคาร ซึ่งสามารถออกแบบให้เป็นทั้งคอร์ตหลักและคอร์ตรองได้ทั้งแบบสมมาตรและไม่สมมาตร รวมถึงใช้คอร์ตเป็นทางเข้าหลักเพื่อกระจายไปยังอาคารต่างๆได้ด้วย

คอร์ต

คอร์ตในอาคารเดี่ยว

        มีรูปแบบการทำคอร์ตได้หลายแบบตามการออกแบบพื้นที่ใช้งาน มาดูไอเดียการวางแปลนบ้านและคอร์ตแบบต่างๆกัน

  • คอร์ตที่มองด้านเดียว เป็นพื้นที่ระหว่างอาคารกับผนัง อาจออกแบบให้ชั้นบนยื่นออกมาเพื่อคลุมพื้นที่ด้านล่างให้มีลักษณะแบบกึ่งกลางแจ้ง (Semi-outdoor space) ซึ่งใช้งานได้โดยไม่เปียกฝน
  • คอร์ตของอาคารรูปตัวแอล (L) เป็นรูปแบบที่นิยมมากที่สุด เพราะได้รับทั้งมุมมองและไม่รู้สึกปิดล้อมเกินไป พื้นที่มีโอบล้อมที่มองเห็นได้สองด้าน หรือถ้าออกแบบอาคารรูปตัวแอลต่อๆกัน ก็จะเกิด  คอร์ตอีกหลายรูปแบบ ซึ่งเหมาะกับอาคารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือการทำบ้านหลายหลังในพื้นที่เดียวกัน
  • คอร์ตของอาคารรูปกากบาท จะเกิดคอร์ตที่มุมอาคารทั้งสี่ด้าน ซึ่งสามารถออกแบบมุมมองให้เห็นแต่ละคอร์ตมีความแตกต่างกัน
  • คอร์ตของอาคารรูปตัวโอ (O) เป็นพื้นที่โอบล้อมที่มองเห็นได้สี่ด้าน พื้นที่ภายในมีความเป็นส่วนตัวที่สุด
  • คอร์ตของอาคารรูปตัวโอมีช่องเปิด  เป็นพื้นที่โอบล้อมที่มองเห็นได้สี่ด้าน แต่เปิดให้มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ภายนอก อาจใช้เป็นทางเข้าอาคาร หรือเปิดให้ลมพัดผ่านได้ดีขึ้น
คอร์ต
  • คอร์ตของอาคารรูปตัววาย (Y) จะได้ทั้งพื้นที่โอบล้อมที่แบบตัวยูที่เป็นส่วนตัวสูง และแบบตัวแอลที่เปิดโล่งซึ่งอาจออกแบบเป็นส่วนทางเข้าบ้านได้
  • คอร์ตของอาคารรูปตัวแซด (Z) นิยมใช้สำหรับการสร้างคอร์ตหลักและคอร์ตรอง
  • คอร์ตของอาคารรูปตัวเอช (H) จะได้ทั้งพื้นที่โอบล้อมที่แบบตัวยูสองฝั่ง ซึ่งอาจใช้ในการออกแบบเพื่อแยกสัดส่วนพื้นที่ใช้งานได้ชัดเจน เช่น พื้นที่รับรองแขกกับพื้นที่ส่วนตัว หรือมีหลายครอบครัวอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน
  • คอร์ตของอาคารรูปตัวยู (U) เป็นพื้นที่โอบล้อมที่มองเห็นได้สามด้าน สามารถออกแบบอาคารให้มีระดับสูงต่ำ หรือทะลุโล่งบางส่วนเพื่อให้ลมพัดผ่านคอร์ตได้ดี หรือทำคอร์ตภายในอีกคอร์ตก็ได้
คอร์ต

การใช้ประโยชน์จากคอร์ต

การออกแบบคอร์ตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การใช้งาน ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาตำแหน่งการเปิดคอร์ต

  • คอร์ตที่เน้นการออกไปใช้งาน แนะนำให้วางตำแหน่งคอร์ตทิศเหนือหรือตะวันออก ซึ่งมีแสงแดดส่องช่วงเช้าและไม่ร้อนมาก หรือดูทิศทางให้มีร่มเงาของอาคารช่วยบังแดด มีช่องลมให้อากาศพัดผ่านได้ ก็จะออกไปทำกิจกรรมและใช้พื้นที่ได้สะดวก ไม่ร้อนเกินไป
  • คอร์ตสำหรับเปิดรับแสง-ระบายอากาศ คอร์ตไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ หรือออกไปใช้งานได้เสมอไป แต่สามารถเปิดคอร์ตเล็กๆแทรกระหว่างห้องภายในบ้าน เพื่อรับแสงธรรมชาติและเป็นช่องระบายอากาศที่ช่วยให้ภายในบ้านไม่อึดอัด โดยที่ไม่เสียความเป็นส่วนตัว
  • คอร์ตเชื่อมพื้นที่ระหว่างชั้น มีการประยุกต์สเปซแบบคอร์ตให้เข้ามาอยู่ในอาคาร โดยทำหลังคาคลุมแล้วเปิดสเปซสูงให้ต่อเนื่องระหว่างชั้น

การเตรียมพื้นที่และโครงสร้างสำหรับคอร์ต

หากทำคอร์ตอยู่ในระดับพื้นดิน การเตรียมพื้นที่ไม่ต่างจากการจัดสวนทั่วไป แต่คอร์ตที่อยู่บนโครงสร้างอาคาร จะต้องออกแบบโครงสร้างและระบบรองรับ โดยมีข้อควรพิจารณาดังนี้

  • ควรระบุฟังก์ชันและวัสดุที่จะอยู่ในคอร์ต ซึ่งมีผลกับการเตรียมความลึกโครงสร้าง การทำงานระบบ และการรับน้ำหนัก เช่น เป็นบ่อน้ำ ปลูกไม้ยืนต้น ปลูกพืชคลุมดิน พื้นโรยกรวด หรือเป็นพื้นฮาร์ด สเคป
  • ความลึกของพื้นคอร์ตจะมีผลต่อระดับพื้นและฝ้าเพดานห้อง หากภายในคอร์ตมีการปลูกไม้ยืนต้นหรือทำบ่อน้ำ ซึ่งทำให้โครงสร้างพื้นมีความหนามาก จึงควรคำนึงถึงความสูงฝ้าเพดานของห้องชั้นล่าง ซึ่งสามารถออกแบบโดยให้พื้นคอร์ตอยู่บนตำแหน่งทางเดินหรือที่จอดรถซึ่งไม่ต้องการฝ้าเพดานสูง ส่วนไม้ยืนต้นที่ต้องการดินลึก อาจทำขอบกระบะเฉพาะจุดที่จะปลูก ก็จะช่วยให้ไม่ต้องทำโครงสร้างพื้นลึกเท่ากันทั้งหมด
  • ระบบกันซึม โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่สัมผัสความชื้นเสมอ เช่น อยู่กลางแจ้ง ปลูกต้นไม้ ควรทำระบบกันซึมเพื่อปกป้องโครงสร้างอาคาร โดยมีวิธีการทำกันซึมดังนี้

การกันซึมในเนื้อคอนกรีต ธรรมชาติของเนื้อคอนกรีตมีรูพรุนซึ่งน้ำซึมผ่านได้ การป้องกันน้ำซึมเข้าเนื้อคอนกรีตจึงทำได้ด้วยการผสมน้ำยากันซึม ซึ่งเป็นเคมีภัณฑ์ที่ช่วยลดอัตราส่วนของน้ำในคอนกรีต ทำให้เนื้อคอนกรีตแน่นขึ้น ลดรูพรุน เพิ่มความทึบน้ำของผิวคอนกรีต ลดการแตกร้าว โดยผสมน้ำยาในขณะผสมปูนซีเมนต์

การกันซึมบนพื้นผิว ทำได้ด้วยการติดตั้งวัสดุกันซึมบนพื้นผิว แล้วจึงกรุวัสดุปิดผิวอื่นๆทับตามต้องการ โดยวัสดุกันซึมมี 2 ประเภทคือ

  1. แผ่นกันซึมชนิดปู ส่วนใหญ่ทำจากน้ำมันดินหรือยางมะตอย เรียกว่า Bitumen Waterproof Membrane มีความหนาและยืดหยุ่นสูง มีชนิดที่ด้านหลังมีกาวในตัว และติดตั้งด้วยการใช้ความร้อน รอยต่อระหว่างแผ่นให้ปูซ้อนทับกัน ข้อดีคือ เนื้อวัสดุมีความหนาและติดตั้งได้เร็ว แต่วัสดุมีรอยต่อจึงควรติดตั้งด้วยผู้ชำนาญ
  2. วัสดุกันซึมชนิดทา มีลักษณะเป็นของเหลว มีทั้งประเภทพอลิเมอร์ และซีเมนต์กันซึมชนิดยืดหยุ่น ติดตั้งได้ด้วยการทาด้วยแปรงหรือลูกกลิ้งคล้ายการทาสี ข้อดีคือ เมื่อทาแล้ววัสดุจะเป็นเนื้อเดียวกันทั้งผืน แต่ต้องรอแห้งและทาอย่างน้อย 2 เที่ยวจึงใช้เวลาติดตั้งนานกว่า

การเตรียมงานระบบ

พื้นที่คอร์ตควรเตรียมงานระบบไว้ด้วยเสมอ ทั้งระบบน้ำประปา ระบายน้ำ และระบบไฟฟ้า แม้จะเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก แต่ก็ต้องออกไปดูแลรักษาเป็นครั้งคราว เช่น รดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาดพื้นที่ ต่อเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง รวมถึงติดตั้งไฟแสงสว่างเพื่อความสวยงาม หรือเผื่อจำเป็นต้องออกไปซ่อมแซมตอนกลางคืน

การวางระบบระบายน้ำสำหรับคอร์ตสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • ทำรางน้ำแบบเปิดโดยรอบ สามารถเปิดเพื่อทำความสะอาดได้ง่าย แต่จะเห็นรางน้ำตลอดแนว
  • ทำบ่อพักน้ำฝังใต้ดิน ดูเรียบร้อยกว่า โดยวางบ่อพักห่างกัน 6-8 เมตร เพื่อให้ทำความสะอาดได้ง่าย
  • ทำรางน้ำฝั่งเดียว เหมาะกับพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่

แบบขยายบ่อพักน้ำ

  1. รูรับน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว
  2. ฝาบ่อพักคอนกรีตหนา 6 – 7เซนติเมตร
  3. ปูตาข่ายไนลอนและโรยกรวดเพื่อความสวยงาม
  4. บ่าวางฝาบ่อเหล็กฉาก 50 x 50 มิลลิเมตร หนา 4 มิลลิเมตร
  5. ภายในบ่อพักขนาดประมาณ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร
  6. บ่อพักคอนกรีตหนา 10 – 12 เซนติเมตร
  7. ท่อซีเมนต์หรือพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 4 นิ้ว

แบบขยายรางน้ำ

  1. ฝาตะแกรงระบายน้ำ
  2. ปูตาข่ายไนลอนและโรยกรวดเพื่อความสวยงาม
  3. บ่าวางฝาบ่อ
  4. รางน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ลึกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร
  5. คอนกรีตหยาบรองพื้นหนา 5 เซนติเมตร
  6. ทรายอัดแน่นหนา 5 เซนติเมตร

ออกแบบคอร์ตให้ดูแลง่าย

สามารถออกแบบด้วย 4 แนวทางคือ

  • เน้นการทำพื้นฮาร์ดสเคป เช่น พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นปูหิน พื้นไม้เทียม ก็จะดูแลน้อยกว่าพื้นดินหรือสนามหญ้า
  • การเลือกพรรณใบร่วงน้อยและไม้ทนแล้งได้ดี และจัดพื้นที่ด้วยสวนให้โปร่ง โดยไม่เหมาะกับแนวสวนป่าซึ่งต้องมีการดูแลต้นไม้มากจึงจะสวยงาม
  • เตรียมพื้นที่ให้เข้าไปดูแลงานระบบได้ง่าย ไม่ควรวางสิ่งของกีดขวางทางระบายน้ำหรือตำแหน่งงานระบบต่างๆ เพื่อให้เข้าไปทำความสะอาดและซ่อมแซมได้สะดวก
  • ป้องกันน้ำจากหลังคา โดยติดตั้งรางน้ำรับน้ำจากหลังคา หรืออาจทำหลังคาสกายไลต์คลุมคอร์ตบางส่วน เพื่อลดปริมาณน้ำฝนที่มักทำให้สิ่งของและพื้นที่เสียหายจากความชื้น

ออกแบบคอร์ตขนาดเล็กให้ดูใหญ่ขึ้น

หากคอร์ตมีขนาดเล็ก สามารถออกแบบให้ดูใหญ่ขึ้นได้หลายวิธี เช่น

  • สร้างความต่อเนื่องทางสายตา จากภายในบ้านสู่คอร์ต และจากคอร์ตสู่ภายนอก เช่น การทำพื้นและผนังให้ดูต่อเนื่องเสมือนเป็นส่วนเดียวกัน หรือสร้างมุมมองให้เห็นต้นไม้หลายระดับที่ดูมีมิติ
  • ทำช่องเปิดให้สูงถึงเพดานและมีกรอบน้อยหรือไร้กรอบ เพื่อสร้างมุมมองที่เต็มตา
  • มีการลวงตา สามารถลวงตาด้วยการใช้แสงไฟ การทำพื้นยกระดับเพื่อไม่ให้พื้นดูแบนราบ หรือสร้างการรับรู้เสมือนมีทางเดินต่อไป เช่น ติดตั้งประตูหลอก

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล

นิตยสารบ้านและสวน คอลัมน์สถาปัตยกรรม มิ.ย. 2564


จัดการกับต้นไม้และพื้นที่สวนคอร์ตยาร์ด

รีโนเวตบ้านทาวน์โฮมด้วยกลาสเฮ้าส์และคอร์ตยาร์ด

ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag