รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ เป็นโฮมออฟฟิศกลิ่นอายไต้หวัน
รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ สองชั้นขนาดเล็กหน้าตาธรรมดาก็กลายเป็นบ้านสวยๆ ได้ แถมยังเป็นการรีโนเวตทาวน์เฮ้าส์เป็นโฮมออฟฟิศที่มินิมอล หมดจด แฝงการทดลองเรื่องวัสดุ โดยครอบครัวสถาปนิกไทย-ไต้หวัน ในนามบริษัท HAS design and research
สถาปนิก: HAS design and research
เจ้าของ: คุณเจอร์รี่ Jenchieh Hung และคุณกุลธิดา ทรงกิตติภักดี
วางแผนจากต่างประเทศมา 2 ปี
คุณป้อ-กุลธิดา ทรงกิตติภักดี สถาปนิกสาวไทย และคุณเจอร์รี่ สถาปนิกหนุ่มชาวไต้หวัน เจอกันที่ฝรั่งเศส ก่อนมาลงหลักปักฐานที่เซี่ยงไฮ้เมื่อสิบกว่าปีก่อน และคุณเจอร์รี่ได้ทำงานกับบริษัทสถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น Kengo Kuma เป็นเวลาหลายปี
ก่อนเปิดบริษัทของตัวเองที่นั่น โดยที่ทั้งคู่ยังเป็นอาจารย์สอนวิชาออกแบบให้กับมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งในจีน จนมีแผนมาเปิดบริษัทอีกสาขาที่ไทย ประกอบกับมีทาวน์เฮ้าส์หลังนี้ที่ติดกับบ้านคุณพ่อคุณแม่อยู่ แผนงานรีโนเวตทาวน์เฮ้าส์เป็นโฮมออฟฟิศ จึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ว่าจะทำอย่างไรกับพื้นที่ตรงนี้
จากประสบการณ์การใช้ชีวิตและทำงาน พบว่าลักษณะงานที่ทำเป็นการยากที่จะตัดขาดเวลาส่วนตัวกับเวลาทำงานอย่างชัดเจน ประกอบกับครอบครัวเริ่มมีลูกสาวตัวน้อยที่ต้องดูแล รูปแบบโฮมออฟฟิศจึงเหมาะสมที่สุดเพราะมีความยึดหยุ่นในการอยู่อาศัยและการทำงาน การวางรูปแบบอาคาร 20 กว่าแบบในช่วงแรก จนได้แบบที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดจากการคิดภายในและภายนอกไปพร้อมกัน
เปลี่ยนซอย เป็นแปลนบ้าน
คุณป้อและคุณเจอร์รี่ได้ทำการศึกษาพื้นที่พักอาศัยโดยรอบซึ่งอยู่ในซอยย่านบางแค และพบว่าการเป็นซอยนั้นช่วยให้เกิดเป็นช่องเปิดเสมือนอุโมงค์ลมซึ่งมีอากาศไหลผ่านดี จึงได้นำเอาแนวคิดซอยมาใช้กับแปลนบ้านที่มีตำแหน่งอยู่ระหว่างถนนในหมู่บ้านและถนนใหญ่หลังบ้าน เห็นได้ชัดจากทางเดินยาวบนชั้นสองและช่องบันไดที่ทะลุขึ้นมาถึงหน้าระเบียงชั้นสองเช่นกัน เนื่องจากเดิมทีแปลนทาวน์เฮ้าส์ทั่วไปมักจะมีการกั้นพื้นที่ส่วนด้านหน้าบ้านเป็นห้อง ไม่ได้มีการทำเป็นทางเดินยาวทะลุเช่นนี้
เปลี่ยนท่อเหล็ก เป็นรั้วและฟาซาดสุดเท่
“โจทย์แรกของเราคือทำยังไงไม่ให้เป็นรั้ว ทำยังไงให้มันสร้างสเปซ” คุณป้อได้กล่าวถึงแนวคิดเชิงทดลองในการออกแบบรั้วแปลกตาที่ทำหน้าที่กึ่งรั้วกึ่งฟาซาดอาคารนี้ขึ้นมา จากการดีไซน์เป็นรูปแบบที่ต้องการขึ้นมาก่อนโดยยังไม่กำหนดวัสดุที่ใช้ แต่สร้างเป็นโมดูล่าร์ 3 ชิ้น ซึ่งพลิกสลับไปซ้ายขวาบนล่างมาได้เป็น 12 แบบ
ช่วงที่เริ่มทำได้มีการคุยกับทางลาแตร์ (La Terre) ถึงการทดลองทำอิฐดิน จนขึ้นแบบมาได้ในระดับหนี่ง แต่ต่อมาด้วยข้อจำกัดต่างๆ ประกอบกับการค้นคว้าการใช้วัสดุของพื้นที่โดยรอบ จึงเปลี่ยนวิธีการมาเป็นนำท่อเหล็กขนาดต่างๆ มาเชื่อมกันและพ่นสีสร้างพื้นผิวแทน เพื่อให้ได้รูปแบบที่ต้องการมากที่สุด โดยงานท่อได้ทำงานร่วมกับบริษัท Pacific Pipe และสีพ่นจาก TOA
ทำงานมาก เพื่อความน้อย
ด้วยความที่เจ้าของบ้านทั้งสองใส่ใจในรายละเอียดมาก และชื่นชอบดีไซน์ที่เรียบง่าย ในรายละเอียดของความสะอาดตานี้ยังมีงานอีกหลายจุดที่น่าสนใจ อาทิ การทำบานประตูอะลูมิเนียมปิดเปิดที่เลือกประกอบโปรไฟล์อะลูมิเนียมให้เป็นกลายเป็นมือจับไปด้วยในตัวและใช้งานภายนอกได้ จากการทำงานร่วมกันกับ บริษัท AB&W Innovation ที่ได้ทีมจาก Fix&Slide มาติดตั้ง
การเลือกไฟส่วนออฟฟิศที่ไม่ต้องการให้เห็นสายไฟ และเป็นการวางล้อไปกับโครงสร้างคานของทาวน์เฮ้าส์ งานนี้ได้ Lighting Designer ชื่อดังชาวไต้หวันที่เซี่ยงไฮ้เป็นคนออกแบบ และนำเข้าไฟมาจากจีนพร้อมวิดีโอสอนการติดตั้งให้กับผู้รับเหมาที่ไทย หรือแม้แต่ชายคาด้านหลังบ้านที่ใช้การติดตั้งเมทัลชีลกลับด้านเพื่อให้มองเห็นเส้นน้อยและบางในแบบที่วางไว้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการใช้สีขาว จากประสบการณ์การทำงานของดีไซเนอร์ที่จะใช้สีขาวแบบไหนให้ดูสว่างแต่ไม่เกิดแสงจ้าเข้าตามากเกินไป หรือการที่ไม่ต้องการผ้าม่านจึงเลือกที่จะปลูกหญ้าน้ำพุริมระเบียงเพื่อใช้บังสายตาแทน การซ่อนแอร์ในตู้ การเฉือนขอบเฟอร์นิเจอร์ที่เอียงมากกว่าปกติเพื่อให้ดูบางกว่าโครงสร้างจริง และรายละเอียดของประตูกรุอะลูมิเนียมคอมโพสิดกับการฝังแถบมือจับบางเบา
ห้องน้ำ(เกือบจะ)กลางบ้าน แถมยังสวย
ในชั้นสองของบ้าน หลายคนอาจจะไม่ชอบห้องน้ำที่อยู่กลางบ้าน แต่ด้วยความต้องการที่จะให้ห้องน้ำสามารถเป็นพื้นที่ที่แชร์กันได้ จากพื้นที่ส่วนหน้าบ้าน(ส่วนนั่งเล่น)และหลังบ้าน(ห้องนอน) การออกแบบจึงวางห้องน้ำไว้ในตำแหน่งดังกล่าว และไม่ต้องการติดพัดลมระบายอากาศ จึงออกแบบให้ผนังที่เป็นกระจกด้านหน้าอ่างน้ำ เป็นเสมือนฉากที่เปิดได้ นำแสงสว่าง วิว และการระบายอากาศสู่ห้องน้ำได้อย่างน่าสนใจ จนเราแถมจะลืมไปเลยว่า นี่คือห้องน้ำ เพราะดูโปร่งสบายตากว่าปกติมาก
ฮาวทูทิ้ง อะไรไม่ใช้เกิน 6 เดือน ก็ทิ้งไป
ด้วยความน้อย โล่ง ขนาดนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าบ้านนี้ใช้อยู่จริงหรือ ออฟฟิศอะไรเรียบร้อยขนาดนี้ คุณป้อเล่าว่าจากเดิมที่คุณเจอร์รี่อยู่ไต้หวัน ด้วยความเป็นเกาะที่มีพื้นที่อย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องจัดสรรหลายอย่างให้พอดี ทั้งคู่จึงมีหลักคิดที่ว่า หากของอะไรไม่ใช้เกิน 6 เดือน ให้นำไปบริจาค อะไรที่ใช้แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นให้เก็บเข้าตู้
รวมไปถึงความกังวลว่าผนังสีขาวกับเด็กเล็กๆ จะเป็นยังไง คุณป้อพบว่า การออกแบบสามารถเปลี่ยนลักษณะของคนที่อยู่อาศัยได้ แม้แต่ตัวเราเอง พอเราระวัง ลูกก็มีความระมัดระวังในการใช้พื้นที่ของเขาด้วย เกิดเป็นความรักในบ้านหลังนี้
ความสุขของเจ้าของบ้านและเพื่อนบ้าน
เมื่อบ้านหลังนี้เสร็จก็เป็นที่สนใจของเพื่อนบ้านโดยรอบอย่างมาก มีหลายคนเดินมาดู บ้างก็ว่าเป็นงานประติมากรรม คุณป้ออธิบายเสริมอีกว่า “นี่เป็นที่แรกที่เรียกว่า เป็นบ้านจริงๆ เพราะตั้งแต่อยู่บ้านคุณพ่อคุณแม่ ไปอยู่ต่างประเทศ ย้ายไปตลอด โดยที่ไม่มีที่เรารู้สึกว่า มันเป็นที่ของเรา พอเราได้มาใช้พื้นที่เราก็รู้สึกว่ามันเหมาะกับชีวิตที่เราต้องใช้จริงๆ” และแม้บ้านจะไม่ใหญ่ แต่บ้านหลังนี้ยังเต็มไปด้วยการทดลองทำอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน จนต้องยกการรีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ให้เป็นโฮมออฟฟิศครั้งนี้ เป็นบ้านแห่งความพยายามของทุกๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
แถมดราม่าดีๆ หลังบ้าน ต้นไม้แห่งความทรงจำ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นที่รั้วหลังบ้านคุณป้อที่ติดกับหลังบ้านของคุณยายอายุ 80 ปี ซึ่งอยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนสร้างโครงการทาวน์เฮ้าส์ และยังติดกับถนนใหญ่โดยเป็นช่องว่างโล่ง มีต้นกาหลงขนาดไม่ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง เมื่อตอนที่ต้องทำรั้วด้านหลังโดยใช้วัสดุแบบเดียวกับด้านหน้า คุณยายก็ได้มาคุยว่าช่วยระวังต้นไม้ต้นไม้ ไม่ให้ตาย เพราะเป็นต้นไม้ที่ระลึกของคุณพ่อคุณยายที่ปลูกไว้
ซึ่งรั้วด้านนี้เป็นรั้วด้านที่ติดตั้งยากที่สุด เนื่องจากต้องให้มีขนาดพอดีกับกำแพงทั้งสองด้านที่กว้าง 4 เมตร และมีพื้นที่เหลือมกับที่ของคุณยายถึง 1 ใน 3 จนเมื่อรั้วติดตั้งเสร็จ รั้วดังกล่าวก็รับกันเป็นเหมือนฉากหลังอันสวยงามให้ต้นไม้สีเขียวที่อยู่ด้านหน้า คุณยายที่อยู่ดูตอนติดตั้งรั้วก็ถึงกับน้ำตาคลอด้วยความประทับใจในภาพที่เห็น
เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์