บ้านไม้ไทย เปิดโปร่ง ใต้ถุนโล่ง
บ้านไม้ไทย ริมน้ำที่จังหวัดลำพูนหลังนี้ดูลึกลับเมื่อซ่อนอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ใบหนา จนแทบมองไม่เห็นในครั้งแรก แต่เมื่อก้าวผ่านประตูใหญ่ด้านหน้าเข้าไป จึงรู้สึกได้ถึงความสดชื่นร่มเย็นของบ้านซึ่งแทรกตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ สร้างความอบอุ่นสบายใจแก่ผู้มาเยือนได้ทันที
เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณสาธิต กาลวันตวานิช
สถาปัตยกรรม : อาจารย์จุลพร นันทพานิช
เจ้าของ บ้านไม้ไทย หลังนี้คือ คุณสาธิต กาลวันตวานิช CreativeDirector ของ Propaganda บริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์และของแต่งบ้านซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ผลงานชุด Mr. P และผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาแห่ง Phenomena เขาเริ่มต้นเล่าว่า
“ที่ดินเดิมมีขนาดประมาณครึ่งไร่ ภายหลังผมซื้อเพิ่มเติมและมีที่งอกตรงชายตลิ่งบ้าง ปัจจุบันจึงกลายเป็นเกือบหนึ่งไร่ต้นไม้เดิมมีแค่ลำไยแก่ๆ 6 ต้น หลายปีก่อนตอนปลูกบ้านต้องตัดทิ้งไป 2 ต้น เพื่อการใช้พื้นที่ได้สะดวกขึ้น หลังจากนั้นก็หาไม้พื้นบ้านและไม้ผลมาปลูกโดยได้รับคำแนะนำจาก อาจารย์จุลพร นันทพานิช สถาปนิกและอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเน้นการสอนแนวทางส่งเสริมสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน ท่านบอกว่า ให้ลงไม้ที่เกิดจากเมล็ดและเป็นไม้พื้นบ้านซึ่งเหมาะกับระดับทะเลในพื้นที่ รวมทั้งไม่ให้ถมดิน เพราะดินเดิมเป็นดินชายน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยตะกอนของหน้าดินที่พัดมา ซึ่งเป็นประโยชน์กับพืชปรากฏว่า แค่ปีเดียวต้นไม้โตท่วมศีรษะ สองปีสูงเกินสะพานที่เชื่อมตัวบ้านกับศาลาชายน้ำ สามปีก็แผ่กิ่งคลุมตัวบ้านและศาลา
“ต้นไม้ส่วนใหญ่ได้จากแปลงเพาะชำของอาจารย์จุลพร เช่น ตะเคียน จัน ยอ ยางนา มะกอกน้ำ มะค่า สัก ปีบฯลฯ ปกติท่านจะเก็บเมล็ดพันธ์ุมาเพาะและแจกหน่วยงานต่างๆเคยเก็บเมล็ดยางนาจากเส้นทางแถบอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มาเพาะถึงสองหมื่นต้น”
สำหรับตัวบ้านซึ่งเป็นสไตล์ไทลื้อ คุณสาธิตเล่าถึงที่มาให้ฟังว่า “ขอซื้อตัวบ้านไทลื้อจากคุณลุงท่านหนึ่งที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เนื่องจากลูกๆ อยากให้คุณลุงอยู่บ้านปูน บ้านเดิม นั้นมีทั้งหลังใหญ่ หลังเล็ก และยุ้งข้าว ผมก็นำไม้เก่าจาก ยุ้งข้าว ฝาบ้านเก่า และแป้นเกล็ด มาต่อเติมเป็นบ้านหลัง ใหญ่ประกอบด้วย 5 ห้อง และมีครัวขนาดเล็กแยกออกไป แต่ เชื่อมกับบ้านใหญ่ด้วยระเบียงทางเดิน ภายในบ้านมีลักษณะ โปร่งๆ แบบ panel without panel ซึ่งเป็นการออกแบบให้ ไม่มีฝาห้อง เราอยู่อาศัยแบบเคลื่อนตัวไปอย่างโปร่ง โล่ง สบาย เป็นอิสระดี
“ผมพยายามหารูปแบบบ้านไทยที่เหมาะกับตัวเอง ผมไม่ค่อยชอบบ้านแบบอยุธยาซึ่งมีจั่วโค้งๆ บังเอิญไปพบเรือนไทลื้อ ของคุณยายท่านหนึ่งซึ่งเป็นเรือนอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ ของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็น แล้วชอบมาก เพราะเป็นบ้านไทยขนาดกะทัดรัด เรียบง่าย แต่ก็มีรายละเอียดน่าสนใจ เช่น ตรงฝาบ้านจะมีไม้ชิ้นเล็กปิด รอยต่อ ไม้ชิ้นเล็กนี้ลบมุม เซาะร่องคู่ทุกชิ้น ผมว่าคนไทยสมัยก่อนออกแบบบ้านให้รับมือกับฤดู น้ำท่วมหลากได้ดี บ้านหลังนี้จึงไม่กั้นห้องชั้นล่าง ก็เลยไม่มี ของเก็บมาก การย้ายข้าวของขึ้นที่สูงจึงทำได้เร็ว ตอนนี้เลย เหมือนอยู่บ้านชั้นเดียวที่ไม่ติดพื้น”
สิ่งที่โดดเด่นอีกประการของบ้านหลังนี้คือการไม่ทาสี แต่ ลงน้ำมันขี้โล้ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยรักษาเนื้อไม้และกันปลวก ส่วน ที่บ้านกลายเป็นสีดำสุดเท่อย่างที่เห็น คุณสาธิตขยายความว่า “ตอนลงน้ำมันผมผสมสีฝุ่นดำลงในน้ำมันขี้โล้บ้าง เพื่อ ให้น้ำมันซึมเข้าเนื้อไม้ แต่ดูไม่เคลือบมันจนดูหลอกตา แรกๆ ดำกว่านี้ แต่พอโดนฝนโดนแดด ตอนนี้ก็เลยดำแบบพอดี”
ภายในบ้านยังประดับประดาด้วยภาพเขียนสวยๆ ผลงาน ของ อาจารย์สุธี เอื้อสิริพรทิพย์ จิตรกรฝีมือดี ที่คุณสาธิต บอกว่ามีมุมมองเดียวกับเขาและอาจารย์จุลพร “การได้เห็นงานศิลปะในบ้านทำให้รู้สึกมีความสุข งานของอาจารย์สุธีออกแนวกราฟิกสมัยใหม่และขี้เล่นนิดๆ ตอนที่เขามาขอใช้สถานที่ทำงานศิลปะยังไม่สนิทกันมาก ปรากฏว่าเมื่อเขามาอยู่ก็ช่วยปลูกต้นไม้เพิ่มและดูแลบ้านให้อย่างดี อย่างไก่ข้างบ้านชอบเข้ามาจิกต้นไม้ เขาก็เพาะเมล็ดมะขามมาปลูกเป็นแนวรั้วสวยงามคอยกั้นไก่ให้ ตอนนี้ปลูกกาแฟด้วย เจริญเติบโตได้ดีมาก รสชาติยังไม่รู้ แต่ปลูกในบ้านเราก็อร่อยแน่”คุณสาธิตสรุปด้วยอารมณ์ขัน
“งานของผมอยู่ในสายครีเอทีฟ เราต้องเข้าไปในแกนและสาระของทุกอย่างก่อน จึงค่อยแตกความคิดออกมาเพื่อไปสู่เวทีโลก สู้กับดีไซน์ใหม่ๆ ของประเทศอื่น จุดเด่นของเราคือ เอกลักษณ์แบบไทยๆ คนไทยใจดีและมีน้ำใจ ตอนทำบ้านหลังนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเยอะมาก ทำให้เราเข้าใจถึงหัวใจความเป็นไทยมากขึ้น หากสลัดรูปแบบภายนอกของบ้านไทยออกไป เราจะเห็นว่าบ้านแบบนี้ระบายอากาศได้ดีมีบรรยากาศของการเยียวยาโดยธรรมชาติ มีพื้นที่ของการต้อนรับขับสู้ และด้วยสภาพแวดล้อมของที่นี่ก็ทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น มีคนแวะมาทักทายก็ได้ความรู้สึกดีๆ เวลามาพักที่บ้านนี้นานๆ จะรู้สึกถึงพลังของ micro climate หรือบรรยากาศย่อยๆ ที่เราสร้างเพื่อเยียวยากายและใจ ซึ่งหาได้ยากจากเมืองใหญ่ๆ บรรยากาศแบบนี้จะช่วยให้ความคิดพวยพุ่งอยากคุยงานกัน อยากพบเพื่อนๆ บางครั้งอาจารย์จุลพรก็พาลูกศิษย์มานั่งคุยกันถึงค่ำ จุดเทียนคุยกัน
“ผมอยากปลูกต้นไม้ในที่ว่างๆ โล่งๆ เพิ่ม ปลูกต้นไม้อย่าปลูกแต่ในป่า ปลูกที่บ้านก็ได้ เปลี่ยนวิธีคิดบ้าง ต้นไม้ยื่นกิ่งก้านออกไปบ้าง เพื่อนบ้านก็อย่าว่ากันเลย ให้คิดใหม่ว่าแบ่งปันออกซิเจนให้แก่กันดีกว่า”
บรรยากาศงามๆ ท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่นแบบนี้คุณสาธิตทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าสร้างเองได้ และเราย่อมได้ความสงบสบายใจกลับมาเป็นพลังในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ อีกมากมาย
เรื่อง : มัญชุสา
ภาพ : ชัยพฤกษ์ โพธิ์แดง
รวม 50 บ้านไม้ ยอดนิยมตลอดกาลของบ้านและสวน
บ้านมะค่าโมง บ้านไม้ใต้ถุนสูงที่มีลมโกรกตลอดปี