บ้านไทยร่วมสมัย อยู่สบาย เพราะเข้าใจธรรมชาติ - บ้านและสวน
บ้านไทยร่วมสมัย

บ้านไทยร่วมสมัย อยู่สบ๊ายสบาย

บ้านไทยร่วมสมัย ที่ใช้งบประมาณไม่มาก ออกแบบไปแบบซื่อ ๆ ตรงไปตรงมา ดูทิศทางลม แดด สังเกตระดับน้ำที่เคยท่วมแล้วนำมาเป็นข้อมูลเพื่อให้ได้บ้านที่เรียบง่าย อยู่แล้วสบายจริง ๆ อีกทั้งดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก เพราะเลือกใช้วัสดุที่คงทน แข็งแรง  

สถาปัตยกรรม : คุณบัณฑิต กนิษฐคนธ์ และคุณนที ศุภวิไล / ตกแต่งภายใน : คุณศิริรัตน์ เกตุพล / เจ้าของ : คุณภาณุพงศ์ – คุณบุษกร หริรักษ์

บ้านไทยร่วมสมัย

หลายครั้งที่จุดเริ่มต้นของบ้านเกิดจากแรงบันดาลใจตามหน้านิตยสารตกแต่งบ้าน รูปถ่ายมุมสวยๆ ที่เห็นจากอินเทอร์เน็ต หรือไม่ก็เป็นรูปแบบที่สถาปนิกนำเสนอ ทุกวันนี้การออกแบบบ้านจึงมุ่งเน้นไปที่รูปฟอร์มและการตกแต่งที่ดูสดสวย โดดเด่น มากกว่าการหันกลับมามองวิถีชีวิตและบริบทของการอยู่อาศัยอย่างไทย

บ้านไทยร่วมสมัย
บ้านซึ่งนำเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบสากลมาผสานเข้ากับสัดส่วนอาคารและการอยู่อาศัยอย่างไทย องค์ประกอบของบ้านอย่างช่องเปิด ผนังทึบ และหลังคาก็ออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทโดยรอบและเข้าใจธรรมชาติอย่างแท้จริง
ยกพื้นบ้านขึ้นมา 1 เมตรเพื่อลดปัญหาความชื้นจากดิน เมื่อลมพัดผ่านข้างใต้บ้านได้ทั่วถึง ความร้อนจึงไม่สะสม ในฤดูน้ำหลากก็หมดห่วงเพราะยกระดับพื้นบ้านเตรียมไว้แล้ว
ที่จอดรถ
ส่วนจอดรถหน้าบ้านก่ออิฐช่องลมเป็นผนังบังตา สร้างความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่ภายใน แถมยังระบายอากาศได้ดี ส่วนหลังคามุงกระเบื้องดินเผา อ.ป.ก. ซึ่งเป็นวัสดุที่คายความร้อนได้ดี ช่วยลดการสะสมความร้อนในบริเวณนี้ โดยนำแผ่นกระเบื้องซึ่งเป็นรูปตัวยู (U) มาซ้อนเกยกันให้เกิดระยะเหลื่อม พร้อมออกแบบให้หลังคามีความลาดชันประมาณ 40 องศา จึงป้องกันการรั่วซึมของน้ำฝนได้ดี

กระเบื้องดินเผา

ครั้งนี้ผมมีโอกาสมาเยี่ยมชม บ้านไทยร่วมสมัย หลังหนึ่งที่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่สวนย่านบางพลัด ซึ่งยังพบเห็นบ้านไม้เก่ายกใต้ถุนสูงกับสวนผลไม้แบบไทยๆอยู่โดยรอบ คุณเล็ก-ภาณุพงศ์และคุณไก่-บุษกร  หริรักษ์ เจ้าของบ้าน เดินออกมาต้อนรับทีมงาน “บ้านและสวน” อย่างเป็นกันเอง ร่วมด้วย คุณกบ – บัณฑิต  กนิษฐคนธ์ น้องชายคุณไก่และสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ ซึ่งเป็นผู้เล่าที่มาของบ้านให้ฟังว่า “บ้านหลังนี้สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็นท้องร่องสวนมาก่อน ไม่ได้คิดถึงเรื่องสไตล์การตกแต่งใดๆ เลย ออกแบบไปแบบซื่อๆ ตรงไปตรงมา ดูทิศทางลม แดด สังเกตระดับน้ำที่เคยท่วม แล้วนำมาเป็นข้อมูล เพื่อให้ได้บ้านที่เรียบง่าย อยู่แล้วสบายจริงๆ” 

บ้านสองชั้นออกแบบให้ยกพื้นสูง 1 เมตรเพื่อป้องกันความชื้นจากดินและน้ำท่วมซึ่งเคยเกิดขึ้นในย่านนี้บ่อยครั้ง ตัวอาคารขนานไปในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก เพื่อการรับลมธรรมชาติจากทิศใต้ได้ดี ตัวบ้านจึงกว้างไม่มากนัก แต่ออกแบบให้ยาวและสูง ปกคลุมด้วยหลังคาขนาดใหญ่ที่มีชายคายื่นยาว มีความลาดชันประมาณ 40 องศาทั้งสองด้าน เพื่อการระบายน้ำฝนได้ดี อาคารภายนอกทั้งหมดเป็นสีเทาสไตล์ปูนเปลือย ตัดกับสีน้ำตาลอมส้มของพื้นไม้ หน้าต่างไม้ และหลังคากระเบื้องดินเผา ซึ่งมีคุณสมบัติคายความร้อนได้ดี ช่วยให้บ้านเย็นสบายแม้ในช่วงกลางวัน 

ระเบียงไม้
ระเบียงไม้ด้านทิศใต้นำไปสู่บันไดหลักของบ้าน ในมุมนี้มีหน้าต่างบานไม้สักขนาดใหญ่ สูง 3.60 เมตร จำนวน 26 บาน เมื่อเปิดก็ทำให้พื้นตรงนี้เชื่อมต่อกับด้านนอก เป็นเหมือนระเบียงกว้าง แต่ยามค่ำคืนก็ปิดเพื่อความเป็นส่วนตัว ทั้งยังช่วยให้บ้านดูมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น
ห้องนั่งเล่น
ภายในโถงนั่งเล่นตกแต่งด้วยสีเรียบๆ นำโต๊ะ ตู้ และเก้าอี้ไม้เก่ามาจัดวางร่วมกับโซฟาแบบทันสมัยก็ดูไม่ขัดเขิน จากมุมนี้เราจะเห็นผนังอาคารภายนอกซึ่งใช้อิฐช่องลม
ครัว
โถงครัววางโต๊ะไม้ตัวใหญ่สำหรับรับประทานอาหารคู่กับเก้าอี้ยาวลวดลายจีนโบราณ ซึ่งเป็นของเก่าจากรุ่นคุณตา ใช้เป็นที่วางของว่าง หรือจะนั่งเล่นเพลินๆก็ย่อมได้
โถงบันได
โถงบันไดที่ตั้งใจทำให้ดูใหญ่กว่าปกติร่วมกับการทำเพดานสูง เปลี่ยนความรู้สึกของบันไดแคบๆ ที่เราคุ้นเคยให้กลายเป็นพื้นที่วางของสวยๆ หรือจะวางงานศิลปะสักชิ้นก็ทำได้

จุดเด่นที่น่าสนใจของบ้านนี้คือ การออกแบบผนังช่องเปิดทางทิศใต้เป็นหน้าต่างบานไม้สักขนาดใหญ่ สูง 3.60 เมตร จำนวน 26 บาน  ฝีมือช่างไม้ทำเรือนไทยชั้นครูจากอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้งบประมาณเพียง 50,000 บาท ส่วนด้านทิศเหนือก่ออิฐช่องลมเป็นผนังขนาดใหญ่ ในตอนกลางวันก็เปิดหน้าต่างไม้เพื่อรับลม ทำให้เกิดการระบายอากาศภายในบ้านระหว่างทิศเหนือกับทิศใต้
ชั้นล่างของบ้านจัดวางส่วนรับแขก ส่วนทำงาน ส่วนรับประทานอาหารและครัว
ให้ต่อเนื่องเป็นพื้นที่เดียวกันทั้งหมด ร่วมกับทำเพดานสูงถึง 4 เมตรภายในบ้านจึงดูโปร่ง ไม่อึดอัด การตกแต่งเน้นสไตล์ไทยร่วมสมัยและเรียบง่าย นำตู้ โต๊ะ หีบ และตั่งไม้เก่าจากรุ่นคุณตามาใช้ร่วมกับโซฟาและชั้นวางของแบบสมัยใหม่ ซึ่งเข้ากันได้อย่างไม่ขัดเขิน

มุมนั่งเล่น
วางม้านั่งตัวยาวริมหน้าต่างบนชั้นสองของอาคารหลังเล็กใช้เป็นมุมอ่านหนังสือ  ประดับด้วยของตกแต่งแบบไทยๆกับเสื่อผืนน้อยที่ถักทอด้วยลวดลายพื้นถิ่น
ห้องนอนสไตล์ไทย
ห้องนอนสีสะอาดตาบนชั้นสองของบ้าน ออกแบบให้มีเพดานสูงโชว์ความลาดเอียงของหลังคา ดูคลาสสิกแบบไทยๆ
จากุซซี่
ภายในห้องน้ำบนชั้นสอง สถาปนิกออกแบบให้มีช่องกระจกบานเลื่อนโดยรอบ รวมถึงช่องกระจกเหนือเพดาน เพื่อนำแสงธรรมชาติเข้ามาภายใน ห้องน้ำจึงแห้งสนิทอยู่เสมอ

ขณะที่สวนรอบบ้าน คุณไก่เน้นปลูกไม้ผลแบบไทยๆ  เช่น  มะม่วง กล้วย ขนุน ฯลฯ เพื่อให้เข้ากับบริบทของบ้านไทย อีกทั้งในอดีตแถวนี้ก็เคยเป็นสวนผลไม้มาก่อนคุณไก่และคุณเล็กทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขว่า “บ้านหลังนี้ใช้งบประมาณไม่มาก ดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก เพราะเลือกใช้วัสดุที่คงทน แข็งแรง อยู่อาศัยแบบอิงธรรมชาติ อยู่แบบง่ายๆ สบายๆ” 

โถงระเบียงสูงที่ออกแบบสัดส่วนและช่องเปิดของอาคารที่สอดคล้องกันทำให้บ้านดูสง่างาม โดยเลือกใช้อิฐช่องลมขนาด 20 × 20 เซนติเมตร นำมาใช้ทำ
ผนังกันแดด เพิ่มความเป็นส่วนตัว แต่ไม่บังลม
 
สถาปนิกออกแบบห้องน้ำ ครัว และส่วนบริการ ให้อยู่ด้านหลังของบ้าน เพื่อป้องกันความร้อนในยามบ่ายไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้านมากเกินไป ด้านบนยังออกแบบเป็นที่วางแท็งก์และเครื่องปั๊มน้ำ เพื่อใช้งานในกรณีเกิดน้ำท่วม

จากที่เดินสำรวจจนรอบแล้ว ผมขอยืนยันว่า บ้านไทยร่วมสมัย หลังนี้อยู่แล้วสบ๊ายสบาย สมดังที่เจ้าของบ้านกล่าวไว้จริงๆครับ


เรื่อง : ศุภชาติ บุญแต่ง
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

บ้านไทยร่วมสมัย ไทยเหมือนเดิม เพิ่มแค่ความทันสมัย

5 บ้านไทยดีไซน์ทันสมัย อยู่เย็น เป็นสุข