เลือกทำเลบ้านผิด เสี่ยงอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
การเลือกทำเลบ้านที่ดีและปลอดภัย ควรพิจารณาเรื่อง แนวสายไฟฟ้าแรงสูง ตำแหน่งหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้บ้าน และการเว้นระยะให้ปลอดภัยกับตัวอาคาร
ใครจะรู้ว่าสิ่งที่มองไม่เห็นและอยู่ใกล้ตัวอย่าง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ จึงเป็นที่มาการศึกษาผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อผลกระทบด้านสุขภาพของ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) ซึ่งนำไปสู่การเลือกทำเล สร้างบ้าน ที่ดีและปลอดภัยสำหรับบ้านยุคปัจจุบัน ซึ่งนอกจากข้อพิจารณาพื้นฐานอย่าง การจราจร อาคารข้างเคียง และสาธารณูปโภคแล้ว ก็ควรพิจารณาเรื่อง แนวสายไฟฟ้าแรงสูง ตำแหน่งหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้บ้านซึ่งมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการเว้นระยะให้ปลอดภัยกับตัวอาคาร มาดูกันว่ามีข้อควรระวังอะไรบ้าง
ระวัง! ต้องเว้นระยะห่างจากสายไฟฟ้าแรงสูง
แน่นอนว่าระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เราต้องการ แต่เราทราบหรือไม่ว่า การเลือกทำเลที่ตั้งและ สร้างบ้าน ควรต้องคำนึงถึงระยะห่างจากสายไฟฟ้าแรงสูงด้วย โดยการไฟฟ้านครหลวงมีการกำหนดมาตรฐานระยะห่างที่ปลอดภัยจากสายไฟฟ้าแรงสูงสำหรับอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ว่าจะเป็นตัวบ้านหรือระเบียงส่วนยื่นไม่น้อยกว่า 3.00 เมตร และระยะห่างที่ปลอดภัยจากสายไฟฟ้าแรงสูงสำหรับตัวบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานที่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือกลทุกชนิด จะต้องอยู่ห่างจากส่วนที่มีไฟฟ้าแรงสูงไม่น้อยกว่า 3.90 เมตร (อ้างอิงขนาดแรงดันไฟฟ้าของสายไฟฟ้าแรงสูง 230,000 โวลต์) ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยเราควรหลีกเลี่ยงการเลือกบ้านหรือทำเลอาคารที่อยู่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง สายส่งไฟฟ้า หรือหม้อแปลงไฟฟ้าเหล่านี้
- มาตรฐานระยะห่างที่ปลอดภัยระหว่างสิ่งปลูกสร้างกันสายไฟฟ้าแรงสูง
- ระยะห่างระหว่างสายไฟฟ้าแรงสูงกับอาคาร/สิ่งปลูกสร้าง/ป้ายโฆษณา
หมายเหตุ : ระยะดังกล่าวไม่ครอบคลุมการทำงานนอกตัวอาคาร หรือบนระเบียงเปิดที่อาจมีการยื่นวัตถุออกนอกตัวอาคาร ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานระยะห่างที่ปลอดภัยสำหรับการทำงาน หรือจะต้องมีการหุ้มหรือคลุมสายเพื่อความปลอดภัย
- ระยะห่างระหว่างสายไฟฟ้าแรงสูงกับผู้ปฏิบัติงาน/เครื่องมือกล รวมถึงอุปกรณ์หรือเครื่องมือกลทุกชนิด เช่น ปั้นจั่น รถเครน หรือวัตถุที่ถืออยู่ในมือจะต้องอยู่ห่างจากส่วนที่มีไฟฟ้าแรงสูงไม่น้อยกว่าระยะดังต่อไปนี้
หมายเหตุ :
- สายไฟฟ้าบางชนิดที่มีการหุ้มฉนวนเป็นพิเศษอาจมีระยะห่างต่ำกว่ามาตรฐานได้ ขอให้ปรึกษาการไฟฟ้านครหลวง
- หากบริเวณที่ต้องการปฏิบัติงานมีระยะห่างที่ต่ำกว่ามาตรฐานจะต้องแจ้งให้การไฟฟ้านครหลวงดำเนินการหุ้มหรือ คลุมสายก่อนลงมือทำงาน
ที่มา: https://www.mea.or.th/profile/123/311
http://komkritch.blogspot.com/2016/05/blog-post.html
ระวัง! ห้ามสร้างอาคารในเขตเดินสายไฟฟ้า
ถ้าใครที่กำลังมองหาที่ดินทำเลชานเมืองหรือต่างจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ของระบบผลิตและส่งไฟฟ้าก่อนถึงสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย หรืออยู่ใกล้เขตเดินสายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยิ่งต้องระวังให้ดี เนื่องจากมีข้อกำหนดห้ามปลูก สร้างบ้าน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นทุกชนิด ในเขตเดินสายไฟฟ้าระยะจากจุดกึ่งกลางเสา 9 – 40 เมตร ระยะห่างมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่บริเวณนั้น
ระวัง! คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเสี่ยงต่อสุขภาพ
หากที่ตั้งบ้านอยู่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงและหม้อแปลง นอกจากความปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางไฟฟ้าต่อชีวิตแล้ว อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ยังมีสิ่งที่มองไม่เห็นเรียกว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Field: EMF) สำหรับสายส่งไฟฟ้าแรงสูง สายไฟฟ้า และหม้อแปลงไฟฟ้า ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าย่านความถี่ต่ำมาก (Extremely Low Frequency Electromagnetic Field: ELF-EMF) ที่ความถี่ 50 Hz ถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปว่าการสัมผัสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ELF-EMF นั้นส่งผลกระทบเชิงสุขภาพโดยตรง แต่ในบางงานวิจัยก็ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่อยู่อาศัยใกล้กับแนวเสาไฟฟ้าเป็นระยะเวลานาน มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และการสัมผัสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ELF-EMF ในระดับปริมาณที่สูง มีความสัมพันธ์เชิงสถิติต่อความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก แล้วยังมีอีกหลายงานวิจัยที่ตั้งสมมติฐานความเชื่อมโยงกับโรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ แม้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่เป็นสิ่งที่เราป้องกันตัวเองได้ตั้งแต่การเลือกทำเลที่ตั้งบ้าน และการสร้างอาคารให้มีระยะปลอดภัยตามที่ทางการไฟฟ้าได้แนะนำไว้แล้ว ก็เชื่อมั่นได้ว่าอยู่ในระยะที่ปลอดภัยทั้งจากสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กได้ หรือถ้าใครต้องการหลีกเลี่ยงให้ไกลความเสี่ยงนั้นไปเลย ก็อาจเลือกทำเลให้ห่างจากแนวสายไฟฟ้าแรงสูงและหม้อแปลงไฟก็เป็นทางเลือกที่ดี
ที่มา: https://www.mea.or.th/download/3292/315
หมายเหตุ : ข้อมูลข้างต้นอ้างอิงงานวิจัยดังนี้
- งานวิจัยของ Patrizia Frei และคณะ ศึกษาและเก็บข้อมูลของชาวเดนมาร์กผู้ที่อยู่อาศัยใกล้กับแนวเสาไฟฟ้าแรงสูงในระยะ 50 เมตร อ้างอิงข้อมูลของผู้ป่วยด้วยโรคทางสมอง (Neurodegenerative diseases) เช่น โรคสมองเสื่อม (Dementia) โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรคเสื่อมของเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor neuron disease) และโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ในช่วงปี ค.ศ. 1994-2011 (พ.ศ. 2537-2554) ผลการวิจัยสรุปว่าการอยู่ใกล้แนวเขตเสาไฟฟ้าไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคทางสมองอย่างมีนัยยะสำคัญ
ที่มา: https://www.emfs.info/health/other-health/neuro/
https://academic.oup.com/aje/article/177/9/970/145108
- งานวิจัยของ Anke Huss และคณะ ศึกษากับประชาชนในพื้นที่ the Swiss National Cohort จำนวน 4.7 ล้านคน เปรียบเทียบระหว่างผู้ที่อยู่อาศัยใกล้กับแนวเสาไฟฟ้าในระยะ 50 เมตร ที่คลื่นความถี่ 220-380 kV กับผู้ที่อยู่อาศัยห่างออกไปจากแนวเขตเสาไฟฟ้า 600 เมตร บันทึกข้อมูลในช่วงปี ค.ศ. 2000-2005 (พ.ศ. 2543-2548) ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ผู้ที่อยู่อาศัยใกล้กับแนวเสาไฟฟ้าเป็นระยะเวลานาน มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์
ที่มา: https://www.emfs.info/health/other-health/neuro/
- งานวิจัยของ Ahlbom และคณะ ในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543), Kheifets และคณะ ในปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยโดยอ้างอิงผลการศึกษาทางระบาดวิทยามากกว่า 40 โครงการ ให้ข้อมูลว่า การสัมผัสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ELF-EMF ในระดับปริมาณที่สูงมากกว่า 0.4 microtesla (µT) มีความสัมพันธ์เชิงสถิติต่อความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก (Childhood Leukemia) อย่างชัดเจน
ที่มา: https://www.emfs.info/health/leukaemia/studies-leukaemia/
เสาส่งสัญญาณระบบสื่อสาร มีผลต่อสุขภาพไหม
จากข้อมูลผลกระทบทางด้านสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กจากเสาและสายส่งไฟฟ้า จึงเกิดคำถามว่าสถานีวิทยุโทรคมนาคม หรือเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปนั้นน่ากลัวหรือไม่ สัญญาณระบบสื่อสารและโทรคมนาคมจัดอยู่ในประเภทสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่วิทยุ (Radiofrequency Electromagnetic Field: RF-EMF) ซึ่งเป็นช่วงคลื่นความถี่สูง 3 kHz – 300 GHz โดยสถานีวิทยุโทรคมนาคมมักจะติดตั้งอยู่บนหอคอยหรือยอดหลังคาสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีหน่วยงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควบคุมและกำกับดูแลมีความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่สำหรับผู้ที่มีความอ่อนไหว เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือผู้ที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ ภายในร่างกาย รวมถึงผู้ที่มีอาการไวเกินระดับปกติเชิงแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic hypersensitivity: EHS) อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้น แต่โดยภาพรวมแล้วผลกระทบอาจจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์สื่อสารที่อยู่ใกล้ตัว ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา: https://infocenter.nbtc.go.th/storage/files/_contentSource_20200227_040319_1582794199019.pdf
http://envocc.ddc.moph.go.th/uploads/situation/reportyear57/04_question.pdf
สรุป
ถึงแม้ข้อสรุปผลกระทบต่อสุขภาพจะยังคลุมเครือ แต่ก็มีหลักฐานทางวิชาการที่แสดงให้เห็นถึงการเฝ้าระวังและความใส่ใจในเรื่องนี้ โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer: IARC) สังกัดองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ประกาศให้ทั้ง ELF-EMF และ RF-EMF อยู่ในกลุ่ม 2B ซึ่งอาจจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Group 2B – Possibly carcinogenic to humans) อันเกี่ยวเนื่องกับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก สำหรับ ELF-EMF และเกี่ยวเนื่องกับโรคเนื้องอกสมองกลิโอมา (glioma) สำหรับ RF-EMF
จากข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นข้อควรพิจารณาในการเลือกทำเลบ้าน เพื่อให้ห่างไกลจากปัจจัยความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลความเป็นจริงที่ไม่ใช่ความตื่นตระหนก ในส่วนผลกระทบเชิงสุขภาพนั้น หากสามารถเลือกได้ การหลีกเลี่ยงปัจจัยของความเสี่ยงก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรพิจารณา แน่นอนว่าในบ้านยุคใหม่เราต้องใช้และต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ แต่ทางที่ดี เว้นระยะให้ห่างกันสักนิด ก็จะปลอดภัย อุ่นใจกว่า
รู้จักศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research and Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์วิจัยที่รวบรวมบุคคลากรที่มีความหลากหลายในสาขาวิชาชีพ ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยและนวัตกรที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ผ่านการลงพื้นที่และเก็บข้อมูลจริง เพื่อตอบโจทย์ Well-being ส่งเสริมการสร้างความยั่งยืน การฟื้นฟูของสิ่งแวดล้อม และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของสรรพสิ่งบนโลก
เรื่อง : ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์