Totally blended ผสมสไตล์ อย่างกลมกลืน

Totally blended ผสมสไตล์ อย่างกลมกลืน

 

ปัจจุบันงานออกแบบเกิดการหลอมรวมหรือ ผสมสไตล์ กันมากขึ้น การจำกัดความของคำว่าสไตล์ในยุคนี้ค่อยๆจางหายไป เพราะไร้ปรมาจารย์ที่เป็นผู้สร้างและผู้ทรงอิทธิพลของยุคนั้นๆ แบบในสมัยก่อน เช่น หากเราพูดถึงสไตล์คลาสสิกก็จะนึกถึงสไตล์เรอแนซองซ์ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หรือยุคปี 1910 - 1920 เราจะนึกถึง Le Corbusier หรือทันสมัยขึ้นมาอีกนิดในยุคปี 1920 เป็นต้นมา งานออกแบบสไตล์โมเดิร์นจัดๆต้องนึกถึงงานของกลุ่ม Bauhaus แต่ในยุคนี้เราไม่อาจจำกัดความตามปีหรือตามยุคได้ เพราะมีการผสมผสานหลากหลายสไตล์จนทุกอย่างดูกลมกลืนกันไปหมด อาจบอกได้เพียงคร่าวๆ ว่าสไตล์แบบนี้กำลังอยู่ในกระแส แต่ไม่นานก็จะเกิดกระแสใหม่เข้ามาแทรก และบางครั้งทั้งสองกระแสนั้นก็อาจปรับให้เข้ากันได้อย่างแนบเนียนด้วย

_UIL3205

Temporary Culture

หรือวัฒนธรรมตามกระแสซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงเวลาสั้นๆยกตัวอย่างชัดๆ ก็เช่น เมื่อ 5 ปีที่แล้วสไตล์วินเทจมีอิทธิพลต่อการตกแต่งเป็นอย่างมาก ทุกบ้านต้องมีของตกแต่งอารมณ์หวานๆ ดูย้อนอดีต มีลวดลายดอกไม้สีพาสเทลเข้ามาเป็นองค์ประกอบ กระทั่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วสไตล์อินดัสเทรียลเข้ามาบุกทุกมุมในเมืองใหญ่ เราจะเห็นร้านกาแฟหรือฮิปโฮเต็ลเล็กๆ ที่เลือกใช้สไตล์ดิบๆ ให้อารมณ์โรงงานเก่าเกิดขึ้นมากมาย จนตอนนี้เกิดการนำวัสดุแบบไม่ประณีตของงานสไตล์อินดัสเทรียลมาผสมผสานกับรายละเอียดอันสวยหวานของสไตล์วินเทจ จนได้เป็นสไตล์ใหม่ที่นำจุดเด่นของสไตล์เดิมมามิกซ์แอนด์แมตช์กันอย่างลงตัว

jun130914_pano3

tae130809_004

Cross Culture

เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อยุคนี้ เกิดจากการเรียนรู้วัฒนธรรมของต่างทวีปต่างที่มา เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ ผสมสไตล์ ระหว่างตะวันออกกับตะวันตก มีให้เห็นทั้งจากของตกแต่ง งานฝีมือ ไปจนถึงงานสถาปัตยกรรม โดยนักออกแบบมือเก๋า นักออกแบบมือใหม่ และกลุ่มคนทั่วไปเริ่มศึกษาสิ่งที่ตัวเองสนใจ เช่น งานเชิงช่าง งานฝีมือ หรือของใช้ใชีวิตประจำวัน ผ่านการเรียนรู้จากผู้รู้หรือช่างฝีมือตัวจริง จากความสนใจนี้เองทำให้เกิดการผสมผสานและปรับเป็นสไตล์ของตัวเองในแบบที่เข้าใจได้ง่าย ทำให้เกิดวัฒนธรรมต่อเนื่องที่เรียกว่า Multi Culture คือแม้จะต่างวัฒนธรรมแต่ก็อยู่ร่วมกันได้ สุดท้ายในอนาคตวงการออกแบบก็จะเกิดการคิดค้นวัสดุและเทคโนโลยีขั้นสูงใหม่ๆ นำไปสู่ความทันสมัยแบบที่เราเคยเห็นจากภาพยนตร์แนวไซไฟที่นำมาปรับใช้กับบ้านคนได้จริง เช่นระบบบ้านแบบ Smart Home ที่รู้ใจและจับความรู้สึกของร่างกายเราได้ผ่านดีเอ็นเอหรือคอมพิวเตอร์ชีวภาพ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

 

 

 

 

130820_Panorama1

Sak130716-008

แล้วจะนำมาปรับใช้กับบ้านได้อย่างไร

ยุคนี้ไม่มีกฎตายตัวอีกต่อไปว่างานสไตล์คลาสสิกต้องวางคู่กับเฟอร์นิเจอร์สไตล์คลาสสิกเท่านั้น แต่เป็นการออกแบบภายในคู่กับการ ผสมสไตล์ ให้มีความพอเหมาะและสวยงามตามที่เจ้าของต้องการจริงๆ เช่น ภายในห้องออกแบบผนังในสไตล์คลาสสิก ได้แรงบันดาลใจจากยุคเรอแนซองซ์ เฟอร์นิเจอร์มีกลิ่นอายแบบเอเชีย วางเข้าคู่กับพรมเปอร์เซียก็ไม่ผิด แต่ต้องมีการเชื่อมโยงที่ดีและทำให้ห้องดูเข้ากัน เช่น การเลือกใช้สีสันเป็นตัวกำหนด หรือการเลือกใช้ขนาดของลวดลายมาเป็นตัวช่วย ให้ห้องดูสวยงามกลมกลืนแบบที่จำกัดความไม่ได้ว่าเราจะเรียกว่าสไตล์อะไร

ผสมสไตล์

jun130521_030

 

 

 

เรื่อง : “อัจฉรา จีนคร้าม”

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, room

ภาพประกอบ : choops