บ้านปูนชั้นเดียว ที่ยกใต้ถุนสูงเผื่อน้ำท่วม
บ้านปูนชั้นเดียว เท่ๆ หลังนี้ยกใต้ถุนขึ้นสูงประมาณ 1.60 เมตร เนื่องจากเคยมีน้ำท่วมมาก่อน มีชายคาคอนกรีตยื่นยาวประมาณ 4 เมตรโดยไม่มีเสารองรับ เพราะตั้งใจให้เป็นที่จอดรถ
บ้านปูนชั้นเดียว หลังนี้เป็นของ คุณขวัญชัย สุธรรมซาว ผู้ก่อตั้งสำนักงานสถาปนิกแผลงฤทธิ์ซึ่งตั้งใจสร้างบ้านนี้ให้คุณพ่อ คุณแม่ และน้องชาย ตัวบ้านตั้งอยู่บนที่ดินเดิมของบ้านคุณพ่อคุณแม่ ภายในชุมชนเล็กๆ ที่เงียบสงบของอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นบ้านที่น่าอยู่และไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่เป็นบ้านที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ของผู้อยู่อาศัย
รูปแบบของบ้านปูนชั้นเดียวนี้ดูโมเดิร์นทั้งหน้าตาและวิธีการคิด เส้นสายที่ตรงไปตรงมาและการออกแบบที่เน้นเรื่องการใช้งานเป็นหลัก ทำให้บ้านนี้ดูเข้ายุคสมัย คุณขวัญชัยบอกว่า นำวัสดุบางส่วนจากบ้านเก่าซึ่งปลูกในบริเวณใกล้เคียงกันมาซ่อมแซมและออกแบบใช้ใหม่กับบ้านนี้ให้มากที่สุด นอกจากช่วยประหยัดงบประมาณการก่อสร้างได้มากแล้วยังเป็นการรียูส (reuse) ซึ่งไม่ทำลายทรัพยากรโลกอีกด้วย เช่นไม้ทำระแนงและผนังตกแต่งก็เป็นไม้ส่วนพื้น บันได และจันทันของบ้านเก่า ผนังภายนอกของบ้านที่มีผิวเป็นคลื่นเป็นลอนก็คือกระเบื้องลอนคู่ของบ้านเก่าเช่นกัน นำมายึดติดกับผนังก่ออิฐเลย ไม่ต้องฉาบก่อน ประหยัดค่าฉาบผนังได้อีก
บ้านชั้นเดียวหลังนี้มีการยกใต้ถุนขึ้นสูงประมาณ 1.60 เมตร เนื่องจากพื้นที่นี้เคยมีน้ำท่วมมาก่อน เจ้าของบ้านจึงอยากได้บ้านที่มีใต้ถุนเพื่อความอุ่นใจเวลาน้ำมา และพื้นที่นี้ยังใช้เป็นที่จอดรถและใช้งานในบางกิจกรรมหรือเป็นที่เก็บของได้ด้วย ข้อดีอีกอย่างของการยกพื้นก็คือ ทำให้บ้านไม่ร้อน เพราะลมพัดพาเอาความร้อนออกไปได้มากขึ้น
บ้านวางผังเป็นรูปตัวแอล (L) ทำช่องเปิดรับแสงแดดยามเช้าด้านทิศตะวันออก แม้แสงจะสาดส่องเข้ามาถึงภายในบ้าน แต่ก็เป็นแสงอ่อนๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ส่วนผนังอาคารด้านที่หันสู่แสงแดดตรงๆ ก็มีระแนงแนวตั้งคอยกรองแสง วัสดุทำระแนงเป็นไม้จันทันหลังคาจากบ้านหลังเก่า เพียงคัดเลือกไม้สักนิด ขัดผิวตกแต่งอีกเล็กน้อย ก็ได้วัสดุแต่งบ้านที่ไม่รบกวนทรัพยากรโลกแล้ว บ้านหลังนี้ยังปล่อยให้ธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านโดยเก็บต้นไม้เดิมในพื้นที่ไว้เกือบทั้งหมด และสร้างบ้านให้อยู่ร่วมกับต้นไม้ได้ เช่น บริเวณทางเข้าหลักออกแบบให้ต้นไม้สามารถเติบโตทะลุหลังคาขึ้นไปได้เลย พื้นที่พักอาศัยประกอบด้วยส่วนเตรียมอาหาร ส่วนนั่งเล่นและส่วนรับประทานอาหาร ทั้งหมดเชื่อมต่อเนื่องกันโดยไร้ผนังทึบกั้นเป็นรูปแบบการจัดห้องสไตล์โมเดิร์นที่เราคุ้นเคย ยกเว้นครัวไทยที่มีการแยกออกไปเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นขณะปรุงอาหารเข้ามารบกวนภายในบ้าน ถัดเข้าไปเป็นห้องนอนและห้องพระ การตกแต่งภายในเรียบง่าย เน้นความโปร่งโล่งและใช้โทนสีสบายตาอย่างขาว น้ำตาล และฟ้าอ่อน
บ้านเรียบง่ายหลังนี้ยังมีส่วนที่ดูน่าตื่นเต้นแฝงอยู่ที่บริเวณชายคาคอนกรีตซึ่งยื่นยาวประมาณ 4 เมตรโดยไม่มีเสารองรับ เพราะตั้งใจให้เป็นที่จอดรถ การมีเสาจะทำให้จอดรถไม่สะดวก สถาปนิกใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณที่ซ่อนอยู่ภายในและยึดกับตัวคานโครงสร้างหลัก เพิ่มความแข็งแรงด้วยเหล็กเส้นที่ยึดโยงมาจากด้านบน จึงมั่นใจได้ในเรื่องความแข็งแรง แม้ดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว
เพราะการออกแบบที่แยบยลของทั้งสถาปนิกและวิศวกรนั่นเอง การออกแบบคือการแก้ปัญหา โดยหาทางออกที่ตอบทุกโจทย์ได้อย่างลงตัว บ้านหลังนี้ตอบโจทย์เรื่องการใช้วัสดุเก่าได้ดี เป็นตัวอย่างที่น่านำไปคิดทบทวน หากคุณอยากมีบ้านที่คุ้มค่าแบบนี้
เจ้าของ – ออกแบบ : คุณขวัญชัย สุธรรมซาว สถาปนิกแผลงฤทธิ์
เรื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์ : ภควดี พะหุโล
บ้านปูนเปลือยผสมโครงเหล็กที่มีกลิ่นอายลอฟต์นิดๆ
บ้านปูนเรียบๆ ที่ตกแต่งด้วยงานไม้เก่า