บ้านโมเดิร์นยกพื้นสูง ที่ออกแบบจากเฟรมจักรยาน ในบรรยากาศเรียบง่ายของชุมชน
บ้านโมเดิร์นยกพื้นสูง

เจเนอเรชั่นใหม่ของเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง

บ้านรูปแบบแปลกตาที่คนในละแวกนี้เรียกว่า “บ้านเหงี่ยง”  (ภาษาเหนือ แปลว่า เอียง) “บ้านท่าเรือ” “บ้านชี้ฟ้า” “บ้านทรงสบาย” ด้วยความที่ตัวบ้านดูแปลกประหลาดนี้เองจึงมักโดนคำถามจากเพื่อนบ้านว่า “อยู่แล้วเวียนหัวไหม” หรือ “อยู่สบายหรือเปล่า” ลองไปหาคำตอบในเนื้อเรื่องกันเลย

เจ้าของ-ออกแบบ คุณศิริศักดิ์ ธรรมศิริ  NOTDS Co., Ltd.

บ้านโมเดิร์นยกพื้นสูง

ครั้งแรกที่ได้เห็นรูปทรงของ บ้านโมเดิร์นยกพื้นสูง หลังนี้ถึงกับต้องร้องว้าว เพราะที่นี่มีหน้าตาแตกต่างจากบ้านทั่วไปที่เราเคยเห็นมา แถมยังดูโดดเด่นต่างจากสภาพแวดล้อมในละแวกใกล้กัน เจ้าของบ้านหลังนี้ คือ คุณโต้ง-ศิริศักดิ์  ธรรมศิริ ผู้เป็นสถาปนิกออกแบบบ้านหลังนี้เองด้วย

บ้านโมเดิร์นยกพื้นสูง
ตัวบ้านดูเหมือนกล่องตั้งอยู่บนพื้นด้วยมุมเดียว ออกแบบด้วยหลักสเปซเฟรมอย่างเดียวกับการออกแบบเฟรมจักรยาน จึงทำให้คานสามารถยื่นออกมาจากตัวบ้านได้มากถึง 7 เมตร ใช้พื้นที่ด้านล่างไว้จอดรถหรือนั่งเล่นได้

บ้านโมเดิร์นยกพื้นสูง

บ้านหลังนี้อยู่ในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ รอบๆรายล้อมด้วยบ้านเรือนไม้ยกพื้นสูง มีวิถีชีวิต ใกล้ชิดธรรมชาติ ดังนั้นการมาสร้างบ้านรูปทรงแปลกตาในย่านนี้จึงดูโดดเด่นกว่าใคร และเมื่อได้ฟังแนวคิดการออกแบบบ้านของคุณโต้ง ยิ่งทำให้เราเข้าใจที่มาของรูปทรงบ้านมากขึ้น

“ตอนมาเจอที่ดินแปลงนี้ผมเห็นว่าไม่ไกลจากที่ทำงานและตัวเมืองมากนัก แถมยังมีวิวภูเขาสวยงาม แต่ด้วยความที่ที่ดินนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ไม่สวยเท่าผืนสี่เหลี่ยมหรือจัตุรัส จึงทำให้เราซื้อที่ดินได้ในราคาถูก ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นเสน่ห์ ดูธรรมชาติ จึงออกแบบบ้านให้ล้อไปกับรูปทรงที่ดินเสียเลย แล้วใส่ภาพความทรงจำวัยเด็กลงไป ผมนึกถึงตอนที่เราวิ่งเล่นไปตามคันนาที่มีภูเขาเป็นฉากหลัง รูปทรงของบ้านจึงออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกล่องขนาดใหญ่โผล่ขึ้นมาจากดิน ให้ความรู้สึกเหมือนภูเขา หน้าบ้านมีสนามหญ้าเหมือนได้วิ่งเล่นในทุ่งนาอย่างที่นึกไว้ ส่วนขั้นบันได ผนัง และหลังคา ออกแบบให้เอียงเป็นสเต็ป มีการเชื่อมต่อพื้นที่ให้สามารถเดินไปหากัน ได้ทั้งหมด”

ห้องรับแขก
ภายในชั้น 1 ของบ้านออกแบบให้เปิดโล่ง มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ ช่วยให้คนในบ้านมีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา  ทำประตูกระจกบานใหญ่เพื่อเปิดรับลมและแสงธรรมชาติให้ลอดผ่านเข้ามาในบ้าน ทั้งยังทำพื้นที่เชื่อมต่อออกไปสู่ระเบียงให้ทุกคนในบ้านเดินออกไปนั่งเล่นชมวิวกลางแจ้งได้
บันไดลอย
บันไดเดินขึ้นชั้น 2 ออกแบบให้ไร้ราวกันตก หลุดออกจากกรอบของความปลอดภัย แต่ก็ให้ความรู้สึกอิสระสบายตาได้อย่างน่าสนใจ
ชั้นลอย
ออกแบบราวบันไดเหล็กรูปทรงแปลกตาให้บ้านมีลูกเล่นน่าสนใจ และใช้วัสดุต่างๆอย่างพื้นคอนกรีตบริเวณชั้น 1
เดินขึ้นบันไดเหล็กดิบๆมาเจอกับพื้นหินขัดสีดำบริเวณชั้น 2  ช่วยทำให้บรรยากาศภายในบ้านเรียบเท่ตามต้องการ

ชั้นลอย

 

นอกจากตัวบ้านจะโดดเด่นเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมเอียงที่โผล่ออกมาจากพื้นดินแล้ว ที่นี่ยังมีคานยื่นออกมาจาก ตัวบ้านเยอะมาก ทำให้สงสัยว่าคุณโต้งใช้หลักการอย่างไรในการออกแบบ เขาเล่าให้ฟังว่า

“โครงสร้างหลักของบ้านมีลักษณะคล้ายเฟรมจักรยาน ลองสังเกตว่าเวลาถอดเฟรมจักรยานออกมา มันสามารถตั้งได้เอง ผมจึงนำมาใช้ในการออกแบบโครงสร้างบ้านหลังนี้ ปกติคานที่ยื่นออกมาจากตัวบ้านจะยื่นมากไม่ได้ แต่ด้วยความที่โครงสร้างหลักทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก คานจึงสามารถยื่นออกมาจากตัวบ้านได้ถึง 7 เมตร ใช้เป็นที่จอดรถได้ ส่วนหน้าบ้านที่หันออกไปทางทิศใต้ ผมใช้ไม้มาปิดผนังภายนอกเพื่อกันแดดและระบายความร้อนในตอนบ่าย”

เมื่อเข้ามาภายในบ้านก็ได้ความรู้สึกโปร่งโล่งสบาย เพราะหลังบ้านเป็นทิศเหนือจึงมีลมพัดผ่านตลอดวัน จากข้อดีนี้ คุณโต้งจึงออกแบบให้มีประตูกระจกบานใหญ่เพื่อเปิดรับลม และมีช่องหน้าต่างรอบบ้าน ช่วยเปิดรับแสงธรรมชาติและประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้อีกทาง

มุมทำงาน
มุมอเนกประสงค์นี้ใช้เป็นโต๊ะทำงานหรือรับประทานอาหารก็ได้ ตัวโต๊ะออกแบบให้ยื่นออกมาจากผนัง แล้วใช้โครงเหล็กยึดไว้ส่วนชั้นวางหนังสือบิลท์อินก็มีลักษณะเป็นขั้นบันไดให้สัมพันธ์กับรูปทรงของบ้าน

มุมทำงาน

ตัวบ้านแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้น 1 ประกอบด้วยห้องนั่งเล่นและแพนทรี่เชื่อมกันอย่างโปร่งโล่ง นอกจากนี้ยังทำชั้นใต้ดินลงไปหาห้องครัวด้านล่าง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ลึกหรือมืดทึบเสียทีเดียว เพราะครึ่งล่างอยู่ใต้ระดับผิวดินเพียง 50 เซนติเมตรเท่านั้น ครึ่งบนอยู่สูงขึ้นมาจากระดับผิวดินจึงสามารถทำหน้าต่างเปิดรับลม ระบายอากาศ และให้แสงเข้าถึงภายในได้ เชื่อมพื้นที่ชั้นล่างและบนด้วยชั้นลอย บันไดทำจากเหล็กแผ่นพับเป็นขั้นบันไดเท่ในแบบไม่เหมือนใคร นำทางขึ้นสู่ชั้นบนที่ออกแบบให้เป็น ห้องนอน มีประตูกระจกบานใหญ่มองเห็นวิวภูเขาได้เต็มตา

ห้องนอน
ห้องนอนตกแต่งพื้นและผนังด้วยไม้ให้ความรู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลาย ส่วนหน้าต่างเอียงออกแบบเป็นบานกระทุ้ง
จึงสะดวกในการเปิด-ปิด
ระเบียง
ระเบียงฝั่งห้องนอนสามารถเดินออกมาสูดอากาศยามเช้าพร้อมรับวิวภูเขา ให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ

 

“ผมแบ่งพื้นที่ตามพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย ไม่ใช้ผนังหรือเฟอร์นิเจอร์มากั้นแบ่งพื้นที่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนเราจะเห็นและได้ยินกันได้ เราแบ่งพื้นที่ด้วยสเปซที่เราใช้งานอยู่ มันจะมีเส้นบาง ๆ ที่เรามองไม่เห็น แต่รับรู้ได้จากการใช้งาน ผมไม่อยากแบ่งพื้นที่เป็นห้อง แต่อยากให้บ้านดูโปร่งมองเห็นกันได้ ให้คนอยู่อาศัยมีความเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ นั่งทำงานอยู่ข้างบนก็สามารถมองลงมา เห็นคนข้างล่างได้อย่างนี้เป็นต้นครับ”

ด้วยความที่บ้านเป็นสไตล์โมเดิร์น มีโครงสร้างและรูปทรงแปลกตา เมื่อได้เข้ามาสัมผัสใกล้ ๆ ทำให้รู้สึกว่า แท้จริงแล้ว สถาปนิกได้นำอัตลักษณ์และวิถีชีวิตแบบไทยมาสอดแทรกลงไปด้วย เพราะรูปแบบการใช้งานไม่ต่างไปจากเรือนไม้ยกพื้นสูงของเพื่อนบ้านใกล้เคียง ถ้าถือว่านี่เป็นวิวัฒนาการของรูปแบบบ้าน บ้านหลังนี้ก็คงเป็นอีกเจเนอเรชั่นของเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง อย่างที่คุณโต้งให้คำจำกัดความบ้านนี้ว่า “บ้านสบายสไตล์โมเดิร์น บ่งบอกความเป็นคนรุ่นใหม่ เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เหมือนบุคลิกของเจ้าของบ้าน” 

บ้านโมเดิร์นยกพื้นสูง
บ้านหลังเล็กรูปทรงแปลกตาที่โผล่ขึ้นมาจากดินนี้ใช้เป็นห้องพักแขก ส่วนช่วงที่ไม่มีแขกมาเยี่ยม คุณโต้งจะใช้เป็นสตูดิโอทำงาน เน้นความเรียบง่าย ดีไซน์สะดุดตา ไม่ต่างจากบ้านหลังใหญ่

เฟรมเหล็ก

แค่ได้มาเยี่ยมก็แทบไม่อยากกลับออกไปเลย แล้วคิดดูสิว่า คนที่ได้อยู่ใน บ้านโมเดิร์นยกพื้นสูง  หลังนี้จะมีความสุขขนาดไหน…


เรื่อง : Nutt

ภาพ : จิระศักดิ์ ทองหยวก, นันทิยา บุษบงค์

ผู้ช่วยช่างภาพ : ลิขสิทธิ์ สีบุญเรือง

สไตล์ : ประไพวดี โภคสวัสดิ์

บ้านโมเดิร์นทรงจั่ว ฟาซาดสวยด้วยบล็อกช่องลม

ยกรีสอร์ตมาไว้ในบ้านโมเดิร์นกลางกรุง