บ้านริมน้ำที่เชื่อมต่อธรรมชาติแบบ Inside-out / Outside-in
บ้านตากอากาศริมทะเลสาบสไตล์ทรอปิคัลโมเดิร์นที่เปิดมุมมองรับวิวริมน้ำได้กว้างสุดๆ แม้จะนั่งอยู่ในบ้านก็เสมือนได้เอาตัวไป “แช่วิว” อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ รองรับการมาพักผ่อนและทำกิจกรรมของครอบครัว และมีมุมทำกิจกรรมสำหรับคนแต่ละวัย
ออกแบบ : makeAscene โดยคุณพิชยา รัตน์ปิยะสุนทร คุณธีรยุทธ วุฒิวงศ์ธนกิจ และคุณชิษณุพงศ์ รุ่งเลิศนิรันดร์ โทรศัพท์ 06-3635-9980 www.makeAscene.co.th
ตกแต่งภายใน : คุณเมธิกา แตงแก้วฟ้า และคุณหทัยชนก ศิริอุดมเดชกุล
ก่อสร้าง : บริษัทเฮดรูม เอสเตท จำกัด โทรศัพท์ 09-7040-8528 www.headroomestate.com
“นั่งในบ้านก็เหมือนเอาตัวไปแช่วิวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติได้” น่าจะเป็นคำอธิบายถึงบรรยากาศของ บ้านริมน้ำ หลังนี้ได้ดีที่สุด ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดของ คุณปิ๊ก – พิชยา รัตน์ปิยะสุนทร สถาปนิกและไดเร็กเตอร์แห่ง makeAscene ในการออกแบบบ้านตากอากาศริมทะเลสาบของครอบครัวที่มีสมาชิก 6 คน ซึ่งปกติทำงานและพักอาศัยอยู่ในเมือง ให้รองรับการทำกิจกรรมของครอบครัวและรับรองเพื่อนๆได้ โดยออกแบบโซนรับรองแขกเป็นยูนิตแยกออกมาให้มีฟังก์ชันครบโดยไม่รบกวนส่วนพักผ่อนของครอบครัว
เปิดมุมมองสู่วิวทะเลสาบ
เนื่องจากเป็นบ้านสำหรับพักผ่อน (Vacation Home) แนวคิดการออกแบบจึงแตกต่างจากบ้านอยู่อาศัยปกติ คุณปิ๊กเล่าถึงการออกแบบว่า “จุดเด่นของบ้านคือ มีทำเลดีอยู่ริมทะเลสาบของโครงการ ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ด้านทิศใต้ของทะเลสาบ ทำให้ตัวบ้านรับวิวทะเลสาบด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศที่เปิดรับแสงธรรมชาติได้ดีที่สุดเพราะไม่ร้อน และออกแบบให้เปิดรับลมที่มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยวางแปลนบ้านเป็นเส้นตรงรูปตัวแอล (L) แบบห้องเรียงเดี่ยวที่ไม่มีห้องซ้อนกันเลย ทุกห้องจึงเปิดรับวิวได้เต็มๆ เราคำนึงถึงหน้ากว้างของแต่ละห้องที่จะเปิดมุมมองได้ ซึ่งการวางแปลนแบบนี้จะได้มุมมองที่กว้างที่สุด”
ดีไซน์ให้ “แช่วิว” ได้ทุกที่
เมื่อบ้านอยู่ในทำเลที่ดีแล้ว สถาปนิกจึงออกแบบการใช้พื้นที่ให้เต็มศักยภาพ “มีการออกแบบให้เปิดรับลมธรรมชาติได้ ทุกห้องจึงสามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้แอร์ตลอดเวลา มีการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างภายนอกกับภายในแบบ Inside-out และ Outside-in ที่เชื่อมต่อทั้งสเปซและมุมมอง ทำให้แม้จะนั่งอยู่ภายในบ้านก็เสมือนนั่งเล่นอยู่ในสวนริมน้ำที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติได้ ห้องรับรองออกแบบให้มีหน้ากว้างกว่า 10 เมตร ส่วนห้องนั่งเล่นในโซนพักผ่อนจะได้หน้ากว้างไม่มาก แต่ทำห้องยื่นออกไปให้เปิดมุมมองกว้างได้สองด้าน รูปทรงบ้านโดยรวมเป็นทรงสี่เหลี่ยม แต่ออกแบบให้มีการคั่นด้วยพื้นที่ว่างเพื่อแยกกลุ่มห้องออกจากกันให้เปิดมุมมองได้กว้างขึ้น”
บ้านทรอปิคัลโมเดิร์นริมน้ำ
“เจ้าของบ้านชอบบ้านแบบทรอปิคัลโมเดิร์นที่เน้นให้ดูแลรักษาง่าย กันแดดกันฝนได้ดี บ้านริมบึงแบบนี้ แม้จะเปิดโล่งแต่ก็ไม่เสียความเป็นส่วนตัว จึงเน้นความต่อเนื่องกับพื้นที่ริมน้ำซึ่งเป็นทะเลสาบส่วนตัวของโครงการที่มีการทำกำแพงกันดินแล้ว จึงสามารถสร้างบ้านห่างจากเขตที่ดินได้ตามปกติ ออกแบบแนวพุ่มไม้แทนการทำรั้ว สร้างมุมมองให้ดูกว้างต่อเนื่องกับธรรมชาติ มีเรื่องที่ต้องระมัดระวังคือสัตว์และแมลงที่อาจมากับน้ำ จึงเลือกใช้ระบบประตูที่ปิดได้สนิท ส่วนภายในบ้านตกแต่งสไตล์คลาสสิกร่วมสมัยให้เข้ากับของสะสมซึ่งเป็นตุ๊กตาเคลือบจากต่างประเทศ จึงเน้นโทนสีครีมและโทนสีนิวทรัลที่ดูสบายตา”
บ้านตากอากาศของคนหลายวัย
การมาพักผ่อนเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวซึ่งประกอบด้วยคนหลายวัย แต่ละคนจึงมีมุมพักผ่อนในแบบต่างๆกัน “เมื่อมองจากหน้าบ้านเข้ามาที่ชั้นล่างจะเห็นช่องเปิดเป็น Frame View เห็นต้นไม้กลางคอร์ตและมองทะลุผ่านคอร์ตไปยังทะเลสาบที่อยู่ด้านหลังบ้าน คอร์ตนี้เป็นตัวเบรกระหว่างโซนพักผ่อนกับโซนรับรองแขก เพื่อแยกทางเข้าไปยังห้องรับรองได้โดยตรง ซึ่งในนั้นเสมือนเป็นบ้านเล็กๆมีฟังก์ชันครบ จึงสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนของลูก หรือรับรองญาติๆได้โดยไม่รบกวนกัน ส่วนชั้นล่างโซนพักผ่อนเป็นโถงทางเข้าที่เปิดทะลุไปยังห้องรับประทานอาหารและนั่งเล่นที่ทำผนังกระจกเปิดมุมมองสู่ทะเลสาบ โปร่งด้วยฝ้าเพดานสูง 6.50 เมตร เปิดโล่งถึงชั้นบน และจัดวางห้องนอนคุณปู่คุณย่าให้อยู่ติดระเบียงริมสระว่ายน้ำที่เปิดรับวิวและดูหลานๆทำกิจกรรมจากในห้องได้ หรือออกมานั่งเล่นริมน้ำได้สะดวก ชั้น 2 เป็นห้องนอนใหญ่ของคุณพ่อคุณแม่ และห้องนอนลูก 2 ห้อง ส่วนชั้น 3 เป็นห้องออกกำลังกายและห้องที่เผื่อไว้สำหรับอนาคต”
บ้านตากอากาศจึงไม่ใช่เพียงใช้สำหรับพักผ่อนเท่านั้น การเปลี่ยนพื้นที่ เปลี่ยนกิจวัตร เปลี่ยนบรรยากาศให้ต่างจากเดิม มักเปิดโอกาสให้เรามีประสบการณ์ใหม่ๆ และทลายขอบเขตรอบตัว ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวมากขึ้น
คอลัมน์ บ้านสวย นิตยสารบ้านและสวน ฉบับ ธันวาคม 2564
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : ฤทธิรงค์ ทองสุข, SkyGround architectural film & photography