สวนหน้าบ้าน ใต้ร่มไม้ที่ให้ร่มเงา
ทีมงานบ้านและสวนตั้งใจมาถ่าย สวนหน้าบ้าน ที่หมู่บ้านลดาวัลย์ พุทธมณฑล สาย 2
ซึ่ง สวนหน้าบ้าน ขนาด 30 ตารางเมตรแห่งนี้ เป็นสวนป่าเมืองร้อนริมบ่อปลาขนาดใหญ่ ดูร่มรื่นด้วยพรรณไม้หลากหลายสีสัน
เจ้าของ : คุณสง่า บุญสงเคราะห์และคุณจารุวรรณ ก่อเกียรติวนิช
ออกแบบ : G-Up Garden Design
ส่วนของ สวนหน้าบ้าน มีการต่อเติมห้องนั่งเล่นติดกับระเบียงไม้ขนาดใหญ่ที่สร้าง เพื่อพรางระบบกรองที่ซ่อนอยู่ข้างใต้บ่อปลา บรรยากาศช่างดูน่าสบายผิดกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวในขณะนี้ คุณสง่า บุญสงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ และคุณจารุวรรณ ก่อเกียรติวนิช เจ้าของบริษัทกิ๊ฟท์แลนด์ จำกัด ผู้เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ เล่าให้เราฟังว่า
“บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังที่สองครับ เนื่องจากบ้านหลังแรกมีคนอยู่กันค่อนข้างเยอะ จึงย้ายมาอยู่บ้านนี้ซึ่งก็ไม่ไกลจากหลังแรกเท่าไร สวนเดิมเป็นสวนที่หมู่บ้านจัดไว้ให้ ต้นไม้ใบร่วงมาก ดูแลยาก บริเวณหน้าบ้านได้รับแสงเกือบทั้งวัน ค่อนข้างร้อน เราอยากให้มีร่มเงามากกว่านี้ และบ้านผมก็เชื่อเรื่องฮวงจุ้ยด้วย จึงให้ อาจารย์วันชัย รวยอารี ซึ่งเป็นซินแสที่ผมนับถือมาดูให้ อาจารย์แนะนำให้ทำบ่อปลาล้อมบ้าน ก็เลยรื้อสวนออก ล้อมต้นไม้ใหญ่ออกเกือบทั้งหมด เพื่อทำบ่อขนาดใหญ่โอบล้อมด้านหน้าบ้าน”
“เมื่อก่อนไปบ้านเพื่อนเห็นเขาเลี้ยงปลาคาร์ปญี่ปุ่นก็ชอบ คิดอยากจะเลี้ยงอยู่เหมือนกัน เลยทำเป็นบ่อเลี้ยงปลาลึก 1.60 เมตร ให้ทีมที่เชี่ยวชาญการทำบ่อโดยตรงมาจัดการให้ ซึ่งตามมาตรฐานต้องมีบ่อกรองประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซ่อนอยู่ใต้พื้นระเบียงไม้ที่เรานั่ง ผมจึงคิดว่าไหน ๆ ก็ทำบ่อใหญ่ขนาดนี้แล้ว แค่เลี้ยงปลาเฉย ๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เลยทำห้องนั่งเล่นใหม่ ซึ่งบางทีก็ใช้เป็นห้องดูทีวีและห้องเรียนหนังสือของลูก ๆ ด้วย ระหว่างตัวบ้าน ห้องนั่งเล่น บ่อปลา และสวนจึงมีพื้นที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด และเราก็ได้ใช้งานจริง มานั่งดูสวนดูปลา กลายเป็นมุมพักผ่อนในยามว่างของครอบครัว
สั่งจองนิตยสารบ้านและสวนฉบับเดือนกันยายน ได้ที่นี่
“เรื่องรูปแบบสวนผมเปิดโอกาสให้คุณโอ๊ตออกแบบได้เต็มที่ครับ เพราะ เราทำงานทางด้านนี้ด้วย รู้ว่าไม่ควรบังคับมาก ปล่อยให้คนที่มีความชำนาญเขาจัดการ (หัวเราะ)”
คุณโอ๊ต – ศิริชัย อิ่มละออ ที่เจ้าของบ้านกล่าวถึงเป็น นักออกแบบจัดสวนที่จบด้านสถาปัตยกรรม แต่สมัยเรียนมีโอกาสไปฝึกงานด้านจัดสวนกับ อาจารย์สาโรช โสภณางกูร และเคยเป็นพนักงานในบริษัทออกแบบจัดสวนอยู่ระยะหนึ่ง รวมถึงมีผลงานประกวดออกแบบสวนในงานบ้านและสวนแฟร์หลายครั้ง กระทั่งออกมาทำบริษัทของตัวเองในนาม G-Up Garden Design เมื่อสองปีก่อนคุณโอ๊ตได้จัดสวนให้บ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านแห่งเดียวกันนี้ ซึ่งก็เป็นเพื่อนบ้านของคุณสง่านั่นเอง เมื่อคุณสง่าได้เห็นงานออกแบบสวนที่มีรูปแบบผสมผสาน อันเป็นสไตล์ถนัดของคุณโอ๊ต ก็เกิดชอบใจกระทั่งทั้งสองมีโอกาสได้รู้จักกัน
“คุณสง่าให้โจทย์ผมเพียงแค่อยากให้บริเวณหน้าบ้านมีร่มเงามากกว่านี้ เพราะ พื้นที่ส่วนนี้ได้รับแสงแดดค่อนข้างมาก อยากได้ต้นไม้ที่ไม่ต้องดูแลรักษามาก สวนมีบรรยากาศที่ดูเป็นธรรมชาติ สบายตา ไม่ต้องมีแพตเทิร์นอะไรมาก เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลา เริ่มแรกผมรื้อต้นไม้เก่าออกครับ ปรับระดับพื้นที่ใหม่ทั้งหมด ถมดินให้สูงขึ้นมาค่อนข้างเยอะ
“ผมออกแบบเป็นสวนป่าเมืองร้อน ซึ่งเหมาะกับสภาพพื้นที่นี้ ทั้งยังไม่ต้องดูแลรักษามากนัก เพราะ ไม่ต้องมานั่งตัดแต่งต้นไม้ ปล่อยให้เติบโตไปตามธรรมชาติ เลือกใช้พรรณไม้ที่มีรูปทรงสวยงามและดูแลง่าย อย่างพวกเฟิน หมากผู้หมากเมีย หมากแดง จันทร์ผา ลั่นทม เอื้องหมายนา เฮลิโคเนีย กล้วยแดง และจั๋ง คุณสง่าชอบต้นไม้ใหญ่ ก็ปรึกษาพูดคุยกันและก็ไปเลือกซื้อต้นไม้ด้วยกัน อย่างคำมอกหลวงนี้หากันอยู่สองอาทิตย์ ยังพูดกันเล่น ๆ ว่า ต้นนี้เป็นพระเอกของสวน จากนั้นก็ไปหาเนื้อคู่ของเขา และได้ลั่นทมมา หลังจากลงต้นไม้ใหญ่แล้วผมก็ลงไม้พุ่มต่าง ๆ เป็นไม้กลางแจ้งบ้าง ไม้ในร่มบ้าง พวกไม้ร่มก็ได้ร่มเงาจากไม้ใหญ่
“ในสวนนี้จะปลูกต้นไม้หลากหลายชนิดมาก ตรงไหนที่มีแต่สีเขียวผมก็ใส่ไม้ดอกเพิ่มให้ดูมีสีสันมากขึ้น ตามมุมต่าง ๆ ยังปลูกเฟินหลากชนิดที่มีผิวสัมผัสละเอียดแทรก ผมว่าเฟินช่วยให้ต้นไม้ต่าง ๆ ในสวนดูกลมกลืนกันได้ดียิ่งขึ้น บริเวณที่ติดรั้วด้านหน้าก็ลงต้นไม้ที่สูงและดูทึบหน่อย เพื่อเป็นฉากหลังให้สวน และช่วยบังสายตาจากคนภายนอก ส่วนบ่อปลาซึ่งมีขนาดใหญ่และเป็นบ่อสี่เหลี่ยม ผมก็หาพรรณไม้หลายชนิดมาปลูก เพื่อพรางขอบบ่อให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
“นอกจากนี้ผมยังวางระบบไฟและระบบการให้น้ำ เลือกใช้ระบบอัตโนมัติให้กระจายทั่วสวน ตั้งเวลาให้น้ำทุกเช้าและเย็น ครั้งละ 10-15 นาที เจ้าของบ้านจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาดูแลมาก จะมีแค่เก็บเศษใบไม้ร่วงนิด ๆ หน่อย ๆ หรือให้น้ำต้นไม้ใหญ่เพิ่มบ้าง เพราะ เป็นต้นที่ขุดล้อมมา ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่นัก ส่วนเรื่องการให้ปุ๋ยหรือกำจัดแมลงผมจะเข้ามาดูแลให้ทุกสองอาทิตย์ พร้อมเก็บกวาด ตัดแต่ง ทำความสะอาด และเก็บวัชพืช ในส่วนของยาฆ่าแมลงผมไม่ค่อยเลือกใช้พวกสารเคมี เพราะ จะทำให้ดินเสีย โรยหนักมือไปต้นไม้ก็ไหม้ ส่วนใหญ่จะใช้พวกสารสกัดจากธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำ เพราะ ถึงอย่างไรก็ต้องฉีดป้องกันพวกเพลี้ยไว้บ้าง พวกนี้ถ้าเกิดขึ้นมาจะลามเร็ว ผมว่าสวนเมืองร้อนไม่ต้องดูแลอะไรมากอยู่แล้ว ต้นไม้ก็ปล่อยให้โตไปตามธรรมชาติ จะมีก็แค่ตัดแต่งกิ่งแห้งกิ่งแก่ออก หรืออย่างต้นไม้ที่เจริญเติบโตแตกกออย่างเฮลิโคเนีย ก็ตัดต้นแห้ง ๆ ออกบ้าง ต้นไม้พวกนี้ต้นหนึ่งออกดอกแค่ช่อเดียว จะไม่ออกดอกซ้ำ หลังออกดอกต้นก็จะโทรม เราก็ตัดออก”
ก่อนจะลากันไป คุณโอ๊ตให้ข้อคิดกับเราไว้ว่า “ปัจจุบันรูปแบบสวนไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับสไตล์ของบ้านเสมอไปครับ เราสามารถออกแบบได้ตามความต้องการของทั้งเจ้าของบ้านและตัวผู้ออกแบบเอง เพียงแค่ต้องมีการปรับเปลี่ยนและจัดวางองค์ประกอบให้สัมพันธ์กัน สไตล์สวนในอนาคตน่าจะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพราะพื้นที่บ้านพื้นที่สวนมีน้อยลง การออกแบบควรเน้นที่ฟังก์ชันและการใช้งานมากกว่าครับ”
เห็นได้ชัดว่าสวนแห่งนี้ตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้านได้ครบถ้วน ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในสวนกระทั่งทำงานเสร็จ พวกเราทีมงานกลับไม่รู้สึกร้อนอบอ้าวเลยสักนิด อาจเป็นเพราะร่มเงาอันร่มรื่นของพรรณไม้เมืองร้อนนานาชนิดที่รายล้อมช่วยให้ ระบบนิเวศเล็ก ๆ แห่งนี้ ดูสวยสมบูรณ์ราวกับธรรมชาติย่อม ๆ ที่ตั้งอยู่ภายในบ้าน
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : ชัยพฤกษ์ โพธิ์แดง, ศุภกร ศรีสกุล