บ้าน ไอซ์ซึ โลกคู่ขนานที่บรรจบกันของคนกับแมว - บ้านและสวน

บ้านไอซ์ซึ ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ โลกคู่ขนานที่บรรจบกันของคนกับแมว

บ้านไอซ์ซึ บ้านสไตล์ญี่ปุ่นหัวใจไทยของ ไอซ์ซึ ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ นายแบบและนักแสดงหนุ่มมากฝีมือจากภาพยนตร์เรื่อง “One for the road” ที่ออกแบบสำหรับคนกับแมวอยู่ร่วมกันเหมือนสมาชิกในครอบครัว

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Junsekino A+D

บ้านทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่ายหลังคาทรงจั่ว มีสกายไลต์ด้านบน ถูกล้อมด้วยรั้วบล็อกแก้วดูแปลกตา แต่จะไม่แปลกใจเมื่อทราบว่าเป็นของ คุณไอซ์ซึ – ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ นายแบบและนักแสดงหนุ่มมากฝีมือจากภาพยนตร์เรื่อง “One for the road” และออกแบบโดย คุณจูน เซคิโน สถาปนิกมือรางวัล แห่ง Junsekino Architect and design

ไอซ์ซึไอซ์ซึไอซ์ซึไอซ์ซึ

เพราะผลงานที่ออกมาได้บ่งบอกตัวตนของเจ้าของบ้านได้อย่างชัดเจน คุณจูนเกริ่นว่า ก่อนที่คุณไอซ์ซึจะติดต่อเข้ามาเพื่อให้ออกแบบบ้านนั้น คุณไอซ์ซึได้หาข้อมูลเตรียมพร้อมและเลือกคุณจูนเป็นสถาปนิกก่อนเราจะนัดเจอกันเสียอีก และตกลงทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายเป็นบ้านบนพื้นที่เปล่าขนาด 70 ตารางวา “การเสนอแบบค่อนข้างราบรื่น เพราะตรงใจและตอบโจทย์ความต้องการของเขาอย่างครบถ้วน ทำให้ทราบว่าคุณไอซ์ซึเป็นคนที่ชัดเจนมากๆ”

ไอซ์ซึ

ไอซ์ซึ

บ้านสไตล์ญี่ปุ่นหัวใจไทย

เมื่อรูปทรงของบ้านร่างขึ้นจากภาพบ้านตอนเด็กที่มักวาดเป็นบ้านหลังคาจั่วดูอบอุ่น ซึ่งคุณไอซ์ซึบอกกับคุณจูนว่า “แบบนี้ดูเป็นบ้านดีครับ” สิ่งสำคัญของบ้านนี้คือ ฟังก์ชันต่างๆที่อยู่ร่วมกับแมวที่เขารักเสมือนสมาชิกในครอบครัวได้ เขาใช้ชีวิตอย่างไรก็อยากให้แมวได้ใช้ชีวิตอย่างนั้น แต่มีขอบเขตของกันและกันอย่างชัดเจน ถึงภายนอกของตัวบ้านจะดูคล้ายบ้านญี่ปุ่น แต่จริงๆแล้วฟังก์ชันต่างๆเป็นแบบบ้านไทยมากๆ เริ่มจากชั้นล่างเป็นพื้นที่ของส่วนนั่งเล่น มีห้องน้ำและใช้เล่นโยคะ แล้วยังสามารถใช้รับแขกแบบใต้ถุนของบ้านไทยได้ ส่วนชั้นสองเป็นพื้นที่ส่วนตัว ประกอบด้วยห้องทำงาน ห้องดูโทรทัศน์ ห้องครัว ห้องนอน และสวนระเบียง ซึ่งเป็นส่วนที่มีลมผ่านตลอด เมื่อเปิดหน้าต่างจะมีลมธรรมชาติพัดเข้ามา จึงแทบไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศเลย อีกทั้งยังมีชั้นลอยใต้หลังคาด้วย ซึ่งพื้นที่ใช้สอยของตัวบ้านประมาณ 300 กว่าตารางเมตรเท่านั้น แต่ออกแบบพื้นที่ให้ใช้ได้อย่างมีคุณภาพ

ไอซ์ซึ

ไอซ์ซึ

ปิดนอกเปิดใน ประนีประนอม และปลอดภัย

คุณจูนเล่าว่า ปกติคนส่วนใหญ่จะใส่ใจภายในบ้านมากกว่ารั้ว แต่จริงๆแล้วเราจะเห็นรั้วก่อนตัวบ้าน การลงทุนกับรั้วดีๆจะทำให้บ้านดูน่าสนใจมากขึ้น เช่นเดียวกับรั้วบล็อกแก้วโปร่งแสงสลับโปร่งใส ที่อาจคุ้นเคยกับการนำไปใช้ภายในบ้านมากกว่าภายนอกบ้าน แต่ความจริงแล้วบล็อกแก้วมีความแข็งแรงทนทานไม่ต่างจากอิฐก่อปูน โดยออกแบบเสริมโครงเหล็กทำให้ได้รั้วทรงโค้งที่สวยงาม บ้านจึงดูไม่แข็งทื่อจนเกินไป ที่สำคัญทั้งแข็งแรงและปลอดภัยด้วย แล้วยังมีแสงส่องผ่านทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้เห็นภาพในบ้านแบบเงารางๆ อีกทั้งเส้นรอยต่อของตัวบล็อกก็ทำให้นึกถึงภาพแบบพิกเซล (pixel) ที่แม้จะเป็นการก่อปิดล้อมรอบแต่ดูไม่ทึบ มีความโปร่งคล้ายเปิดโล่งแต่ไม่เปิดเผย ซึ่งคุณไอซ์ซึชอบมากและบอกกับคุณจูนว่า “เป็นกำแพงที่ดูมีความประนีประนอมดีครับ”

ไอซ์ซึ

แสงสว่างสะท้อนการใช้ชีวิต

หน้าบ้านเป็นทิศตะวันออกที่มีแสงส่องในตอนเช้า พื้นที่สวนเป็นทิศเหนือ การใช้ชีวิตในบ้านจึงมีการสลับใช้พื้นที่เพื่อหลบแสงแดดที่ส่องมากระทบบ้าน บริเวณโถงกลางบ้านออกแบบเป็นโถงสูงเพื่อให้บ้านโปร่งและรับลมธรรมชาติได้ ทำหลังคาสกายไลต์เปิดรับแสงธรรมชาติส่องลงมาในตอนกลางวัน โดยไม่ให้แสงส่องมาโดนงานศิลปะที่สะสมไว้โดยตรง เพื่อรักษาคุณภาพของงานศิลปะให้คงทนและสวยงาม บริเวณโถงบันไดไม่ได้ติดตั้งโคมไฟดาวน์ไลต์เพราะฝ้าเพดานสูง ในเวลากลางคืนจึงอาศัยแสงสว่างจากหลอดไฟของห้องข้างเคียง และไฟที่ซ่อนในราวกันตกให้สะท้อนขึ้นไปด้านบนแบบแสง Indirect light ที่นวลตา ซึ่งเพียงพอที่แมวจะเดินได้อย่างปลอดภัย และเมื่อมองจากภายนอกก็สวยงาม

พื้นที่ของฉัน ของเธอ…และของเรา

บ้านถูกแบ่งสัดส่วนและขอบเขตอย่างชัดเจน เนื่องจากความต้องการแรกของคุณไอซ์ซึคือการอยู่ร่วมกันกับแมวดังสมาชิกในครอบครัว บ้านจึงถูกออกแบบพื้นที่ให้แบ่งครึ่ง ให้มีพื้นที่ของแมวที่สามารถใช้ชีวิตในนั้นได้อย่างครบถ้วน และสามารถลอดช่องทางเดินเล็กๆเรียกว่า Cat walk ที่ทำไว้ในส่วนต่างๆของบริเวณฝั่งขวาของบ้านซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับแมว หรือเดินไปรับแดดรับลมในสวนได้ไม่จำเจ ส่วนบริเวณฝั่งซ้ายจะเป็นพื้นที่ของคน เป็นส่วนของห้องรับประทานอาหาร ห้องทำงาน ห้องนอน หากอยากเห็นกัน ทักทายกัน ก็สามารถมองผ่านช่องกระจกได้ เมื่ออยากเล่นด้วยกันก็ค่อยเข้าไปหากันเป็นพื้นที่ของเรา ในแต่ละส่วนของบ้านจึงกั้นขอบเขตด้วยสีและจังหวะการใช้วัสดุ ยกตัวอย่างเช่น บันไดถูกแบ่งชั้นด้วยการใช้สีขาวตรงพื้นที่ชั้น 1 ส่วนพื้นที่ชั้น 2 เป็นบันไดพื้นไม้ออกแบบรับกับเส้นเหล็กโค้งของราวกันตกได้อย่างสวยงาม ทั้งยังสร้างการรับรู้ขอบเขตพื้นที่ด้วยการใช้วัสดุที่ต่างกันแทนการกั้นผนัง ทำให้บ้านโปร่งและมีความน่าสนใจ

ความงาม…ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล แต่ฟังก์ชันควรสมเหตุสมผล

คุณไอซ์ซึมีความเป็นศิลปินสูงและเป็นคนที่มีรสนิยมดี เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งในบ้านคุณไอซ์ซึจะเป็นคนเลือกเองทุกชิ้น “พี่จูนไม่ต้องกลัวนะครับ สิ่งที่ผมเลือกมาวางในงานของพี่ผมว่ามันเหมาะสมแล้ว”  “บางอย่างควรแพงก็แพงได้ แต่บางอย่างที่ราคาถูกก็ไม่ควรแพง” คือประโยคที่หนุ่มนักแสดงคนนี้ได้กล่าวไว้กับสถาปนิกของเขา คุณจูนจึงได้นิยามไว้ว่า “ความงามไม่ต้องการเหตุผล แต่ฟังก์ชันควรสมเหตุสมผล” เมื่อความต้องการ ฟังก์ชัน และรูปแบบมีความชัดเจน การเลือกใช้วัสดุต่างๆจะค่อยๆตามมา โดยเลือกใช้วัสดุธรรมชาติอย่าง ระแนงไม้ที่เห็นเป็นไม้จริงที่ใช้วิธีการเข้าลิ่มและเดือยกับโครงเหล็กโดยไม่ใช้ตะปู เป็นงานที่ยากและเนี้ยบมาก พื้นใช้ไม้จริง ทำเพดานสูงไม่มีฝ้าแบบบ้านไทยโบราณ แล้วเจาะช่องให้แสงส่องลงมายังต้นไม้

ไอซ์ซึ

เน้นการจัดสวนแบบเซน ด้วยฮาร์ดสเคปที่เรียบง่าย สวยงาม และดูแลรักษาง่าย  ส่วนต้นไม้ปลูกในกระถางที่เลือกวัสดุ สี  และขนาดที่มีความแตกต่างกัน เมื่อจัดวางด้วยกันแล้วจะได้จังหวะสวยงาม ซึ่งการปลูกในกระถางช่วยป้องกันแมวแทะได้ด้วย ที่สำคัญคือการเลือกต้นไม้ที่ไม่เป็นอันตรายกับแมว

“บ้านไม่จำเป็นต้องเข้ากันทั้งหมด แค่เป็นสิ่งที่เราชอบและอยู่แล้วมีความสุขก็พอ” เป็นแนวคิดของคุณ ไอซ์ซึ จึงเห็นดีเทลการใช้เส้นโค้งในส่วนของประตูแมวและห้องน้ำมาผสมผสานให้เข้ากับตัวบ้านด้วย บ้านนี้จึงเป็นบทสรุปที่ลงตัวสำหรับเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันตั้งแต่ต้นจนจบ

ไอซ์ซึไอซ์ซึไอซ์ซึไอซ์ซึไอซ์ซึไอซ์ซึ


เจ้าของ : คุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์

ออกแบบสถาปัตยกรรม : Junsekino Architect and design

ตกแต่งภายใน : Junsekino I+D

ออกแบบสวน : Kaizentopia

ก่อสร้างอาคาร : GA house

ก่อสร้างภายใน : Akepakin interior and construction


เรื่อง : jEedwOndER

ภาพ: Spaceshift studio


รีโนเวตบ้านเก่า 80 ปี มาเป็น “บ้านโนบิตะ” แสนอบอุ่น

BAAN LOUK PLA รับลมทะเลในบ้านตากอากาศสไตล์ร่วมสมัย

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag