ป้องกันบ้านร้อน ด้วย Passive & Active Cooling Design - บ้านและสวน

ป้องกันบ้านร้อน ด้วยวิธี Passive & Active Cooling Design

25 วิธีแก้ไข และ ป้องกันบ้านร้อน ที่ช่วยให้บ้านเย็นหรือร้อนน้อยลงได้ ทั้งการแก้ด้วยการออกแบบตั้งแต่เริ่มสร้างบ้าน การปรับบ้านเดิม รวมถึงการปรับพฤติกรรมอยู่อาศัยที่ช่วยคลายร้อนได้

1. ออกแบบหลังคาให้รับแดดน้อย

หลังคาเป็นพื้นที่รับแสงแดดมากที่สุด โดยหลังคาแต่ละรูปแบบมีลักษณะพื้นที่รับแสงแดดต่างกัน รูปแบบหลังคาที่เลือกใช้จึงสามารถช่วยลดปริมาณความร้อน เป็นการ ป้องกันบ้านร้อน ตั้งแต่ต้นทาง

  • หลังคาจั่ว (Gable roof) รูปทรงหลังคาที่เป็นสันกลาง เมื่อแสงแดดเปลี่ยนทิศ หลังคาอีกฝั่งจะเกิดร่มเงาจึงรับความร้อนน้อยลง
  • หลังคาปั้นหยา (Hip roof) มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับหลังคาจั่ว แต่สามารถป้องกันแสงแดดและฝนได้รอบทิศ
  • หลังคามะนิลา (Hip-Gable roof) รวมข้อดีของหลังคาจั่วและหลังคาปั้นหยา คือมีชายคารอบตัว และสามารถทำช่องระบายอากาศที่หน้าจั่วได้
  • หลังคาเพิงหมาแหงน (Lean-to roof) เป็นทรงหลังคาที่เอียงด้านเดียว จึงควรเอียงหลังคาให้รับแสงแดดทิศใต้หรือทิศตะวันตกจะช่วยสร้างร่มเงาให้บ้านได้ดีที่สุด ส่วนการทำหลังคาสองผืนต่างระดับจะเกิดการบังแดดให้กันเองได้ดีกว่า
  • หลังคาเรียบ (Slab roof) หลังคาทรงนี้จะรับแสงแดดตลอดวัน มีพื้นที่ใต้หลังคาน้อย และมักสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงได้รับและเก็บความร้อนมากที่สุด
บ้านร้อน

2. หลังคาต่างระดับ เพิ่มการระบายความร้อน

การทำหลังคาให้ต่างระดับกัน จะช่วยสร้างร่มเงาให้หลังคาชั้นล่าง เป็นการเพิ่มพื้นที่ใต้หลังคา และช่องระบายความร้อนได้มากขึ้น ช่วยให้ระบายอากาศร้อนใต้หลังคาออกไปได้เร็ว จึงลดความร้อนที่จะลงมายังฝ้าเพดาน พร้อมติดตั้งเกล็ดระบายอากาศให้ถี่เพื่อป้องกันละอองฝนเข้าไป และติดตั้งตะแกรงเหล็กป้องกันสัตว์และแมลง

บ้านร้อน

3. หลังคาทรงสูง ดีกว่าทรงเตี้ย

หลังคาทรงสูง (มีความลาดเอียงมาก) จะมีพื้นที่ใต้หลังคามากกว่าหลังคาทรงเตี้ย(มีความลาดเอียงน้อย) จึงช่วยชะลดความร้อนให้ลงมาสู่ภายในบ้านช้าลง และหากมีช่องระบายอากาศ ก็จะระบายอากาศร้อนออกไปได้

บ้านร้อน

4. ทำหลังคาสองชั้น

การทำหลังคาสองชั้นสามารถช่วย ป้องกันบ้านร้อน จากแสงแดดได้ดี แต่ก็เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้อาคารด้วย หากเป็นบ้านเดิมที่มีหลังคามุงวัสดุต่างๆอยู่แล้ว ไม่แนะนำให้ทำหลังคาเพิ่มอีกชั้น แต่ให้ใช้วิธีเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาที่มีคุณสมบัติกันความร้อนแทน และมีน้ำหนักไม่มากกว่าวัสดุเดิม  หรือเพิ่มฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาและบนฝ้าเพดาน ส่วนบ้านที่มีหลังคาคอนกรีตหรือดาดฟ้าของตึกแถว หากต้องการเพิ่มหลังคาอีกชั้น ควรใช้โครงสร้างเหล็กและวัสดุมุงน้ำหนักเบาอย่างเมทัลชีตกรุฉนวน หรือแผ่นหลังคาฉนวนกันความร้อนสำเร็จรูป และเว้นช่องว่างใต้หลังคาให้ลมพัดพาความร้อนออกไปได้ ก็ช่วยป้องกันและป้องกันหลังคาคอนกรีตเสียหายจากความร้อนและความชื้นได้ดี

อ่านต่อ : หลังคาฉนวนกันความร้อนสำเร็จรูป

5. ชายคาระบายอากาศได้

ทำฝ้าชายคาให้สามารถระบายอากาศได้ เพื่อช่วยระบายความร้อนจากใต้หลังคาออกไป โดยเลือกใช้แผ่นฝ้าเพดานสำเร็จรูปที่มีรูระบายอากาศ หรือออกแบบใหม่ตามดีไซน์ของบ้าน

6. ทำชายคาบ้านยื่นยาว

การทำหลังคาให้มีชายคายื่นยาวโดยรอบก็เหมือนการใส่หมวกปีกกว้างที่ย่อมกันแสงแดดได้ดี โดยควรทำชายคายื่นยาวอย่างน้อย 1.50 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสูงของหลังคาด้วย ถ้ายิ่งสูงมากอาจต้องทำชายคายื่นยาวมากขึ้น หรือทำหลังคากันสาดระดับต่ำลงมาอีกชั้นก็จะช่วยป้องกันแสงแดดได้ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านทิศใต้และทิศตะวันตกที่ได้รับแสงแดดร้อนช่วงบ่าย

7. ทำฝ้าเพดานเอียงตามหลังคา ควรลงทุนกับฉนวนกันความร้อนมากหน่อย

การทำฝ้าเพดานเอียงตามหลังคาช่วยให้ภายในห้องสูงโปร่งขึ้น แต่ก็ทำให้พื้นที่ใต้หลังคาลดลง ความร้อนจึงมีโอกาสแผ่ลงมาได้เร็ว ยิ่งฝ้าเพดานใกล้หลังคามากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสได้รับความร้อนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องติดตั้งฉนวนกันความร้อนที่ประสิทธิภาพดีๆ จึงจะช่วยป้องกันความร้อนได้

8. ใช้หลักการ Stack Effect Ventilation

เมื่อความร้อนเข้ามาในบ้านแล้ว ควรออกแบบให้มีการระบายอากาศร้อนออก เพื่อให้อากาศเย็นไหลเข้ามาแทนที่ โดยทำช่องระบายอากาศด้านบน เพื่อให้อากาศร้อนที่ปกติจะลอยตัวขึ้นระบายออก หรือใช้หลักการ Stack Effect Ventilation เป็นการระบายอากาศในแนวตั้ง โดยใช้อุณหภูมิที่ต่างกันทำให้เกิดความแตกต่างของความหนาแน่นอากาศ ก็จะเกิดแรงพยุงตัวให้อากาศลอยขึ้น ยิ่งด้านบนมีอุณหภูมิต่างกันมาก หรือมีการทำปล่องระบายอากาศที่มีความสูงมาก อากาศก็จะลอยตัวแรงขึ้นตามไปด้วย

บ้านร้อน

9. เปิดช่องให้ลมผ่าน

บ้านที่มีลมพัดผ่านจะอยู่เย็นสบายกว่าบ้านที่อับลม แม้ว่าเราจะไม่สามารถบังคับทิศทางลมได้ แต่ถ้าออกแบบบ้านให้มีช่องลมในทิศที่ลมประจำถิ่นพัดผ่าน คือ แนวทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศใต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศเหนือ ซึ่งนอกจากการทำประตูหน้าต่างแล้ว การยกใต้ถุนสูง การยกพื้นต่างระดับให้เกิด “ช่องแมวลอด” อย่างเรือนไทย หรือทำบันไดแบบไม่มีลูกตั้งในจุดที่บันไดขวางทางลม ก็ทำให้ลมพัดผ่านได้สะดวก เป็นอีกวิธีการออกแบบที่ช่วยแก้ บ้านร้อนได้

บ้านร้อน

10. ผนังกันความร้อน

ผนังด้านทิศตะวันตก ทิศใต้ หรือผนังที่ได้รับแสงแดดมาก ควรทำเป็นผนังกันความร้อน ซึ่งทำได้หลายวิธี

  • ผนังก่ออิฐ วัสดุก่อทุกชนิดสามารถหน่วงความร้อนได้ในตัวเอง เพียงเพิ่มความหนาด้วยการก่อ 2 ชั้น หรือเว้นช่องว่างระหว่างผนัง โดยการเว้นช่องว่างระหว่างผนังสองชั้นจะสามารถกันความร้อนได้ดีกว่าการก่อแบบชิดกัน และถ้าใส่ฉนวนกันความร้อนก็ยิ่งกันความร้อนได้ดีขึ้น
  • ผนังโครงเบา ผนังที่ทำด้วยโครงคร่าวกรุวัสดุแผ่นจะมีประสิทธิภายในการป้องกันความร้อนและป้องกันเสียงต่ำ จึงควรกรุฉนวนในช่องว่างระหว่างโครงคร่าวก็จะช่วยป้องกันความร้อนได้ดีขึ้น
  • ผนังก่อผสมผนังโครงเบา เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความร้อนให้ผนังก่ออิฐ โดยติดตั้งโครงคร่าว ใส่ฉนวนกันความร้อน แล้วกรุวัสดุแผ่นอีกชั้น วิธีนี้สามารถใช้กับการปรับปรุงบ้านเก่าให้กันความร้อนได้ดีขึ้น
บ้านร้อน

11. ทำผนังให้หายใจได้

หนึ่งในภูมิปัญญาไทยคือ การออกแบบผนังให้ระบายอากาศได้ ระบายความร้อนและอบอ้าวภายในบ้าน ให้ลมพัดผ่านได้ตลอดเวลา โดยสามารถทำได้หลายแบบ เช่น

  • ฝาขัดแตะ ฝาเรือนที่ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก หรือไม้รวกสานขัดกัน จึงมีช่องว่างให้อากาศผ่านได้ และช่วยกรองแสงได้ ซึ่งปัจจุบันมีการนำวัสดุสมัยใหม่มาทดแทนไม้ไผ่ให้ใช้งานได้คงทนมากขึ้น
  • ฝาไหล เป็นการทำฝาไม้ตีแนวตั้งเว้นช่องแล้วติดตั้งซ้อนกันสองชั้นให้เลื่อนเปิดปิดได้ เพื่อช่วยปรับการรับแสงและลมได้ตามต้องการ
  • ผนังช่องลม ก่อผนังอิฐเว้นช่อง หรือก่อด้วยบล็อกช่องลม
บ้านร้อน

12. เพิ่มพื้นที่ผิวอาคารให้สัมผัสอากาศมากขึ้น

หลีกเลี่ยงการทำอาคารที่มีลักษณะใหญ่และทึบ ควรแผ่กระจายอาคารเป็นหลังย่อยๆ หรือทำคอร์ตกลางบ้านแล้วสร้างอาคารล้อมรอบ หรือเพิ่มพื้นที่ผิวอาคารเพื่อให้ทุกห้องมีช่องเปิดให้อากาศไหลเวียน และถ่ายเทความร้อนออกได้มากขึ้น  ทั้งยังเกิดการบังแดดและสร้างร่มเงาให้กันเองด้วย

บ้านร้อน

13. สร้างร่มเงาให้ช่องเปิด

ประตูและหน้าต่างเป็นจุดที่ความร้อนผ่านเข้ามาได้โดยตรง และแสงแดดในแต่ละทิศจะมีองศาต่างกัน โดยมีแนวทางการทำกันสาดและแผงบังในแต่ละทิศดังนี้

  • ช่องเปิดทิศตะวันออก แดดช่วงก่อน 9 โมงเช้าจะยังไม่แรงมาก แต่หลังจากนั้นจึงควรป้องกันโดยติดตั้งแผงบังแดดไว้เหนือช่องเปิด ป้องกันแสงแดดจากด้านบนในมุมสูง
  • ช่องเปิดทิศตะวันตก แดดทิศตะวันตกมีการสะสมความร้อนตลอดวัน จึงควรติดตั้งแผงบังแดดให้บังช่องแสงในทุกๆ ด้าน
  • ช่องเปิดด้านทิศใต้ ช่วงประมาณ 9 โมงเช้า และ 4 โมงเย็น แดดจะส่องมาด้านข้างแบบทแยงมุม ส่วนช่วงเที่ยงจะส่องมาทางด้านบนในมุมสูง จึงควรทำแผงบังแดดเป็นแนวตั้งและแนวนอน

14. กระจกฉนวน เปิดรับวิวแต่กันร้อนได้

หากจำเป็นต้องทำผนังกระจกด้านที่ได้รับความร้อนเต็มๆ หรือต้องการป้องกันความร้อนผ่านผนังหรือช่องเปิดกระจกเป็นพิเศษ แนะนำให้ใช้กระจกที่มีคุณสมบัติกันความร้อนได้ เช่น กระจกฉนวนกันความร้อน กระจก Heat Stop และกระจก Low-E ซึ่งเป็นกระจกสองชั้นที่มีช่องว่างระหว่างแผ่น บรรจุก๊าซเฉื่อยหรืออากาศแห้ง เพื่อลดการถ่ายเทความร้อนและลดเสียงรบกวนให้ผ่านกระจกได้น้อยลง บางชนิดยังมีการเคลือบสารที่ผิวกระจก เพื่อช่วยสะท้อนความร้อนออกไป และป้องกันรัวสียูวีได้มากขึ้น จึงทำให้แสงธรรมชาติผ่านเข้ามาได้โดยไม่ร้อน แต่ราคาสูงกว่ากระจกธรรมดาประมาณ 10 เท่า และต้องใช้กับกรอบประตูหน้าต่างรุ่นพิเศษที่ใส่กระจกหนาๆได้

บ้านร้อน

15. ติดฟิล์มกรองแสง กันความร้อน

ฟิล์มกรองแสงอาคาร (Building Film) ที่ดีควรมีคุณสมบัติในการสะท้อนรังสีอินฟราเรด (ความร้อน) และป้องกันรังสียูวีได้ดี ซึ่งเป็นตัวการทำให้ บ้านร้อน และเฟอร์นิเจอร์เสียหายก่อนเวลาอันควร และยังคงมองออกไปก็ยังให้ทัศนวิสัยที่ชัดเจน โดยมีฟิล์ม 3 ประเภทให้เลือกใช้

  • ฟิล์มปรอท คือ ฟิล์มที่ผสมโลหะต่างๆ ในการผลิต (ไม่ได้ฉาบสารปรอทในเนื้อฟิล์มแต่อย่างใด) ทำให้เนื้อฟิล์มมีความมันวาว สามารถสะท้อนแสงและป้องกันความร้อนได้ดี ให้ความเป็นส่วนตัว เพราะมองเข้ามาไม่เห็นจากภายนอก (เมื่อภายในมืดกว่า) แต่ความมันวาวของฟิล์มที่คล้ายกระจกเงา จะมีการสะท้อนแสง อาจทำให้ไปรบกวนเพื่อนบ้านได้ และจากภายในมองออกมาจะไม่ชัดเจนนัก ฟิล์มปรอท เหมาะกับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง หรือบ้านที่ต้องการฟิล์มกรองแสงราคาประหยัด แต่ช่วยกันความร้อนเข้ามาในบ้านได้ดี แนะนำให้ติดฟิล์มที่บริเวณชั้นล่างเพื่อลดแสงสะท้อนเข้าตาผู้อื่น
  • ฟิล์มดำ คือ ฟิล์มที่มีการเคลือบสารหรือโลหะต่างๆ ทำให้มีสีดำเข้ม กรองแสงหรือช่วยลดความร้อนได้ แต่จะทำให้ทัศนวิสัยมืดลงเช่นกัน และมีให้เลือกตั้งแต่เกรดธรรมดาคือการย้อมสีในเนื้อฟิล์ม ไปจนถึงฟิล์มเกรดพรีเมียมที่มีการใส่สารโลหะต่างๆเพื่อช่วยป้องกันความร้อน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว แต่เมื่อมองจากด้านในออกไปจะไม่มืดมาก รวมถึงห้องที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เนื่องจากโดนแสงแดดช่วงบ่ายตลอดทั้งวัน ดังนั้นก่อนติดฟิล์มดำ ควรทดสอบความเข้มของฟิล์มที่เหมาะสม ห้องจะได้ไม่มืดเกินไป
  • ฟิล์มใสกันร้อน คือ ฟิล์มที่ให้แสงสว่างส่องผ่านได้ประมาณ 70  เปอร์เซ็นต์ แต่ป้องกันรังสียูวีและรังสีอินฟราเรดได้สูง จึงยังคงมีทัศนวิสัยที่ชัดเจน การผลิตฟิล์มใสกันร้อน ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในขั้นตอนการผลิต เช่น เทคโนโลยีนาโน ทำให้มีราคาสูง เมื่อเทียบกับฟิล์มกรองแสงประเภทอื่น เหมาะกับบ้านที่ต้องการป้องกันความร้อนและรังสียูวีโดยเฉพาะ แต่ไม่บดบังทัศนวิสัย

ระดับความเข้มของฟิล์มจะมีให้เลือกหลากหลายทั้ง 40,60 หรือ 80 และฟิล์มใส จึงควรพิจารณาการใช้งานภายในห้องและทิศทางของแสงแดดด้วย

  • ห้องนอน อยากได้ความมืด หรือความเป็นส่วนตัวสูง แนะนำให้เลือกความเข้ม 80 %
  • ห้องนั่งเล่นอยู่ที่ทางทิศตะวันตก แสงแดดส่องเข้ามาในช่วงบ่าย แนะนำให้เลือกฟิล์มที่มาความเข้มกลางๆ ประมาณ 60 %
  • ห้องรับประทานอาหาร ห้องรับแขก และห้องทั่วไป แนะนำฟิล์มกรองแสงความเข้ม 40 % จะช่วยทำให้ห้องดูโปร่ง โล่ง สบาย ไม่อึดอัด

อ่านต่อ : ฟิล์มกรองแสงอาคาร

16. ใช้ผ้าม่านกันความร้อน

ผ้าม่านนอกจากบังแสงได้แล้ว ยังมีรุ่นที่กันความร้อนและรังสียูวีได้ด้วย

ผ้าม่าน Dimout สามารถกันยูวีได้ 40-95% ขึ้นอยู่กับสีของผ้า ใช้เทคนิคทอด้วยเส้นใยสีทึบแทรกระหว่างเนื้อผ้า จึงยังคงการทิ้งตัวและพลิ้วไหวแบบผ้าอยู่ แต่ขึ้นอยู่กับชนิดของผ้าด้วย

ผ้าม่าน Blackout มีคุณสมบัติทึบแสงสูงสุด 100%  ช่วยกันแสงผ่านและลดความร้อนได้ดี โดยมีให้เลือกทั้งชนิดเคลือบโฟม เคลือบซิลิโคน และชนิดหลังผ้า ซึ่งมีข้อดีข้อด้อยดังนี้

ชนิดเคลือบโฟม

  • ข้อดี : ชั้นโฟมทำให้ผ้ามีความหนากว่าชนิดอื่น จึงกันแสงได้ดีและช่วยดูดซับเสียงได้บ้าง
  • ข้อด้อย : โฟมอาจหลุดได้จากการขีดข่วนหรือติดกันเอง และซักยาก

ชนิดเคลือบซิลิโคน

  • ข้อดี : ผ้าทิ้งตัวดี เป็นลอนสวย รักษารูปทรงได้ดี สามารถซักได้ และรีดด้วยไฟอ่อน เฉพาะด้านผ้า ไม่รีดด้านซิลิโคน
  • ข้อด้อย : หากผ้ายับมาก อาจไม่สามารถรีดลบรอยนั้นได้

ชนิดหลังผ้า

  • ข้อดี : มีชั้นวัสดุทึบแสงอยู่ตรงกลางประกบด้วยผ้าหน้าและหลัง จึงสวยงามทั้งสองด้าน สามารถซักได้
  • ข้อด้อย : เนื้อผ้าแข็งกว่าสองแบบแรก บางผืนไม่ทิ้งตัวเป็นลอนโค้ง
บ้านร้อน

17. ม่านไม้เลื้อย

หากการทำแผงบังแดดหรือผนังกันความร้อนเป็นเรื่องยุ่งยากเกินไป การทำม่านไม้เลื้อยให้ปกคลุมผนังหรือหลังคาบางส่วน ก็ช่วยลดความร้อนและเพิ่มความชุ่มชื้นให้บริเวณบ้านได้ดี สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ทำซุ้มระแนง การขึงลวดสลิง แต่ควรระวังไม่ให้ม่านไม้เลื้อยนั้นหนาแน่นจนบังลมที่จะพัดเข้าบ้าน และหมั่นตัดแต่งเถาและใบที่แห้งออก เพื่อลดความชื้นสะสมที่อาจทำให้ผนังและหลังคาเป็นคราบ หรือเสียหายจากความชื้นได้

18. บ่อน้ำช่วยให้บ้านเย็นต้องลึกพอ

การทำบ่อน้ำในบริเวณบ้าน จะช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศผ่านการระเหยของน้ำและลดการกักเก็บความร้อนของพื้นที่โดยรอบ อุณหภูมิที่ต่างกันของผิวน้ำและผิวดินจะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของอากาศเป็นกระแสลม และเมื่อลมพัดผ่านผิวน้ำจะมีอุณหภูมิลดลงกลายเป็นลมเย็นพัดเข้าบ้าน แต่ถ้าทำบ่อน้ำตื้นเกินไป น้ำในบ่ออาจกลายเป็นน้ำร้อนและแผ่ความร้อนเข้าบ้านแทน จึงควรทำบ่อน้ำให้ลึกอย่างน้อย 1.50 เมตร หรือมีร่มเงาบริเวณบ่อน้ำบ้าง ก็ช่วยให้น้ำนั้นเย็นตลอด อีกทั้งระวังแสงสะท้อนจากผิวน้ำที่เสมือนกระจกเงาบานใหญ่ที่อาจแยงตารบกวนการมองได้

19. ระบบพ่นหมอก ลดอุณหภูมิรอบบ้านได้

เป็นวิธีลดอุณหภูมิรอบบ้านโดยใช้น้ำ ช่วยให้รู้สึกเย็นขึ้น ต้นไม้และดินได้ความชุ่มชื้น แต่ถ้าความชื้นในอากาศสูงอยู่แล้ว อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว มีระบบที่สามารถติดตั้งเองได้ โดยมีระบบพ่นหมอกสำหรับใช้ในบ้านและโรงเรือนขนาดเล็ก-กลาง 2 ระบบ คือ

  • ระบบพ่นหมอกแรงดันต่ำ เป็นระบบที่ต่อได้ง่าย สามารถต่อตรงเข้ากับระบบประปาของบ้าน(ที่มีปั๊มอยู่แล้ว)ได้ทันที มีแรงดันอยู่ที่ระหว่าง 4-20 บาร์ สามารถขับหัวพ่นหมอกเบอร์ 1  2 และ 3 ได้ ต่อได้ประมาณ 5 หัวพ่นโดยไม่ต้องใช้ปั๊มเสริม (ขึ้นอยู่กับความยาวของสาย และระยะห่างของแต่ละหัว) สามารถหาซื้อชุดพ่นหมอกแรงดันต่ำได้จากร้านจำหน่ายอุปกรณ์จัดสวนทั่วไปและเว็บช้อปปิ้งออนไลน์
  • ระบบพ่นหมอกแรงดันสูง ใช้ปั๊มขนาดกลางมีแรงดัน 20-70 บาร์ สามารถพ่นหมอกได้ละเอียดกว่า และต่อเข้ากับหัวพ่นได้ประมาณ 20 หัวพ่น นิยมใช้กับโรงเรือนทางการเกษตรเพราะให้ละอองน้ำที่มีฝอยละเอียดกว่า อาจต้องใช้ความชำนาญในการเดินระบบเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วซึม

อ่านต่อ : ขั้นตอนการทำระบบพ่นหมอกเอง

20. ลดความร้อนจากอุปกรณ์ภายในบ้าน

จัดวางอุปกรณ์ที่สร้างความร้อน เช่น ตู้เย็น เตาอบ กาต้มน้ำ ให้แยกจากพื้นที่พักผ่อน หรือวางไว้ตำแหน่งใต้ลมที่ใกล้ช่องระบายอากาศ ก็จะไม่เกิดการสะสมความร้อนภายในห้อง ช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ

21. วางคอนเดนเซอร์ในที่เย็น แอร์ทำงานสบาย

คอนเดนเซอร์ คือ ชุดระบายความร้อนของเครื่องปรับอากาศ ควรตั้งอยู่ในที่ร่ม ไม่โดนแสงแดดโดยตรง และสามารถระบายอากาศได้ดี โดยเว้นระยะห่างด้านหลังเครื่องจากกำแพงไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร และเว้นระยะด้านหน้าเครื่องไม่น้อยกว่า 70 เซนติเมตร ทิศทางลมออกไม่ทวนกระแสลม ก็จะช่วยให้ระบายความร้อนได้ดี และเครื่องไม่ทำงานหนักเกินจำเป็น 

บ้านร้อน

22. ติดเครื่องปรับอากาศให้ถูกต้อง

การติดเครื่องปรับอากาศให้ถูกต้องจะช่วยให้เครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ห้องเย็นเร็ว และไม่เปลืองไฟเกินจำเป็น โดยมีแนวทางการติดตั้งดังนี้

  • ติดตั้งตามแนวยาวของห้อง เพื่อให้ความเย็นไหลเวียนได้ทั่วห้อง
  • ไม่ติดตั้งเหนือประตู เพราะเมื่อเปิดประตูจะมีความร้อนเข้ามา ทำให้เซนเซอร์ของเครื่องปรับอากาศทำงานหนักเกินไป
  • ไม่ติดตั้งตรงข้ามประตู เพราะความเย็นออกไปเมื่อเปิดประตู
  • ทิศทางลมไม่โดยศีรษะหรือโดยหน้าโดยตรง เช่น ไม่ควรอยู่หัวเตียง ปลายเตียง และตรงข้ามโซฟา
  • ติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้ต่ำกว่าฝ้าเพดานอย่างน้อย 20 เซนติเมตร เพื่อให้อากาศไหลเวียนเข้าเครื่องสะดวก
  • ติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่โดนแสงแดดโดยตรง

อ่านต่อ : 4 วิธีเลือกและติดตั้งแอร์ไม่ให้เปลืองค่าไฟ

บ้านร้อน

23. ติดพัดลมระบายความร้อนสะสมภายในบ้าน

ลดความอบอ้าวและความร้อนสะสมภายในบ้าน ด้วยการติดพัดลมระบายอากาศบนฝ้าเพดานชั้นบนหรือผนังบริเวณโถงบันได เพื่อดูดอากาศร้อนที่ลอยขึ้นมาสะสมด้านบน โดยต่อท่อระบายอากาศออกภายนอกทางผนังหรือฝ้าเพดาน โดยสามารถตั้งให้พัดลมทำงานตามเวลา

บ้านร้อน

24. ติดพัดลมระบายความร้อนใต้หลังคา

เพิ่มอัตราการระบายความร้อนใต้หลังคา ก่อนความร้อนจะลงมายังภายในบ้าน ด้วยพัดลมระบายอากาศบนหลังคา ซึ่งออกแบบสำหรับติดตั้งบนหลังคาโดยเฉพาะ และใช้พลังงานแสงอาทิตย์  

25. ปรับการใช้งานให้หนีร้อน

แน่นอนว่าเราไม่อาจทำให้ทั้งบ้านเย็นตลอดเวลาได้ แต่สามารถจัดตามช่วงเวลาการใช้งานได้ เช่น ห้องน้ำและห้องครัวซึ่งมีความชื้นสูง มีการใช้งานเป็นครั้งคราวก็เหมาะกับทิศตะวันตกและทิศใต้ หรือถ้าเราใช้ห้องทำงานเฉพาะช่วงเช้าถึงช่วงกลางวัน การจัดห้องทำงานไว้ในทิศตะวันตกเพราะจะร้อนช่วงบ่าย ส่วนห้องที่ใช้งานช่วงบ่ายถึงกลางคืน เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ให้หลีกเลี่ยงการไว้ในทิศใต้และตะวันตก เพราะผนังที่รับแดดมาทั้งวัน จะคายความร้อนมาในช่วงกลางคืน ทำให้ห้องนั้นยังคงร้อนในช่วงเวลาที่เราใช้งาน  แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำผนังบังแดดและหลังคายื่นยาวและอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้บังแดดแรงๆช่วงบ่าย-เย็นได้


คอลัมน์ Home Expert นิตยสารบ้านและสวน ฉบับ เมษายน 2565

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สร้างสุขภาวะที่ดี สร้างพลังงานสะอาด

ลดความร้อนให้บ้านด้วยวิธีธรรมชาติ

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag