รวมบ้านสวย 4 ภาค ที่ออกแบบในสไตล์ไทยพื้นถิ่นร่วมสมัย
เพราะประเทศไทยในแต่ละภูมิภาคมีลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นแตกต่างกัน จึงทำให้ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ มีลักษณะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเฉพาะตัวที่มีเสน่ห์แตกต่างกันไป เราได้รวบรวม บ้านไทย4ภาคร่วมสมัย ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น แต่มีการผสมผสานฟังก์ชันการใช้งาน และความทันสมัยให้สอดรับกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ทำให้รูปแบบบ้านมีความร่วมสมัยมากขึ้น แต่ก็ยังเน้นให้ภายในบ้านมีการระบายอากาศที่ดี และมีการเชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบบ้าน เพื่อให้คนในบ้านอยู่อาศัยได้อย่างสุขสบาย
บ้านที่มีต้นไม้เป็นศูนย์กลาง
เจ้าของ : คุณสิทธิชัย บูรณะกิจไพบูลย์
สถาปัตยกรรม – ตกแต่งภายใน : TA-CHA Design
ผู้รับเหมา : บริษัททวีมงคลก่อสร้าง (2000) จำกัด
แม้หน้าตาของบ้านหลังนี้จะมีรูปแบบร่วมสมัย แต่ผู้ออกแบบได้หยิบสาระสำคัญของบ้านเรือนไทยภาคกลางมาใช้ มีการกำหนดฟังก์ชันการใช้งานเกือบเต็มพื้นที่ โดยมีพื้นที่ชานนอกบ้านใหญ่พอๆกับพื้นที่ใช้งานภายใน และให้ต้นไม้เป็นเหมือนศูนย์กลางที่รวมทุกส่วนไว้ด้วยกัน ชั้นล่างแบ่งเป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร แต่ละห้องจะเปิดให้ดูโล่งและโปร่ง ส่วนตู้เก็บของทำเป็นงานบิลท์อิน ขณะที่เฟอร์นิเจอร์อื่นๆเลือกใช้แบบลอยตัว ส่วนชั้นบนก็เป็นห้องนอนของสมาชิกแต่ละคน และพื้นที่ส่วนกลางที่เชื่อมครอบครัวใหญ่เข้าด้วยกัน >> อ่านต่อ
บ้านสวนริมคลอง
เจ้าของ: ครอบครัวตุ้มปรึกษา
ออกแบบ: คุณพงศกร ตุ้มปรึกษา
บ้านริมคลองบางมดที่นำภูมิปัญญาของเรือนไทยพื้นถิ่นภาคกลางมาปรับให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและการใช้ชีวิตของครอบครัว เราจึงได้เห็นการยกใต้ถุนสูงหนีน้ำท่วม หนีปลวก การทำหลังคาทรงสูงให้อากาศไหลเวียน ชายคายื่นยาว มีช่องหน้าต่างและช่องคอสองช่วยระบายความร้อน มีชานไว้ตากผ้า ตากปลา มีระเบียงซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งใต้ชายคาไว้นั่งเล่นรับลม และผ่อนความร้อนก่อนถึงตัวบ้าน มุงหลังคาด้วยไม้ซึ่งมีคุณสมบัติไม่อมความร้อน และมีสวนรอบบ้านช่วยสร้างร่มเงาและรักษาความชุ่มชื้นให้พื้นดินเย็นตลอดเวลา >> อ่านต่อ
บ้านไทยโมเดิร์น
เจ้าของ : คุณผกามาศ ไทยกิ่ง
ออกแบบ : คุณพิเศษ อิศรางกูร ณ อยุธยา และคุณอิทธิฤทธิ์ หทัยรัตนา
บ้านสไตล์ไทยโมเดิร์นที่เชื่อมบรรยากาศบ้านริมคลองยุคเก่าเข้ากับงานออกแบบสมัยใหม่ ภายใต้รูปลักษณ์ที่เรียบง่ายของบ้านโครงสร้างเหล็กยกใต้ถุนสูง ที่นำองค์ประกอบจากบ้านหลังเดิมมาผสมผสานกับปูนเปลือยได้อย่างลงตัว และแอบเติมรายละเอียดไม่ให้ธรรมดาเกินไปด้วยการนำบล็อกช่องลมมาใช้กั้นสัดส่วนให้แก่มุมพักผ่อน โดยไม่บังวิวบรรยากาศของลำคลองและไม่ทำให้พื้นที่ดูทึบตัน เพราะลมและแสงสว่างยังคงสามารถลอดผ่านช่องลมสี่เหลี่ยมบนผนังได้อย่างทั่วถึง ทั้งยังช่วยสร้างมิติของแสงเงาขณะที่แสงแดดตกกระทบผ่านช่องลมซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงวัน ช่วยเติมความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติ เรียบง่าย และนิ่งสงบ >> อ่านต่อ
บ้านไม้ล้านนา
เจ้าของ : แพทย์หญิงจิตราภรณ์ ความคนึง และนายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร
สถาปัตยกรรม: บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด โดยคุณนันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์
ออกแบบภายใน : คุณปรียชนัน สายสาคเรศ
ผู้รับเหมา: คุณวันไชย หงษ์แก้ว (สล่าเก๊า)
ผู้ควบคุมงาน : ยางนาสตูดิโอ และนายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร
บ้านพื้นถิ่นประยุกต์ที่เลือกเฟ้นไม้เก่าจากบ้านในจังหวัดน่านมาออกแบบใหม่ โดยไม่ทิ้งงานฝีมือเชิงช่างของล้านนา ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านสนใจ นอกจากนี้ผู้ออกแบบยังกำหนดให้ภายในบ้านมีพื้นที่เชื่อมโยงกัน โดยรวมใต้ถุนกับชานเป็นส่วนเดียวกัน สามารถนั่งรับลมได้ภายใต้บรรยากาศที่เสมือนโอบล้อมด้วยป่าใหญ่ ส่วนภายในบ้านก็มีความโปร่งโล่ง สามารถมองเห็นกันและกันได้ในทุกพื้นที่ อีกทั้งการเปิดพื้นที่ส่วนต่างๆ เพื่อรับลมก็ยังเหมาะสมกับภูมิอากาศของเมืองไทยด้วย >> อ่านต่อ
บ้านรับรองแขกในเรือนยุ้งข้าว
เจ้าของ : พันตำรวจเอกเกรียงศักดิ์ กัลยาวัฒนเจริญ
ออกแบบ : คุณผดุง ปาลี
บ้านรับรองแขกที่ดัดแปลงจากเรือนยุ้งข้าวเก่า โดยอิงงานสถาปัตยกรรมแบบล้านนา แต่ปรับขนาดให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย ในส่วนของงานตกแต่งก็ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เพิ่มความสวยงามด้วยรายละเอียดของงานไม้แกะ เฟอร์นิเจอร์สไตล์ไทยแบบขาสิงห์และขาคู้ เก้าอี้หวาย หรืองานเซรามิกโทนสีบลูแอนด์ไวท์ นอกจากนี้ยังใช้วัสดุธรรมชาติอย่างหินอ่อนและหินธรรมชาติ ซึ่งเก็บความเย็นได้ดี เมื่อรวมกับการออกแบบบ้านให้เปิดโล่งกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ก็ช่วยสร้างบรรยากาศที่ทั้งน่าอยู่และเย็นสบายได้ไม่ยาก >> อ่านต่อ
บ้านไม้ใต้ถุนสูงที่ดัดแปลงจากเรือนยุ้งข้าว
เจ้าของ-ออกแบบ : คุณณชนก เสียมไหม
บ้านที่ประยุกต์จากยุ้งข้าวไม้หลังเก่า โดยยกมาตั้งประกอบและขัดเคลือบทำสีไม้ใหม่ พร้อมก่อผนังชั้นล่างโชว์ผิวฉาบด้วยซีเมนต์ผสมสีฝุ่นสีเหลืองเป็นครัวเปิดแบบไทยๆ ดูมีเสน่ห์แบบผสมผสานทั้งเก่าและใหม่เข้ากันได้อย่างสวยงามและใช้งานได้ดี ชั้นบนแบ่งพื้นที่เป็นส่วนนั่งเล่น ห้องนอน และห้องน้ำแบบเปิดโล่ง ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้และสิ่งทอต่างๆลวดลายแบบชนเผ่าที่มาจากชาวเขาในละแวกใกล้เคียงไปจนถึงของที่ได้จากการเดินทางไปต่างประเทศ >> อ่านต่อ
บ้านอีสานใกล้ชิดธรรมชาติ
เจ้าของ : คุณศักดา – คุณอรพินท์ ศรีสังคม
ออกแบบ : อาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม
สถาปนิกที่ปรึกษา : คุณธีรพล นิยม
สถาปนิกโครงการ : คุณศักดิ์ชาย โกมลโรจน์ และคุณอรพิมพ์ ตันติพัฒน์
ตกแต่งภายใน : คุณศักดิ์ชาย โกมลโรจน์
ด้วยความที่เจ้าของบ้านชื่นชอบบ้านเรือนไทยมาตั้งแต่เด็ก บวกกับได้รับอิทธิพลมาจากคุณพ่อซึ่งหลงรักวัฒนธรรมอีสาน ผู้ออกแบบจึงนำลักษณะที่สำคัญของการปลูกเรือนอีสานมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ เช่น การออกแบบพื้นที่ชั้นล่างให้เป็นเหมือนใต้ถุนโล่ง เพื่อให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติรอบตัว โดยเฉพาะทุ่งปอเทืองหน้าบ้าน มีชานหลังคายื่นออกไปเป็นพื้นที่อเนกประสงค์และรับแขกได้
บ้านหลังนี้มีลักษณะคล้ายเรือนสามหลังที่มีชานแดดผูกติดกันตรงกึ่งกลาง เพื่อให้ลมพัดผ่านได้สะดวกทุกพื้นที่ เรือนแต่ละหลังมีชายคายื่นยาวเพื่อป้องกันแดดและฝน ชั้นล่างใช้ผนังดินอัดเพื่อทำหน้าที่เป็นฉนวนหน่วงความร้อนให้บ้านเย็นลงในช่วงกลางวัน ส่วนหลังคาไม้ก็ปรับไปใช้หลังคาไม้ซีดาร์ วัสดุส่วนใหญ่เลือกใช้ไม้เพราะมีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งดูดและคายความร้อนได้รวดเร็ว >> อ่านต่อ
บ้านอีสานผสานชีวิตชนบท
เจ้าของ : คุณปิแอร์ เวอร์เมียร์ และคุณนิตญา ผ่านสำแดง
ออกแบบ : บริษัทสถาปนิก สเปซไทม์ จำกัด โดยคุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล
ประสานงานการก่อสร้าง : เฮ็ดดีไซน์สตูดิโอ โดยคุณปองพล ยุทธรัตน์
บ้านไทยอีสานที่กลมกลืนไปกับบริบทของสังคมชนบทในจังหวัดอุดรธานี ไม่ว่าจะเป็นรั้วบ้านที่มองเห็นกันได้ระหว่างภายในกับภายนอกบ้าน ชานระเบียงต่าง ๆ ที่ทำให้การใช้ชีวิตมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายนอก หรือลานหน้าบ้านที่มักกลายเป็นที่วิ่งเล่นของเด็ก ๆ ในละแวกบ้าน โครงสร้างหลักของบ้านหลังนี้เลือกใช้โครงเหล็ก H-Beam ส่วนการออกแบบภายในเน้น “ความโปร่ง” นอกจากจะสบายตาแล้ว ยังช่วยให้กระแสลมในบ้านพัดผ่านได้ดี ทำให้ทั้งบ้านอยู่ในสภาวะน่าสบาย ไม่ร้อนอับ >> อ่านต่อ
บ้านอีสานโมเดิร์น
เจ้าของ: คุณวาทินี สุดตา
ออกแบบ: S Pace Studio โดยคุณทวิชากร เหล่าไชยยงค์ และคุณปัณณพัฒน์ เพ็ชรจรัส
วิศวกรโครงสร้าง:คุณบดินทร์ มหาราช
บ้านอีสานโมเดิร์นที่มีหลังคาหน้าจั่วขนาดใหญ่ โดดเด่นด้วยชานหน้าบ้านขนาดกว้างขวางเพื่อรองรับญาติๆและเพื่อนบ้านที่หมั่นแวะเวียนมาทักทาย ด้านบนทำหลังคาหน้าจั่วขนาดเล็กกรุหลังคาลอนใสเพื่อช่วยนำแสงธรรมชาติให้ส่องลงมาถึงด้านล่างอย่างทั่วถึง ซึ่งไอเดียการออกแบบบ้านนั้นมาจากการตีความวิถีชีวิตที่มีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยของคนอีสาน ผสมผสานกับรูปแบบของบ้านที่ทันสมัย สะอาดตา และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว >> อ่านต่อ
บ้านอีสานร่วมสมัย
เจ้าของ : คุณจัตวา ชุณหบุญญทิพย์ และคุณอนุสรา แท่นพิทักษ์
สถาปนิก: S Pace Studio
บ้านอีสานร่วมสมัยที่เกิดจากการตีความ “วิถีความเป็นอยู่” ของผู้คนในอีสานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีจุดเด่นที่การปรับการใช้งานพื้นที่ใต้ถุนให้แปรเปลี่ยนเป็นการจัดวางพื้นที่แบบผังเปิดต่อเนื่องกันระหว่างบ้านกับสวนได้อย่างลงตัว >> อ่านต่อ
บ้านปักษ์ใต้ร่วมสมัย
เจ้าของ : ครอบครัวรอดสุด
สถาปนิก : ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ และคุณอรวี เมธาวี
ก่อสร้าง : คุณบุญฤทธิ์ สมุหเสนีโต
บ้านไม้สไตล์ปักษ์ใต้ที่เกิดขึ้นจากภาพความทรงจำในวัยเด็กของเจ้าของที่มีต่อบ้านหลังเดิมของคุณตาคุณยาย โดยออกแบบบ้านให้มีพื้นที่น่าใช้สอย เช่น การวางเรือนตามเเนวตะวัน ออกแบบบันไดให้อยู่ทางทิศตะวันตกเพื่อกันเเดดบ่าย วางห้องน้ำไว้ทางทิศตะวันออก แล้วเปิดทิศเหนือและทิศใต้ให้โล่งที่สุดเพื่อที่จะเชื่อมบ้านกับสวนเข้าด้วยกัน เป็นการผสานภาพร่างของความทรงจำเหล่านั้นให้เป็นจริง >> อ่านต่อ
บ้านไม้มนิลา
เจ้าของ : คุณธีรพงษ์และคุณสิริพันธ์ พฤฒิพิบูลธรรม
สถาปนิก : คุณศรัณย์ สาเมือง
มัณฑนากร : คุณไอริณ ประสงค์ชัยกุล
เรือนไม้โบราณหลังงามริมถนนตลาดใหม่ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตัวบ้านเป็นเรือนไม้มนิลาซึ่งเป็นการผสมระหว่างหลังคาจั่วกับหลังคาปั้นหยา โดยแบบหลังเป็นเอกลักษณ์ของบ้านในภาคใต้ และยังคงเก็บรายละเอียดของอาคารไม้หลังเก่าได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของหน้าต่างไม้ที่มีช่องกระจกสีด้านบน พื้นกระดานไม้เคี่ยมซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน หรือช่องลมลายฉลุที่บอกเล่าถึงความประณีตของงานช่างสมัยก่อน เฟอร์นิเจอร์และของประดับส่วนใหญ่เป็นของเก่าที่สมาชิกในครอบครัวเก็บสะสมเอาไว้ หรือของที่หาได้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยความต้องการของเจ้าของบ้านที่ไม่อยากให้ศิลปะพื้นถิ่นหายสาบสูญไป บ้านหลังนี้ยังได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2554 อีกด้วย >> อ่านต่อ
บ้านโนราโรงครู
เจ้าของ : ครอบครัวทวีคูณ (แสงเกลี้ยง อ่อนเจริญ อ่อนศรี และชิตพิทักษ์)
ออกแบบ : ทวีคูณสถาปนิก โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง
บ้านของผู้สืบสานโนรา ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ บ้านหลังนี้สร้างใหม่บนที่ดินเดิมของครอบครัว โดยรื้อบ้านไม้เดิมออกและแปรสภาพเป็นวัสดุในการสร้างบ้านใหม่ เป็นบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้นที่สะดุดตาด้วยการใช้สีสดตัดกัน โดยได้แรงบันดาลใจจากสีสันเครื่องแต่งกายของโนรา และการผสมผสานองค์ประกอบงานเหล็ก ไม้ และคอนกรีตได้อย่างมีศิลปะ ขณะที่ภายในบ้านเน้นพื้นที่เปิดโล่งที่เชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งสองชั้น >> อ่านต่อ
เรียบเรียง : Tarnda
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน และนิตยสาร room
รู้จักเอกลักษณ์เรือนไทย 4 ภาค
รวมบ้านไทยร่วมสมัยที่อยู่สบายทั้งกายและใจ