บ้านชั้นเดียวสีขาว ที่อยู่สบายกับธรรมชาติ
บ้านชั้นเดียวสีขาว ที่วางผังเรียบง่ายในรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อเปิดมุมมองของทุกห้องให้เชื่อมต่อออกไปสู่วิวธรรมชาติโดยรอบ
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ : Vessu Collaboration
ด้วยความที่เคยใช้ชีวิตอยู่ภายในห้องแถวกันมาโดยตลอด เพราะครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับ โรงหนัง และขายวัสดุก่อสร้างอยู่ในชุมชนตลาดชุมทางรถไฟ จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อถึงเวลาพักผ่อนก็เพียง ขึ้น “เหล่าเต๊ง” หรือห้องนอนที่อยู่ชั้นบนของห้องแถวได้เลย ทำให้ทุกคนในครอบครัวคุ้นชินกับพื้นที่แคบๆ ในแนวตั้งกันมานาน จนเมื่อมีโอกาสซื้อที่ดินที่ห่างออกจากตัวเมืองเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันคืออยากมี บ้านชั้นเดียวสีขาว ที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติในพื้นที่เปิดโล่งให้ได้มากที่สุด
คุณพฤกษ์ เลิศศรีมงคล ลูกชายคนโตของครอบครัวซึ่งเป็นสถาปนิก จึงรับหน้าที่การออกแบบบ้านหลังนี้ โดยตีความจากโจทย์หลักควบคู่ไปกับลักษณะทางกายภาพของที่ดินซึ่งมีด้านหนึ่งติดกับถนน ส่วนอีกด้านใกล้กับภูเขาและเป็นมุมมองธรรมชาติสวยๆ ตามที่ทุกคนต้องการ
บ้านที่มาจากความต้องการของครอบครัว
“ที่จริงเรามาซื้อที่แปลงนี้ไว้เพื่อทำโรงงานปุ๋ยอินทรีย์และทำโฮมออฟฟิศเล็กๆ ก่อน แล้วพอมาใช้งานทุกวันก็เริ่มรู้สึกดีจนทุกคนอยากให้ปลูกบ้านไว้เลย เพราะต้องการบ้านที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและชมวิวภูเขาได้อย่างทั่วถึง ผมเลยออกแบบให้เป็นบ้านชั้นเดียวที่ยกพื้นขึ้นสูง 1.50 เมตร เผื่อไว้ให้น้ำไหลผ่านได้ด้วยความที่ตรงนี้เคยมีน้ำท่วมถึง และอีกเหตุผลคือเป็นช่องให้ลมพัดผ่านช่วยคลายร้อนให้ตัวบ้านเย็นขึ้น รวมถึงเป็นพื้นที่ซ่อนงานระบบต่างๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายด้วย”
การวางผังบ้านเป็นแบบเรียบง่ายแต่โดดเด่นในเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยมีโถงนั่งเล่นเป็นจุดศูนย์กลางของบ้านและการใช้ชีวิตประจำวันแบบ “พร้อมหน้าพร้อมตา” พร้อมมุมที่มองเห็นวิวภูเขาได้สวยที่สุด ด้วยขนาดความกว้างและความสูงโปร่งถึง 5 เมตร ผนังซ้ายและขวาเปิดโล่งด้วยกระจกใสบานใหญ่จากพื้นจรดเพดาน ช่วยดึงวิวธรรมชาติที่โอบล้อมอยู่รอบๆ เข้ามาสร้างความรู้สึกผ่อนคลายไว้ภายในเหมือนนั่งอยู่กลางธรรมชาติ ใกล้ๆ กันยังมีส่วนรับประทานอาหารที่ลดระดับความสูงของเพดานลงเหลือ 3 เมตรให้ความรู้สึกอบอุ่นขึ้นและบอกถึงสเปซที่มีการใช้งานแตกต่าง แต่ไม่ได้ตัดขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง แล้วจึงแจกฟังก์ชันของห้องนอนออกไปคนละปีกอาคาร เพื่อแยกส่วนของห้องนอนคุณพ่อคุณแม่กับห้องพระที่ต้องการความสงบกว่าไว้ด้านหนึ่ง โดยมีห้องนอนของคุณพฤกษ์กับน้องชายไว้อีกด้านหนึ่ง เชื่อมต่อทุกห้องด้วยทางเดินเส้นตรงที่ขนานยาวไปกับตัวบ้านฝั่งที่อยู่ใกล้ถนนเชียงใหม่
เชื่อมต่ออดีตผ่านเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่า
นอกจากตัวสถาปัตยกรรมรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากับการวางผังบ้านแบบไม่ซับซ้อนที่สะท้อนตัวตนของสถาปนิกแล้ว การตกแต่งภายในเองก็เช่นกัน เพราะทุกคนเติบโตมากับห้องแถวสมัยก่อนซึ่งตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ จึงกลายเป็นความชอบที่ไปในทิศทางเดียวกัน คือเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าจากบ้านเดิมมาผสมผสาน บางส่วนก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เข้ากับพื้นที่และภาพรวมของบ้านใหม่ได้อย่างไม่ขัดเขิน
“อาจเป็นเพราะเราหาช่างทำบิลท์อินดีๆ แถวนี้ไม่ได้ด้วย ก็เลยเลือกใช้แบบลอยตัวมากกว่า ยกเว้นส่วนครัวและตู้เสื้อผ้าบางห้อง มากกว่าครึ่งจึงเป็นของเก่าที่เคยมีอยู่เพื่อระลึกถึงช่วงเวลาในอดีต สานต่อมาถึงปัจจุบัน อย่างโต๊ะทำงานเก่าของคุณตา ตู้ขายยาของคุณตา (ของคุณแม่) โต๊ะเขียนหนังสือของคุณแม่ หรือโต๊ะกินข้าวที่ได้มาจากไม้ฉำฉาหรือต้นจามจุรีที่โดนน้ำท่วมตายอยู่หน้าบ้าน ประตูบานเฟี้ยมเก่ากลายเป็นประตูบานเลื่อนห้องครัว และโต๊ะวางทีวีที่เอาไม้คานบ้านเก่ามาทำสีใหม่ อีกอย่างตอนรื้อห้องแถวเรายังได้ไม้เก่าที่คุณป้ายกให้เป็นของขวัญมาใช้ปูพื้นบ้านเยอะเลย แต่ละห้องในบ้านก็เลยมีสีพื้นที่คละกันไป มีทั้งไม้มะค่า ไม้สัก ไม้ตะเคียน และไม้แดง ตั้งแต่อยู่บ้านวันแรกจนถึงวันนี้ก็ไม่เหมือนกันเลย เพราะเราค่อยๆ เก็บเรื่องราว ค่อยๆ เติมเฟอร์นิเจอร์ ทำให้บ้านมีชีวิตชีวาขึ้น เหมือนบ้านเป็นแคนวาสสีขาวให้เราได้สร้างสีสันต่างๆ ขึ้นมาทีละน้อย”
ทุกครั้งที่คุณพฤกษ์กลับบ้านในช่วงปลายสัปดาห์ เขาจึงมักหยิบจับสลับย้ายของใช้และเปลี่ยนที่วางเฟอร์นิเจอร์อยู่บ่อยๆ เพื่อไม่ให้มุมมองในบ้านดูจำเจ เหมือนสร้างความเคลื่อนไหว และเพิ่มความสนุกให้การใช้ชีวิตในบ้านอยู่เสมอ
Passive Design ที่ช่วยประหยัดพลังงาน
“ผมพยายามออกแบบบ้านให้เป็น Passive Design ที่ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานมาก อย่างแรกคือยกบ้านให้สูงตามภูมิปัญญาบ้านไทยเพื่อให้ลมพัดผ่านได้ ส่วนที่ยากอยู่ตรงเราต้องการเปิดวิวออกไปสู่ธรรมชาติในฝั่งภูเขาให้มากที่สุดซึ่งเป็นทิศตะวันตก แต่ยังดีที่เรามีภูเขาใหญ่มาช่วยบังแนวแดดตอนบ่ายแก่ๆ ไว้ ทำให้องศาของแดดลับไปอยู่หลังเขาแทนที่จะส่องเข้าบ้านในช่วงบ่ายถึงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่เรากลับมาใช้ชีวิตในบ้านพอดี ผนังกระจกบานกว้างที่เปิดรับวิวยังมีม่านมาช่วยกรองแสงพร้อมกับยอมติดมุ้งลวดเพื่อเปิดประตูให้ลมหมุนเวียนได้รอบบ้าน ขณะที่ผนังบ้านก่อเป็นสองชั้นเว้นช่องตรงกลางไว้ช่วยป้องกันไม่ให้ความร้อนปะทะกับพื้นที่ในบ้านโดยตรง เพราะผนังด้านนอกดูดซับความร้อนไปแล้ว ยิ่งเวลาเปิดประตูรอบบ้านออกโดยรอบจะยิ่งทำให้บ้านเย็นสบาย
“เพราะเป็นบ้านชั้นเดียว ผมจึงยกฝ้าเพดานในบ้านให้สูงพิเศษ ที่จริงจากพื้นจนถึงยอดจั่วหลังคาเกือบ 10 เมตร เลยมีพื้นที่ใต้หลังคาจั่วเยอะที่ไม่ให้ความร้อนลงมาปะทะในแนวราบ หลังคาจั่วด้านนอกก็ได้จากบ้านไทยในอดีตพร้อมชายคายื่นยาว 1.50 เมตรสำหรับกันแดดกันฝนสาด ผมเชื่อว่าการออกแบบบ้านที่ดีต้องให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศด้วย ที่สำคัญคือพ่อกับแม่ผมปลูกต้นไม้ไว้รอบบ้านเยอะมากเป็นเหมือนงานศิลปะของเขาเลย ปลูกตั้งแต่ก่อนสร้างบ้านอีก คือเลือกซื้อต้นที่สูงปานกลางทั้งไม้ใบ ไม้ดอก และไม้ผล ค่อยๆ ลงทีละต้นพลิกจากที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นสวนป่ารอบบ้าน ต้นไม้เลยเติบโตมาพร้อมกับการสร้างบ้านและให้ร่มเงาที่ดีมากๆ เรายังมีต้นไม้ที่ออกดอกต่างสีสันกันไปในแต่ละฤดูกาล มีตะแบก จามจุรี หางนกยูง กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ พวงชมพู สุพรรณิการ์ เวลาอยู่ในบ้านเราจึงสนุกกับการนั่งมองดูฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงจากความเคลื่อนไหวของธรรมชาติ ต้นไม้หน้าแล้งจะออกสีเหลืองๆ พอเข้าหน้าฝนก็กลายเป็นเขียว แล้วก็มีไม้ดอกสลับไปมาในแต่ละมุมห้อง ซึ่งถ้ามองจากภายนอกจะเห็นเป็นกลุ่มต้นไม้เขียวๆ ที่โอบล้อมตัวบ้านไว้ให้ความรู้สึก Humble หรืออ่อนน้อมร่วมไปกับธรรมชาติดี”
สวนผักเล็กๆ ของบ้าน
ไม่เพียงแต่ปลูกต้นไม้ไว้รอบบ้านจนกลายเป็นสวนป่าขนาดย่อม ครอบครัวเลิศศรีมงคลยังแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เป็นโรงเรือนสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวด้วย โดยมีทั้งผักสลัด คะน้า มะเขือเทศ พริก มะนาว มะม่วงหาวมะนาวโห่ แก้วมังกร ผักบุ้ง ผักกาดขาว บวบ ลูกหม่อน เสาวรส เมลอน ผลัดเวียนกันไป
“สมัยอยู่ห้องแถวเราไม่ค่อยมีพื้นที่ครับ ทุกอย่างก็เลยมาแสดงออกที่บ้านใหม่หลังนี้ ทั้งเรื่องความต้องการอยู่ใกล้ธรรมชาติ การปลูกต้นไม้เยอะๆ หรือการปลูกไม้ดอกสวยๆ และการปลูกผักไว้กินเอง เพราะเราอยู่ในย่านเกษตรกรรมที่คุ้นเคยกับการใช้ยาฆ่าแมลงกันเยอะ เวลาซื้อผักก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ ราคาก็แพง นั่นเป็นเหตุผลที่พ่อหันมาเปิดโรงงานปุ๋ยอินทรีย์จากซากพืชซากสัตว์โดยอาศัยความรู้ที่เรียนมาด้านการเกษตรกับความช่วยเหลือจากส่วนวิจัยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลพลอยได้คือเรามีสวนครัวปลอดสารพิษอยู่ที่บ้านไว้กินเองและพอแจกจ่ายให้คนรอบตัวได้ด้วย”
บ้านสีขาวชั้นเดียวหลังนี้จึงดูเหมือนบ้านที่ออกแบบมาอย่างง่ายๆ จัดวางผังห้องไม่หวือหวาซับซ้อน แต่แท้จริงแล้วซ่อนแนวคิดไว้หลายอย่างเพื่อทำให้การอยู่บ้านสะดวกทุกการใช้สอย อยู่สบายร่วมกับธรรมชาติรอบตัว อยู่เป็นสุขท่ามกลางกลิ่นอายจากอดีต และอยู่ได้อย่างอบอุ่นร่วมกันในพื้นที่ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว
เจ้าของ : ครอบครัวเลิศศรีมงคล
ออกแบบ : Vessu Collaboration โดยคุณพฤกษ์ เลิศศรีมงคล
- เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
- ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
- สไตล์ : พระจันทร์ดวงโบราณ