บ้านปูนริมน้ำ ที่เน้นการปลูกต้นไม้และพืชผักไว้กินเองแบบบ้านสวน

บ้านปูนริมน้ำ ในบรรยากาศบ้านสวน

จากบ้านไม้ 2 ชั้นริมถนนสวรรคโลกยกย้ายมาประกอบเป็น บ้านปูนริมน้ำ ที่เน้นปลูกต้นไม้และพืชผักไว้กินเอง

บ้านปูนริมน้ำ

บ้านปูนริมน้ำ หลังนี้เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกเบื่อหน่ายกรุงเทพฯ ทำให้ คุณอ๊าร์ต หม่อมหลวงอภิชิต วุฒิชัย  มองหาที่ทางต่างจังหวัดเพื่อสร้างบ้านพักผ่อนที่เรียบง่ายสบายๆ แถวคุ้งแม่น้ำบางปะกงในจังหวัดปราจีนบุรีมาตั้งแต่เมื่อราวยี่สิบปีก่อน ซึ่งอยู่ไปอยู่มาก็เริ่มต่อเติมและขยับขยายจนกลายเป็นบ้านพักแสนน่ารักชื่อว่า Arthit-Tara ที่ใครมาเยือนก็จะได้ความรู้สึกเหมือนมาเที่ยวบ้านเพื่อนทุกครั้งไป

เมื่อครั้งที่เกิดน้ำท่วมหนักในปี 2554 คุณอ๊าร์ตร่วมกับ คุณกบ – อาภาศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ยังได้มีโอกาสให้ความช่วยเหลือผู้คนในย่านนี้เป็นอย่างดีจนชาวบ้านรับรู้ถึงน้ำใจที่มีให้กัน หลังจากนั้นมาจึงมีชาวบ้านติดต่อขายพื้นที่ 4 ไร่ครึ่งให้ ซึ่งคุณอาร์ตเล่าให้ฟังว่า “ผมก็ชวน อาจารย์ยักษ์ – ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร กับอาจารย์โก้ – ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล มาดูที่ดินตรงนี้ ได้กรุณาแนะแนวคิดว่าให้ปลูกข้าวและปลูกต้นไม้ที่ทนน้ำเพราะที่ตรงนี้น้ำหลากเสมอ แล้วก็ขุดดินมาทำเป็นโคก เราก็เลยวางแผนกันตั้งแต่ต้นว่าจะปลูกต้นไม้อะไรบ้าง นำแนวคิดเรื่องป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างตามแนวพระราชดำริมาใช้คือปลูกไม้ใช้สอยไม้โตเร็วสำหรับครัวเรือน ไม้ผลกินได้ และไม้เศรษฐกิจ เพื่อสามารถนำมาบริโภคได้ ใช้ประโยชน์ได้ สร้างร่มเงา และทำให้เกิดระบบนิเวศที่ดีได้ เป็นการเตรียมพื้นที่แถวนี้ซึ่งเป็นพื้นที่แก้มลิงไปในตัว”

บ้านปูนริมน้ำ
บ้านปูนริมน้ำ
คุณอ๊าร์ตและคุณกบ เจ้าของบ้านผู้เปี่ยมด้วยอัธยาศัยไมตรี

บ้านสวรรคโลกริมแม่น้ำบางปะกง

       แล้วความคิดเรื่องการสร้างบ้านบนที่ดินผืนนี้ก็เกิดขึ้นเมื่อทางครอบครัวของคุณกบ ประกาศขายบ้านเก่าที่กรุงเทพฯ และหนึ่งในบ้านเก่านั้นก็คือบ้านไม้ 2 ชั้นยกใต้ถุนสูงที่กรมประชาสงเคราะห์ได้สร้างไว้ให้เป็นบ้านพักชั่วคราวของนายทหารซึ่งก็คือคุณปู่ (พลโทบัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ของคุณกบนั่นเอง

       “บ้านหลังนั้นอยู่ตรงถนนสวรรคโลก เราเลยเรียกกันว่าบ้านสวรรคโลกซึ่งเป็นบ้านที่คุณพ่อของคุณกบอาศัยอยู่ พอขายบ้านหลักไป เราก็เลยอยากจะแกะบ้านไม้หลังนี้เพื่อยกย้ายมาอยู่ที่นี่แทน แต่ตอนรื้อบ้านเราได้คนที่ไม่เข้าใจมาทำให้เสียไม้ไปเยอะ จนเหลือไม้ที่ใช้ได้แค่ 30 เปอร์เซ็นต์ พอย้ายมาประกอบใหม่จึงต้องตัดสินใจทำบ้านก่ออิฐถือปูนและนำไม้ที่เหลืออยู่มาผสมเข้าไปโดยพยายามคงรูปแบบให้เหมือนเดิมที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือบ้านเคยยาวแค่ไหนก็แค่นั้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคือต่อเติมผนังใต้ถุนบ้านกั้นเป็นห้องนอน และออกแบบให้มีห้องฝรั่งกังไสคือส่วนของโถงนั่งเล่นกับห้องรับประทานอาหารแล้วก็นำบันไดไม้เก่าบ้านเดิมมาใส่ไว้ตรงกลาง และเรายังเรียกบ้านหลังนี้ว่า ‘บ้านสวรรคโลก’ เหมือนเดิม เพราะผูกพันกับบ้านหลังนี้แต่เปลี่ยนทำเลมาอยู่ที่ริมแม่น้ำบางปะกงแทน”

บ้านปูนริมน้ำ
โถงนั่งเล่นที่คุณอ๊าร์ตมักเรียกว่าห้องฝรั่งกังไส เพราะตกแต่งผสมผสานด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าที่คุณอ๊าร์ตสะสมไว้รวมถึงเครื่องลายครามจากอังกฤษที่ได้อิทธิพลมาจากจีนอีกที รูปแบบการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้มีตั่งด้านในไว้สำหรับเป็นที่นั่งของแขกสำคัญโดยมีเก้าอี้ตัวอื่นๆ สำหรับอาคันตุกะวางขนาบซ้ายขวา โดยเจ้าของบ้านจะนั่งอยู่ฝั่งตรงข้าม
บ้านปูนริมน้ำ
บ้านปูนริมน้ำ
ห้องรับประทานอาหารจัดวางโต๊ะไม้ขนาดยาวจับคู่กับเก้าอี้ไม้โบราณ ภายในห้องที่กรุด้วยหน้าต่างกระจกโปร่งเพื่อรับแสงธรรมชาติและมองเห็นวิวด้านนอกได้ดี ส่วนพื้นตั้งใจปล่อยให้เป็นปูนเปลือยแบบง่ายๆ
บ้านปูนริมน้ำ
ตู้ไม้ใบนี้ก็เป็นตู้เก่าจากบ้านคุณปู่คุณย่าของคุณกบ โดยนำมาประยุกต์ใช้เป็นที่เก็บภาชนะเครื่องใช้ในครัว
บ้านปูนริมน้ำ
นอกจากโต๊ะไม้ขนาดยาวแล้ว ยังมีเก้าอี้ตัวเก่าจากบ้านเดิมที่คุณอ๊าร์ตส่งไปบุใหม่ให้กลับมาใช้งานได้ดีและมีสีเอิร์ธโทนที่กลมกลืนกันมาใช้งานเพิ่มเติมด้วย

จากความผูกพันเดิมสู่มุมมองใหม่

       “ตอนแรกเราคิดจะทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ในเรื่องของปรัชญา ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ พอย้ายบ้านมาลงตรงนี้ก็เลยปรับให้เป็นบ้านพักที่ทั้งอยู่อาศัยเองและเผื่อครอบครัวหรือคนรู้จักคุ้นเคยจะได้มาพักด้วย  โดยปรับแปลนในบ้านให้เป็น 5 ห้องนอนซึ่งก็พอดีกับสมาชิกในครอบครัว ภายในเป็นบ้านโทนสีขาวซึ่งเป็นสีที่เรียบง่ายที่สุด ส่วนภายนอกเราอยากให้กลมกลืนกับธรรมชาติเลยใช้โทนสีน้ำตาลซึ่งเป็นตัวแทนสีของดินและเพื่อสื่อถึงความรักที่เรามีต่อองค์รัชกาลที่ 9 ด้วย เพราะพระนามของพระองค์นั้นคือ ‘ภูมิพล’ ที่หมายถึง ดิน

“ส่วนเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นมาจากบ้านหลังเดิมที่ทางครอบครัวคุณกบกรุณายกให้ บางส่วนมาจากบ้านผมเอง แล้วก็มีซื้อใหม่มาผสมผสานกัน  ตั้งใจว่าชั้นล่างเน้นตกแต่งด้วยภาพครอบครัวของคุณกบเป็นหลักเพื่อให้เกียรติและระลึกถึงคุณปู่คุณย่าของคุณกบด้วย เฟอร์นิเจอร์ชิ้นสำคัญคือโต๊ะกินข้าวที่พับและขยายได้โดยคำนวณมาแล้วให้นั่งได้มากสุด 8 คน กับตู้เก็บของขนาดใหญ่ซึ่งปรับมาใช้เป็นที่เก็บถ้วยชามภาชนะต่างๆ ในห้องอาหาร สำหรับเฟอร์นิเจอร์ของผมนั้นไปอยู่ในห้องพระชั้นบนเกือบทั้งหมด และยังมีไม้โบราณแผ่นใหญ่ที่เคยใช้เป็นอาสนะพระในงานศพคุณปู่ของคุณกบ คนอื่นจะทิ้งแต่เราเสียดายไม้ดีๆ เลยนำมาใช้ที่นี่และก็มีโต๊ะหมู่บูชาที่ซื้อและฝากไว้ที่ร้านอัมพวาตั้ง 6 ปีแล้วซึ่งมันก็วางได้พอดีกับพื้นที่เลย”

บ้านปูนริมน้ำ
บันไดไม้เก่าเป็นหนึ่งในของโบราณชิ้นสำคัญที่ติดมากับบ้านเดิม โดยนำมาจัดวางไว้เป็นทางขึ้นที่อยู่กลางบ้านขนาบด้วยโถงนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหาร
บ้านปูนริมน้ำ
ห้องนอนบริเวณชั้น 2 ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณที่หาซื้อมาใหม่บ้าง รวมถึงเฟอร์นิเจอร์จากบ้านที่สุขุมวิทบ้าง ประดับด้วยเชิงเทียนตามจุดต่างๆ และภาพสีน้ำของน้องสาวคุณอ๊าร์ต
บ้านปูนริมน้ำ
ห้องนอนบริเวณชั้น 3 ข้าวของบางส่วนมาจากบ้านอาทิตย์-ธาราและบ้านที่สุขุมวิท บางส่วนก็เป็นของสะสมของคุณอ๊าร์ต รวมถึงภาพวาดกับภาพพิมพ์จากน้องสาวของคุณอ๊าร์ต
ภายในห้องพระที่นอกจากโต๊ะหมู่บูชาพระแล้ว ยังมีมุมแสดงความเคารพต่อบูรพกษัตริย์ที่นับถือ ส่วนฝั่งซ้ายคือแท่นอาสนะที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบในพิธีทางศาสนา

เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเอง

        เพราะเริ่มต้นความคิดจากการปลูกต้นไม้และปรับปรุงภูมิทัศน์ เมื่อมีการสร้างบ้านขึ้นมา ทั้งคู่ก็ยังคงเน้นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองผสมผสานไปกับการสนับสนุนอาชีพของชุมชนในท้องถิ่น

       “เราได้ไอเดียมาจากนาทางอีสานที่ทำโคกไว้กลางนาสร้างกระต๊อบเล็กๆ ไว้กินข้าว เลยดัดแปลงท้องร่องเดิมโดยขุดให้เป็นบ่อเอาดินมาถมที่ให้เป็นโคก และในบ่อก็ยังทำเป็นเกาะเล็กๆ เก็บต้นไม้เดิมและปลูกต้นไม้ที่ทนน้ำไว้ เรายังเรียนผิดเรียนถูกเรื่องการปลูกต้นไม้มาจากบ้านหลังเดิมๆ ที่นี่ก็จะเน้นปลูกไม้ที่เราอยากกินเองเป็นหลักก่อน กับพวกผักต่างๆ และเลี้ยงไก่ไข่ ช่วงโควิดที่ผ่านมารู้เลยว่าเงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาต่างหากเป็นของจริง เพราะอยู่ที่นี่เราก็มีอาหารกินได้สบายไม่ต้องไปซื้อของข้างนอก ที่จริงในบ่อก็ตั้งใจเลี้ยงปลาไว้กินเองด้วยแต่พอให้อาหารมันทุกวัน มองหน้ากันทุกวัน ก็ไม่อยากกินมันแล้ว แถมยังย้ายปลาแรด ปลาสวาย และปลาบึกตัวใหญ่จากบ้านเดิมมาเลี้ยงไว้ที่นี่ด้วย ก็เลยใช้วิธีอุดหนุนชาวบ้านแถวนี้ที่หากินอยู่กับประมงน้ำจืดซึ่งอำเภอบ้านสร้างดังมากเรื่องปลาและกุ้ง เนื้อแน่น รสชาติดี เท่ากับเราได้ช่วยเหลือกระจายรายได้สู่ชุมชนในบริบทที่เราสามารถทำได้ไปด้วย”

ภายในบ่อที่ขุดและสร้างเป็นเกาะเล็กๆ สำหรับปลูกต้นไม้ไว้เป็นหย่อมๆ
คุณกบกับกิจกรรมออกไปเก็บไข่ไก่มาปรุงอาหาร
เล้าไก่ที่กั้นไว้ในบริเวณบ้าน เลี้ยงไก่อารมณ์ดีที่ออกไข่สดใหม่ให้ทุกวัน

ปกติช่วงบ่ายๆ ทั้งคู่ชอบเข้าไปเอนหลังอ่านหนังสือกันอยู่ในโถงนั่งเล่น เลือกหยิบหนังสือเก่าจากโต๊ะกลางหรือเล่มที่อยู่ในชั้นข้างๆ บางเล่มอ่านแล้วอ่านซ้ำก็ยังสนุก โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทยซึ่งเป็นความรู้ที่สามารถนำมาเล่าให้ฟังระหว่างมื้ออาหารอย่างได้อรรถรสทุกครั้ง บางวันคุณกบก็จะคว้าตระกร้าออกเดินเข้าไปในสวนเลือกเด็ดผักที่ต้องการและแวะเข้าไปเก็บไข่ไก่เพื่อเตรียมเป็นเมนูอาหารในมื้อต่างๆ ส่วนพิเศษที่ทั้งสองท่านโปรดปรานมากที่สุดน่าจะเป็นการเดินไปที่ท่าเรือเพื่อขับเรือเร็วออกไปตามแนวแม่น้ำบางปะกง ชมภาพบ้านเรือนริมน้ำทั้งสองฝั่ง แวะคุยทักทายกับชาวบ้านบ้าง และดื่มด่ำกับแสงสุดท้ายสวยๆ ณ จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำปราจีน ซึ่งเป็นความมหัศจรรย์จากธรรมชาติที่ช่วยเติมพลังชีวิตได้ดีเสมอในทุกๆ วัน

เจ้าของ-ออกแบบ : หม่อมหลวงอภิชิต วุฒิชัย และคุณอาภาศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

สไตล์ : พระจันทร์ดวงโบราณ


บ้านปูนผสมไม้ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ

บ้านปูนเรียบๆ ที่ตกแต่งด้วยงานไม้เก่า