“ฟรีแลนซ์ไม่มีวันหยุด เพราะทุกวันที่ทำงานก็เหมือนวันหยุดอยู่แล้ว”
คุณเนศ – ธเนศ มณีศรี ศิลปินสีน้ำ เจ้าของ 15.28 Studio เคยโพสต์ข้อความนี้ลงเฟสบุ๊กส่วนตัว จนเราต้องตามไปดูว่า เขาใช้ชีวิตอย่างไรให้การทำงานทุกวันของเขาเป็นวันหยุดเช้าของวันที่นัดไปถ่ายทำที่ สตูดิโอ ของคุณเนศ ทันทีที่ประตูเปิด ลูกแมวน้อยก็วิ่งปรู๊ดออกมาต้อนรับ ด้วยความน่ารักของเจ้า “สีน้ำ” ทำเอาพวกเราไม่เป็นอันทำงานกันเลยทีเดียว
คุณเนศเล่าว่าเพิ่งย้ายมาอยู่บ้านหลังใหม่นี้ได้ไม่นาน แม้จะเป็นบ้านเช่า แต่โชคดีที่เจ้าของอนุญาตให้ปรับปรุงและตกแต่งบ้านให้เป็น สตูดิโอ ได้ตามสบาย ตัวบ้านมีหลังคาจั่วสูง จึงมีพื้นที่ใต้หลังคาให้คุณเนศทำเป็นห้องนอนที่อยู่ส่วนหน้าของตัวบ้านได้
พื้นที่ทำงานและ สตูดิโอ สอนสีน้ำ
ชั้นล่างของบ้านหลังนี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหน้าเป็นพื้นที่ทำงานและสตูดิโอสอนสีน้ำกับโซนขายของ เช่น โปสต์การ์ด สมุดโน้ต และปฏิทินจากภาพผลงานของคุณเนศ ส่วนด้านหลังเป็นออฟฟิศของเพื่อน นอกจากชั้นบนที่ทำเป็นห้องนอนแล้ว ยังมีส่วนที่จะทำเป็นแกลเลอรี่แสดงนิทรรศการศิลปะด้วย บริเวณหน้าบ้านมีหน้าต่างกรุกระจกขนาดใหญ่ 2 บาน แสงจึงเข้าได้เต็มที่ ช่วยประหยัดไฟในตอนกลางวัน และเหมาะกับการทำงานศิลปะ
“ที่มาที่ไปของการเป็นศิลปินสีน้ำก็มาจากการได้เรียนที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีโอกาสได้ทำงานศิลปะหลายรูปแบบ พอเริ่มรู้จักศิลปะมากขึ้นก็รู้สึกว่าชอบสีน้ำที่สุด เลยวาดรูปสีน้ำขายหารายได้พิเศษระหว่างเรียน พอเริ่มมีลูกค้าก็มีกำลังใจว่างานเราขายได้ จึงพัฒนางานมาเรื่อยๆ พอเรียนจบก็รู้ว่าจะทำอะไร ผมมองว่าสีน้ำคือความท้าทาย คือการควบคุมน้ำให้ได้ เหมือนการเล่นกับน้ำ อีกทั้งสีน้ำก็ไม่ค่อยเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถ้าเป็นพวกสีน้ำมันจะมีกลิ่น เพราะต้องผสมทินเนอร์ น้ำมันสน สีน้ำไปไหนก็เขียนได้ ไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์มาก แค่มีน้ำก็สบายแล้ว
“บางคนเข้าใจว่าสีน้ำไม่เหมาะกับคนใจร้อน แต่สำหรับผมชีวิตผมมีสองส่วน ชีวิตปกติประจำวันผมเป็นคนโผงผาง แต่เวลาทำงานก็จะฝึกตัวเอง เหมือนเป็นการฝึกสมาธิ พอเรามีสมาธิเราก็จะนิ่งไปเอง เคยมีครั้งหนึ่งทำงานเพลินตั้งแต่แปดโมงเช้าถึง หกโมงเย็น ลืมกินข้าวเลย แต่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนะครับ นานๆครั้ง การทำงานทำให้เรานิ่ง พอนิ่งการตัดสินใจบางอย่างจะชัดเจนขึ้น”
ปล่อยให้ชีวิตช้าบ้าง ก็มีความสุข
สิ่งที่ทำให้คุณเนศตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ก็ไม่ต่างจากหลายคน ที่มาอยู่จังหวัดนี้มากนัก ก่อนหน้านี้คุณเนศเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ แต่พอได้มาอยู่ที่บ้านหลังนี้ เขาก็ตกแต่งบ้านได้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ให้ความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเองสำหรับผู้มาเยือน นอกจากการเป็นศิลปินสีน้ำวาดรูปขายและสอนวาดภาพสีน้ำให้แก่ผู้สนใจทั่วไปแล้ว คุณเนศยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาองค์ประกอบศิลป์ สาขาวิชาศิลปะการถ่ายภาพ ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย
ศิลปินก็มีชีวิตไม่ต่างจากคนทั่วไป เมื่อทำงานหนักก็ต้องการการพักผ่อนเช่นกัน กิจกรรมผ่อนคลายที่คุณเนศทำเป็นประจำคือการปั่นจักรยาน บ้านนี้จึงมีมุมเก็บ จักรยานที่เท่สะดุดตา
“ผมมองว่าคนสมัยนี้ทำอะไรเร็วไปหมด ขับรถเร็ว ขี่มอเตอร์ไซค์เร็ว แต่ถ้าปั่นจักรยานมันค่อยๆไป ทำให้เห็นสิ่งรอบข้างได้มากขึ้นชัดขึ้น”
“ผมจะตื่นแปดโมงเช้า ออกไปปั่นจักรยาน ดื่มกาแฟ ทำธุระอะไรเสร็จก็จะกลับมาทำงานถึงสามสี่โมงเย็น แล้วก็ออกไปผ่อนคลายตามร้านกาแฟอีก ไปปาร์ตี้สังสรรค์บ้างตามโอกาส จะมีเวลาที่แบ่งชัดเจน การออกไปเปิดหูเปิดตา ชมงานของคนอื่นก็เป็นสิ่งสำคัญ จะได้รู้ว่าโลกข้างนอกเขาไปถึงไหนกันแล้ว ไม่ใช่จมอยู่กับตัวเอง อีกอย่างก็คือเป็นแรงผลักดันด้วย การเลือกทำงานอยู่ที่บ้านก็เพราะควบคุมอะไรบางอย่างได้ แต่พอออกข้างนอกก็ได้ผ่อนคลาย การเข้าสังคมมีผลต่องาน บางครั้งเราได้คอนเน็กชั่นจากตรงนั้นแหละ ผมจะมีกลุ่มเพื่อให้คนทำงานด้านเดียวกันได้มาพบปะสังสรรค์กัน พอรู้จักกันงานก็ตามมาเอง”
เราคิดว่าคุณเนศใช้ชีวิตได้คุ้มมาก นอกจากได้ทำงานที่รัก อยู่ในพื้นที่ของตัวเองที่ออกแบบรูปแบบการใช้งานตามความต้องการได้อย่างลงตัวแล้ว ยังได้ออกไปผ่อนคลาย มีสังคมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่เพื่อนที่ทำงานในแวดวงเดียวกัน ถือเป็นความสมดุลที่ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข จากอพาร์ตเมนท์ห้องเล็กๆ กระทั่งตอนนี้ขยับขยายมาทำ 15.28 Studio ให้คนได้เข้ามาสัมผัสใกล้ชิดได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะมาชมงาน หรือเลือกซื้อผลงาน ถือเป็นการเติบโตอีกก้าวหนึ่ง อย่างที่คุณเนศบอกทิ้งท้ายว่า “ผมเชื่อว่าคนทำงานศิลปะต้องมีทัศนคติที่ดี คิดดี ทำดี อดทน จังหวะและ โอกาสจะมาเอง”
หากใครผ่านไปหรือตั้งใจไปเชียงใหม่ ลองแวะไปเยี่ยมสตูดิโอของคุณเนศได้ที่
15.28 Studio ศิริมังคลาจารย์ซอย 3 อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ หรือเข้าไปเยี่ยมชมผลงานได้ที่ http://tw04.multiply.com หรือ 15.28STUDIO ค่ะ
เรื่อง : ศุภชาติ บุญแต่ง
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
อ่านต่อ :
JAIBAAN STUDIO หัวใจของคราฟต์คือ “ชุมชน”