บ้านและอาคารเขียว สำคัญอย่างไร? พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญจาก TGBI - บ้านและสวน

บ้านและอาคารเขียวสำคัญอย่างไร? พูดคุยกับ 4 ผู้เชี่ยวชาญจาก TGBI

บ้านและอาคารเขียว เป็นเรื่องไกลตัวจริงหรือไม่ และเราจะมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันกับ 4 ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอาคารเขียวไทย

หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินคำว่า อาคารเขียว และมีความเข้าใจต่อคำคำนี้ในภาพที่แตกต่างกันออกไป บ้างอาจเข้าใจว่าเป็นอาคารที่เน้นประหยัดพลังงาน บ้างอาจนึกภาพถึงอาคารที่ปกคลุมด้วยสวนแนวตั้งจนดูเป็นสีเขียวไปทั้งตึก บ้างอาจเข้าใจว่าเป็นอาคารที่มีค่าดำเนินการสูงจนยากที่คนทั่วไปจะเอื้อมถึงได้ แต่จริงๆ แล้วอาคารเขียวหมายถึงอะไร มีความสำคัญแค่ไหน แล้วบ้านของเราจะสามารถมีส่วนร่วมกับเทรนด์อาคารเขียวที่กำลังเป็นที่สนใจนี้ได้อย่างไรบ้าง คราวนี้ Home Expert จึงได้พูดคุยกับ 4 ผู้เชี่ยวชาญจาก สถาบันอาคารเขียวไทย หรือ TGBI เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ ที่จะทำให้ บ้านและอาคารเขียว ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป

อาคารเขียวคืออะไร

อาคารเขียว คือ อาคารที่ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึง 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ตามที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ชนิกานต์ ยิ้มประยูร หัวหน้าภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า “เน้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัดให้น้อยและเกิดคุณค่ามากที่สุดค่ะ ทั้งพลังงาน น้ำ วัสดุก่อสร้าง และทำให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนั้น ในปัจจุบันยังมีการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมรอบข้าง และความเป็นไปได้ในการลงทุนควบคู่กันด้วย”

เห็นได้ว่าอาคารเขียวไม่ได้หมายถึงแค่การประหยัดพลังงานเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงทุกๆ ด้านของการใช้ชีวิต ทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาวะ สังคม และเศรษฐกิจ

“หลายคนอาจนึกถึงเรื่องของอาคารประหยัดพลังงาน แต่จริงๆ แล้วอาคารเขียวไม่ได้มองเรื่องพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่มองหลายๆ ด้านครับ ยกตัวอย่างเช่นถ้ามีอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ช่วยประหยัดการใช้พลังงานได้มาก แต่ผลิตจากวัสดุที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบสำหรับอาคารเขียวครับ คุณก่อพงศ์ ไทยน้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัทจีโฟร์ อาร์คิเทคส์ จำกัด กล่าว

“สุขภาพของคนในสังคมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอาคารเขียวเช่นกันครับ อย่างปัจจุบันที่ได้รับความสนใจมากคือเรื่องฝุ่น PM 2.5 นอกจากนั้นอาคารเขียวยังมีการบริหารจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ด้วยการนำกลับไปใช้ใหม่หรือรีไซเคิล รวมถึงมีการออกแบบอาคารที่ปล่อยมลภาวะสู่ชุมชนรอบด้านน้อยลง เช่น ควันเสียจากระบบอาคาร หรือลมร้อนจากเครื่องปรับอากาศที่ปรับตำแหน่งไม่ให้รบกวนเพื่อนบ้านด้วย” ดร.ปรีชา มณีสถิตย์ผู้เชี่ยวชาญงานออกแบบอย่างยั่งยืน บริษัทอีโม-ดี จำกัดเสริม

        อาจพูดได้ว่าจุดมุ่งหมายของอาคารเขียวคือการสร้างความยั่งยืนไปพร้อมๆ กันในทุกมิติของสังคมเมือง “ในบริบทของการออกแบบก่อสร้างและพัฒนาโครงการ องค์ประกอบของความยั่งยืนแบ่งได้เป็น 3 ประการค่ะ ได้แก่ People – Profit – Planet หรือ ผู้คนและสังคม ผลตอบแทน และผลกระทบต่อโลก” ดร.อมรรัตน์ เดชอุดมทรัพย์ Head of Sustainability บริษัทโจนส์แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว ที่มีเรื่องผลตอบแทนเพิ่มเข้ามาเพราะแน่นอนว่า ความเป็นไปได้ในการลงทุนและผลตอบแทนที่เห็นเป็นรูปธรรมสำหรับเจ้าของบ้านหรืออาคารนั้น คือสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการทำให้เมืองสีเขียวที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง

รู้จักมาตรฐานอาคารเขียวทั่วโลก

เพื่อยืนยันได้ว่าอาคารหลังไหนที่ ดีต่อโลก ดีต่อเรา จึงเกิดเป็น มาตรฐานอาคารเขียว ขึ้นเพื่อประเมินและให้การรับรองอาคารในด้านต่างๆ โดยปัจจุบันมีมาตรฐานอาคารเขียวมากมายที่เป็นที่ยอมรับและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก เช่นมาตรฐานที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง LEED Rating System ที่เน้นการออกแบบเพื่อประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม และมาตรฐาน WELL Building Standard ที่เน้นการออกแบบเพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้อาคาร

LEED

ย่อมาจาก Leadership in Energy & Environmental Design เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ได้รับการพัฒนาโดย U.S. Green Building Council ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้การรับรองอาคารที่ถือเป็นผู้นำด้านการออกแบบเพื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สุขอนามัยของผู้ใช้อาคาร ตลอดจนวงจรชีวิตของอาคาร ตั้งแต่การวางแผนและออกแบบ การก่อสร้าง และการใช้งานจริง โดยมีการรับรองคุณภาพ 4 ระดับ คือ Certified, Silver, Gold, และ Platinum และเกณฑ์แบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่

  • LEED BD+C สำหรับอาคารที่ออกแบบก่อสร้างใหม่
  • LEED ID+C สำหรับงานออกแบบและก่อสร้างภายในอาคาร
  • LEED O+M สำหรับงานปรับปรุงอาคารเก่า
  • LEED ND สำหรับงานพัฒนาย่านชุมชน
  • LEED Homes สำหรับอาคารที่พักอาศัย

WELL Building Standard

เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ได้รับการพัฒนาโดย International WELL Building Institute (IWBI) ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้การรับรองอาคารที่มีการออกแบบเพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้ใช้อาคารในด้านต่างๆ โดยใน WELL V2 ซึ่งเป็นเวอร์ชันล่าสุดของมาตรฐาน WELL แบ่งสุขภาวะที่ดีออกเป็น 10 ด้าน ได้แก่ อากาศ น้ำ โภชนาการ แสงสว่าง การเคลื่อนไหว สภาวะน่าสบาย สภาวะทางเสียง วัสดุอาคาร จิตใจ และชุมชน มีการรับรองคุณภาพ 4 ระดับ ได้แก่ Bronze, Silver, Gold, และ Platinum

เนื่องจากแต่ละพื้นที่บนโลกมีสภาพแวดล้อม สังคม วิถีชีวิต และข้อจำกัดด้านการออกแบบก่อสร้างที่แตกต่างกัน ในหลายประเทศทั่วโลกจึงมีการจัดทำมาตรฐานอาคารเขียวของตัวเองขึ้นมาให้เหมาะสมกับบริบทในที่นั้นๆ ตามที่ดร.ชนิกานต์ได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า “อย่างมาตรฐาน CASBEE ของญี่ปุ่นจะมีการให้คะแนนที่ต่างออกไปเรื่องความต่อเนื่องของพื้นที่สีเขียว หรือมาตรฐาน DGNB ของเยอรมนีที่เน้นเรื่องค่าใช้จ่ายตลอดชีวิตของอาคาร (Life Cycle Costing) มากเป็นพิเศษ สังเกตได้ว่าแต่ละที่จะให้ความสำคัญต่างกันค่ะ” มาตรฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าอาคารเขียวกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในระดับโลก และแต่ละประเทศก็มีการตั้งเกณฑ์เพื่อปรับใช้อย่างจริงจัง รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

รู้จักมาตรฐานอาคารเขียวไทย

สำหรับประเทศไทยเองก็มีหน่วยงานที่พัฒนาองค์ความรู้และจัดทำมาตรฐานอาคารเขียวของไทยขึ้นมาใช้เองด้วยเช่นกัน นั่นคือ สถาบันอาคารเขียวไทย หรือ TGBI หน่วยงานอิสระภายใต้การดูแลของมูลนิธิอาคารเขียวไทย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งริเริ่มมาจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยในปัจจุบันทางสถาบันฯ จัดทำขึ้นมา 2 เกณฑ์ ได้แก่ TREES และ SOOK Standard

TREES

TREES หรือ เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 5 เกณฑ์ ได้แก่

  • TREES-NC สำหรับอาคารขนาดใหญ่ ทั้งอาคารสร้างใหม่และอาคารปรับปรุงใหม่
  • TREES-NC/CS สำหรับอาคารขนาดใหญ่ประเภทให้เช่า ประเมินเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางและกรอบอาคาร
  • TREES-EB สำหรับอาคารที่ใช้งานมาแล้วอย่างน้อย 1 ปีและต้องการปรับเป็นอาคารเขียว
  • TREES-PRE-NC สำหรับประเมินอาคารจากแบบก่อสร้าง เพื่อให้ได้รับโบนัส FAR จากข้อกำหนดผังเมืองกรุงเทพฯ
  • TREES-HOME สำหรับอาคารพักอาศัย ทั้งบ้าน ทาวน์เฮาส์ และอาคารชุดพื้นที่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร

SOOK

SOOK Standard หรือ มาตรฐานอาคารเป็นสุข ให้ความสำคัญกับสุขภาวะของผู้ใช้อาคาร คล้ายๆ กับเกณฑ์ WELL Building Standard แต่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับไทย มีกลุ่มเป้าหมายหลักคืออาคารชุดและอาคารสำนักงาน แต่ก็สามารถนำไปปรับใช้กับบ้านพักอาศัยด้วยเช่นกัน โดยพิจารณาถึง 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. ความสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบอาคาร พื้นที่ตั้งของอาคาร ความสอดคล้องกับชุมชน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
  2. การออกแบบอาคาร ช่องเปิด แสงธรรมชาติ การป้องกันมลพิษจากภายนอก ความปลอดภัย รวมถึงทิวทัศน์ภายนอก
  3. การออกแบบภายใน การใช้วัสดุปลอดสารพิษ การทำความสะอาด การใช้สีสันที่เหมาะสม
  4. การออกแบบด้านวิศวกรรม คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ ระดับเสียงจากอุปกรณ์ที่เหมาะสม

นอกจากเพื่อให้เข้ากับบริบทเฉพาะของไทยแล้ว การพัฒนาเกณฑ์ บ้านและอาคารเขียว ของไทยเพื่อใช้แทนเกณฑ์จากต่างประเทศยังช่วยลดความเสียเปรียบทางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศด้วย “ด้วยบริบทที่ต่างกัน เช่น รูปแบบการใช้พลังงานในประเทศเขตหนาวและเขตร้อนบ้านเรา วัสดุบางอย่างที่ต้องเลือกใช้เพื่อให้ได้การรับรองจากเกณฑ์ของต่างประเทศจึงยากที่จะหาได้ในไทยหรือจำเป็นต้องมีการนำเข้าจนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญครับ ดังนั้น การมีเกณฑ์ของไทยเองจึงช่วยให้อาคารเขียวเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายและแพร่หลายขึ้น รวมถึงผลักดันให้ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างในไทยได้มีส่วนร่วมมากขึ้นครับ” ดร.ปรีชาอธิบาย

ปรับบ้านให้เป็นอาคารเขียว

แม้จะใช้พลังงานไม่มาก แต่บ้านพักอาศัยก็เป็นประเภทอาคารที่มีจำนวนมากที่สุด และไฟฟ้าที่ใช้สำหรับบ้านคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งประเทศเลยทีเดียว แน่นอนว่าการมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานของประเทศ และสร้างสุขภาวะที่ดีให้ตัวเราด้วยการทำบ้านให้เป็นอาคารเขียวนั้นคงเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่น้อย แต่เราต้องลงทุนมากแค่ไหน และผลที่ได้จะคุ้มค่าหรือไม่ คุณก่อพงศ์ตอบว่า “ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาคารเดิม ถ้าเดิมออกแบบมาดีอยู่แล้วตามหลักการทางสถาปัตยกรรม ค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักครับ”

        จริงๆ แล้วเราสามารถทำบ้านให้ ดีต่อโลก ดีต่อเรา โดยไม่ต้องได้รับการรับรองเกณฑ์ใดๆ เลยก็ได้ เพียงออกแบบบ้านตามทิศทางแดดและลมให้สามารถระบายอากาศและความร้อนได้ด้วยวิธีธรรมชาติ รับแสงธรรมชาติพอเหมาะ รวมถึงเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดทรัพยากร ซึ่งเกณฑ์ TREES-HOME ก็เป็นมาตรฐานหนึ่งที่เราสามารถปรับใช้กับบ้านของเราเองได้ไม่ยาก โดยที่มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างเช่น

บุฉนวนหลังคา

ป้องกันความร้อนจากแสงแดดเข้าตัวสู่อาคารจากด้านบนด้วยการติดตั้งฉนวนหลังคาความหนาไม่น้อยกว่า 1 นิ้ว จะช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้านให้เย็นสบายและประหยัดพลังงานได้เช่นกัน

ลดการใช้พลังงานจากปั๊มน้ำ

โดยการมีจุดจ่ายน้ำภายนอกอาคารก่อนที่จะต่อท่อเข้าปั๊มน้ำ สำหรับกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องใช้แรงดันน้ำมาก เช่น การรดน้ำต้นไม้ การล้างรถ

ใช้ลมธรรมชาติในอาคาร

ออกแบบเพื่อให้ลมธรรมชาติไหลผ่านพื้นที่ภายในบ้านจะช่วยลดอุณหภูมิ ส่งเสริมสภาวะน่าสบาย และลดการใช้พลังงานได้มาก โดยในเกณฑ์ TREES-HOME ระบุให้ห้องมีพื้นที่ช่องเปิดสู่ภายนอกไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ห้อง และระบุความลึกของห้องที่เหมาะสมคือ

  1. กรณีมีช่องเปิด 1 ด้าน ความลึกของห้องต้องไม่เกิน 2 เท่าของความสูงจากพื้นถึงเพดานห้อง
  2. กรณีมีช่องเปิด 2 ด้าน ความลึกของห้องต้องไม่เกิน 5 เท่าของความสูงจากพื้นถึงเพดานห้อง

เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันมีฉลากผลิตภัณฑ์ที่บ่งชี้ถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างในไทยหลายประเภท เช่น ฉลากเขียว ฉลากลดคาร์บอน ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ฉลากลดโลกร้อน ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 และ ฉลากประหยัดไฟประสิทธิภาพสูง เป็นต้น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเหล่านี้จึงช่วยปรับบ้านให้มีความเป็นอาคารเขียวได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ปูนซีเมนต์ สีประเภทต่างๆ ฉนวนกันความร้อน กระจก สุขภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศ


ขอขอบคุณข้อมูล

  • สถาบันอาคารเขียวไทย
  • LEED Rating System
  • WELL Building Standard
  • สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
  • องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
  • กระทรวงพลังงาน
  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • บริษัทโจนส์แลง ลาซาลล์ ประเทศไทย จำกัด

เรื่อง : Tinnakrit

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล


ปรับบ้านเพื่อสุขภาวะที่ดี ตามหลัก WELL Building Standard

Health & Well-being Materials วัสดุสร้างบ้านที่ดีและปลอดภัย

สนทนากับ รศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร
‘อาคารเขียว’ จากเทรนด์สู่วิถีชีวิตยุคใหม่

ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag