บ้านรีโนเวตจากตึกแถวเก่า เปิดรับลมและแสงธรรมชาติ - บ้านและสวน

บ้านรีโนเวตจากตึกแถวเก่าที่เปิดรับลมและแสงธรรมชาติ

บ้านรีโนเวตจากตึกแถวเก่า เปลี่ยนอาคารที่ทึบตันให้กลายเป็นบ้านโมเดิร์นหน้าตาเรียบง่าย ทันสมัย แต่ซ่อนสเปซโปร่งโล่งและอบอุ่นเอาไว้ภายใน

เมื่อต้องการขยับขยายที่อยู่อาศัยออกจากห้องคอนโดมิเนียมเดิมเพื่อสร้างครอบครัวในอนาคต คุณปุย – สิรินภา รัตนโกศล และ คุณเซบาสเตียน ดูส สองสามีภรรยาจึงมองหาบ้านใหม่ในหลายทำเล จนกระทั่งได้มาพบกับตึกแถวเก่าขนาด 3 คูหาหลังหนึ่งย่านถนนจันทน์ พร้อมกับชวน คุณวิทย์ – พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล และ คุณพลอย – หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ สถาปนิกและมัณฑนากรจาก PHTAA ซึ่งเป็นเพื่อนที่รู้จักคุ้นเคยกันให้มาดูตึกหลังนี้ด้วยตั้งแต่แรกเริ่ม ก่อนเปลี่ยนโฉมให้เป็น บ้านรีโนเวตจากตึกแถวเก่า ดีไซน์ทันสมัยกว่าเดิม

ฟาซาดด้านหน้าโชว์โครงสร้างเสาและคานเดิมของตึกแถว 3 คูหา ผนังทึบภายนอกซ่อนสเปซโปร่งโล่งภายในบ้านเพื่อความเป็นส่วนตัว
พื้นที่ขนาด 1 ช่วงเสาถูกเปลี่ยนเป็นสวนขนาดย่อมใกล้กับประตูเข้าบ้าน
ผนังโถงทางเข้าบ้านก่อด้วยบล็อกแก้ว นำแสงธรรมชาติเข้าสู่ด้านใน

ชวนพลอยมาดูตั้งแต่ที่ยังไม่ได้ซื้อเลยค่ะ วันที่ได้เปิดประตูเข้าไปดูด้านในเป็นครั้งแรกก็เกิดนิมิตขึ้นมาเลยว่า นี่แหละบ้านฉัน นึกภาพออกเลยว่าเราจะทำอะไรกับตึกหลังนี้ได้บ้าง ชอบความเงียบสงบแม้จะอยู่ใจกลางเมือง เพราะตรงนี้อยู่สุดซอย ไม่ยินเสียงรถเลยค่ะ คุณปุยเล่า

จากตึกแถวเก่าจึงกลายมาเป็นโจทย์การออกแบบบ้านหลังใหม่ ตามที่คุณวิทย์อธิบายว่า “เราตัดสินใจรีโนเวตแทนที่จะทุบสร้างใหม่ครับ โครงสร้างอาคารเดิมออกแบบไว้แข็งแรงดีอยู่แล้ว เพดานก็สูง นอกจากนั้นยังถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายด้วยครับว่าเราจะออกแบบสเปซใหม่ในกรอบโครงสร้างเสาคานเดิมได้อย่างไร”

เมื่อเข้ามายังโถงทางเข้าจะพบกับบันไดที่นำขึ้นไปสู่ชั้นลอย ด้านล่างใช้งานเป็นห้องเก็บของ
โถงบันไดเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของบ้าน สว่างด้วยแสงธรรมชาติจากหน้าต่างด้านข้าง
ห้องทำงานของคุณปุย เชื่อมต่อกับสวนหน้าบ้านผ่านฟาซาดเหล็กกัลวาไนซ์ที่ช่วยบังสายตา

ตึกแถวที่เดิมทีเคยเป็นทั้งโรงพิมพ์และโรงเย็บผ้าแห่งนี้มีพื้นที่ใช้สอยมาก การพลิกโฉมตึกแถวแห่งนี้ให้เป็นบ้านจึงรวมไปถึงการเปลี่ยนพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งให้กลายเป็นที่ว่างด้วย “เราเริ่มจากการออกแบบพื้นที่หลักๆ ก่อนครับ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องครัว ว่าต้องใช้พื้นที่เท่าไหร่ เราพบว่าพื้นที่ที่ต้องการคิดเป็นแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของตึกเดิม เราเลยรื้อพื้นบางส่วนออกเพื่อเชื่อมสเปซให้กลายเป็นห้องเพดานสูงครับ”

สเปซภายในที่โปร่งโล่ง รวมถึงช่องลมและช่องแสงที่เกิดจากการขยับผนังออกจากแนวเสาเดิม ช่วยระบายอากาศและนำแสงสว่างเข้ามายังพื้นที่ภายใน สร้างบรรยากาศที่ต่างออกไปจากภาพจำของตึกแถว แต่ยังสังเกตเห็นได้ถึงโครงสร้างจริงของอาคารเดิม อย่างคานคอนกรีตที่โผล่ออกมากลางโถงสูงซึ่งดูมีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง

ห้องรับประทานอาหารเชื่อมกับโถงบันไดโดยสามารถดึงม่านเพื่อกั้นพื้นที่ได้ เพดานสูงเผยให้เห็นคานคอนกรีตเปลือยลอยอยู่เหนือทางขึ้นชั้น 2
ห้องครัวเพดานสูง เชื่อมต่อสเปซไปยังพื้นที่อเนกประสงค์บนชั้น 2 ผ่านผนังกระจกด้านข้าง

“เราตัดสินใจรีโนเวตแทนที่จะทุบสร้างใหม่ครับ โครงสร้างอาคารเดิมออกแบบไว้แข็งแรงดีอยู่แล้ว เพดานก็สูง นอกจากนั้นยังถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายด้วยครับว่าเราจะออกแบบสเปซใหม่ในกรอบโครงสร้างเสาคานเดิมได้อย่างไร”

คุณวิทย์ สถาปนิกจาก PHTAA

แม้สเปซภายในจะดูเชื่อมถึงกันเกือบทั้งหมด แต่พื้นที่แต่ละส่วนสามารถกั้นแยกจากส่วนอื่นได้เพื่อกันเสียงรบกวน กันฝุ่นจากภายนอก หรือเพื่อเปิดเครื่องปรับอากาศในบางครั้ง เช่น ห้องทำงานชั้นล่างของคุณปุย และห้อง Sunday Room บนชั้น 3 ที่กั้นด้วยประตูบานเลื่อนกระจก ห้องนั่งเล่นชั้น 2 ที่กั้นปิดได้ด้วยประตูบานเฟี้ยม รวมถึงพื้นที่รับประทานอาหารและครัวเพดานสูงที่กั้นจากโถงบันไดด้วยผ้าม่าน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่เจ้าของบ้านชอบเป็นพิเศษ เพราะมองเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นรอบบ้านได้  รวมถึงเป็นที่ที่เติมเต็มความเป็นบ้านที่ขาดหายไปเมื่อครั้งที่เคยอยู่ในห้องคอนโดมิเนียม “ชอบบริเวณตรงนี้ เพราะตอนนั้นฟังก์ชันในคอนโดบังคับให้เรานั่งหันข้างให้กัน ไม่เคยได้นั่งกินข้าวตรงข้ามกันเลยค่ะ ที่นี่เลยทำให้เรารู้สึกว่าได้มีบ้านที่เป็นบ้านจริงๆ”

โถงบันไดดูโปร่งโล่งด้วยหน้าต่างขนาดใหญ่ที่เปิดไปสู่พื้นที่ว่างข้างเคียง
บริเวณโถงกลางบ้านบนชั้น 2 มีช่องลมและช่องแสงสกายไลต์ แยกโซนห้องส่วนตัวไว้ต่างหากทางทิศใต้
ห้องนั่งเล่นชั้น 2 ตกแต่งด้วยวัสดุไม้ สีสันตัดกับคานคอนกรีตเปลือยที่ลอยอยู่ด้านบน

วัสดุที่เลือกใช้ เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยเสริมบรรยากาศให้บ้านที่รีโนเวตจากตึกแถวเก่าแห่งนี้ดูมีความเป็นบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะไม้สักที่ใช้ตกแต่งส่วนต่างๆ ภายในบ้าน ทั้งพื้น เพดาน และขั้นบันได ตอบสนองความต้องการของคุณปุยที่อยากให้มีผิวสัมผัสประเภทนี้ในบ้าน เพราะทำให้บ้านน่าอยู่ ดูเย็นสบาย ผ่อนคลายเหมือนอยู่รีสอร์ต อีกทั้งยังเป็นวัสดุไม้ท้องถิ่นที่หาได้ไม่ยาก วัสดุอีกประเภทหนึ่งที่ผู้ออกแบบนำเสนอในบ้านหลังนี้ คือการใช้แผ่นตะแกรงเหล็กกัลวาไนซ์ วัสดุที่ดูสามัญธรรมดามาใช้ตกแต่งฟาซาดภายนอกบริเวณผนังชั้นล่างได้อย่างน่าสนใจ ทำหน้าที่เป็นทั้งวัสดุกันขโมย ช่วยบดบังสายตาด้วยความหนาของซี่เหล็กที่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละมุมมอง และมีช่องว่างให้ลมสามารถพัดผ่านได้อย่างสะดวกด้วย

ทางเดินเหนือโถงบันไดนำไปสู่ห้อง Sunday Room หนึ่งในไฮไลต์ของบ้าน พื้นที่สำหรับต้อนรับเพื่อนฝูงหรือพักผ่อนสบายๆ บนชั้น 3
ภายในห้อง Sunday Room บนชั้น 3 สามารถมองเห็นวิวกรุงเทพฯ แบบพานอรามา
ด้านนอกเปิดไปยังบันไดลอยที่นำไปสู่ดาดฟ้าด้านบน

“จริงๆ เพิ่งเคยทำบ้านของตัวเองเป็นครั้งแรกก็ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวครับ แต่ลึกๆ ผมคิดว่าบ้านควรเป็นที่ที่ทำให้คุณรู้สึกว่าทุกสิ่งเป็นไปตามที่มันควรจะเป็น และรู้สึกสบายใจทุกครั้งที่กลับมา”

คุณเซบาสเตียน เจ้าของบ้าน

เช่นเดียวกับบ้านรีโนเวตหลังอื่นๆ อุปสรรคในการก่อสร้างอาจเกิดขึ้นได้เสมอภายใต้ข้อจำกัดเฉพาะของอาคารนั้นๆ เช่น การเดินงานระบบไฟให้แนบเนียนไปกับโครงสร้างเดิมซึ่งทำได้ไม่ง่ายนัก หรือเมื่อพบว่าแนวเสากับคานมีขนาดไม่เสมอกัน เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้บ้านสร้างเสร็จได้ด้วยดี ทั้งผู้ออกแบบที่ต้องคอยแก้ไขปัญหาหน้างาน และเจ้าของบ้านที่มาดูความคืบหน้าเกือบทุกวัน “ตอนนั้นมาดูได้ทุกวันเพราะคอนโดอยู่แถวนี้ค่ะ แต่ถึงไม่ได้อยู่แถวนี้ก็คงอยากมาดูทุกวันอยู่ดี บ้านมันคือบ้านของเรา เวลาที่ได้เห็นกำแพงก่อขึ้นมาด้านหนึ่งก็ตื่นเต้นแล้วค่ะ” คุณปุยกล่าว เช่นเดียวกับการตัดสินใจเลือกวัสดุและช่างรับเหมาย่อยในงานต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการและถูกใจผู้อยู่จริงๆ ซึ่งคุณเซบาสเตียนเล่าถึงแนวคิดการคัดสรรสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเองว่า “จริงๆ เพิ่งเคยทำบ้านของตัวเองเป็นครั้งแรกก็ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวครับ แต่ลึกๆ ผมคิดว่าบ้านควรเป็นที่ที่ทำให้คุณรู้สึกว่าทุกสิ่งเป็นไปตามที่มันควรจะเป็น และรู้สึกสบายใจทุกครั้งที่กลับมา เพราะฉะนั้นตัวเลือกที่อาจราคาแพงหรือซับซ้อนกว่าหน่อยก็น่าจะคุ้มค่ากว่าในระยะยาวครับ”

มีมุมสำหรับหิ้งพระตรงสุดทางเดินเหนือห้องนั่งเล่น
ภายในห้องนอนตกแต่งอย่างเรียบง่าย เพิ่มบรรยากาศอบอุ่นด้วยผนังไม้
ห้องน้ำภายในห้องนอนใหญ่ โดดเด่นด้วยอ่างอาบน้ำดีไซน์สวยและผนังหินสีเขียว

เจ้าของ : คุณสิรินภา รัตนโกศล และ คุณเซบาสเตียน ดูส

ออกแบบ : PHTAA Living Design โดยคุณพลวิทย์ รัตนธเนศวิไล และคุณหฤษฎี ลีละยุวพันธ์


คอลัมน์ “บ้านสวย” นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนตุลาคม 2565

เรื่อง : Tinnakrit

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข

สไตล์ : Suanpuk

ที่ตั้ง : กรุงเทพฯ


บ้านชั้นเดียวทรงกล่อง สะท้อนธรรมชาติ

บ้านแกลเลอรี่ลอยฟ้า ผสมผสานของเก่าเข้ากับสีสันใหม่ๆ

บ้านโมเดิร์นที่หลอมรวมคน 2 รุ่น 2 สไตล์

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag