รวม แบบบ้านโคโลเนียลย้อนยุค หลังงาม สวยละเมียดสะกดใจ
แบบบ้านโคโลเนียลย้อนยุค ในไทยนั้น ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างความเป็นไทยกับฝรั่ง อาจรวมถึงจีน แขกมัวร์ ฯลฯ จนกลายเป็นบ้านที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์และทรงคุณค่า เราขอพาคุณนั่งไทม์แมชชีนไปสู่ยุคเจ้าคุณปู่เพื่อชื่นชมความงามสุดคลาสสิกของ แบบบ้านโคโลเนียลย้อนยุค ที่สร้างขึ้นด้วยความประณีตวิจิตรบรรจง
1. บ้านสมันตรัฐ
เจ้าของ: คุณชัยรัตน์ – คุณนาตยา สมันตรัฐ
แบบบ้านโคโลเนียลย้อนยุค หลังนี้สืบทอดมาจากหลวงโกชาอิศหาก ต้นสกุลสมันตรัฐ ด้วยเชื้อสายที่เป็นชาวมุสลิมจากทางภาคใต้ ประกอบกับบ้านหลังนี้สร้างขึ้นในยุคล่าอาณานิคมของเมืองไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการใช้ลักษณะของศิลปะผสมผสานกันอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการใช้ไม้เป็นวัสดุหลักในการสร้างและตกแต่ง โดยการฉลุเป็นลวดลายแบบแขกมัวร์ (Mauresque Art) และแบบลายขนมปังขิง อันเป็นเอกลักษณ์งานไม้แห่งอิสลาม โดยเน้นลวดลายพรรณพฤกษาในกรอบทรงเรขาคณิตเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการถ่ายเทอากาศภายในบ้าน ด้วยการออกแบบโครงสร้างมีประตูหน้าต่างมากมาย และเจาะช่องลม ทั้งบริเวณใต้หลังคา ส่วนที่เป็นกรอบอยู่เหนือหน้างต่างประตู และตอนบนของผนังที่อยู่ใต้ฝ้าเพดานลงมา เพื่อให้ลมผ่านและช่วยระบายความร้อนใต้ฝ้าออกไป >> อ่านต่อ
2. เรือนมนิลา
เจ้าของ : รองศาสตราจารย์สุกษม อัตนวานิช
เรือนหลังนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวรัชสมัยรัชกาลที่ 6 เจ้าของท่านปัจจุบันตั้งใจบูรณะตัวบ้านให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด โดยมีต้นแบบอาคารจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ลักษณะเป็นบ้านไม้สองชั้น ใต้ถุนสูง หลังคาเป็นทรงปั้นหยา ภายในบ้านแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน รวมทั้งยังต่อเติมมุขขนาดเล็กด้านหน้าบ้านเพื่อรองรับมุขตัวใหญ่และมุขด้านซ้ายของบ้าน สร้างความสวยงามให้แก่ตัวบ้านมากขึ้น >> อ่านต่อ
3. บ้านอาจ้อ
เจ้าของ : ครอบครัวหงษ์หยก
บ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านตากอากาศ 3 ชั้น 8 ห้องของคหบดีนามว่า ตันจิ้นหงวน หรือหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ผู้บุกเบิกธุรกิจทำ เหมืองแร่ในจังหวัดภูเก็ต และเป็นต้นตระกูลหงษ์หยก หนึ่งในตระกูลเก่าแก่ของจังหวัดภูเก็ต โดยใช้เป็นบ้านพักในช่วงที่ต้องมาคุมงานที่เหมือง แทนการนอนที่โรงแรมหรือกลับไปพักที่บ้านในตัวเมืองซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณเหมืองมาก รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นสไตล์ตะวันตกที่มีกลิ่นอายของอาร์ตเดโคผสมอิตาเลียนวิลล่าและวัฒนธรรมจีนได้อย่างลงตัว สร้างแล้วเสร็จราวปี 2479 ปัจจุบันได้รีโนเวตใหม่โดยยังคงกลิ่นอายแบบดั้งเดิมให้มากที่สุดเพื่อปรับปรุงเป็นที่พักสุดชิกในชื่อ บ้านอาจ้อ มิวเซียม โฮมสเตย์ >> อ่านต่อ
4. บ้านหลวงศรีนครานุกูล แบบบ้านโคโลเนียลย้อนยุคแบบบ้านโคโลเนียลย้อนยุค
เจ้าของ : คุณพงศ์ธร สุทธภักติ (หลานปู่)
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ : หลวงศรีนครานุกูล
แบบบ้านโคโลเนียลย้อนยุค หลังนี้เป็นบ้านไม้สักสองชั้นในจังหวัดแพร่ หลังคามุงแป้นเกล็ดไม้สัก ชั้นล่างเป็นห้องโถงโล่ง ห้องเก็บของและห้องน้ำ ส่วนชั้นบนเป็นโถงนั่งเล่นและห้องนอนโถงด้านหลังเชื่อมต่อกับนอกชาน ออกแบบโดย หลวงศรีนครานุกูล นามเดิมคือ เจียม สุทธภักติ ซึ่งสร้างบ้านหลังนี้เพื่อใช้พักอาศัยบนที่ดินที่ได้รับมาจากพระยาคงคาสมุทรเพชร ผู้เป็นพ่อตา ใช้ช่างก่อสร้าง 3 ชุด คือ ช่างทำตัวบ้านเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ช่างตกแต่งและทำเครื่องเรือนเป็นชาวจีนเซี่ยงไฮ้ และช่างแรงงานทั่วไปเป็นชาวเมืองแพร่ ตัวบ้านสร้างด้วยฝีมืออันประณีตสวยงาม โดยหลวงศรีนครานุกูลเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างและเลือกไม้เองทุกชิ้น ไม่ใช้ไม้ที่มีกระพี้ตาไม้เลยแม้แต่แผ่นเดียว และผึ่งไม้อยู่นานถึง 10 ปีเพื่อให้แห้งสนิท ทำให้ทั้งตัวเรือนและเฟอร์นิเจอร์ได้รับการสร้างขึ้นอย่างดีและสวยงามจนถึงปัจจุบัน >> อ่านต่อ
5. บ้านปลุกปรีดี
บ้านเรือนไม้เก่าที่ตั้งอยู่บนที่ดินในย่านแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี ตัวเรือนก่อสร้างอย่างสง่างาม ซึ่งหากพินิจใกล้ๆก็จะเห็นว่ามีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เคยเป็นกลุ่มตำหนักในพระบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งก่อสร้างในช่วงปี พ.ศ.2464-2470 ณ ชายหาดชะอำ ถือเป็นบ้านพักตากอากาศหลังแรกๆในย่านนี้เลยก็ว่าได้ โดยทรงตั้งชื่อของบ้านแต่ละหลังได้ไพเราะและคล้องจองกัน เช่น เรือนเกษมสม เรือนผงมสุข และเรือนปลุกปรีดี ต่อมาที่ดินและตัวบ้านได้ขายต่อให้พระประสารอักษรพรรณและนางเลื่อน ประสารอักษรพรรณ บ้านหลังนี้จึงกลายเป็นบ้านพักตากอากาศของครอบครัวจุลสมัยและสูตะบุตร ซึ่งเป็นทายาทของทั้งสองท่าน >> อ่านต่อ
เรียบเรียง : Tarnda
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน และนิตยสาร room