ต้นโกสน ขยายพันธุ์แบบง่ายๆ ทำได้ด้วยตัวเอง - บ้านและสวน

ต้นโกสนไทย ขยายพันธุ์ง่ายๆ รายได้งาม

ต้นโกสน เป็นไม้ใบอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยปลูกเป็นไม้ประดับมานานกว่า 100 ปี จวบจนถึงปัจจุบันโกสนยังคงเป็นไม้ใบสีสดที่มีความนิยมไม่เสื่อมคลาย

ต้นโกสน ยังมีผู้ปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ในสวยงาม ทนทานยิ่งขึ้น เพื่อผลิตต้น จำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ดังเช่นคุณเล็ก-ปรีชา และคุณจัน-จันทนา รอดเจริญ แห่งสวนโกสนไทย ที่ยังคงรักและชื่นชอบโกสน..ราชาแห่งไม้ใบไม่เสื่อมคลาย และยังผลิตลูกผสมใหม่ๆ ออกมาอีกมากมาย วันนี้เรามีโอกาสมาเยี่ยมชมสวนแห่งนี้ จึงอยากชวนมาดูสีสันสดใส ใบแปลก พร้อมเรียนรู้เทคนิคการปลูกเลี้ยงกัน

(ภาพ คุณปรีชา รอดเจริญ)

คุณเล็กเป็นผู้หนึ่งที่รู้จักโกสนมาตั้งแต่วัยเด็ก และได้รับความรู้ต่างๆ จากคุณปู่ ด้วยความชอบจึงปลูกและสะสมพันธุ์เรื่อยมา “เมื่อยังหนุ่มๆ สักประมาณ ปี พ.ศ. 2525 ผมขอโกสนจากคุณปู่มาลองเลี้ยง ต้นแรกคือ ไขลู ที่เป็นใบยาวบิดเป็นเกลียว สีเหลือง เป็นไม้โบราณในตับผู้ชนะสิบทิศ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยพบเห็นกันมากนัก นี่คือจุดเริ่มต้น แล้วก็สะสมมาเรื่อยๆ ทำให้โกสนเราก็เยอะขึ้น คุณแม่ก็แบ่งพื้นที่มาให้ทำโรงเรือน”  

(ภาพ ภายในโรงเรือน ด้านล่างโต๊ะวางยังเป็นท้องร่องสวนที่มีน้ำขังเพื่อรักษาความชื้นในอากาศให้กับโกสน )

สำหรับสวนโกสนแห่งนี้อยู่ในย่านบางมด ซึ่งปัญหาใหญ่ของที่นี่คือเรื่องน้ำทะเลหนุน ทำให้บ่อน้ำที่กักเก็บน้ำไว้ เป็นน้ำกร่อย ถ้านำไปรดโกสน ใบจะเสียหายและตายในที่สุด 

“ผมมาเริ่มโรงเรือนตอนปี พ.ศ. 2548 เพราะต้นไม้เราเยอะขึ้น จนเต็มพื้นที่บ้าน แสงไม่พอก็ทำให้ต้นไม่สวย เลยต้องขยายพื้นที่ทำโรงเรืองอย่างจริงจัง แต่ปัญหาหนักของที่นี่คือ มีน้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำในบ่อเป็นน้ำกร่อย ใช้รดต้นไม้ไม่ได้ ผมต้องใช้วิธีเปิดน้ำประปาลงบ่อเก็บน้ำไว้ เพื่อดันไม่ให้ความเค็มจากน้ำทะเลไหลเข้ามาในสวน ก็จะไม่เป็นน้ำกร่อย ใช้รดโกสนได้ แต่สิ่งที่ตามมาคือ ค่าน้ำประปาที่สูงขึ้น แต่ก็คุ้มค่ากับความงามของต้นไม้ครับ”

คุณเล็กเล่าว่าช่วงแรกที่มาผลิตโกสนจำหน่ายอย่างจริงจังนั้น จะขยายพันธุ์โกสนด้วยการเสียบยอด แต่สุดท้ายต้องใช้วิธีการปักชำแทน ซึ่งธรรมชาติของโกสนมีรากบอบบาง เปราะหักง่าย ไม่ชอบวัสดุปลูกที่ชื้นแฉะเกินไป จึงเลือกใช้ “โอเอซิส” เป็นวัสดุปักชำโกสน เพราะเก็บความชื้นได้พอดีกับความต้องการของพืช ซึ่งให้ผลดีมากกับโกสน

“เดิมผมใช้วิธีเสียบยอด ใช้พันธุ์ขุนช้างถวายฎีกา ที่มีระบบรากแข็งแรงเป็นต้นตอ ซึ่งเราต้องทำเองทั้งหมด เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือ ถ้าเราจ้างแรงงานที่ฝีมือดี ก็จะต้องจ้างในราคาสูง เลยลองหาวิธีใหม่ที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และให้คนอื่นทำได้ ผมลองปักชำ ช่วงแรกๆ ก็ใช้วัสดุปักชำ อย่างแกลบดำที่เขานิยมใช้กับโกสนที่ใช้จัดสวน เพราะมีราคาถูกน้ำหนักเบา ขนส่งง่าย ก็พบว่า มีปัญหาหลายอย่างเพราะถ้าทิ้งไว้นาน รากจะเสียหาย ใบร่วงและทยอยตายไป พอมาลองใช้พีทมอส ก็ได้ผลดีแต่มีราคาแพง และถ้าปล่อยให้แห้งบ่อยๆ พีทมอสก็ไม่ดูดน้ำ รากแห้ง กิ่งตายไป 

“ทดลองหลายอย่าง จนมาเห็นโอเอซิสที่เขาใช้เวลาจัดดอกไม้ในงานต่างๆ ก็ลองเก็บที่เขาทิ้งมาใช้ ช่วงแรกก็เอาเศษโอเอซิสมาอัดเป็นก้อนๆ ขนาดสองนิ้ว ลองใช้ปักชำกิ่งโกสน ปรากฏว่าให้ผลดีมาก แต่ก้อนอัดโอเอซิสมีขนาดใหญ่เกินไป ก็ทำให้รากโกสนได้รับความชุ่มชื้นมากไป ทำให้รากเน่า เลยลดขนาดโอเอซิสให้เล็กลงเหลือ 1 นิ้วมีขนาดพอดีกับกระถางนิ้ว ซึ่งให้ผลดีมาก เลยสั่งทำที่กดที่มีขนาด 1 นิ้ว สำหรับตัดก้อนโอเอซิสนี้เพื่อให้สะดวกขึ้น”

คุณจันเล่าเพิ่มเติมว่า “จริงๆ จะปักชำโกสนในดินก็ได้ แต่เราเปลี่ยนมาปักพีสมอสเพื่อการส่งออก หากส่งไม่ออกเราก็ขายในตลาดเมืองไทย ซึ่งต้นทุนค่อนข้างสูง เราพยายามหาวัสดุที่สะอาดและใช้ส่งออกได้ เลยเปลี่ยนมาเป็นโอเอซิส   ทำให้ปัญหาทุกอย่างหมดไป และวิธีปักชำก็ไม่ยุ่งยากอะไรซึ่งได้ผลดีมากๆ ค่ะ”

วันนี้คุณเล็กและคุณจันมาเผยเทคนิคการปักชำโกสนอย่างง่ายให้พวกเราฟังกันด้วย มาเริ่มกันเลยค่ะ

Step 1 เตรียมอุปกรณ์ได้แก่ ก้อนโอเอซิส, บล็อกสแตนเลส เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว, กิ่งโกสนสำหรับปักชำที่ผ่านการแช่น้ำยาเร่งรากแล้ว, มีด กรรไกร และกระถางพลาสติกจิ๋วสีดำ ขนาด 1 นิ้ว

Step 2 ใช้มีดแบ่งก้อนโอเอซิสให้มีความหนา 1 นิ้ว และแบ่งเป็นสามส่วนเท่าๆ กัน ใช้บล๊อกสแตนเลสะกดลงบนโอเอซิสที่เตรียมไว้ จะได้ก้อนโอเอซิสทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว 

Step 3 ใส่ก้อนโอเอซิสทรงกระบอกใส่ในกระถางพลาสติก และแช่ในน้ำให้ดูดน้ำเต็มที่แล้วยกออก ตั้งทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ 

Step 4 นำกิ่งโกสนปักลงในโอเอซิสที่ผ่านการแช่น้ำแล้ว นำไปไว้ในตู้อบ เพื่อควบคุมความชื้นในอากาศ 

Step 5 อีก 1 เดือน จึงแตกราก รอจนรากเติบโตเต็มก้อนจึงย้ายปลูกลงดิน เลี้ยงต่ออีก 3-4 เดือน จึงนำออกจำหน่ายได้ 

คุณเล็กยังให้ความรู้เพิ่มเติมว่า  “วิธีปักชำโกสนไม่ยากเลยครับ แค่เลือกกิ่งที่ไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป ที่มีสีเขียว ยังไม่เป็นสีน้ำตาล ตัดให้มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ถ้าเลือกกิ่งที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจะแตกรากยากกว่ากิ่งเขียว แต่ต้องระวังเรื่องการควบคุมความชื้น ผมนำกิ่งปักชำทั้งหมดใส่ในกระโจมพลาสติก หรือตู้อบดีๆ นั่นเอง เหตุที่เราทำเช่นนี้ก็เพื่อควบคุมความชื้นในกิ่งและใบ ก็เปิดพลาสติกดูบ้าง ถ้ามีกิ่งไหนแห้งเหี่ยวมีเชื้อราก็รีบหยิบออกจากตู้ 

(ภาพ ตู้พลาสติกสำหรับวางกิ่งปักชำ ซึ่งทำเองได้ง่ายไม่ยาก) 
(ภาพ ควรหมั่นเช็ดคราบตะไคร่ตู้พลาสติก เพื่อให้กิ่งโกสนได้รับแสงเพียงพอ)

“อีกประมาณ 1 เดือนถ้ายอดยังสด และเริ่มแตกใบใหม่ แสดงว่าแตกรากแล้ว รอจนรากเต็มโอเอซิส ก็เอาออกจากตู้ไว้ในที่ร่มก่อน รดน้ำสม่ำเสมอ พักให้เขาตั้งตัวได้ ค่อยย้ายปลูกลงดินในกระถาง 4 นิ้ว อีก 2-3 เดือนก็จะออกขายได้ครับ” 

นอกจากการขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนต้นสำหรับจำหน่ายแล้ว คุณเล็กและคุณจัน ยังพัฒนาพันธุ์ด้วยการผลิตลูกผสมใหม่ ด้วยการจับคู่พ่อ-แม่พันธุ์สำหรับนำมาผสมเกสร เพื่อให้ได้ต้นใหม่ที่มีลักษณะโดดเด่น มีศักยภาพในการปลูกเป็นไม้ประดับ “ลูกผสมที่เราคัดเลือกจะเน้นที่ทรงต้น รูปทรง กัดสีของใบ มีข้อสั้น ชั้นใบถี่ และซึ่งตอนนี้สวนเราก็มีลูกผสมของเราเองมากมาย มีดีบ้างไม่ดีบ้าง ค่อยๆ คัดเลือกไป พอได้พันธุ์ดี เราก็จะไปขึ้นทะเบียน กับสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เช่น พันธุ์เทวาสถิต นาคปรก พยัคฆไกรสีห์ เรขมณี โรส เสนา สินสมุทร ศิริลักษณ์ และอีกหลายพันธุ์ ซึ่งแต่ละพันธุ์ใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการคัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะดีตามที่ต้องการ

(ภาพ ต้นกล้าตั้งแต่เมล็ดเริ่มงอก เริ่มแตกใบจริง จนใบเริ่มกัดสีให้เห็น ที่พร้อมคัดเลือกลักษณะที่ต้องการได้แล้ว ดังกระถางขวาบน)
(ภาพ ตรีน้ำตก  เป็นโกสนใบตรีพันธุ์เก่า ที่สวยงามและยังปลูกเลี้ยงกัน แต่ไม่ทราบประวัติที่แน่ชัด)
(ภาพ พระลักษณ์ เป็นโกสนใบยาวพันธุ์เก่า ที่ปลูกเลี้ยงกันมานานและไม่ทราบประวัติที่แน่ชัด )

ลูกผสมจากสวนโกสนไทย

ต้นโกสน
(ภาพ เทวาสถิต ลูกผสมพันธุ์สยามกับมหาอำนาจ ในต้นมีทั้งใบกลมและใบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ) 
ต้นโกสน
(ภาพ นาคปรก ลูกผสมพันธุ์เพชรชมพูกับจังหวัดมุกดาหาร เป็นโกสนที่มีใบกลมหนา ขอบใบม้วนเข้าใต้ใบ)
ต้นโกสน
(ภาพ เรขมณี ชื่อพันธุ์แปลว่า หินสีแดงที่มีลวดลายสวยงาม  เป็นโกสนใบกลมที่มีแซว ในทุกชั้นใบ ก้านใบและลำต้นสีแดงเข้ม)
ต้นโกสน
(ภาพ โรส ลูกผสมของพันธุ์เสมาทองกับเพชรพังงา ใบกลมสม่ำเสมอ ข้อถี่ดูคล้ายดอกกุหลาบสมชื่อ)
ต้นโกสน
(ภาพ เสนา ลูกผสมของจังหวัดอยุธยากับลูกผสมไม่ได้ตั้งชื่อ เป็นโกสนใบกลมอีกต้นที่มีชั้นใบถี่สวยงาม) 
ต้นโกสน
(ภาพ สินสมุทร ลูกผสมของไอยเรศกับแสงจันทร์ เป็นโกสนใบยาวที่มีใบบิดเป็นคลื่นสวยงาม) 
ต้นโกสน
(ภาพ ศิริลักษณ์  ลูกผสมพันธุ์สยามกับศรีคลองใหม่ เป็นโกสน เป็นโกสนใบกลมที่สวยงามอีกต้นหนึ่ง)

คุณเล็กและคุณจันแนะนำให้รู้จักน้องจ๊อบ-คุณพุฒิพงศ์และน้องมุก-คุณบุญสิตา รอดเจริญ ผู้เป็นบุตรและสะใภ้ ที่ช่วยคุณพ่อและคุณแม่ในการจำหน่ายและทำการตลาด ทั้งน้องมุกเล่าถึงตลาดของโกสนว่า “ตลาดในไทยของเราคือตลาดต้นไม้จตุจักร ตลาดต้นไม้ย่านบางใหญ่ และตลาดรังสิตคลอง 15 ซึ่งเราขายส่งเป็นหลัก ถ้าเป็นตลาดจตุจักร ช่วงแรกที่เราไปขาย ก็ไม่ค่อยมีใครรู้จักพันธุ์ใหม่ๆของเรามากนัก มีคนมาสอบถามเกี่ยวกับการเลี้ยง เราให้ความรู้เขาไปอย่างเต็มที่ พร้อมกับแนะนำพันธุ์ที่เรานำมาวางจำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกไม้ใหม่ๆ ของสวนที่ทนทานและเลี้ยงง่าย อย่างพันธุ์โรส ที่เป็นลูกไม้ใหม่ของที่สวนที่คุณพ่อพัฒนาพันธุ์ขึ้น เป็นที่นิยมมาก เป็นโกสนใบกลมที่มีชั้นใบสวย เพราะข้อถี่ ใบหนา เลี้ยงง่ายกว่าโกสนใบกลมในอดีต ต้นไหนดีเลี้ยงง่ายเราจะบอกเขาไปตามความจริง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ประทับใจก็กลับมาซื้อพันธุ์อื่นจากเราอีก”  

ต้นโกสน

น้องจ๊อบกล่าวถึงตลาดโกสนในอนาคตว่า  “โกสนไทยในปัจจุบันถือว่า มีการพัฒนาพันธุ์ไปเยอะมาก และมีพันธุ์ใหม่ๆ ที่แข็งแรงให้เลือกปลูกมากมาย อีกทั้งราคาที่เราจำหน่ายในตลาดไม่ได้สูงมากมาย ซึ่งทำให้ตลาดโกสนเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจไม่น้อย ซึ่งผมเป็นนักปลูกเลี้ยงรุ่นใหม่ที่ต้องเรียนรู้การพัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพื่อให้ตลาดโกสนของเราเป็นหนึ่งของโลก ซึ่งผมเชื่อว่า คนไทยทำได้แน่นอนครับ”

ขอบคุณข้อมูลดีๆ คุณปรีดา รอดเจริญและครอบครัว แห่งสวนโกสนไทย ไทย ที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับโกสนเป็นอย่างดีค่ะ

Contactสวนโกสนไทย  โทรศัพท์ 09-1495-9221  / Facebook : Croton Thai-โกสนไทย 

เรื่อง : วิฬาร์น้อย  / ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย, พรรษมน สีจันทะ


สนใจวิธีขยายพันธุ์พืชเพิ่มเติม อ่านในหนังสือ เทคนิคขยายพันธุ์พืชของสำนักพิมพ์บ้านและสวน

ต้นไผ่กวนอิม กับความเชื่อตำแหน่งจัดวางในบ้าน

จั๋ง ต้นไม้ฟอกอากาศ ที่นาซารับรอง

กวักมรกต ต้นไม้ในบ้านที่มีอันตรายกว่าที่คิด

ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com