อยู่สบายใน เฮือนอีสานใต้ถุนสูง - บ้านและสวน
เฮือนอีสานใต้ถุนสูง

เฮือนอีสานใต้ถุนสูง ใกล้ชิดธรรมชาติ

เฮือนอีสานใต้ถุนสูง ที่มีลักษณะเป็นเรือนหลังเล็กหลายหลังเชื่อมต่อกันด้วยลานกลางบ้านตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมไทย เนื่องจากภาคอีสานมีแดดค่อนข้างจัด จึงเน้นออกแบบชายคาให้ต่ำ ช่วยบังแสงแดดไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้านโดยตรง

เฮือนอีสานใต้ถุนสูง
บ่อน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเดิมเป็นนากุ้งก้ามกรามอยู่คั่นระหว่างบ้านกับทุ่งนา โดยมีศาลากลางน้ำและสะพานรูปแบบเรียบง่ายเป็นตัวเชื่อม
เฮือนอีสานใต้ถุนสูง
เรือนห้องพระที่นำแนวคิดของหอไตรกลางน้ำมาใช้ ออกแบบให้มีหลังคาสองชั้น เพื่อเน้นถึงความสำคัญของตัวเรือน

เฮือนอีสานใต้ถุนสูง ที่เรากำลังจะพาคุณผู้อ่านไปชมนี้ตั้งอยู่ในอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม บ้านเกิดเมืองนอนของ คุณสมบัติ คุณนพดล ทองไกรรัตน์ (ลูกชายคนเล็ก) และคุณสว่าง แซ่ตัง (น้องสาวคุณสมบัติ) ที่ดินที่ปลูกบ้านหลังนี้เป็นพื้นที่ดอนซึ่งเป็นนากุ้งก้ามกราม สาเหตุที่คุณสมบัติเลือกที่ผืนนี้เพราะมีกลุ่มต้นไม้ใหญ่ขึ้นรวมกันอยู่ และต้นที่ถือเป็นพระเอกคือทองกวาว การออกแบบบ้านจึงเริ่มต้นขึ้น ซึ่งผู้ที่เจ้าของบ้านมอบหมายให้รับผิดชอบคือสถาปนิกสองสามีภรรยา อาจารย์อานัติ วัฒเนสก์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคุณวรจันทร์ วัฒเนสก์ โดยกำหนดความต้องการไปว่าอยากได้บ้านที่โอบล้อมต้นทองกวาว

ทองกวาว
ร่มเงาของต้นทองกวาวหรือต้นจานในภาษาอีสานแผ่ปกคลุมบริเวณลานทั้งหมด จึงสามารถมานั่งเล่นได้อย่างสบาย
ฮ้างแอ่งน้ำ
“ฮ้างแอ่งน้ำ” เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของเรือนภาคอีสาน เช่นเดียวกับที่เรือนภาคเหนือมี “ฮ้านน้ำ” นำมาตกแต่งลานกลางบ้านให้ดูมีชีวิตชีวา และช่วยลดความเวิ้งว้างของพื้นที่ด้วย
ศาลากลางน้ำ
ศาลากลางน้ำเป็นมุมหนึ่งที่เหมาะกับการนั่งจิบชาอุ่นๆยามเช้า
ศาลากลางน้ำ

ผู้ออกแบบจึงได้นำรูปแบบของเรือนไทยอีสานมาประยุกต์ทำเป็นบ้านชั้นเดียว มีใต้ถุนสูง โครงสร้างหลักเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี และเนื่องจากภาคอีสานมีแดดค่อนข้างจัดจึงออกแบบชายคาให้ต่ำ เพื่อช่วยบังแสงแดดไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้านได้โดยตรง นอกจากนี้ยังนำลักษณะเด่นของเรือนอีสานอย่างการทำหน้าจั่วตีเกล็ดไม้เป็นรูปดวงอาทิตย์มาใช้  แต่ลดทอนรายละเอียดลงบ้าง กลายเป็นส่วนตกแต่งโครงหลังคาที่ดูสวยงาม  

หากมองจากภายนอกบ้านลูกอีสานหลังนี้จะมีลักษณะเหมือนมีเรือนหลังเล็กหลายหลังเชื่อมต่อกันด้วยลานกลางบ้านตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมไทย ทว่าเมื่อสังเกตให้ชัดจะเห็นว่าสถาปนิกได้ออกแบบให้เข้ากับการใช้ชีวิตสมัยใหม่ที่เรียบง่ายของครอบครัวนี้ กล่าวคือมีพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านกว้างมากขึ้น แบ่งเป็นเรือนหลัก เรือนห้องพระ และเรือนรับรอง ซึ่งสามารถเดินต่อเนื่องกันได้โดยไม่ต้องผ่านลานกลางบ้าน  

มุมรับประทานอาหาร
ช่องแมวลอด
ส่วนนั่งเล่นภายในบ้านและบริเวณชาน เชื่อมต่อด้วยพื้นที่ยกระดับขึ้นมาประมาณ 40 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความสูงเท่ากับ  ”ช่องแมวลอด” ของเรือนไทย จึงใช้เป็นที่นั่งได้ด้วย
ห้องนอน
ห้องนอนแขกออกแบบให้วงกบหน้าต่างกว้างขึ้นและอยู่ต่ำกว่าระดับมาตรฐานทั่วไป เพื่อเปิดรับลมและชมภูมิทัศน์ของธรรมชาติภายนอกได้เต็มที่
ห้องน้ำทุกห้องมีส่วนอาบน้ำภายนอก ซึ่งเป็นความต้องการของเจ้าของบ้าน ผนังด้านหนึ่งเป็นไม้จริงตีซ้อนเกล็ด เพื่อความมิดชิดและยังดูเป็นส่วนหนึ่งของตัวบ้านด้วย

ในส่วนของเรือนหลักประกอบด้วยห้องนอน 6 ห้อง แบ่งเป็นห้องนอนใหญ่ซึ่งมีห้องน้ำในตัว 3 ห้อง และห้องนอนเล็ก 3 ห้อง ส่วนเตรียมอาหาร และส่วนรับประทานอาหาร ถัดไปเป็นส่วนนั่งเล่นในตัวบ้านและบริเวณชานบ้าน และลานที่ล้อมต้นทองกวาวซึ่งเป็นเสมือนชานรับแขก จากส่วนนี้เราสามารถเดินข้ามสะพานเล็กๆข้ามบ่อน้ำที่เป็นนากุ้งก้ามกรามเดิมไปยังศาลากลางน้ำและทุ่งนาอีกด้านของตัวบ้าน สภาพอากาศที่แห้งแล้งของอีสานชุ่มชื้นขึ้นเป็นกองเมื่อมีบ่อน้ำรอบบริเวณบ้าน และเสน่ห์อีกอย่างของที่นี่คือ เครื่องเสียงธรรมชาติชั้นดีจากขบวนลูกเป็ด ลูกไก่ ที่คุณสมบัติปล่อยให้หากินอยู่ใต้ถุนบ้าน

ช่องลมไม้
ตีระแนงขัดกันเป็นตารางตรงช่องลมเหนือคาน ช่วยในการระบายความร้อนภายในบ้าน และยังเป็นส่วนตกแต่งของโครงสร้างบ้านด้วย
คานเหล็ก
โครงรับน้ำหนักทั้งหมดของหลังคาและค้ำยันเป็นคานเหล็ก เพื่อความแข็งแรง แต่ทำสีเหมือนไม้ หากไม่สังเกตแทบแยกไม่ออกเลยว่าคือวัสดุอะไรกันแน่
ผนังบานเกล็ด
ผนังของส่วนอาบน้ำกลางแจ้งตีไม้ซ้อนเกล็ด เป็นส่วนตกแต่งที่ดูกลมกลืนกับอาคารภายนอก
ผนังบางส่วนทำเป็นช่องเปิดบานเลื่อนกระจกขนาดใหญ่ และติดราวกันตกเพื่อความปลอดภัยของคนในบ้าน
ราวจับบริเวณรอบลานกลางบ้าน เว้นระยะให้กิ่งไม้แทรกตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านได้
ใช้ไม้จริงคาดรอบผนังปูน เพื่อให้กลิ่นอายความเป็นเรือนไม้

ความเป็นเฮือนอีสานไม่ได้อยู่ที่รูปทรงทางสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว หากแต่อยู่ที่การได้ซึมซับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศของอีสานตลอดทั้งวัน ขณะเดียวกันก็ได้สร้าง “สภาวะอยู่สบาย” อย่างเข้าใจสิ่งแวดล้อมของอีสานด้วย

เจ้าของ : คุณสมบัติ – คุณนพดล ทองไกรรัตน์ และคุณสว่าง แซ่ตัง 

สถาปนิก : คุณอาณัติ – คุณวรจันทร์ วัฒเนสก์


เรื่อง :  รนภา นิตย์

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

รวมบ้านสไตล์อีสานน่าอยู่

รวมแบบบ้านชั้นเดียวยกสูง