บ้านทิตา บ้านไม้พื้นถิ่นใต้ถุนสูงของสถาปนิกในบทบาทผู้อยู่อาศัย
บ้านไม้พื้นถิ่นใต้ถุนสูง ของสถาปนิกที่กลั่นกรองจากประสบการณ์การออกแบบ นำมาต่อยอด ทดลอง ให้เหมาะกับคนในครอบครัว
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: YANGNAR STUDIO
จุดเริ่มต้นของบ้านหลังนี้มาจาก คุณเท่ง-เดโชพล รัตนสัจธรรม สถาปนิกแห่งยางนาสตูดิโอ ตั้งใจออกแบบบ้านไว้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยกับครอบครัว บนที่ดินแห่งหนึ่งท่ามกลางทุ่งนาธรรมชาติในอำเภอสันกำเเพง จังหวัดเชียงใหม่ ความหมายของคำว่า “บ้าน” ในมุมมองของคุณเท่งผู้เป็นทั้งสถาปนิกเเละผู้อยู่อาศัย จึงถ่ายทอดออกมาผ่านรูปแบบของสถาปัตยกรรม พื้นที่การใช้งาน โดยเรียบเรียงมาจากประสบการณ์ทำงาน นำมาปรับใช้ ให้เหมาะสมกับบ้านทิตาหลังนี้ บ้านไม้พื้นถิ่นใต้ถุนสูง
“เนื่องจากเป็นบ้านที่ผมอยู่อาศัยเอง จึงอยากนำประสบการณ์ในการออกแบบ เเละไอเดียต่างๆ ทั้งหมดที่เคยทำมาต่อยอด เเละทดลอง เพื่อปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานของคนในครอบครัว โดยให้อยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ประกอบกับวัสดุไม้เก่าที่มีอยู่” ตัวบ้านออกเเบบประยุกต์จากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นซึ่งเป็นเเนวทางการออกแบบของยางนาสตูดิโออยู่เเล้ว เเละยังคงกระบวนการก่อสร้างโดยใช้เทคนิคงานช่างเเบบภูมิปัญญาดั้งเดิมผสมผสานกับเครื่องมือสมัยใหม่ เพื่อให้ตัวบ้านเเสดงสัจจะวัสดุ ไม่เติมเเต่งมากจนเกินไปเเละสอดคล้องกับบริบทสภาพเเวดล้อมมากที่สุด
บ้านที่มีทั้งพื้นที่ใต้ถุนเตี้ยเเละสูง
บ้านทิตาผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคเหนือดั้งเดิมที่มีลักษณะยกใต้ถุนสูง นำมาออกแบบร่วมกับการยกใต้ถุนเตี้ย เป็นการคิดต่อยอดโดยหยิบยกข้อดีของสถาปัตยกรรมเเต่ละส่วนมาใช้ให้เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัย
“ไอเดียของบ้านหลังนี้ตั้งใจให้มีทั้งพื้นที่ใต้ถุนเตี้ยเพื่อให้เด็กเเละคนเฒ่าคนแก่เข้าถึงได้ง่าย สามารถหยิบจับของใช้ได้สะดวกจากด้านล่าง รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับเก็บเครื่องมือทางการเกษตรเเละวัตถุดิบที่ใช้ในครัวเรือน ส่วนใต้ถุนสูงกลายเป็นพื้นที่ใช้สอยสำหรับทำเวิร์กช็อปไม้เเละพื้นที่นั่งเล่นให้เด็กมาวิ่งเล่นได้” คุณเท่งอธิบายเพิ่มเติมถึงข้อดีของการมีพื้นใต้ถุนที่นอกจากจะเป็นพื้นที่ใช้สอยเเล้ว การยกพื้นสูงยังช่วยในการระบายอากาศ ลดความชื้นสะสมของพื้นที่ได้ดีกว่าการปูเป็นพื้นไม้ติดพื้นดิน ซึ่งจะก่อให้เกิดความชื้นสะสมได้
การออกแบบโดยคำนึงทิศทางของลม เเละเเสงแดดเพื่อภาวะน่าสบาย
บ้านทิตาแบ่งออกเป็นสองหลังด้วยกัน ได้แก่พื้นที่ส่วนครัวไฟเเละรับประทานอาหารหลังหนึ่ง พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยอีกหลังหนึ่ง โดยทั้งสองหลังนี้เชื่อมต่อถึงกันผ่านพื้นที่ชานในร่มกลางบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ชานเปิดโล่งเพื่อให้ลมสามารถไหลเวียนเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ได้ดี พื้นที่ภายในบ้านเชื่อมถึงกันเเละเเบ่งออกเป็นสัดส่วนด้วยการใช้ระดับที่ต่างกันตามรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โดยไล่ระดับขึ้นมาจากพื้นที่รับประทานอาหาร มาเป็นพื้นที่ครัว พื้นที่ชานกลางบ้านหรือเติ๋น เเละพื้นที่สำหรับพักอาศัยซึ่งอยู่ระดับสูงที่สุด
พื้นที่ส่วนต้อนรับเเขกของบ้าน หรือพื้นที่สำหรับนั่งรับประทานอาหารอยู่ทางทิศเหนือของบ้าน บริเวณนี้จึงร่มตลอดทั้งวัน อีกทั้งยังมีลมจากใต้ถุนเตี้ยพัดผ่านเข้ามายังพื้นที่ส่วนนี้อีกด้วย ฝั่งอาคารอยู่อาศัยจะเเบ่งออกเป็นพื้นที่นั่งเล่นซึ่งเชื่อมต่อมาจากชานกลางบ้านหรือเติ๋น ไล่ระดับขึ้นไปยังพื้นที่ทำงานซึ่งอยู่ระหว่างห้องนอนทั้งสองห้อง
จากพื้นที่นั่งเล่นเชื่อมต่อมายังพื้นที่ทำงานซึ่งอยู่ระหว่างห้องนอนทั้งสองห้อง ห้องทำงานอยู่ทางทิศตะวันตกออกแบบให้มีหน้าต่างยื่นออกมาจากตัวบ้าน เเละมีช่องเปิดยาวถึงพื้นซึ่งกรุเป็นมุ้งลวดแทนการติดเป็นบานกระจก จึงช่วยให้ลมสามารถพัดผ่านไปยังพื้นที่ทำงานได้ตลอด โดยที่ฝนก็ไม่สามารถสาดเข้ามาได้ เนื่องจากมีชายคาที่ยื่นยาวตลอดทั้งเเนว และพื้นที่นั่งเล่นใต้ถุน ถึงเเม้จะอยู่ทางทิศตะวันตก เเต่แสงแดดก็ส่องไม่ถึง เนื่องจากพื้นที่ทำงานของชั้นบนยื่นออกมาเป็นชายคาสร้างร่มเงาให้กับด้านล่าง บ้านไม้พื้นถิ่นใต้ถุนสูง
บ้านที่เกิดจากการนำไอเดียต่างๆ มาคลี่คลายเเละทำการทดลอง
บ้านทิตาหลังนี้นับเป็นโปรเจกต์ทดลองของเจ้าของบ้านหรือสถาปนิกเอง โดยจุดเริ่มต้นของการทดลองนั้นเริ่มต้นมาตั้งเเต่การขึ้นโครงสร้างที่คุณเท่งยังไม่เคยใช้กับการออกแบบบ้านหลังไหนมาก่อน
“ผมมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในแถบเวียดนามเหนือและเชียงตุง สังเกตุเห็นวิธีการขึ้นโครงสร้างบ้านที่น่าประทับใจเป็นการนำโครงสร้างมาต่อเข้ากันเตรียมไว้เป็นชุดๆก่อนให้พร้อม เเละให้คนภายในหมู่บ้านมาช่วยกันยกขึ้นประกอบ เราเรียกการขึ้นโครงสร้างเเบบนี้ว่า ‘การขึ้นเรือนเเบบยกเเผง’ ผมจึงเกิดความสนใจอยากนำมาปรับใช้กับบ้านของตัวเองบ้าง”
นอกจากการทดลองขึ้นโครงสร้างเเล้ว ไอเดียที่นำมาประกอบกันเป็นบ้านหลังนี้ก็เกิดจากการนำสิ่งที่มีอยู่เดิมมาคิดต่อยอด เเละปรับใช้ให้เข้ากับรูปแบบการใช้งานของผู้อยู่อาศัยเอง ไม่ว่าจะเป็นระดับของตัวบ้าน ในส่วนของพื้นที่ใต้ถุนเตี้ยซึ่งยกขึ้นมาจากระดับพื้นดินไม่มากนัก ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ทั้งสองระดับขึ้น ซึ่งเราจะไม่ค่อยได้เห็นในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นทางภาคเหนือมากนัก เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างจะเเบ่งเเยกอออกจากกันชัดเจน
นอกจากการออกแบบสถาปัตยกรรมเเล้วอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ คือ การออกแบบอ่างล้างผักหรืออ่างล้างจานซึ่งต่อเนื่องไปกับพื้นที่สวนเกษตรด้านล่าง โดยการเลือกใช้ไม้สักมากรุเป็นตัวอ่าง พร้อมทำรางระบายน้ำจากลำไม้ไผ่ พาดจากห้องครัวลาดไปยังพื้นที่ต้นกล้วยด้านล่างไว้สำหรับรดน้ำต้นไม้ได้อีกด้วย
“ผมเคยทดลองออกแบบอ่างไม้สักให้ลูกค้าเเต่เป็นอ่างขนาดค่อนข้างเล็ก จึงอยากลองนำมาปรับใช้กับบ้านหลังนี้ดู โดยทดลองขยายสเกลอ่างให้ใหญ่ขึ้น เมื่อใช้งานจริงก็ค้นพบว่าอ่างไม้สักนั้นสามารถใช้งานได้ดี ค่อนข้างแห้งเร็วเเละเราไม่ต้องบำรุงรักษาเยอะ”
บ้านที่เกิดจากความสวยงามของสัจจะวัสดุ โดยไม่ต้องเติมเเต่ง
ตัวบ้านเลือกใช้วัสดุเป็นไม้เกือบทั้งหลัง ซึ่งเป็นไม้เก่าที่มีอยู่และใช้เทคนิคการเข้าสลักเดือย วัสดุหลักๆ นั้นมีเพียงสองชนิด คือ ไม้เเละอิฐที่ไม่ผ่านการฉาบปูนทับ เพื่อเผยพื้นผิวธรรมชาติของวัสดุ เเละยังช่วยประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง
“ไม้ทั้งหมดมาจากการรื้อบ้านในเเต่ละที่ โดยทาน้ำมันเครื่องเก่าร่วมกับทาสีย้อมไม้เพื่อเคลือบไม้ให้โทนดูเข้ม เเละด้วยความเป็นไม้เก่าสีของไม้จึงมีความคละกัน ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งผมมองว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของบ้านหลังนี้”
ตัวตนของผู้ออกแบบได้ถ่ายทอดผ่านพื้นที่และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม จากการเลือกใช้วิธีการออกแบบต่างๆ ที่สั่งสมมา เเละมองเห็นว่าเหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนในบ้าน เพราะนิยามของคำว่าบ้านที่สมบูรณ์ คือ บ้านที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ให้ผู้อยู่อาศัยได้ปรับตัวอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ซึ่งบ้านทิตาก็สามารถถ่ายทอดสิ่งนั้นออกมาได้อย่างสมบูรณ์
เรื่อง : Nantagan
ภาพ : Rungkit Charoenwat