บ้านบานเย็น การอนุรักษ์หมู่เรือนไม้อายุกว่า 100 ปี
ปรับปรุงบ้านไม้เก่า ให้กลับมาใช้งานได้ โดยบูรณะให้อยู่ในสภาพเดิม ซึ่งได้รับรางวัลงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ในระดับดี ประจำปี 2565 จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ
บ้านบานเย็นเป็นหมู่เรือนไม้ที่คาดว่าสร้างขึ้นในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 7 ซึ่งยกย้ายตัวเรือนมาจากถนนราชดำเนิน (บริเวณหน้ากองสลากเก่า) เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเวนคืนที่ดินเพื่อตัดถนนราชดำเนิน และพระราชทานที่ดินแถวนี้ให้ย้ายมาอยู่แทน ในบริเวณบ้านปัจจุบันมีอาคาร 3 หลัง ประกอบด้วยเรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ เรือนขุนวิเศษสากล และเรือนเพ็งศรีทอง (เรียงตามลำดับการสร้างก่อนและหลัง) ตั้งอยู่บริเวณถนนกรุงเกษม ย่านบางขุนพรหม กรุงเทพฯ โดยพบหลักฐานการซื้อขายของเรือนเพ็งศรีทองในปี พ.ศ. 2471 ซึ่งซื้อเรือนแล้วยกมาสร้างในที่ดินนี้เป็นหลังท้ายสุด มีอายุถึง 95 ปีแล้ว จึงสันนิษฐานได้ว่าเรือนอีกสองหลังที่สร้างขึ้นก่อนหลายปีมีอายุมากกว่าร้อยปีอย่างแน่นอน ปรับปรุงบ้านไม้เก่า
“เรือนไม้วิกตอเรีย”
บ้านบานเย็นเป็นหมู่เรือนไม้สักหลังคาทรงจั่วผสมทรงปั้นหยา ยกพื้นสูง ฐานช่วงล่างก่ออิฐฉาบปูนสร้างในช่วงที่สยามมีการเปิดรับรูปแบบอาคารบ้านเรือนจากต่างประเทศ ซึ่งเรียกในยุคนั้นว่า “เรือนไม้วิกตอเรีย” เมื่อผู้ที่อาศัยในเรือนทั้ง 3 หลังต่างก็ถึงแก่อนิจกรรมและถึงแก่กรรม เรือนทั้ง 3 หลังจึงถูกปิดไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และอยู่ในสภาพทรุดโทรมลงตามกาลเวลา
“เราทุกคนเติบโตมาจากอดีต และเป็นรากเหง้าของเรา ถึงแม้จะมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตและหนังสือมากมาย แต่การได้เห็นของจริงที่ยังคงอยู่ มาสัมผัสพื้นผิวไม้ กลิ่นไม้ และบรรยากาศภายในบ้าน จะทำให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงจิตวิญญาณ และซึมซับได้ว่าบรรพบุรุษเคยอยู่อาศัยอย่างไร และพัฒนาการมาสู่ปัจจุบันได้อย่างไร บ้านนี้เป็นวิถีชีวิตของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก และเป็นวิถีชีวิตของบรรพบุรุษที่อยากเก็บรักษาไว้ ผู้คนที่มาเยือนบางคนที่มีบ้านแบบนี้ก็ได้แรงบันดาลใจให้อยากกลับไปอนุรักษ์บ้านเก่าบ้าง” รองศาสตราจารย์โรจน์ คุณเอนก และนายรัชต์ คุณเอนก ทายาทรุ่นปัจจุบัน ประสงค์ให้บ้านบานเย็นเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม จึงได้เริ่มบูรณะในปี พ.ศ. 2553 อย่างค่อยเป็นค่อยไปร่วมสิบ ปี จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563
แนวทางการอนุรักษ์และ ปรับปรุงบ้านไม้เก่า
บ้านบานเย็นมีการปรับปรุงหลายครั้ง โดย คุณพิทักษ์สิน นิวาศานนท์ หนึ่งในสถาปนิกอนุรักษ์ซึ่งดูแลโครงการปัจจุบันได้ให้ข้อมูลการอนุรักษ์และปรับปรุงอาคาร ซึ่งแต่ดั้งเดิมในพื้นที่มี 4 เรือน คือเรือนพักอาศัย 3 เรือน และมีเรือนครัวอยู่ด้านหลังสุดที่เป็นครัวกลางสำหรับทุกเรือน ซึ่งเป็นปกติของบ้านไทยสมัยก่อนจะแยกเรือนครัวออกมา ไม่นำครัวมาไว้ในบ้าน แต่เนื่องจากเรือนครัวมีสภาพชำรุดมากและไม่ได้ใช้งานแล้วจึงรื้อออก ปรับปรุงบ้านไม้เก่า
เมื่อเข้ามาสำรวจพบว่าบ้านมีการทรุดตัวหลายจุด คาดว่าฐานรากเดิมของบ้านนี้เป็นการฝังก้อนหินใต้ดิน แล้วตั้งเสาไม้ยาวท่อนเดียวที่ตั้งบนก้อนหินและสูงถึงหลังคา แบบเดียวกับบ้านไม้ทั่วไปในยุคนั้น แต่ตอนที่เข้ามาบูรณะได้เปลี่ยนเป็นฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็กแล้ว ส่วนที่มีการทรุดตัวซ่อมแซมด้วยการยกบ้านแล้วทำฐานรากใหม่ที่ตอกด้วยเสาเข็มหกเหลี่ยมซึ่งเพียงพอกับการรับน้ำหนักบ้านพักอาศัย ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการถมดินใหม่ และไม่มีแรงสั่นสะเทือนมาก
แนวทางการอนุรักษ์ คือ พยายามคงรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม และใช้วัสดุดั้งเดิมให้มากที่สุด เป็นการซ่อมแซมเพื่อรักษาสภาพเดิมไว้ และมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้งานบางส่วน ให้เหมาะสมกับการใช้งานปัจจุบันที่เป็นพิพิธภัณฑ์และเปิดให้เข้าชมเป็นรอบๆ โดยออกแบบให้กลมกลืนกับลักษณะสถาปัตยกรรมเดิม และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยในการอนุรักษ์ เช่น ลดการรับน้ำหนักให้โครงสร้างหลังคาเดิม โดยเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาใหม่มุงด้วยกระเบื้องว่าวคอนกรีตที่มีรูปแบบเหมือนเดิม ซึ่งสั่งผลิตพิเศษด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันให้กระเบื้องว่าวมีความหนาน้อยลง น้ำหนักกระเบื้องหลังคาจึงเบาลงมาก เป็นความตั้งใจจะรักษาโครงสร้างเดิมของบ้านไว้โดยไม่เสริมโครงสร้างอื่นเพิ่ม
การปรับปรุงให้เหมาะกับการใช้งานปัจจุบัน
เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ เป็นเรือนที่เก่าแก่ที่สุด เป็นเรือนแรกที่ปลูกสร้างบนที่ดินนี้ แต่ยังคงสภาพดีที่สุด อาจเพราะมีผู้อยู่อาศัยต่อเนื่องกว่าหลังอื่น และเป็นเรือนที่บูรณะหลังแรก ซึ่งไม่มีระบบไฟฟ้าในบ้านมาแต่เดิม เมื่อปรับปรุงใหม่ เจ้าของบ้านประสงค์ให้คงสภาพเดิมไว้ ไม่ใช้ระบบไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อรักษาสภาพการใช้ชีวิตดั้งเดิม และจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชม โดยมีจุดที่ปรับเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม คือ ฝ้าเพดานชั้น 2 ซึ่งเดิมเป็นฝ้าเพดานไม้จริงตีเรียบ แต่เสียหายมาก จึงเปลี่ยนเป็นฝ้าฉาบเรียบทาสีขาว ตีตามความลาดเอียงของหลังคา เพื่อโชว์โครงสร้างหลังคาไม้ ทำให้บ้านโปร่งขึ้น เหมาะแก่ผู้สนใจศึกษาโครงสร้างหลังคาของบ้านโบราณ และลดงบประมาณการซ่อมแซม
เรือนขุนวิเศษสากล มีการทรุดตัว จึงดีดเรือนขึ้นให้ได้ระดับ และทำฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็กใหม่ เรือนนี้มีการเดินระบบไฟฟ้าแล้ว จึงพยายามเดินสายไฟให้ใกล้เคียงแบบเดิม โดยใช้สายไฟหุ้มผ้าและยึดด้วยประกับเซรามิก อีกทั้งเมื่อดูจากโครงสร้าง ก่อนหน้านี้มีการต่อเติมออกไปด้านหลัง และมีการทรุดตัว จึงรื้อส่วนต่อเติมนั้นออกให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม
เรือนเพ็งศรีทอง เป็นเรือนที่สร้างหลังสุด โดยซื้อมาทั้งหลังและยกเรือนมาสร้างใหม่ เป็นเรือนที่ปรับเปลี่ยนการใช้งานชั้นล่างให้รองรับการบรรยายสำหรับผู้ที่เข้ามาชมบ้าน รวมถึงติดเครื่องปรับอากาศ แต่ผนังโดยรอบมีช่องระบายอากาศฉลุลาย จึงปิดด้วยแผ่นอะคริลิกใสไร้กรอบ เพื่อให้ยังคงเห็นลวดลายฉลุได้ และเพิ่มห้องน้ำภายในอาคาร โดยทำเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก และวางระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ ระบบสุขาภิบาลใหม่ โดยออกแบบให้กลมกลืนกับลักษณะสถาปัตยกรรมเดิม
คำแนะนำในการซ่อมแซมบ้านไม้
เมื่อสำรวจบ้านไม้เก่าแล้วพบความเสียหาย ควรวางแผนซ่อมแซมส่วนต่างๆของบ้านตามความสำคัญ ดังนี้
- โครงสร้างทรุดตัว หากบ้านมีการทรุดตัว เป็นสิ่งที่ต้องซ่อมแซมอันดับแรก โดยทำฐานรากใหม่ และดีดบ้านให้กลับมาได้ระนาบตามเดิม หรือยกบ้านขึ้นตามระดับที่ต้องการ
- การรั่วซึมของหลังคา เป็นสิ่งที่ต้องซ่อมแซมในลำดับต่อมา และต้องมั่นใจว่าซ่อมจนหายรั่วได้แน่นอน เพราะหากหลังคายังรั่วอยู่ ภายในบ้านก็จะเสียหายได้
- ปลวกเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านไม้ แต่บ้านหลังนี้มีปัญหาปลวกค่อนข้างน้อย เพราะใช้ไม้สักทั้งหมด ซึ่งตอนซ่อมแซมเคยใช้ไม้ชนิดอื่นมาแทน ปรากฏว่าโดนปลวกกินในเวลาไม่นาน อีกทั้งการกำจัดปลวกควรดูแลในระยะยาว เพราะปลวกอยู่ในดิน เมื่อกำจัดของบ้านเรา ปลวกก็จะย้ายไปบ้านข้างๆ แต่พอบ้านนั้นกำจัดปลวก ปลวกก็มีโอกาสย้ายกลับมาได้อีก แต่ถ้าเป็นบ้านที่มีคนอยู่ และทำบ้านให้โปร่งก็จะช่วยได้ โดยการออกแบบบ้านไม้ควรยกพื้นสูง ใต้อาคารมีการระบายอากาศได้ดี มีแสงส่องเข้าได้ และถึงแม้จะมีปลวกมา ก็จะสังเกตเห็นได้ง่าย
- ควรซ่อมแซมจากบนลงล่าง เพื่อความสะดวกในการทำงาน อีกทั้งบ้านไม้จะไม่มีวัสดุปิดผิว แต่เป็นเนื้อไม้ที่เป็นทั้งโครงสร้างและโชว์พื้นผิวไปในตัว การซ่อมแซมจึงเป็นการซ่อมแซมเนื้อไม้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งการปรับปรุงพื้นผิวเนื้อไม้ให้กลับมาดี หรือตัด ต่อ เสริมไม้ใหม่ทดแทนเพื่อให้แข็งแรงดังเดิม
- งานระบบน้ำและระบบไฟฟ้า เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบว่ายังใช้งานได้ดีและปลอดภัยหรือไม่ เช่น ท่อแตก น้ำรั่ว มีระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลหรือไม่ ไฟฟ้าไม่เพียงพอ หรืออุปกรณ์รองรับเครื่องใช้ไฟฟ้าปัจจุบันไม่ได้ซึ่งส่วนใหญ่มักต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด
บ้านบานเย็นเปิดให้เข้าชมเดือนละครั้ง โดยรองศาสตราจารย์โรจน์ คุณอเนกจะเป็นผู้บรรยายและนำพาชมบ้าน สามารถติดตามและสอบถามรอบเข้าชมได้ที่ บ้านบานเย็น – Baan Baanyen
สถาปนิก / ผู้ออกแบบ : ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ
สถาปนิกอนุรักษ์ : รองศาสตราจารย์ ดร. เอกรินทร์ อนุกูลยุทธธน นายพิทักษ์สิน นิวาศานนท์
นางพิมพิชา ธรรมภรณ์พิลาศ
ผู้ครอบครอง : รองศาสตราจารย์โรจน์ คุณเอนก และนายรัชต์ คุณเอนก
รางวัล : งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ในระดับดี ประจำปี 2565 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์