รวม เทคนิคประหยัดค่าไฟ แบบง่ายๆ

รวม เทคนิคประหยัดค่าไฟ แบบง่ายทำได้ด้วยตัวเอง

ค่าไฟแพงขึ้น เมื่อเห็นบิลค่าไฟรอบเดือนในช่วงนี้แล้ว เรามี เทคนิคประหยัดค่าไฟ วิธีการง่าย ๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง กับสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้

เทคนิคประหยัดค่าไฟ ทำไมบางบ้านค่าไฟแพง บางบ้านค่าไฟถูก ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายส่วน ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้ค่าไฟแพง อยู่ที่ปัจจัยภายใน เช่น พฤติกรรมการใช้ไฟของเรา อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้ ส่วนปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมโดยเราเพียงคนเดียว เช่น สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทั่วทุกพื้นที่

เรามาทำความรู้จักเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ใช้กระแสไฟฟ้ามากที่สุด

เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแต่ละชนิดใช้พลังงานไฟไม่เท่ากัน เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานไฟมากที่สุด เช่น เครื่องปรับอากาศ ใช้ไฟจำนวน 1,200-3,300 วัตต์ เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องทำความร้อน ใช้ไฟจำนวน 2,500-12,000 วัตต์  เครื่องซักผ้า ใช้ไฟจำนวน 3,000 วัตต์ เตารีดผ้าไฟฟ้า ใช้ไฟจำนวน 750-2,000 วัตต์ เป็นต้น

ซึ่งกรณีนี้เรามีวิธีแนะนำเทคนิคการ “ประหยัดค่าไฟ” สำหรับจากเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟจำนวนมาก และมีการเปิดใช้งานหลายชั่วโมงต่อวัน  ซึ่งบ้านแต่ละหลังมีความจำเป็นในการใช้เครื่องปรับอากาศไม่เหมือนกัน บางบ้านใช้มากในช่วงกลางคืน บางบ้านจำเป็นต้องใช้งานตลอดทั้งวัน

เครื่องปรับอากาศมีขนาดหน่วยวัดพลังงานไฟฟ้า (จำนวนวัตต์ Watt) ตั้งแต่  ขนาด 9,000 บีทียู ถึง 80,000 บีทียู ผู้ใช้งานควรเลือกให้สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ใช้งานในแต่ละห้อง เรามาเริ่ม วิธีการง่าย ๆ ทำเองได้ ช่วยประหยัดค่าไฟสำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไป ดังนี้

1.เลือกขนาดแอร์ให้พอดีกับขนาดห้องและตำแหน่งของห้อง เช่น

  • 9000 BTU เหมาะกับพื้นที่ 12-14 ตารางมเมตร สำหรับตำแหน่งห้องที่ไม่โดนแดด ส่วนห้องที่โดนแดด ขนาดพื้นที่ ประมาณ 11-14 ตารางเมตร
  • 12000  BTU เหมาะกับพื้นที่ 16-22 ตารางมเมตร สำหรับตำแหน่งห้องที่ไม่โดนแดด ส่วนห้องที่โดนแดด ขนาดพื้นที่ ประมาณ 14-20 ตารางเมตร
  • 15000  BTU เหมาะกับพื้นที่ 20-28 ตารางมเมตร สำหรับตำแหน่งห้องที่ไม่โดนแดด ส่วนห้องที่โดนแดด ขนาดพื้นที่ ประมาณ 18-26 ตารางเมตร
  • 18000  BTU เหมาะกับพื้นที่ 24-33 ตารางมเมตร สำหรับตำแหน่งห้องที่ไม่โดนแดด ส่วนห้องที่โดนแดด ขนาดพื้นที่ ประมาณ 21-30 ตารางเมตร
  • 21000 BTU เหมาะกับพื้นที่ 32-40 ตารางมเมตร สำหรับตำแหน่งห้องที่ไม่โดนแดด ส่วนห้องที่โดนแดด ขนาดพื้นที่ ประมาณ 25-32 ตารางเมตร เป็นต้น

ทั้งนี้ความสูงของห้องหรือฝ้าเพดานก็มีส่วนต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าเช่นกัน ซึ่งแนะนำสูงไม่มากจนเกินไปที่เหมาะสมอยู่ที่ 2.5-2.8 เมตร

2.ปรับอุณหภูมิที่สร้างภาวะน่าสบายให้กับร่างกาย

ภาวะน่าสบายของแต่ละบุคคลก็ไม่เท่ากัน แต่โดยปกติอยู่ที่ 25-26 °C (องศาเซลเซียส) และให้เปิดพัดลมพร้อมกัน จะทำให้เรารู้สึกเย็นสบายเทียบเท่ากับ 24°C โดยไม่ต้องลดอุณหภูมิของแอร์ ซึ่งการเปิดแอร์พร้อมพัดลม ช่วยประหยัดไฟได้มากกว่าการลดอุณหภูมิของแอร์ เพราะพัดลมช่วยเพิ่มความเร็วลม เพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศ ทำให้เกิดการระบายความร้อนจากร่างกาย ทำให้รู้สึกเย็นสบายขึ้น โดยที่อุณหภูมิห้องยังคงเท่าเดิม แต่จะประหยัดไฟได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับระบบควบคุมและเทคโนโลยีของเครื่องปรับอากาศที่ใช้ร่วมด้วย

3.ปิดแอร์ก่อนตื่นนอน 1 ชม. ต่อวัน แล้วเปิดพัดลมช่วยการเคลื่อนที่ของอากาศให้ต่อเนื่อง

โดยทั่วไปรีโมทเครื่องปรับอากาศจะมีปุ่ม Timer  อยู่แล้ว ซึ่งเราสามารถตั้งเวลาปิด-เปิด ได้ ให้ตั้งเวลาปิดแอร์ที่เวลาตี 5 และเปิดพัดลมตอนตี 5 ต่อเนื่องกัน แต่พัดลมไม่มีตัวสวิตซ์ เปิด-ปิด อัตโนมัติ เพื่อไม่ให้รบกวนต่อการนอน ในการตื่นมาเปิดพัดลม แนะนำให้ซื้ออุปกรณ์เสริม คือ เครื่องตั้งเวลา เปิด-ปิด อุปกรณ์ไฟฟ้าอัตโนมัติ ที่เรียกว่า Timer Switch มีทั้งเลือกซื้อทั้งแบบ Digital และ Analog อยู่ที่ความชอบของแต่ละคน หาซื้อง่ายมีขายตามช่องทางร้านค้าออนไลน์ทั่วไป ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป วิธีการใช้งานเพียงต่อพัดลมเข้ากับเครื่องตั้งเวลา Timer switch แล้วตั้งเวลาไว้ตามที่เราต้องการ หากทำต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 1 เดือน เท่ากับว่า เราปิดแอร์ไป 30 ชม. ช่วยประหยัดค่าไฟอยู่ที่ประมาณ 300 บาทต่อเดือนขึ้นไป

4.กั้นห้องติดแอร์

เรามักนิยม กั้นส่วนของห้องนั่งเล่นหรือห้องนอน เพื่อช่วยควบคุมไม่ให้แอร์ออกนอกบริเวณพื้นที่ใช้งานเกินความจำเป็น นอกจากช่วยประหยัดไฟแล้ว ยังช่วยให้เครื่องปรับอากาศทำงานไม่หนักจนเสื่อมสภาพไว เรามีไอเดียกั้นห้องมาแนะนำดังนี้

กั้นห้องด้วย “ฉากกั้นห้อง” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ฉากกั้นแอร์” ถือเป็นวัสดุที่หลาย ๆ บ้านนิยมเลือกใช้ วัสดุเป็น PVC มีทั้งแบบทึบ และเจาะช่องใส่กระจกในแต่ละบาน ทำให้ห้องไม่มืด ซึ่งลักษณะการเปิดเป็นได้ทั้งแบบบานพับทบกันไปมา สามารถเปิด-ปิดไปด้านใดด้านหนึ่งของผนังได้ หรือเปิดตรงกลาง ขึ้นอยู่กับความสะดวกของพื้นที่ด้วย   

กั้นห้องด้วยผ้าม่าน สามารถติดตั้งเองได้ง่าย ลงทุนน้อย มีความยืดหยุ่นของการใช้พื้นที่มากกว่ากั้นแบบอื่น วัสดุปรับเปลี่ยนได้ง่ายตามสไตล์ของผู้อยู่อาศัย เปลี่ยนแปลงไปตามความชอบในแต่ละช่วง การกั้นห้องด้วยผ้าม่านให้ความรู้สึกโปร่ง เบา ไม่อึดอัดมากเท่าการกั้นห้องด้วยวัสดุชนิดอื่น ส่วนเนื้อผ้ามีทั้งแบบทึบ แบบโปร่ง สามารถใช้ได้ทั้งสองแบบผสมกันได้ตามความชอบ แม้ว่าจะไม่สามารถกั้นได้ 100 % ก็ตาม แต่ก็ช่วยได้มากกว่า 80 % ชนิดของผ้าที่เหมาะสมสำหรับผ้าม่านกั้นแอร์ แนะนำ 3 ประเภท ดังนี้ ผ้าใยสังเคราะห์ โพลีอีสเตอร์ เป็นผ้าที่ทิ้งตัวด้วยความหนาและมีน้ำหนักพอสมควร ไม่ยับ ไม่จับฝุ่นมากนัก, ผ้าซาติน มีความหนาไม่มาก ทำให้การกั้นห้องดูทำให้แข็งจนเกินไป ลักษณะเนื้อผ้ากึ่งทึบกึ่งโปร่ง ไม่ระบายอากาศมากนัก และสุดท้ายผ้ากำมะหยี่ มีความหนามาก เก็บอากาศได้ดีมากที่สุด เหมาะสำหรับการกั้นแอร์มากที่สุด

5.ล้างแอร์เป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยล้างก่อนหน้าร้อน 1 ครั้ง

เทคนิคประหยัดค่าไฟ
เทคนิคประหยัดค่าไฟ

6.วิธีคำนวณค่าไฟที่ลดลงด้วยตนเอง แบบง่าย ๆ

เพื่อเป็นการวัดผลแบบง่าย ๆ ก่อน และ หลัง การปฏิบัติตามเทคนิคประหยัดไฟข้างต้น โดยเราต้องเริ่มจากที่ต้องรู้จำนวน “หน่วยค่าไฟที่เราใช้” ซึ่งปกติจะอยู่ในบิลค่าไฟของเรา โดย “หน่วย” ตรงกับคำว่า “กิโลวัตต์ชั่วโมง” เราหาได้จากเครื่องใช้ไฟฟ้า มักระบุคุณสมบัติจำนวน Watt (วัตต์) หรือหน่วยวัดพลังงานไฟฟ้าไว้ โดย วัตต์ จะเป็นตัวบอกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าว ใช้กำลังไฟเท่าไร เช่น เครื่องปรับอากาศใช้กำลังไฟ 1,000 วัตต์ ให้แปลง วัตต์ เป็น กิโลวัตต์ โดยหารด้วย 1,000 เปิดแอร์ 1,000 วัตต์ เราก็จะใช้กำลังไฟ 1 กิโลวัตต์ และการคิดค่าไฟ โดยเอา “กำลังไฟฟ้าที่ใช้” คูณด้วย ระยะเวลาที่เราใช้ สมมติเราใช้ 1 ชม. ดังนั้น 1X1 = เราใช้ไฟ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมงหรือ 1 หน่วย นำมาคูณกับค่าหน่วยปัจจุบัน เช่น หากค่าไฟอยู่ที่ 4.5 บาทต่อหน่วย ค่าไฟที่เราต้องเสียจากการเปิดแอร์เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ก็จะเท่ากับ 1 x 4.5 = 4.5 บาท ทั้งนี้ การคำนวณค่าไฟแต่ละเดือนนั้นจะมีปัจจัยส่วนอื่น ๆ ร่วมในการคำนวณด้วย ซึ่งทำให้ค่าไฟไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนตัวอย่างข้างต้น เนื่องจากในบิลค่าไฟฟ้า จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ค่าพลังงานไฟฟ้า หรือค่าไฟฟ้าฐาน, ค่า Ft หรือต้นทุนผันแปรและต้นทุนอื่น ๆ ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า, ค่าบริการรายเดือน เช่น ค่าจดหน่วย และจัดทำจัดส่งบิลค่าไฟ และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

จะเห็นว่าการที่เราจะจ่ายค่าไฟฟ้าถูก หรือแพง ก็มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยกัน ทั้งที่เราสามารถควบคุมเองได้ อย่างเช่น การเลือกกำลังไฟฟ้า รวมถึงฟังก์ชันเสริม และประสิทธิภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 อีกข้อก็คือ การวางแผนการใช้งาน ว่าจะใช้มากหรือใช้น้อยอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา

ในขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยที่ผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเราควบคุมไม่ได้ คือ อัตราค่าไฟฟ้า ทั้งค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ มีส่วนทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงหรือแพงขึ้นได้ แม้เราจะใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม และที่สำคัญคือภาวะอากาศร้อน และอบอ้าว มากขึ้นเรื่อย ๆ จากสถานการณ์โลกร้อน


เรื่อง : Urawan Rukachaisirikul

ภาพปก : shutterstock

ภาพ : Freepik

การ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ สำหรับบ้าน อ่านแล้วตัดสินใจได้เลย

ป้องกันบ้านร้อน ด้วยวิธี Passive & Active Cooling Design

ติดตามบ้านและสวน