เย็นสบายใน บ้านใต้ถุนสูงกลิ่นอายลอฟต์
บ้านใต้ถุนสูงกลิ่นอายลอฟต์ ที่เน้นทำฝ้าเพดานสูง เพราะใช้หลังคาจั่วเเบบบ้านทรงไทย ซึ่งช่วยในเรื่องการระบายอากาศ เเล้วยังได้พื้นที่สูงโล่งเเบบลอฟต์ โดยโชว์ให้เห็นโครงสร้าง ทั้งโครงหลังคาจั่ว เสาคาน เเละพื้นไม้
คุณจ๋า-วณศิริ นิลสอาด เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เธออาศัยอยู่กับสามี คุณโพธ นิลสอาด นักออกเเบบผลิตภัณฑ์ เเละอาจารย์สายวิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ พร้อมด้วยลูกสาวทั้งสองคน น้องใบพลู – พรพรู เเละน้องใบบัว – พรชนก นิลสอาด ใน บ้านใต้ถุนสูงกลิ่นอายลอฟต์ ที่มีบริเวณกว้างขวาง ที่สำคัญคือ บรรยากาศเขียวชอุ่มร่มรื่นจนไม่เหมือนอยู่กรุงเทพฯสักนิด พอเดินชมจนทั่ว คำถามเเรกที่ผมถามเจ้าของบ้านคือ “โครงบ้านเดิมสวยมากเลย ค่ารีโนเวตเเพงไหมครับ” คุณจ๋ายิ้ม เเล้วตอบนิ่มๆว่า “บ้านนี้สร้างใหม่นะ ไม่ได้รีโนเวต” ผมอึ้งไปนานสองนาน
คุณจ๋าเลยเริ่มเล่าเรื่องราวของบ้านนี้ให้เราฟัง “พี่กับเเฟนอยากมีบ้านที่เข้ากับเราทั้งสองคน พี่โพธชอบบ้านไทยที่มีใต้ถุน คุณพ่อเขาเป็นคนอยุธยา มีบ้านริมแม่น้ำป่าสัก ตอนเด็กๆช่วงโรงเรียนปิด เขาก็จะไปเล่นกับเพื่อนๆอยู่ตรงใต้ถุนบ้าน เป็นสเปซโปรดเลย ส่วนพี่ก็ชอบอยู่แบบไทยๆ ง่ายๆ สบายๆ แต่อยากให้มีความร่วมสมัยจากบ้านพื้นที่กว้างโล่งสไตล์ลอฟต์ พอนำความชอบของเราสองคนมารวมกัน ก็ได้เป็นบุคลิกเเบบ ‘Thai Circulation with Loft Inside’
“เรานำแนวคิดนี้ไปคุยกับเพื่อนสนิทที่เป็นสถาปนิก บอกเขาว่าอยากได้บ้านเเบบบ้านกำนัน ใต้ถุนสูง มีระเบียงอยู่ทุกด้าน ลักษณะการวางผังเป็นพื้นที่ย่อยๆ ที่เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน เหมือนพื้นที่ในเรือนไทย บ้านเราเลยออกมาหน้าตาเเบบนี้” ห้องโถงใหญ่ประกอบด้วยห้องรับเเขก ห้องนั่งเล่น ห้องกินข้าว เเละครัวเล็กๆ น่ารัก รวมอยู่ในพื้นที่โล่งสูง 5 เมตรนี้
“ฝ้าเพดานสูงเพราะเป็นหลังคาจั่วเเบบบ้านทรงไทย ซึ่งช่วยในเรื่องการระบายอากาศ เหมาะกับอากาศบ้านเรา เเล้วยังได้พื้นที่สูงโล่งเเบบลอฟต์อีก ตัวโครงสร้าง ทั้งโครงหลังคาจั่ว เสาคาน เเละพื้นไม้ ก็โชว์ให้เห็นทั้งหมด” ประตูบานสูงทั้งสองฟากผนังรับเเละระบายอากาศที่ไหลผ่านเข้ามาในบ้าน เเล้วยังได้เเสงธรรมชาติเต็มๆ ยืนอยู่กลางห้องนี้รู้สึกเหมือนกับยืนอยู่นอกบ้านเลยด้วยซ้ำ
“ชานบ้านเเละระเบียงที่เห็น ถึงจะมีเยอะมาก แต่ตลอดทั้งปีนี่ใช้ครบทุกระเบียงเลยนะคะ เพราะแต่ละฤดูอากาศไม่เหมือนกัน เช่น หน้าบ้านเราหันหาทิศเหนือ หน้าหนาวตรงระเบียงหน้าบ้านสบายและเย็นมาก ส่วนหน้าร้อนช่วงเช้า ต้องระเบียงหลังบ้าน เพราะแดดยังร่มอยู่ ไปร้อนเอาช่วงบ่ายๆ เราก็ย้ายลงไปทำกิจกรรมหน้าร้อนกันตรงใต้ถุนบ้าน สรุปว่าคุ้ม ได้ใช้บ้านทุกส่วนจริงๆ” คุณจ๋าบอกว่าบ้านนี้ไม่เปิดเเอร์ เเต่ใช้พัดลมโรงงานตัวเล็กๆเปิดเฉพาะพื้นที่ที่จะใช้งานก็เพียงพอ เมื่อเปิดพัดลม มวลอากาศร้อนภายในบ้านจะถูกถ่ายเทออกไปได้เร็วขึ้น จึงมีลมเย็นหมุนเวียนเข้ามาภายในตลอด ช่วยประหยัดค่าไฟได้เยอะ
เดินต่อจากห้องโถงขึ้นบันไดเล็กๆ มาถึงห้องนอนขนาดกะทัดรัด วางฟูกอวบๆ น่านอน เเต่ที่สะดุดตาที่สุดคือ ช่องเปิดขนาดเเปลกตาตรงหัวนอน “ส่วนใหญ่พวกประตู-หน้าต่างเราจะ สั่งทำตามขนาดที่ต้องการ เพราะเชื่อว่าถ้าฉีกความคุ้นเคยของสัดส่วนที่คุ้นตา เราจะได้ของใหม่โดยไม่ต้องลงทุนมาก เวลาสั่งก็สั่งจากร้านไม้ทั่วไป เเต่เราต้องระบุขนาดเเละการติดตั้งให้ชัดเจนด้วย และติดหน้าต่างต่ำลงมากว่าระดับปกติ สำหรับกิจกรรมส่วนใหญ่ที่นั่งกับพื้น พอนั่งก็จะเห็นวิวสวนด้านนอกพอดี”
หน้าต่างบานเฟี้ยมขาวข้างม้านั่งยาว สามารถเปิดกว้างให้พื้นที่ห้องนอนกับห้องโถงต่อเนื่องเป็นห้องเดียวกันได้ เมื่อต้องการ (คุณจ๋าเล่าให้ฟังว่า วันไหนครึ้มอกครึ้มใจก็นั่งห้อยเท้าออกมาจากห้องนอนด้วยซ้ำ สบายมากๆ ^^) หรือปิดม่านทึบเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวยามพักผ่อน
“กล่องปูนในสวนนี่เป็นไอเดียของพี่โพธเขา ตอนไปทำงานที่อินเดีย เขาประทับใจตัวอาคารเก่าที่มีพื้นผิวดิบๆเเบบนี้ เลยลองทำบ้าง ผิวปูนที่เห็นเกิดจากการตีไม้แบบที่ไสให้เรียบไว้ด้านนอก เเล้วใช้ด้านที่ไม่เรียบ เป็นแบบหล่อ ตีแบบตามทรงที่ต้องการ แล้วหล่อปูนแทนการก่ออิฐฉาบปูน ถึงจะเป็นอาคารขนาดเล็กมากก็จริง แต่ก็ใช้งานได้หลากหลาย ตั้งเเต่เป็นออฟฟิศทำงานส่วนตัว ประชุมงาน ไปจนถึงจัดเลี้ยงครอบครัว เพราะเปิดต่อเนื่องกับสวนด้านหน้าได้”
ผมนั่งอยู่บนเฟอร์นิเจอร์หวายเทียมสีขาวทรงฟรีฟอร์ม ฝีมือการออกเเบบของคุณโพธใต้ร่มไม้ในสวนหลังบ้าน รอช่างภาพของเราเก็บภาพ บ้านใต้ถุนสูงกลิ่นอายลอฟต์ หลังนี้เป็นภาพสุดท้าย เเดดบ่ายร้อนๆโดนทิวไผ่ริมรั้วกรองจนรำไรกำลังดี ไม่ว่าจะอยู่ข้างนอกหรือข้างใน บ้านนี้ยังคงเย็นสบายเสมอจริงๆ
เจ้าของ-ออกแบบ : คุณวณศิริ – คุณโพธ นิลสอาด
เรื่อง : ฮ่องเต้
ภาพ : ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู, ธนาวุฒิ โชติประดิษฐ
สไตล์: บุญยวีร์ บุนนาค
ผู้ช่วยสไตลิสต์ : เกษม์จงกล พูลล้น