โลกส่วนตัวใน...บ้านอิฐ ที่เปี่ยมด้วยสภาวะอยู่สบาย - บ้านและสวน
บ้านอิฐ

โลกส่วนตัวใน…บ้านอิฐ ที่เปี่ยมด้วยสภาวะอยู่สบาย

บ้านอิฐ หน้าตาเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ประกอบด้วยส่วนทึบและโปร่งเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวและกันความร้อนจากทิศตะวันตก ส่วนทิศที่หันรับลมก็เว้นเป็นหน้าต่างให้อากาศเข้าสู่อาคารได้ง่าย ทำให้อากาศไหลเวียนในทุกๆชั้น บ้านจึงเย็นสบายตลอดวัน

บ้านอิฐ
แม้บ้านหลังนี้จะดูทึบตันด้วยกำแพงอิฐที่ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัว แต่ผู้อยู่ก็ไม่รู้สึกอึดอัด ด้วยช่องเปิดที่ซ่อนอย่างแยบยล อย่างเช่นการทำประตูด้วยไม้ระแนงซี่โปร่งกั้นสายตาแทนการปิดทึบหรือแผงบานเปิดที่สวนชั้นดาดฟ้า
บันไดโปร่ง
ออกแบบบันไดโปร่งเพื่อให้แสงผ่านจากช่องแสงเข้ามาได้เต็มที่ โดยอาศัยโครงสร้างเหล็กเชื่อมเป็นเสาและคาน แล้วเสียบแผ่นไม้เป็นลูกนอนและยึดนอตเพื่อความแข็งแรง
บันไดไม้

บ้านอิฐ ของ คุณแป้ง – มารินา พุทธิชูโรจน์ หลังนี้ มีชื่อว่า Inside In” ที่ได้สถาปนิกและภูมิสถาปัตย์หนุ่ม คุณนิรินธน์ รักเกียรติ มาออกแบบบ้านให้มีพื้นที่ว่างแตกต่างไปจากบ้านที่เราคุ้นเคย

“Inside In จะกลับกันกับคำว่า Inside Out ด้วยการสร้างพื้นที่ภายในเข้าไปในพื้นที่ภายในอีกที โดยผมพยายามสร้างพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่า แม้ภายในห้องจะมีความเป็นส่วนตัว แต่ก็เชื่อต่อกันได้ไม่รู้สึกตัดขาดจากกัน ในขณะเดียวกันก็วางผังให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของสมาชิกในบ้าน รวมทั้งออกแบบพื้นที่เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตให้สะดวกสบายขึ้นกว่าแบบเดิมๆ และที่คำนึงถึงมากก็คือการออกแบบสถาปัตยกรรมยั่งยืนที่เราพยายามใช้ในบ้านให้มากที่สุดอย่างการทำช่องแสงเพื่อใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติในเวลากลางวัน การคิดถึงทิศทางลมต่างๆ รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติและสวนที่มาช่วยสร้างสภาวะที่เย็นสบาย

“นี่เป็นความตั้งใจที่อยากให้บ้านไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ห้องที่ทึบตันตัดขาดจากธรรมชาติ เราจึงนำแนวคิดนี้เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประหยัดพลังงานมากที่สุด อย่างหลังคากระจก การตกแต่งผนังน้ำตกในสวน การเลือกใช้วัสดุธรรมชาติอย่างหินกาบ ปูน และไม้สน” คุณนิรินธน์อธิบาย

ห้องนั่งเล่นสีดำ
มุมพักผ่อนในโทนสีดำ เนื่องจากพื้น ผนัง และเพดานกรุหินกาบทั้งหมด จึงให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวและเย็นสบาย เหมือนอยู่ในถ้ำตามไอเดียของผู้ออกแบบ ส่วนด้านข้างให้ความรู้สึกเหมือนอยู่กลางแจ้งด้วยหลังคากระจกสกายไลต์ และมุมมองที่เปิดเห็นสวนรอบบ้าน
ไม้ระแนง
ตีแผงไม้สนนิวซีแลนด์ หน้ากว้าง 4×2 นิ้ว บนโครงเหล็ก เพื่อกันแดดยามบ่ายสาดเฉียงเข้าตัวบ้าน ทำให้ภายในเย็นสบาย ส่วนภายนอกตัวอาคารกรุกระเบื้องดินเผาที่สีเกิดจากตัววัสดุเอง จึงทนทาน ไม่ซีดจางเร็วเหมือนการใช้สีทาบ้าน
ระเบียงไม้
มุมรับประทานอาหาร
การเปิดหลังคาโล่งอาจทำให้ร้อนได้ จึงแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งกัดสาดผ้าใบเพื่อการเปิด-ปิด ปรับระดับแสงให้พอเหมาะกับการใช้งาน และอยากได้อารมณ์กึ่งภายนอก จึงปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา แล้วเลือกใช้สีไม้เฟอร์นิเจอร์ไปในโทนเดียวกับพื้นให้ดูกลมกลืน

แนวคิดทั้งหมดนั้นสะท้อนให้เห็นในบ้านพื้นที่ประมาณ 200 ตารางเมตร ที่มีหน้าตาเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ประกอบด้วยส่วนทึบและโปร่งเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวและกันความร้อนจากทิศตะวันตก ส่วนทิศที่หันรับลมก็เว้นเป็นหน้าต่างให้อากาศเข้าสู่อาคารได้ง่าย ทำให้อากาศไหลเวียนในทุกๆชั้น บ้านจึงเย็นสบายตลอดวัน ส่วนภายนอกและดาดฟ้าก็รายล้อมด้วยสวนไผ่และบ่อน้ำเล็กๆ ช่วยสร้างมุมมองที่ร่มรื่นและผ่อนคลาย

คุณแป้งเสริมว่า “พอปรับปรุงบ้านใหม่แล้วความรู้สึกเปลี่ยนเลย เพราะจากเดิมที่คนในบ้านจะต่างคนต่างอยู่ ไม่มีเวลาอยู่ร่วมกัน แต่พอมีพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน มีสวนให้ทุกคนในบ้านคอยดูแล มีอะไรให้ต้องทำมากกว่าหมกตัวอยู่แต่ในห้องตัวเอง ทำให้ทุกคนในบ้านมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว”

บริเวณชั้นล่างเป็นโซนนั่งเล่นกลางบ้านที่เป็นเสมือนจุดเชื่อมต่อของพื้นที่และสมาชิกทั้งหมดในบ้านที่ต้องมาใช้งาน ทั้งดูภาพยนตร์ ฟังเพลง รับประทานอาหาร และปาร์ตี้ในสวน จึงเป็นห้องโปร่งโล่งเชื่อมต่อมุมสวนได้กว้างเป็นพืเศษ ส่วนห้องอื่นๆใช้เป็นครัว ห้องน้ำ และส่วนซักล้างหลังบ้านที่วางผังได้เป็นสัดส่วน ใช้งานได้สะดวก

สำหรับพื้นที่ชั้น 2 ไว้สำหรับนอน จึงกั้นห้องให้เป็นสัดส่วนโดยแบ่งเป็น 1 ห้องนอนใหญ่ และอีก 2 ห้องนอนเล็ก ห้องแรกเป็นห้องของลูกชายที่ตกแต่งสไตล์มินิมัลเน้นความเรียบง่าย ส่วนอีกห้องเป็นของลูกสาวที่กรุพื้นผิวด้วยหนังโทนสีดำเรียบเท่ ที่น่าสนใจคือการวางผังห้องนอนทั้งหมดจะดูเรื่องช่องแสงและลม ทำให้ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าไปได้มากทีเดียว และสุดท้ายที่ชั้นดาดฟ้าแคบๆแต่ก็ไม่ธรรมดามด้วยการออกแบบให้เป็นที่นั่งเล่นริมบ่อน้ำท่ามกลางสวนไผ่ที่ให้ความรู้สึกร่มรื่นเย็นสบาย

“เรื่องห้องนอนนี่มีโจทย์ที่อยากให้มีบรรยากาศแบบกึ่งโรงภาพยนตร์ส่วนตัว เลยเลือกกรุหนังบุนวมที่ดูหรูๆเท่ๆ และช่วยดูดซับเสียง ส่วนสีดำและการบุแบบยึดหมุด ที่ชอบเพราะดูหรูและโก้ดีเลยเลือก แต่ที่ชอบมากที่สุดน่าจะเป็นช่องเก็บของที่มากและเป็นระเบียบ ทำเอาชีวิตเราต้องเป็นระเบียบไปโดยปริยาย ซึ่งผิดกับเมื่อก่อนมาก สงสัยจะเป็นเพราะอิทธิพลของงานดีไซน์ก็ได้นะ” คุณแป้งอธิบาย

ห้องพระ
ห้องนอนสีเข้ม
ห้องนอนออกแบบให้อยู่ในพื้นที่กล่องอเนกประสงค์ก็ว่าได้ เพราะสามารถเปิดบานหน้าต่างเพื่อเชื่อมออกไปยังสวนระเบียง หรือปิดม่านหากต้องการความเป็นส่วนตัว รวมทั้งการยกพื้นไม้ปูเบาะ ก็เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ด้านข้างเป็นพื้นที่นั่งเล่นหรือเก็บของด้านใต้ได้ด้วย
ห้องนอน
ห้องน้ำปูนเปลือย
ยกพื้นไม้แบ่งส่วนแห้งและเปียก พร้อมกั้นม่านใสกันน้ำกระเด็น รวมทั้งนำธรรมชาติเข้ามาสร้างความร่มรื่นในห้องด้วยการก่อกระบะปลูกไผ่ และสร้างมิติแสงเงาด้วยแสงไฟที่ซ่อนไว้ด้านล่าง
ศาลานั่งเล่น
ประตู
ผนังอิฐ

จากแนวคิดทั้งหมดที่ได้เห็นใน บ้านอิฐ หลังนี้ สรุปได้ว่าบ้านที่อยู่สบายนั้นเกิดจากการเลือกและรู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเราเพื่อสร้างสภาวะอยู่สบายได้เอง ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานในการปรับอากาศและแสงสว่าง นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยโลกได้อีกทางด้วย

เจ้าของ : คุณมารินา พุทธิชูโรจน์

ตกแต่ง : Bermuda Landscape Architects Co., Ltd. คุณนิรินธน์ รักเกียรติ


เรื่อง : HOOO…ROOM

ภาพ : จิระศักดิ์, นันทิยา

25 บ้านอิฐแสนน่าอยู่

บ้านสีขาวประหยัดพลังงาน ซ่อนความอบอุ่นไว้ภายใน