บ้านอยู่สบาย ของคน 2 ยุค ที่มีสวนเขียวเป็นตัวเชื่อม - บ้านและสวน
บ้านอยู่สบาย

บ้านอยู่สบาย ของคน 2 ยุค ที่มีธรรมชาติเป็นตัวเชื่อม

บ้านอยู่สบาย ของคนสองยุคที่มีความชอบที่แตกต่างกัน แต่ก็สามารถหาตรงกลาง เพื่อให้คนทั้งสองยุคอยู่ร่วมกันได้ โดยวัสดุตกแต่งส่วนใหญ่เน้นการใช้ไม้เป็นหลัก เพื่อให้บ้านดูทันสมัยและอบอุ่น ทั้งยังเป็นที่ยอมรับของคนทั้งสองช่วงวัย เชื่อมต่อบรรยากาศดีๆด้วยธรรมชาติของสวนเขียว

บ้านอยู่สบาย
รอบบ้านโอบล้อมไปด้วยต้นไม้เพื่อให้ทุกมุมมองดูชุ่มชื้นสบายตา และยังช่วยกรองแสงแดดให้เบาบางลง ออกแบบให้มีชานไม้และบ่อน้ำหน้าบ้านเพื่อเพิ่มความเย็นสบาย เมื่อออกมานั่งเล่นนอกบ้าน

การสร้างบ้านอีกหลังในพื้นที่เดียวกันเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนข้อด้อยของบ้านตาม ความต้องการของทุกคนในบ้าน แม้จะคิดต่างหรือมีความชอบที่แตกต่างกัน แต่ก็สามารถหาตรงกลาง เพื่อให้คนทั้งสองยุคอยู่ร่วมกันได้ ที่มาที่ไปของ บ้านอยู่สบาย หลังนี้เป็นอย่างไร ลองเข้าไปสัมผัสพร้อมกัน

จุดเริ่มต้น

จุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านหลังนี้มาจากความต้องการของ คุณเต๊นท์- ภัทราวุธ จันทรังษี ที่ต้องการขยายห้องนอนให้พี่สาว จนนำมาสู่การต่อยอดทางความคิด กลายเป็นที่มาของการสร้างบ้านอีกหลังบนพื้นที่เดียวกัน

บนพื้นที่กว่า 180 ตารางเมตร ได้รับการแบ่งสัดส่วนให้พอเหมาะกับบ้านทั้งสองหลัง เดิมทีบ้านหลังแรกไม่มีพื้นที่ใช้งานร่วมกัน และยังขาดส่วนพักผ่อนของสมาชิกในบ้าน มีแต่เพียงห้องรับประทานอาหารเท่านั้นที่ทุกคนสามารถใช้งานร่วมกันได้ คนในบ้านจึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องนอนของตัวเอง เมื่อได้โอกาสคุณเต๊นท์ก็อยากออกแบบให้บ้านมีมุมนั่งเล่นหลายๆ มุม เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้มีเวลาพูดคุย และทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ทำบันไดไม้แบบไร้ราวจับหมุนวนรอบโถงกลาง แล้วพาดทางเดินเชื่อมไปยังห้องต่างๆ บนชั้นสองของบ้าน เป็นอีกมุมที่ดูน่าสนใจไม่น้อย
ออกแบบทางเดินไม้ด้านบนแบบ Single Corridor พาดอยู่กลางอากาศ ใช้ราวกันตกสเตนเลสแบบเรียบๆ ช่วยให้บ้านดูน่าสนใจขึ้นได้ ด้วยวัสดุและรูปทรงของทางเดิน
ห้องนั่งเล่นชั้นบนมีเพดานสูงกว่าปกติเพื่อให้ดูโล่งโปร่งตา ผนังด้านหนึ่งที่เคยเรียบโล่ง ได้เปลี่ยนให้เป็นชั้นเก็บหนังสือ แผ่นซีดีเพลง และของสะสม เปิดช่องแสงให้มากที่สุด เพื่อให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาภายใน ทั้งยังช่วยให้มองเห็นวิวต้นไม้รอบบ้านด้วย

เชื่อมต่อสเปซ เชื่อมความสัมพันธ์

บ้านทั้งสองหลังได้รับการออกแบบให้เชื่อมต่อกันเพื่อให้เดินไปมาหาสู่กันได้สะดวก ซึ่งทุกคนในครอบครัวต่างก็เห็นด้วยกับความคิดนี้ “ระหว่างสร้างบ้านหลังนี้ ผมได้พยายามใส่ความเป็นตัวเองและใส่ตัวตนของคุณพ่อ ผสมผสานเข้าไปด้วย โดยปรับแบบไปจากเดิมเพื่อให้บ้านมีพื้นที่ใช้งานมากขึ้น อะไรที่เราชอบเราก็พยายามใส่ลงไป เช่น ออกแบบให้มีทางเดินที่เชื่อมบ้านหลังเก่าไปยังบ้านหลังใหม่ ทำบันไดให้ดูเหมือนลอยอยู่ ทำหลังคาสแล็บ และกรุผนังกระจก”

วางแคร่ไม้เรียบๆโทนสีเดียวกับพื้นชานไม้ ใต้ต้นตะแบกเพื่อเพิ่มพื้นที่นั่งเล่น
ทำทางเดินเชื่อมบ้านทั้งสองหลังเข้าด้วยกัน โดยใช้โครงสร้างเหล็กทำสีดำ ปูพื้นไม้ที่ทางเดินชั้นบนและปูพื้นแกรนิตที่ทางเดินชั้นล่าง รอบทางเดินรายล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ที่คุณพ่อนำมาปลูก

ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ ห้องรับประทานอาหาร แพนทรี่ และมุมนั่งเล่น ทุกส่วนออกแบบให้เชื่อมโยงกัน ส่วนชั้นบนใช้เป็นห้องนอนของพี่สาว มีห้องนั่งเล่นสำหรับพักผ่อนอยู่อีกมุมหนึ่ง เมื่อมองจากภาพรวมแล้ว บ้านหลังนี้ดูมีรูปแบบที่ทันสมัย สว่าง โปร่งโล่ง เพราะเน้นการเปิดช่องแสงและกรุผนังกระจกใสแทนผนังแบบทึบตัน นอกจากนี้ยังออกแบบบันไดบริเวณโถงกลางให้ดูเหมือนลอยอยู่กลางอากาศ จากรูปทรงอาคารที่ดูเรียบง่าย สีสัน รวมถึงวัสดุที่เลือกใช้ในการตกแต่ง ล้วนช่วยสะท้อนให้เราเห็นตัวตนของคนในบ้านได้เป็นอย่างดี

ผนังสีเขียวมะนาว
ส่วนกลางของบ้านเป็นทั้งห้องรับประทานอาหารและมุมนั่งเล่นทาผนังสีเขียวมะนาว ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้ผู้ที่เข้ามาใช้งาน จัดวางเฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์เรโทร สร้างบรรยากาศอบอุ่นน่ารัก
ผนังสีเขียวมะนาว

คอนเซ็ปต์การออกแบบบ้าน คือ “ธรรมชาติ”

ตัวอาคารมีบานกระจกใสรอบด้านเพื่อเปิดมุมมองให้เห็นสวนสีเขียว โดดเด่นด้วยระเบียงนั่งเล่นที่เจาะช่องให้ต้นตะแบกได้แตกกิ่งก้านและเจริญเติบโตล้อไปกับตัวบ้าน “คอนเซ็ปต์การสร้างบ้านจริงๆ เริ่มมาจากต้นตะแบกต้นนี้ สมัยที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ผมก็เจอต้นไม้ต้นนี้แล้ว เหมือนเราโตมาพร้อมกัน อายุก็ 30 กว่าปีแล้ว เราจะเห็นความงามของต้นตะแบกในแต่ละฤดูกาล ซึ่งมีทั้งช่วงทิ้งใบและช่วงที่ออกดอกสีม่วงเต็มต้น เมื่อเติบโตมาพร้อมกันกับบ้าน ทุกคนจึงรู้สึกผูกพันและอยากจะเข้าไปใกล้ๆ จึงทำระเบียงชั้นลอยให้ล้อมต้นตะแบกไว้ ใช้เป็นจุดเชื่อมต่อของบ้านทั้งสองหลัง”

เนื่องจากเจ้าของบ้านอยากให้ต้นไม้ต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน จึงทำศาลานั่งเล่นรอบต้นตะแบกที่บริเวณชั้นลอย โครงสร้างส่วนนี้ทำจากเหล็กและปูพื้นไม้เว้นช่องว่างรอบลำต้นของต้นตะแบกไว้ แล้วทำทางเดินเชื่อมต่อจากห้องด้านบน เพื่อให้สามารถออกมานั่งเล่นได้
แขวนเชือกชิงช้าที่ตงเหล็กใต้ชั้นลอยให้ห้อยโยงลงมาเหนือบ่อน้ำ ให้อารมณ์เหมือนนั่งเล่นอยู่กลางบ่อน้ำแสนสบาย
เพิ่มความสดใสให้ห้องน้ำชั้นล่างด้วยกระเบื้องโมเสกสีส้มแดง ปูพื้นไม้ที่ส่วนแห้ง เพื่อเพิ่มบรรยากาศให้ห้องดูอบอุ่น กรุกระจกใสขนาดใหญ่เปิดมุมมองให้มองเห็นสวนได้เต็มสายตา ผู้ใช้งานยังสามารถออกไปใช้ส่วนอาบน้ำกลางแจ้งที่อยู่ในสวนได้ด้วย

วัสดุตกแต่งส่วนใหญ่เน้นการใช้ไม้เป็นหลัก เพื่อให้บ้านดูทันสมัยและอบอุ่น ทั้งยังเป็นที่ยอมรับของคนทั้งสองช่วงวัย “ก่อนเริ่มสร้างบ้านก็คิดไว้ว่าอยากได้บ้านสไตล์โมเดิร์นและอยากให้แสงเข้ามาเยอะๆ เพราะบ้านเดิมแสงเข้าน้อยมาก ทำให้ต้องเปิดไฟแม้ในเวลากลางวัน และด้วยความ พ่อกับแม่เกิดคนละยุคกับเรา จึงต้องมองหาจุดลงตัวระหว่างกันด้วยการนำสิ่งที่พ่อ ชอบเข้ามาไว้ในบ้าน ซึ่งสิ่งนั้นก็คือไม้นั่นเอง”

ไม้จึงถูกนำมาใช้ในหลายส่วนของบ้าน จุดเด่นๆ ก็คือผนังบริเวณโถงบันไดที่กรุแผ่นไม้หลายชนิดคละสีสันกัน จนกลายเป็นผนังไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งคุณพ่อของคุณเต๊นท์เป็นผู้เลือกและจัดวางตำแหน่งเองทั้งหมดจากความชอบ ท่านสามารถบอกได้ว่าชิ้นไหนเป็นไม้อะไร ไอเดียนี้ได้ช่วยเปลี่ยนผนังธรรมดาๆ ให้กลายเป็นงานศิลปะที่น่าภูมิใจของคุณพ่อไปโดยปริยาย

นำไม้สักทองหน้ากว้าง 8 นิ้ว ที่ผ่านการลบมุมแล้วมาตีชิดกัน ประกอบขึ้นเป็นบานไม้ที่มีเส้นสายชัดเจน เพิ่มรายละเอียดด้วยมือจับเถาวัลย์ ช่วยให้บานประตูมีหน้าตาไม่เหมือนใคร
ติดฝักบัวบนไม้หมอนรถไฟที่ปักลอยออกจากผนังแล้วซ่อนท่อระบบไว้ด้านหลัง ส่วนผนังก็ใช้ไม้ระแนงขนาด 2 x 2 นิ้ว มาตีแบบเว้นร่องให้ห่างกันทุกๆ 2 นิ้ว หลังคาเปิดโล่งเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์แบบห้องน้ำในบ้านพักสไตล์รีสอร์ต
ออกแบบผนังโค้งในมุมแพนทรี่ให้ดูทันสมัยด้วยโครงไม้พ่นสีดำที่ใช้พ่นรถยนต์ เทคนิคนี้ช่วยให้สีบนผนังมีความทนทานมากยิ่งขึ้น

โทนสีสะท้อนตัวตน

นอกจากจะมีการนำวัสดุธรรมชาติอย่างไม้เข้ามาตกแต่งภายในบ้านแล้ว ทุกๆ ห้องยังมีการแทรกสีสันลงไปได้อย่างกลมกล่อมและสนุกสนาน จนทำให้เราสัมผัสได้ถึงตัวตนเจ้าของบ้านคนนี้ “เพื่อนๆ และอาจารย์จะรู้เลยว่านี่เป็นบ้านของผม เพราะดูเป็น ‘เต๊นท์’ มากๆ ทั้งจากสีสันที่ดูสนุกและการเล่นเส้นโค้งภายในห้อง ทั้งหมดดูแตกต่างจากนักออกแบบส่วนใหญ่ที่มักชอบใช้สีขาว เทา และดำ เพราะสามารถคุมโทนสีให้เป็นธีมเดียวกันได้ แต่ผมมองว่าห้องแต่ละห้องเราอยากให้มีมู้ดอารมณ์ที่ต่างกัน สีที่ใช้จึงหลากหลาย เพราะเมื่อใช้งานจริงๆ เราก็ใช้ได้ทีละห้อง”

ห้องนอนดูทันสมัย เพราะออกแบบชั้นวางของให้ลอย ทำหน้าที่แบ่งสเปซพื้นที่ใช้งานได้อย่างลงตัว ไม่ดูทึบตัน ทั้งยังทำเตียงนอนแบบบิลท์อินยกสูงจากพื้น แล้ววางฟูกที่นอนแบบเรียบง่าย ส่วนพื้นที่ว่างใต้เตียงก็ทำเป็นตู้ลิ้นชักใช้เก็บของเล็กๆ น้อยๆ ได้
ผนังส่วนที่ไม่ได้ใช้งานออกแบบให้เป็นผนังกระจกใสบานใหญ่รอบห้อง เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติและมองเห็นต้นไม้สีเขียวรอบบ้าน

พื้นที่สีเขียวแห่งความสุข

บ้านนี้มีสวนที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์มาก มีทั้งต้นไม้ขนาดเล็กและใหญ่รายล้อมอยู่รอบตัวบ้าน จึงมีสัตว์ต่างๆอาศัยอยู่ในสวนเต็มไปหมด “คุณพ่อชอบต้นไม้มาก ชอบหาซื้อต้นไม้มาปลูกในบ้านเรื่อยๆ ผมได้บอกโจทย์นี้กับเพื่อนที่เป็นแลนด์สเคปให้ช่วยกำหนดวางแปลนสวนคร่าวๆ ทั้งโซนซอฟต์สเคปและฮาร์ดสเคป ช่วยกำหนดต้นไม้หลักๆ ให้ จากนั้นคุณพ่อก็หาพรรณไม้ที่ชอบมาปลูกตามโซนที่กำหนดไว้”

นำไม้ไผ่มาปักพรางที่กำแพงสวนในห้องน้ำและต่อระแนงไม้ด้านบนเพื่อบังสายตา วางแผ่นไม้รูปทรงธรรมชาติสลับกับโรยกรวดสีขาวให้ความรู้สึกเหมือนสวนญี่ปุ่นร่วมสมัยและดูชุ่มชื้น

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ต้องการขยายพื้นที่ไม่มากนัก นำมาสู่การสร้างบ้านหลังใหม่ให้ดูทันสมัยและรายล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทั้งยังช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ของสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้ได้พบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน เปรียบไปบ้านหลังใหม่ก็เหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ตกจากต้นแล้วเจริญเติบโตในพื้นที่ใกล้ๆ เพื่อขยายอาณาเขต แต่ยังคงรักษาพื้นที่ความสัมพันธ์ของครอบครัวให้มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ตามความตั้งใจเดิมของทุกคน

เจ้าของ – ออกแบบ : คุณภัทราวุธ จันทรังษี

สถาปนิก : คุณณัฐกานต์ ถนอมทอง และคุณสุวีณพร ผ่องโสภา

ภูมิสถาปนิก : คุณธีรชัย ธรวงศ์ธวัช


เรื่อง : วิลาสินี

เรียบเรียง : June

ภาพ : จิระศักดิ์, นันทิยา

สไตล์ : ประไพวดี

บ้านชั้นเดียวโอบกอดด้วยสวนเขียว

บ้านชั้นเดียวปูนเปลือย ธรรมดาแต่น่าอยู่