รีโนเวตตึกแถวเก่า เป็นบ้านแสนสงบกลางกรุง
รีโนเวตตึกแถวเก่า งบจำกัดโดยใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ภายใต้ขอบเขตกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร เก็บโครงสร้างหลัก และปรับปรุงพื้นที่ให้อาคารแห่งนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในพื้นที่เดิม
การเริ่มต้น รีโนเวตตึกแถวเก่า อายุกว่า 40 ปี หลังนี้ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชมชน ฟูสินไพบูลย์ เจ้าของตึกแถวแห่งนี้ เริ่มต้นด้วยแนวคิด “เรียบง่าย แต่ได้มาก” ด้วยความตั้งใจที่จะรีโนเวตตึกนี้โดยการควบคุมเรื่องระยะเวลาและราคาค่าก่อสร้าง จึงเริ่มจากการศึกษาโครงสร้างอาคารและปรับปรุงอาคารในขอบเขตของกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมอาคารที่เกี่ยวข้องกับการรีโนเวตบ้านเก่า โดยตั้งเป้าให้อาคารเป็นการรีโนเวตที่ไม่เข้าข่ายต้องขออนุญาตดัดแปลงอาคาร เพื่อไม่ให้ยุ่งยากและซับซ้อน ให้อยู่ในขอบเขตของการซ่อมแซม โดยไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลักของอาคาร ใช้วัสดุเดิมให้มากที่สุด ต่อเติมโดยไม่เพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างเกินร้อยละ 10 และไม่เพิ่มหรือลดเสาคานเดิมของอาคาร
ทั้งนี้เริ่มด้วยการจัดการพื้นที่ภายในของตึกแถวตามระยะของช่วงเสาทั้งสามช่วง ช่วงละ 4 เมตร เก็บบางส่วนไว้และเปลี่ยนบางส่วน ตำแหน่งบันไดอยู่ที่เดิม เสาช่วงแรกถึงช่วงกลางจะเป็นพื้นที่ใช้งานหลักของอาคาร ทั้งห้องนอน ห้องนั่งเล่น พื้นที่ทำงาน และช่วงเสาด้านหลังจะใช้เป็นห้องน้ำ เพื่อสะดวกในการต่อท่อน้ำทิ้งไปด้านหลังซึ่งเป็นส่วนห้องเครื่องและงานระบบต่างๆ ส่วนหลังบ้านเป็นคอร์ตต้นไม้เปิดสู่ท้องฟ้า พื้นที่ทั้งหมดออกแบบตามหลักสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้นให้พื้นที่ภายในมีความโปร่ง โล่ง สบาย ได้รับแสงธรรมชาติและระบายอากาศได้ดีแถมยังมีสวนดาดฟ้าไว้นั่งเล่นได้อีกด้วย
กลิ่นอายเดิม เพิ่มเติมความโปร่งโล่ง
เมื่อเดินเข้ามาในบ้านจะเป็นพื้นที่จอดรถด้านล่าง มองเข้าไปตามแนวจุดนำสายตาทางขวาจะมองเห็นคอร์ตสวนต้นไม้หลังบ้าน ซึ่งซ่อนตัวอยู่ด้านหลังบานประตูเหล็กเจาะรูสีดำที่ช่วยสร้างความรู้สึกสดชื่นเมื่อแรกเห็น ส่วนทางซ้ายจะเป็นส่วนของงานระบบ ห้องเครื่อง ห้องเก็บของ ซึ่งจัดวางอย่างเรียบร้อย
บันไดที่เป็นทางเดินนำขึ้นไปสู่ชั้นบนของอาคาร คือบันไดคอนกรีตทำผิวหินขัดสีส้มตัดเทาซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างเดิมที่เก็บเอาไว้ มีการทำความสะอาดและขัดให้ดูเหมือนใหม่ ราวบันไดเป็นราวเหล็กเดิมทาสีส้มให้เข้ากับสีเดิมของหินขัด สร้างเอกลักษณ์และคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของอาคารเดิม
ชั้น 2 ในส่วนด้านหน้าจะเป็นพื้นที่สตูดิโอทำงานขนาดย่อมของเจ้าของบ้าน สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ 3-4 คน กั้นพื้นที่ระหว่างบันไดกับห้องทำงานด้วยบานเลื่อนกระจกหน้าต่าง โดยบานเลื่อนมีความหนาเป็นพิเศษเพื่อกันเสียงรบกวนจากภายนอก พื้นที่ภายในจัดวางโต๊ะยาวเหมาะแก่การทำงาน ชั้นหนังสือที่จัดวางอย่างเป็นระเบียบ ด้วยระยะฝ้าที่ค่อนข้างเตี้ยตามโครงสร้างเดิมของตึก แต่ต้องการให้พื้นที่ภายในโล่งและโปร่งมากขึ้น จึงใช้ระบบแอร์ One way ฝังในฝ้า เพื่อซ่อนเครื่องปรับอากาศ ช่วยให้ห้องโล่งมากยิ่งขึ้น หมดปัญหาเรื่องความอึดอัดของพื้นที่ภายใน ห้องช่วงด้านหลังทางซ้ายออกแบบให้เป็นห้องแพนทรี่ พื้นที่เก็บของ และชั้นวางรองเท้าที่มีความมินิมัล ด้านหลังของชั้น 2 นี้มีเฉลียงที่สามารถเดินออกไปนั่งพักผ่อนชมวิวต้นไม้ด้านล่างได้ โดยตั้งแต่ชั้นนี้ได้มีการเปลี่ยนบันไดไม้เดิมที่ทึบตันและหมดสภาพเป็นบันไดโครงเหล็กทาสีส้มไม่มีลูกตั้ง เพื่อให้อากาศไหลผ่านและแสงภายนอกเข้ามาในบ้านได้ ช่วยให้การระบายอากาศดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้ภายในบ้านสว่างขึ้น ไม่ต้องเปิดไฟในช่วงเวลากลางวัน
ในส่วนของชั้น 3 เป็นห้องนอนของเจ้าของบ้านตกแต่งด้วยสไตล์มินิมัล ซึ่งต้องการความเป็นส่วนตัวและความสงบมากยิ่งขึ้น จึงออกแบบให้ระเบียงด้านหน้าทำหน้าที่เป็นผนังสองชั้นเพื่อตัดเสียงรบกวนจากภายนอก โดยด้านนอกสุดเป็นหน้าต่างบานเลื่อนกระจกเพื่อให้ได้รับแสงธรรมชาติและเปิดระบายอากาศได้และชั้นถัดมาเป็นประตูบานเลื่อนกระจกซึ่งสามารถเปิดออกไปที่ระเบียงได้ ในส่วนช่วงกลางจะเป็นพื้นที่ส่วนแต่งตัวที่เชื่อมต่อกับห้องน้ำซึ่งมีการใช้ผนังกระจกฝ้า เพื่อรับแสงธรรมชาติจากหลังบ้าน
อยู่อย่างคอนโดบนดาดฟ้า
ในส่วนของชั้น 4 เดิมเป็นห้องส่วนหนึ่งและดาดฟ้าส่วนหนึ่ง เจ้าของบ้านต้องการใช้พื้นที่นี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดพร้อมทั้งเล็งเห็นว่าพื้นที่ในส่วนนี้อยู่ด้านบนสุด สามารถมองเห็นวิวที่ดีกว่าชั้นล่างๆ ที่รายล้อมด้วยตึกแถวความสูงพอๆ กัน รวมถึงมีความเงียบสงบเพราะห่างไกลจากเสียงรบกวนด้านล่าง จึงปรับปรุงพื้นที่นี้ให้เป็นห้องนั่งเล่นตกแต่งสไตล์มินิมัลด้วยพื้นกระเบื้องยางลายไม้ และเฟอร์นิเจอร์ไม้สีขาว โดยมีระยะความสูงคล้ายดับเบิลวอลุ่ม ซึ่งทำให้มีความโปร่งโล่งสบายได้เป็นอย่างดี วัสดุมุงหลังคาถูกติดตั้งใหม่โดยใช้แผ่นฉนวนสำเร็จรูป Sandwich Panel ชนิดผิวเรียบ ช่วยกันความร้อน ติดตั้งได้ง่ายและรวดเร็ว และไม่ต้องมีฝ้าเพดานอีกด้วย เมื่อมองออกไปที่ดาดฟ้าจะมองเห็นต้นไม้ สวนขนาดเล็ก แต่ยังคงเก็บผนังช่องลมที่ขนาบสองข้างเดิมไว้ ซึ่งช่วยเรื่องความเป็นส่วนตัวและระบายอากาศได้ดี
บริเวณช่วงกลางจนถึงช่วงด้านหลังของชั้นนี้มีห้องน้ำ ส่วนรับประทานอาหาร และเคาน์เตอร์ครัวแบบกึ่งลอยตัว ลดเวลาในการติดตั้งและรองรับการปรับเปลี่ยนในอนาคตได้ดี ด้านหลังห้องยังมีมุมโต๊ะทำงานเล็กๆ และหน้าต่างเบย์วินโดว์ ซึ่งสร้างลูกเล่น เพิ่มพื้นที่ภายใน และทำให้มุมมองออกสู่ภายนอกกว้างมากยิ่งขึ้น โดยสามารถรับแสงธรรมชาติและมองเห็นวิวด้านหลังที่ไกลออกไปได้อย่างดี ชั้น 4 นี้ครบครันราวกับนั่งเล่นอยู่ในคอนโดกลางเมืองที่มีสวนดาดฟ้าเป็นของตัวเอง
บ้านที่เรียบง่ายและดีดั่งใจ
ฟาซาดของอาคารที่ประกอบด้วยแผงกันแดดรูปทรงเรขาคณิตอันเป็นเอกลักษณ์ของตึกแถวยุคโมเดิร์นถูกคงไว้ซึ่งรูปลักษณ์เดิมที่เหมือนตึกแถวข้างเคียง เพียงแต่ทาสีขาวทับให้ดูเหมือนใหม่ในชั้น 2 และชั้น 3 ส่วนชั้นล่างใช้ประตูเหล็กเจาะรูบานเฟี้ยมสีดำ เน้นบานเปิดสีส้มสองบานกลางที่ดึงสีมาจากบันไดหินขัดภายในบ้าน หลังบานประตูสีส้มอันโดดเด่นบนถนนซอยที่จอแจนี้เป็นบ้านที่น่าอยู่ เรียบง่าย ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าโดยเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณและข้อกฎหมายด้านการซ่อมแซม ขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งกลิ่นอายของเอกลักษณ์ดั้งเดิม จึงกลายเป็น “บ้านตึกแถวรีโนเวตที่เรียบง่ายและดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ตามความตั้งใจของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี
เจ้าของ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชมชน ฟูสินไพบูลย์ และดร. ฮอนจู จาง
ออกแบบสถาปัตยกรรม-ออกแบบตกแต่งภายใน : Design & Research by Fusinpaiboon & Jang (DRFJ)
เรื่อง : พัชรกุล แพสมหวัง
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ผู้ช่วยช่างภาพ : วิมุติ เหล่าโมราพร