ต้นกันเกรา ไม้มงคล ดอกมีกลิ่นหอม สีสวย และมีสรรพคุณสารพัดประโยชน์

ต้นกันเกรา ต้นไม้มงคล ดอกมีกลิ่นหอม สีสวย และมีสรรพคุณสารพัดประโยชน์

ต้นกันเกรา เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ขึ้นโดยทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนจะออกดอกเป็น ช่อสีเหลือง มีกลิ่นหอมขจรขจาย ต้นกันเกรามีชื่อเรียกอื่นว่า มันปลา ตำเสา มะซูไม้ต้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Fagraea fragrans Roxb อยู่ในวงศ์ Gentianaceae

ต้นกันเกรา มีชื่อเรียกต่างกันไปคือ ภาคกลางเรียก กันเกรา ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก มันปลา ส่วนภาคใต้เรียก ตำแสง หรือตำเสา มูซูเป็นภาษาถิ่นทางภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง อันมีชื่อเป็นมงคลและมีคุณสมบัติที่ดีในการใช้ประโยชน์ คือชื่อกันเกราหมายถึง กันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้มาทำอันตรายใด ๆ ชื่อตำเสาคือ เป็นมงคลแก่เสาบ้านไม่ให้ปลวก มอด แมลงต่าง ๆ เจาะกิน ชื่อมันปลา น่าจะเป็นลักษณะของดอกที่เหมือนกับไขมันของปลาเมื่อลอยน้ำไขมันของปลาในถ้วยน้ำแกง โดยเฉพาะช่วงข้าวใหม่ปลามันที่ปลาจะมีความมันและเอร็ดอร่อยเป็นที่สุด

ลักษณะโดยทั่วไปของ กันเกรา

ไม้ต้นชนิดนี้มีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 8 – 25 เมตร และมีทรงพุ่มเรือนยอดรูปไข่ ทรงพุ่มแน่นทึบ ลำต้นเปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึก เปลือกมีสีน้ำตาล เมื่อต้นแก่จะแตกเป็นร่องลึกตามยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ มีถิ่นกำเนิดตามป่าเบญจพรรณและตามที่ใกล้กับแหล่งน้ำ ในประเทศไทย พม่า มาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย สำหรับในบ้านเราต้นกันเกราขึ้นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย แต่จะพบได้มากทางภาคใต้

ด้านใบของ กันเกรา มีใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 2.5 – 3.5 เซนติเมตร ยาว 8 – 11 เซนติเมตร สีเขียวเข้มเป็นมัน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ แผ่นใบสีเขียวเป็นมัน

ส่วนดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด แต่ละช่อมี 15 – 25 ดอก เมื่อเริ่มบานดอกสีขาว จากนั้นเปลี่ยน เป็นสีเหลือง ดอกรูปแตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ออกดอกเดือนเมษายน – มิถุนายน ส่งกลิ่นหอมตลอดวัน และมีผลกลมขนาดเล็ก เมื่อสุกมีสีแดง

การปลูกต้นกันเกรา

ต้นกันเกรา มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลาง ชอบแสงแดดตลอดวัน ดินทุกประเภทที่ชุ่มชื้น แต่ชอบน้ำปานกลาง ทนน้ำท่วมขัง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด โดยในช่วงแรกที่ปลูกต้องการความชื้นในระยะแรกสูงมาก การขุดหลุมจึงจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก หรือเศษไม้ ใบไม้มีความอ่อนเมื่อปลูกเสร็จต้องผูกเชือกติดกับไม่หลักกันไม่ให้ลำต้นโค้ง

นอกจากนี้เพื่อเร่งการเจริญเติบโตโดยเพิ่มความสวยให้กับต้นกล้าจากวัชพืช หากปลูกในดินไม่ดี ควรใช้ปุ๋ยสูตร 15: 15: 15 จะทำให้ต้นกันเกรามีอัตรารอดสูง โดยวิธีใส่ปุ๋ยจะทำหลังปลูกไป 1 เดือน ในปริมาณ 50 กรัมต่อ 1 ต้น ใส่ดินลึกประมาณ 5 เซนติเมตรห่างจากโคนต้น 30 เซนติเมตร จะทำให้การเจริญเติมโตของต้นกันเกราเติบโตได้ด้วยดี

สำหรับการดูแลพยายามกำจัดวัชพืชเพื่อให้การปลูกต้นไม่ในระยะแรกเติบโตได้อย่างรวดเร็ว หลัดตรวจเช็คติดตามผลการปลูกหากต้นไม่ตายจะได้หาวิธีแก้ไขได้โดยเร็ว การทำแนวกันไฟหากเกิดกรณีไฟป่าลุกลามจากภายนอก

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นกันเกรา

ต้นกันเกรา เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานและต้นไม้ประจำจังหวัดจังหวัดนครพนม รวมถึงสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดย กันเกรา มีความสวยงามและกลิ่นหอมไม่เหมือนใคร จึงถูกจัดให้เป็นไม้มงคล 1 ใน 9 ชนิด เช่นเดียวกับ ราชพฤกษ์ ขนุน ชัยพฤกษ์ ทองหลาง ไผ่สีสุก ทรงบาดาล สัก และพะยูง ที่คนนิยมนำมาใช้ในพิธีกรรมเมื่อเวลาก่อสร้างบ้านเรือนให้เป็นสิริมงคล

นอกจากนั้น คนอีสานยังนำมาบูชาพระโดยเฉพาะเมื่อเวลางานบุญบวชนาคช่วงเดือนพฤษภาคมหรือเดือน 6 ของทุกปี ก่อนที่จะถึงวันบวชนาคผู้ที่จะบวชนาคต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจอย่างดี เรียกว่า การเข้านาค ผู้ที่จะบวชนาคซึ่งต้องมาเข้านาคนั้นจะต้องแต่งกายชุดสุภาพ มีผ้าแพรหรือผ้าขาวม้าพับอย่างงามพาดบ่า รวมทั้งละเว้นอบายมุขต่างๆ พิธีกรรมหนึ่งของการเข้านาคจะมีการแห่ดอกไม้ก็คือดอกมันปลาหรือดอกกันเกรา จุดเริ่มต้นของขบวนอยู่ที่วัดจากนั้นก็เคลื่อนขบวนแห่ไปตามถนน บ้านเรือนท้องไร่ ท้องนา เพื่อไปเก็บดอกมันปลามาบูชาพระ พร้อมที่จะเข้าพิธีอุปสมบท ในระหว่างการแห่ก็จะมีการตีกลองร้องเพลงไปโดยตลอด เวลาเริ่มแห่ก็ช่วงบ่ายๆ เมื่อขบวนจะกลับถึงวัดก็ใกล้ค่ำ

อย่างไรก็ตาม กันเกรา เหมาะปลูกเป็นไม้ประธานหรือในสวนสาธารณะหรือบริเวณบ้านที่มีพื้นที่กว้าง เป็นไม้มงคลหนึ่งในเก้าชนิดที่ใช้รองก้นหลุมก่อนลงเสาเอกของบ้าน นิยมปลูกทางทิศตะวันออก เชื่อว่าช่วยปกป้องคุ้มภัย เนื่องจาก กันเกรา หมายถึง กันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้มาทำอันตรายใดๆ ส่วนชื่อตำเสาก็เป็นมงคลแก่เสาบ้านไม่ให้ปลวก หรือมอด รวมไปถึงแมลงต่างๆ มาเจาะกิน

สรรพคุณและประโยชน์ของ กันเกรา

กันเกรา คือไม้ยืนต้นขนาดกลางนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงา และเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกดก ดอกมีกลิ่นหอม และมีสีสวยงาม ปลูกง่ายแข็งแรงทนทาน มีความละเอียด ตกแต่งได้ง่าย ขัดเงาก็งดงาม ทนปลวกได้ดี เนื้อไม้จึงนิยมนำไปใช้แปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง ทำเสาเรือน ประตู หน้าต่าง และเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ

แก่นของกันเกรา มีรสเฝื่อน ฝาด และขม สรรพคุณช่วยบำรุงไขมันในร่างกาย รวมถึงมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัมในหลอดทดลองได้
และแก้หอบหืด บรรเทาอาการไอ เป็นต้น ขณะที่เปลือกมีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต

เปลือกกันเกราช่วยรักษาผิวหนังพุพอง ปวดแสบปวดร้อน ใบอ่อนกันเกราสัตว์ป่าชอบกินเป็นอาหาร , ผลกันเกราใช้เป็นอาหารของนกและค้างคาวได้ และส่วนของต้นกันเกราก็นิยมนำมาใช้ในการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์

บทความที่เกี่ยวข้อง

สายมูพลาดไม่ได้กับ “ 50 ต้นไม้มงคล ” ตามความเชื่อของไทย

ต้นเฟื่องฟ้า ไม้พุ่มทนแดด อายุยืน ออกดอกสวยตลอดปี

ต้นพะยอม ไม้มงคลทรงพุ่มสวย กลิ่นหอม มีสรรพคุณทางสมุนไพร

ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com