DITP ดัน 60 แบรนด์นักออกแบบรุ่นใหม่ สู่ตลาดโลก ชูเอกลักษณ์ท้องถิ่นผสานดีไซน์ร่วมสมัย ผ่านโครงการ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion 2023
หากกล่าวถึงเรื่องของการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน สวน หรือข้าวของเครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากความสวยงาม แน่นอนเลยว่าต้องใช้งานได้ดี มีดีไซน์ตอบโจทย์ เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคสมัย ยิ่งไปกว่านั้น เทรนด์งานออกแบบโลกยังเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับผู้คนและสังคมได้หลากหลายแง่มุม เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการศึกษา เป็นต้น
ด้วยความสำคัญของงานออกแบบที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับสิ่งต่าง ๆ จึงได้นำมาสู่ โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ปี 2566 หรือ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion 2023 ที่จัดขึ้นโดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP มายาวนานกว่า 20 ปี โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Keep an eye on : The Creative Power Of The New Era”
เปิดตัว 60 แบรนด์รุ่นใหม่ ผลักดันนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP ได้เปิดตัว 60 แบรนด์นักออกแบบรุ่นใหม่ที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่โครงการฯ พร้อมชูประเด็นเรื่องของการออกแบบที่ผสมผสานพลังความสร้างสรรค์เข้ากับเอกลักษณ์ในท้องถิ่น เพื่อผลักดันและส่งเสริมนักออกแบบไทย ให้โดดเด่นในตลาดโลก และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชีย โดยแต่ละแบรนด์ได้รับคัดเลือกมาอย่างครอบคลุม จากนักออกแบบในพื้นที่กรุงเมพมหานคร ปริมณฑล และนักออกแบบจากภูมิภาคต่าง ๆ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประเภทสินค้า/บริการ ได้แก่
- นักออกแบบกลุ่มสินค้าแฟชั่น Designers’ Room 34 ราย
- นักออกแบบกลุ่มสินค้า ไลฟ์สไตล์ Talent Thai 22 ราย
- นักออกแบบกลุ่มธุรกิจบริการออกแบบ Creative Studio 4 ราย
โดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP ได้สนับสนุนเหล่านักออกแบบด้านองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ ให้สอดรับกับเศรษฐกิจยุคใหม่ และแนวโน้มเมกะเทรนด์โลก อาทิ ความรู้ด้าน Circular Design, Sustainability, Design Service เป็นต้น เพื่อก้าวสู่ความเป็น “แบรนด์นักออกแบบ” หรือ “ผู้ประกอบการส่งออกรายใหม่” ที่สร้างมูลค่าทางการค้าเพื่อขยายบทบาททางเศรษฐกิจ ผ่านการอบรมร่วมกัน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรความรู้พื้นฐานการเป็นนักออกแบบระดับสากล และหลักสูตรค่ายบ่มเพาะนักออกแบบไทยสู่สากล (CO-BRAND) จากทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมคำแนะนำของเหล่ารุ่นพี่ศิษย์เก่า (Alumni Team) ที่มาช่วยเป็น Mentor ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้ ประสบการณ์ และเครือข่ายความร่วมมือที่ครบรอบด้าน เพื่อการก้าวสู่นักออกแบบมืออาชีพในตลาดโลก
กิจกรรมจากการผนึกกำลัง ร่วมกันชูพลังดีไซน์ยุคใหม่ผสานเอกลักษณ์ท้องถิ่น
นอกจากการให้องค์ความรู้ทางทฤษฎี ยังมีกิจกรรมที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริงผ่านแบบทดสอบของโครงการฯ ที่เหล่านักออกแบบได้ร่วมโชว์ไอเดียออกแบบผลงาน ผ่านการผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำทั้ง 7 ได้แก่
- Q DESIGN AND PLAY โดย คุณประพัฒน์ สมบูรณ์สิทธิ์
- SARRAN โดย คุณศรัณญ อยู่คงดี
- MOBELLA GALLERIA โดย คุณอนุพล อยู่ยืน
- QUALY โดย คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์
- SC Grand
- บ้านและสวน
- โครงการ LIMITED EDUCATION
กิจกรรมนี้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้ร่วม Collaboration กับแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ ที่มีจุดเด่นเรื่องดีไซน์ยุคใหม่ ผสานเอกลักษณ์ท้องถิ่น คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้นักออกแบบได้ฝึกฝนทักษะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่าพร้อมกับเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืนและเป็นมืออาชีพ โดยยังคงไว้อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ส่วนส่งเสริม Soft Power
ตัวอย่างเช่นการทำงานร่วมกันของแบรนด์ QUALY แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดีไซน์ ที่เชื่อในพลังของการออกแบบเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนไปพร้อมกับการปกป้องโลกและสิ่งแวดล้อม กับแบรนด์ VAANG นักออกแบบรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่อง Sustainable สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เทียนหอมรูปไข่ ในรูปแบบกาชาปอง ที่เพิ่มความน่าสนใจให้การจุดเทียนด้วยโคมร้อนให้ผู้ใช้ได้ร่วมลุ้นว่าจะฟักไข่เทียมหอมได้แม่เหล็กรูปสัตว์ตัวใดจาก QUALY ที่ซ่อนอยู่ในไข่แต่ละใบ ส่งพลังงานดี ๆ ให้กับผู้ใช้ด้วยข้อความพิเศษที่แนบมากับผลิตภัณฑ์แต่ละชุดแตกต่างกัน แถมยังลดการเกิดขยะพลาสติกได้อีกด้วย
ในส่วนของการออกแบบร่วมกับโครงการ LIMITED EDUCATION ได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานแสดงศักยภาพที่จะช่วยเหลือสังคมผ่านไอเดียสร้างสรรค์ในโจทย์ การสะท้อนปัญหาการศึกษาไทยที่นำไปสู่ความร่วมมือในการระดมทุน เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพและเติมเต็มช่องว่างการศึกษาให้เด็กในประเทศไทย ผ่านการออกแบบ เกิดเป็นผลงาน 5 ชิ้น ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้
- วิชาคณิตศาสตร์ : เครื่องประดับ “ลูกเก๋า” (DICE OF HOPE) ที่ชี้ถึงความสำคัญของเด็กทุกคนในระบบการศึกษา และสร้างความตระหนักถึงจำนวน 20.4% ของเด็กไทยที่หายไปจากระบบการศึกษา
- วิชาวิทยาศาสตร์ : ผ้าห่ม “ลอสสะตาร์” ที่เสมือนแผนที่ ในการตามหาดวงดาว ที่เปรียบได้กับเหล่าเด็กๆ ที่หายไปจากระบบการศึกษาในทุกปี จากการไม่ได้รับแสงสว่างที่มากพอจะทำให้มองเห็น
- วิชาภาษาไทย : คอลเลคชั่น “วัตถุฮาไว” ชุดเสื้อผ้าฮาวายร่วมสมัย ที่หยิบคำภาษาไทยที่ผิดเพี้ยนเมื่อไม่มี ด.เด็ก อยู่ในคำมาเป็นลวดลาย สื่อถึงเด็กที่หายไปจากระบบการศึกษา
- วิชาภาษาอังกฤษ : ชุดของที่ระลึก “ฮาว อา ยู ทูเด๊?” กระเป๋าพร้อมเข็มกลัด ชุดพู่กัน และสี สำหรับลากเส้นต่อจุดบนกระเป๋า เพื่อทำให้ผู้ใช้ได้หวนนึกถึงช่วงเวลาวัยเด็กในชั่วโมงวิชาภาษาอังกฤษ
- วิชาสังคมศึกษา : กระเป๋า Tote bag for SOCIETY ที่ ใช้กราฟิกบนกระเป๋าว่า “Soci ty” หรือแปลว่าสังคม แบบที่ตัว E ขาดหายไป เพื่อสื่อว่าทุกคนช่วยสามารถเติมตัว E ที่มาจาก Education (การศึกษา) ให้กับสังคมนี้ได้
ต่อยอดโอกาสทางการค้าสู่เวทีชั้นนำระดับโลก
นอกจากโอกาสในการร่วมสร้างสรรค์ผลงาน เหล่านักออกแบบรุ่นใหม่ยังได้รับการส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์แบรนด์ผ่านสื่อชั้นนำ รวมทั้งได้รับโอกาสเจรจาทางการค้า ในงานแสดงสินค้าและเวทีการออกแบบชั้นนำระดับโลก เช่น
- งานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry Fair 2024 ระหว่างวันที่ 21 – 25 กุมภาพันธ์ 2567
- งานแสดงสินค้า STYLE Bangkok 2024 ระหว่างวันที่ 20 – 24 มีนาคม 2567
- การเข้าร่วมงาน Milan Design Week ระหว่างวันที่ 13 – 18 เมษายน 2567
- การเข้าร่วม Showroom ณ นครเซี่ยงไฮ้ ช่วงเดือนเมษายน 2567
- การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า MAISON & OBJET ณ กรุงปารีส 2024
- เจรจาการค้าผ่านแพลตฟอร์ม m.o.m. ช่วงเดือนกันยายน 2567
สามารถติดตามผลงานการออกแบบที่น่าสนใจทั้งหมดจากโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก หรือ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion ได้ที่แฟนเพจ Talent Thai & Designers’ Room หรือตามช่องทางการประชาสัมพันธ์ของงานแสดงสินค้าและเวทีการออกแบบข้างต้น และสอบถามข้อมูลโครงการเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th สายด่วนการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169 เพื่อร่วมส่งเสริมงานออกแบบไทยให้ก้าวสู่ตลาดโลกไปด้วยกัน