บ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ที่เกาะเกร็ด - บ้านและสวน
บ้านไม้ยกใต้ถุนสูง

บ้านไม้ยกใต้ถุนสูง บนเกาะเกร็ด

บ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ที่มีคาเฟ่อยู่ข้างล่าง ยกใต้ถุนสูงคร่อมอยู่เหนือร่องสวนทุเรียนเก่า โดดเด่นด้วยหลังคาทรงจั่วที่มองเห็นด้านจั่วสามเหลี่ยมได้จากทุกมุม

บ้านไม้ยกใต้ถุนสูง
บ้านไม้ขนาด 2 ชั้น ที่ออกแบบชั้นล่างให้เป็นคาเฟ่ ชั้นบนเป็นห้องนอนในรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยาวโดยมีห้องพระอยู่ที่มุมฝั่งขวาของภาพ ส่วนหน้าบ้านหันเปิดออกสู่พื้นที่ร่องสวนทุเรียนเก่า
บ้านไม้ยกใต้ถุนสูง
มุมมองอีกด้านของบ้านที่ยังคงเห็นหลังคารูปทรงจั่วได้ผ่านแนวต้นกะลา พืชพื้นถิ่นของเกาะเกร็ด ซึ่งกลายเป็นแลนด์สเคปสีเขียว ๆ ให้ตัวบ้านไปในตัว

ด้วยสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง อีกทั้งเป็นเกาะเล็กๆ กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกาะเกร็ดมักมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ บ้านเรือนที่ปลูกสร้างอยู่บนเกาะแห่งนี้จึงเป็นบ้านไม้ทรงไทยมอญยกใต้ถุนมาตั้งแต่อดีตและยังคงต่อยอดเป็นภูมิปัญญาหลักมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ดังนั้นเมื่อ คุณเอก-ปฐมชัย สุวรรณปิณฑะ มีความคิดอยากจะสร้างบ้านหลังใหม่ของตัวเองบนที่ดินเดิมของครอบครัวซึ่งเคยเป็นร่องสวนสำหรับปลูกทุเรียนใกล้กับที่ลุ่มริมเกาะเกร็ด คุณเติ้ล-เผดิมเกียรติ สุขกันต์ สถาปนิกแห่ง Studio Miti จึงออกแบบให้เป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงคร่อมอยู่เหนือร่องสวนทุเรียนเคียงข้างไปกับดงต้นกะลาหรือข่าน้ำ ซึ่งเป็นพื้นพืชถิ่นที่คนเกาะเกร็ดนิยมนำหน่อมารับประทานกัน ตามที่เรียกติดปากกันว่า “หน่อกะลา”

บ้านไม้ยกใต้ถุนสูง
ยกใต้ถุนสูงสร้างคร่อมเหนือร่องสวนทุเรียนเก่า เพื่อหนีน้ำท่วมเพราะเป็นพื้นที่ลุ่มริมน้ำของเกาะเกร็ด
บ้านไม้ยกใต้ถุนสูง
นอกจากยกใต้ถุนสูงแล้ว ตัวบ้านยังออกแบบการใช้ไม้กรุผนังเป็นแนวตั้งตามแบบที่เจ้าของบ้านชอบและคุ้นเคย ให้มุมมองที่แตกต่างจากผนังบ้านไม้แนวนอนแบบทั่วไป 
บ้านไม้ยกใต้ถุนสูง
ทางเข้าหลักของบ้านเป็นสะพานปูนทอดยาวตรงมา โดยยังมองเห็นตัวบ้านไม้ในรูปทรงหลังคาจั่วได้สวย ๆ ได้เช่นกัน
ระเบียงไม้เล็กๆ ที่สามารถนั่งเล่นห้อยขาเพื่อรับลมชมวิวท้องร่องสวน

บ้านไม้ที่มีคาเฟ่อยู่ชั้นล่า

เพราะเกิดและเติบโตอยู่ในบ้านไม้บนเกาะเกร็ดมานาน คุณเอกจึงรักและผูกพันในบ้านไม้เป็นพิเศษ ประกอบกับได้เห็นและประทับใจงานออกแบบ บ้านไม้ทำ-มะ-ดา ที่ Studio Miti ออกแบบไว้ (ตีพิมพ์ในหนังสือ บ้านและสวนฉบับพิเศษ รวมไอเดีย บ้านไทยใต้ถุนสูง Home Elevated) เขาจึงติดต่อให้คุณเติ้ลมาช่วยออกแบบบ้านไม้หลังนี้อย่างไม่ลังเล

“ตอนแรกผมยังคิดว่าจะสร้างบ้านอยู่และทำโฮมสเตย์ไปด้วย แต่ภรรยาไม่เห็นด้วย ก็เลยเปลี่ยนแนวคิดว่าจะทำชั้นล่างให้เป็นคาเฟ่แทน เพราะไม่ได้จะอยู่บ้านนี้เป็นประจำ ไม่สะดวกเวลาต้องข้ามเรือไปทำงานและส่งลูกไปโรงเรียนด้วย แต่ก็อยากใช้ที่ดินตรงนี้สร้างธุรกิจต่อยอดรายได้แทนที่สวนทุเรียนที่จมน้ำไปหมดแล้ว โจทย์ของผมก็เลยง่าย ๆ แค่อยากได้บ้านไม้ที่มีคาเฟ่อยู่ข้างล่าง โดยให้เป็นบ้านไม้แนวตั้งแบบที่ผมเคยอยู่ตอนเด็กๆ เพราะแถวนี้ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้แนวนอนกันหมด คงเพราะเลี่ยงปัญหาน้ำรั่วผนังเวลาฝนตก แต่ผมเห็นบ้านไม้ทำ-มะ-ดา ก็ใช้ไม้แนวตั้งได้สวยงามเหมือนกัน เลยให้คุณเติ้ลช่วยออกแบบทั้งหมด”

ฟังก์ชันของผนังที่แตกต่างระหว่างกระจกใสสำหรับส่วนคาเฟ่ชั้นล่าง และผนังไม้เก่าสำหรับส่วนพักผ่อนชั้นบน
เคาน์เตอร์
ตกแต่งด้านหน้าเคาน์เตอร์คาเฟ่ทรงโค้งด้วยงานกระเบื้องดินเผาเพื่อสื่อถึงงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเชื้อสายมอญอันเก่าแก่ของเกาะเกร็ด รวมไปถึงนำมาตกแต่งร่วมกับโคมไฟโครงเหล็กที่ออกแบบโดย Pin Metal Art
ครัวปูน
ห้องครัวเป็นแบบครัวปูนสีขาวมีประตูหน้าบานเป็นไม้ ออกแบบกั้นแยกไว้เป็นสัดส่วนอยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์ โดยมีทางเข้าออกแยกเพื่อให้ใช้งานได้สะดวก
โฮมคาเฟ่
พื้นที่ชั้นล่างของบ้านเป็นส่วนของคาเฟ่จึงเน้นผนังกระจกใสโปร่งตาเปิดมุมมองออกสู่ธรรมชาติด้านนอก และจัดวางด้วยโต๊ะเก้าอี้ไม้ลอยตัวเพื่อสามารถปรับเปลี่ยนมุมได้ตามการใช้งาน
โฮมคาเฟ่
เฟอร์นิเจอร์ภายในเน้นงานไม้แบบลอยตัวเพื่อให้กลมกลืนกับบรรยากาศของบ้านไม้และยังยกย้ายเปลี่ยนมุมได้บ่อยตามต้องการ
ระเบียง
ระเบียงกว้าง ๆ เป็นทางเดินจากบ้านออกมาสู่ห้องเก็บของและห้องน้ำคลุมด้วยชายคายื่นยาวเพื่อป้องกันแดดและฝน ส่วนที่มีต้นสาเกยืนต้นอยู่ก็เว้นช่องคอร์ตให้ต้นไม้ได้รับแสงและเติบโต
เรือนหลังเล็กด้านข้างสร้างขึ้นมาให้เป็นห้องเก็บของและห้องน้ำส่วนกลาง แยกฟังก์ชันออกจากตัวบ้านอย่างชัดเจน
เรือนหลังเล็กมุงหลังคาทรงจั่วเช่นเดียวกับบ้าน และเปิดผนังส่วนบนให้เป็นกระจกเพื่อรับแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายใน

หลังคาจั่ว มองได้สวยทุกมุม

แม้การออกแบบบ้านไม้จะเป็นของคู่สำหรับ Studio Miti ไปแล้ว แต่คุณเติ้ลก็ยังต้องการพัฒนาและสร้างความแตกต่างให้บ้านไม้อยู่เสมอ เมื่อดูจากทำเลที่ตั้งของบ้านซึ่งเปิดโล่งและมองเห็นได้ชัดจากทางเดินหลักเมื่อข้ามเรือจากท่าวัดสนามเหนือมาถึงเกาะเกร็ด มุมมองของบ้านจึงอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างสะดุดตาซึ่งเป็นข้อดีสำหรับการทำคาเฟ่อยู่แล้ว และน่าจะดียิ่งขึ้นไปอีกเมื่อดีไซน์ของตัวบ้านสร้างความประทับใจได้ตั้งแต่แรกเห็น

บ้านไม้ยกใต้ถุนสูง
ตัวบ้านไม้กับเรือนหลังเล็กที่เป็นห้องเก็บของและห้องน้ำส่วนกลางภายใต้หลังคารูปทรงจั่วที่ตั้งใจออกแบบให้มองเห็นจั่วสามเหลี่ยมได้จากทุกมุมมอง สร้างอยู่ด้านในที่ดินจากทั้งหมดราว ๆ 2 ไร่

คุณเติ้ลอธิบายถึงแนวคิดสนุก ๆ นี้ว่า “ผมคุ้นชินกับเรื่องบ้านไม้อยู่แล้ว แต่ไม่อยากซ้ำรอยเดิมที่เคยทำก็เลยคิดว่าน่าจะทำสเกลหลังคาให้น่าสนใจขึ้น เพื่อให้เป็นบ้านทรงจั่วที่มองเห็นด้านจั่วสามเหลี่ยมได้จากทุกมุม แทนที่จะเป็นจั่วด้านเดียว เหมือนเราเติมความขี้เล่นให้บ้านไม้ขึ้นอีกนิด เทคนิคที่ต้องพัฒนาเพิ่มคือการเปลี่ยนทางน้ำให้ลงตรงมุมสามเหลี่ยมซึ่งยากกว่าปกติที่ลงปลายชายคาด้านเดียว บ้านนี้จึงมีเชิงชายหน้าจั่วทำหน้าที่เป็นรางน้ำไปด้วย ส่วนหลังคาใช้เมทัลชีตพับเป็นแนวยาวติดตั้งบนไม้อัด และใช้นวัตกรรมโฟม EPS กันความร้อน ปิดทับด้วยไม้อัดอีกทีแต่กลับด้านให้เห็นลวดลายของไม้อัดแทนฝั่งเรียบหรือแทนการใช้ไม้ OSB เหมือนเคย ๆ เพื่อให้เป็นคาแร็กเตอร์ของบ้านหลังนี้ไปเลย”

หลังคาเมทัลชีต
แม้จะเป็นบ้านไม้แต่ก็มีการประยุกต์ผสมผสานด้วยวัสดุสมัยใหม่ อย่างหลังคาที่มุงด้วยเมทัลชีตพับเป็นแนวยาว เพื่อให้เส้นสายดูบางเรียบและทันสมัยขึ้น
รางน้ำฝน
นอกจากเป็นหลังคาสำหรับกันแดดกันฝนแล้ว ส่วนชายคาที่ต่อเนื่องมายังทำหน้าที่เป็นรางน้ำฝนไปในตัวด้วย
มีการเว้นช่องหลังคาไว้ระหว่างตัวอาคารเพื่อให้แสงธรรมชาติส่องผ่านลงมาได้
ชายคายื่นยาวป้องกันแดดและฝนใช้เป็นวัสดุไม้อัดให้ความกลมกลืนไปกับตัวบ้านไม
เพดานชั้นบนเปิดเปลือยให้เห็นโครงสร้างของไม้ในรูปทรงจั่วที่ล้อรับไปกับทรงของหลังคา
ใช้เครื่องปรับอากาศติดเพดานแบบไม่ปิดฝ้าซ่อนไว้ เพื่อต้องการโชว์แนวเพดานไม้สวยๆ และยังช่วยให้ห้องดูโปร่งตา จึงมีการทำกรอบไม้ยึดตัวเครื่องไว้พร้อมกับทำแผ่นไม้วางท่อแอร์ให้ดูกลมกลืนไปกับตัวบ้าน

โดยตัวบ้านไม้ขนาด 2 ชั้นยกใต้ถุนสูงเน้นเปิดผนังชั้นล่างให้โปร่งด้วยกระจกใสในพื้นที่ส่วนร้านคาเฟ่ที่ต้องการเชื่อมมุมมองระหว่างภายนอกกับภายใน ส่วนชั้นบนเป็นห้องพระซึ่งถือว่าเป็นห้องสำคัญของชาวมอญที่จะต้องมี กับห้องนอนที่โปร่งโล่งจัดวางฟูกนอนเรียบง่ายแบบบ้านไทย มีเฟอร์นิเจอร์เพียงน้อยชิ้น เพราะเจ้าของบ้านใช้พักผ่อนเฉพาะช่วงมาเปิดร้านวันเสาร์-อาทิตย์ การมีสเปซโล่ง ๆ จึงช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลายจากชีวิตประจำวันได้ดี

ห้องพระ
หัวใจของบ้านไทยมอญคือห้องพระ ซึ่งทุกบ้านต้องมีไว้และให้ความสำคัญ
ห้องนอน
จากสเปซยาว ๆ ของพื้นที่ชั้นบน มีการยกสเต็ปพื้นเล็กน้อยเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่ของห้องนอนให้ชัดเจน โดยห้องนอนอยู่ในพื้นที่ขนาดยาวแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า เจ้าของตั้งใจให้ดูโล่งด้วยการใช้เพียงฟูกปูนอนกับโต๊ะเล็ก ๆ และทีวีจอแบนอีก 1 ตัว เพื่อให้ได้บรรยากาศเหมือนมาพักผ่อนมากกว่าใช้ชีวิตประจำวัน
ห้องน้ำ
ต่อเนื่องกับห้องนอนเป็นส่วนของห้องน้ำที่ตกแต่งพื้นผนังด้วยไม้เก่ากับหลังคากรุไม้อัดเช่นเดียวกัน ยกเว้นเฉพาะส่วนอาบน้ำที่กั้นเป็นพื้นที่เปียก
ส่วนแต่งตัว
ตกแต่งฟังก์ชันภายในห้องน้ำให้มีทั้งเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้า มุมแต่งตัว และชั้นแขวนเสื้อผ้า โดยใช้วัสดุไม้ทั้งหมด

ไม้เก่าจากอยุธยาข้ามเรือมาถึงเกาะเกร็ด

ไม้เป็นวัสดุหลักสำคัญในการสร้างบ้านหลังนี้ โดยพื้นและผนังเกือบทั้งหมดเป็นไม้สักเก่าจากอยุธยา ภายใต้โครงสร้างไม้เต็งและไม้แดง ทั้งยังบังเอิญเป็นร้านที่คุณเติ้ลเลือกใช้งานเป็นประจำอยู่แล้วด้วย ผนวกกับงานไม้ส่วนกรอบประตูหน้าต่างและตกแต่งอื่น ๆ จากร้านพรพัฒนา ประตูไม้ ซึ่งเป็นร้านของคุณน้าภรรยาของคุณเอก การันตีด้วยผลงานที่เคยลงนิตยสารบ้านและสวนมาแล้ว ช่วยเสริมองค์ประกอบของบ้านไม้ให้สมบูรณ์ได้ตามแบบ เพียงแต่อุปสรรคของการสร้างบ้านไม้บนเกาะเกร็ดนั้นคือเรื่องการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ต้องลำเลียงขึ้นเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและอาศัยแรงคนทยอยขนแผ่นไม้ทั้งหมดมาที่จุดก่อสร้าง จึงใช้เวลาและงบประมาณมากกว่าการสร้างบ้านในทำเลทั่วไป

ระเบียงไม้
ชั้นบนของบ้านเป็นห้องนอน มีระเบียงไม้โปร่งตาให้ออกมานั่งเล่นได้
พื้น ผนัง และบันได เป็นงานไม้สักเก่าทั้งหมด
ลวดลายของไม้เป็นเสน่ห์ที่สร้างความอบอุ่นให้บ้านไม้ โดยพื้นและผนังเกือบทั้งหมดของบ้านนี้เป็นไม้สักเก่าจากอยุธยา ภายใต้โครงสร้างไม้เต็งและไม้แดง
ผนังด้านในกรุด้วยไม้อัดแต่ตั้งใจกลับด้านที่มีลายออกมาโชว์แทนด้านฝั่งเรียบเหมือนที่ใช้กันทั่วไป เพื่อสร้างดีไซน์ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้บ้าน
ผสมผสานภูมิปัญญาเท่ ๆ ของบ้านไม้แบบไทยด้วยผนังฝาไหลที่เลื่อนเปิด-ปิดเพื่อรับแสงและลมให้หมุนเวียนเข้าบ้านได้

เรื่องนี้คุณเอกเล่าให้ฟังว่า “นอกจากปัญหาเรื่องการขนของแล้วยังมีเรื่องน้ำท่วมด้วย ตอนนั้นฝนตกและเรายังไม่มีจุดหลบฝนกันเลย ก็ต้องยกของทุกอย่างหนีน้ำ ส่วนไม้ที่วางไว้ตามพื้นก็มียางออกมาสร้างรอยด่างไปตามพื้นด้านนอกทิ้งร่อยรอยให้เห็น แล้วก็ทำให้การก่อสร้างล่าช้าไปอีก แต่ยังโชคดีที่ผมได้เจอช่างไม้มีฝีมือและถ่ายทอดแบบที่คุณเติ้ลเขียนออกมาได้สวยดังใจ

“ส่วนที่ผมชอบที่สุดก็คือรูปทรงของบ้านที่ดูแปลกตาดี ใครเดินผ่านไปผ่านมาก็มักหยุดถ่ายรูปเสมอ แม้ว่าเส้นทางนี้จะไม่ใช่เส้นทางหลักในการท่องเที่ยวเกาะเกร็ด แต่ก็จะมีคนที่เดินหลงมาหรือปั่นจักรยานมาอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากเส้นทางนี้เป็นเส้นทางสัญจรรอบเกาะเกร็ดเส้นทางใหม่ซึ่งสิ่งปลูกสร้างยังมีอยู่ไม่มาก เราจึงอยากให้บ้านหลังนี้ได้ร่วมต้อนรับผู้คนที่มาเที่ยวเกาะเกร็ด ให้ได้เข้ามานั่งพักผ่อนคลายร้อนก่อนที่จะออกเดินทางไปยังจุดอื่นๆที่น่าสนใจต่อไป”

เจ้าของ : คุณปฐมชัย สุวรรณปิณฑะ

สถาปนิก : Studio Miti โดยคุณเผดิมเกียรติ สุขกันต์


เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, กรานต์ชนก บุญบำรุง

ผู้ช่วยช่างภาพ : กสิณ สนลา

สไตล์ : Suanpuk

บ้านใหม่จาก บ้านไม้ เก่า ยกใต้ถุนสูงอยู่กลางสวนมะพร้าว

บ้านพื้นถิ่นไทย ที่อบอุ่นด้วยงานไม้เก่า