วิธีการดูแลสนามหญ้า ให้หมดปัญหากวนใจ
หากอยากมีสนามหญ้าสีเขียวที่ดูแน่นและนุ่ม ไว้วิ่งเล่นและเพิ่มบรรยากาศในสวนให้สดชื่นอยู่เสมอ โดยไม่มีปัญหามากวนใจ ควรหมั่นดูแลเอาใจใส่ และมี วิธีการดูแลสนามหญ้า อย่างถูกต้อง
ซึ่ง วิธีการดูแลสนามหญ้า อาจพิจารณาจากปัญหาที่มักพบได้ ดังนี้
1.ปัญหาจากวัชพืช
อาการ: มีวัชพืชขึ้นแทรกเป็นหย่อม โดยเฉพาะหญ้าแห้วหมู ซึ่งเป็นวัชพืชพื้นถิ่นที่พบได้ทั่วไป ขึ้นง่าย ตายยาก แพร่พันธุ์เร็ว
การแก้ไข-ดูแล: หลังจากการปรับดินในช่วงก่อนปูหญ้า ควรกำจัดอย่างถอนรากถอนโคน อย่างการถอนและขุด ใช้น้ำร้อนราด หรือไถพรวนดินแล้วตากแดด เพราะการใช้กรรไกรตัดหรือใช้ยาฆ่าหญ้าจะไม่ได้ผลในระยะยาว เนื่องจากจะตายแค่ใบหญ้า แต่ต้นไม่ตาย นอกจากนี้การดูแลให้หญ้าขึ้นเขียวแน่นอยู่เสมอจะเป็นการป้องกันไม่ให้วัชพืชขึ้นแทรกได้อีกทางหนึ่ง
2.ไม่ได้รับแสงแดดเต็มที่
อาการ: มักเกิดจากการปลูกหญ้าในที่ร่ม หรือใต้ต้นไม้ใหญ่ ซึ่งนอกจากหญ้าจะไม่ไดรับแสงแล้ว หญ้าก็จะถูกแย่งอาหารจากต้นไม้ ทำให้สนามหญ้าบริเวณนั้นไม่ขึ้นแน่นสวยงาม
การแก้ไข-ดูแล: บริเวณพื้นที่ร่มหรือใต้ต้นไม้ใหญ่ อาจเลือกปลูกเป็นพืชคลุมดิน-พืชทนร่ม หรือโรยกรวดแทน เนื่องจากบริเวณโคนต้นไม้มักชื้นแฉะและมีดินอัดแน่น
3.ดินทรายกลบผิวหน้า
อาการ: หญ้าจะเหลืองและหยุดการเติบโต
การแก้ไข-ดูแล: ให้เกลี่ยทรายออก ถ้ามีส่วนประกอบของสิ่งทับถมมาก อาจเปลี่ยนดินบริเวณนั้นใหม่
4.ฉี่สุนัข
อาการ: หญ้าจะเปลี่ยนสีเป็นหย่อม เช่น เป็นสีน้ำตาล สีเขียวสด หรือด่างเป็นรอย
การแก้ไข-ดูแล: ใช้น้ำเปล่าล้างคราบรอยฉี่ออกให้ได้มากที่สุด จากนั้นอาจใช้น้ำส้มสายชูผสมน้ำเจือจางมากๆ ฉีดพ่นหรือรดบริเวณที่สุนัขชอบฉี่ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดซ้ำ แต่หากหญ้าบริเวณนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ให้ขุดหญ้าบริเวณนั้นออกแล้วปลูกใหม่
5.ปุ๋ยมากเกินไป
อาการ: หญ้าจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลใบไหม้ ส่วนมากจะเป็นช่วงฤดูร้อนที่ขาดการรดน้ำสม่ำเสมอ
การแก้ไข-ดูแล: รดน้ำให้หญ้าชุ่มสม่ำเสมอ ถ้าเป็นบริเวณที่ได้รับปุ๋ยมากเกินไป ให้ขุดดินบริเวณนั้นออก ใส่ดินชุดใหม่ลงไป และถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการให้ปุ๋ยเคมีในช่วงอากาศร้อนจัด
Tips หญ้านวลน้อย หญ้ามาเลเซีย ให้ปุ๋ยเฉลี่ยปีละประมาณ 2-3 ครั้ง ส่วนหญ้าเบอร์มิวด้าอาจให้ถี่กว่าเล็กน้อย
Tips การคำนวณการให้ปุ๋ย ให้ใช้สัดส่วนปุ๋ย 4 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ รวม 10 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 200 ตารางเมตร
6.ตัดหญ้าสั้นเกินไป
อาการ: จะทำให้รากและต้นได้รับการกระทบกระเทือน หญ้าจะมีลักษณะเหลือง แห้ง บาง และอาจตายในที่สุด
การแก้ไข-ดูแล: ควรตัดหญ้าให้พอเหมาะ ไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป ประมาณหนึ่งในสามของความยาวหญ้า โดยให้ตั้งระดับกรรไกรให้พอเหมาะกับความยาวของใบหญ้าและชนิดของหญ้านั้นๆ และใบมีดที่ตัดควรมีความคมสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้หญ้าช้ำ
7.ปลวก
อาการ: ดินที่มีปลวกอยู่จะหยุ่นยวบ บางทีจะเห็นปลวกไต่ขึ้นมาที่ผิวดิน
การแก้ไข-ดูแล: ขุดดินบริเวณนั้นออก ใส่ยาฆ่าปลวก
8.หญ้าแห้ง เหลือง
อาการ: อาจเกิดจากการขาดน้ำ เช่น การปูหญ้าบนเนินที่มีความลาดชันมากๆ ดินจะไม่อุ้มน้ำ ทำให้รากหญ้าขาดความชื้น รากหญ้าไม่สามารถยึดเกาะกับดิน และตายในที่สุด
การแก้ไข-ดูแล: เนื่องจากหญ้ามีน้ำเป็นองค์ประกอบมากถึง 85% จึงควรรดน้ำให้ชุ่มถึงรากให้สม่ำเสมอทั่วกัน อาจติดสปริงเกลอร์หรือระบบรดน้ำอัตโนมัติ เพื่อช่วยประหยัดเวลาและแรงงาน อย่าทิ้งช่วงการให้น้ำเป็นเวลานาน เพราะเมื่อกลับมาให้น้ำใหม่อีกครั้งอาจเกิดอาการสำลักน้ำได้
Tips วิธีสังเกตสภาพดินให้ขุดหลุมเล็กๆ ลึก 6-8 นิ้ว หลังจากรดน้ำสนามหญ้าประมาณ 1-2 ชั่วโมง หากยังคงเปียกฉ่ำอยู่ แสดงว่าดินอุ้มน้ำเพียงพอ
9.ใบหญ้าขึ้นเป็นดวงมันๆ
อาการ: เหมือนมีไขมันมาจับใบหญ้า เกิดกับสนามที่มีการระบายน้ำไม่ดี ไขมันที่ว่าจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เป็นจุด ทำให้หญ้าตายในที่สุด
การแก้ไข-ดูแล: ให้น้ำหญ้าแต่พอเหมาะในช่วงเช้า ปรับระดับทำทางระบายน้ำเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากดินที่แน่นทึบ เพราะปลูกมานานและไม่มีการพรวนดิน
Tips การพรวนดินให้หญ้าจะอุปกรณ์หรือของแหลมมาเจาะให้เป็นรูๆ เพื่อให้เกิดอากาศ ซึ่งการเจาะรูแบบนี้จะทำให้หญ้ายังคงสวยงาม ไม่เสียความเรียบ และหญ้าจะบดบังรูที่เจาะไว้
10.หญ้าซีด
อาการ: หากมีใบไม้ เปลือกไม้ หรือใบหญ้าที่ตัดไว้ทับถมอยู่จะทำให้หญ้าจะมีสีซีดแห้ง
การแก้ไข-ดูแล: ควรเก็บกวาดเศษใบไม้และเศษหญ้าหลังจากตัดให้เรียบร้อย อย่าใส่ปุ๋ยมากจนเกินไป หรือรดน้ำมากเกินไปในช่วงอากาศร้อน
ติดตาม บ้านและสวน