บ้านไม้กลางทุ่งนา ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ
บ้านไม้กลางทุ่งนา ที่มีความเป็นอีสานผสมล้านนา โดยประยุกต์ฟังก์ชันและองค์ประกอบให้ทันสมัยขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศทุ่งนาที่มองเห็นความสวยงามของธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล
DESIGNER DIRECTORY: ช่างเฮ็ดแบบ
บ้านไม้กลางทุ่งนา หลังนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการของ คุณเป้ เจ้าของบ้านที่มองหาพื้นที่ปลูกบ้านพักผ่อนสำหรับทำกิจกรรมกับครอบครัวและเพื่อนๆ จนมาประทับใจพื้นที่กลางทุ่งนาในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยตั้งใจสร้างบ้านไม้ให้มีกลิ่นอายโมเดิร์นพื้นถิ่นที่ทั้งเติมเต็มความฝันและเป็นไทม์แมชีนพาย้อนกลับไปยังความทรงจำวัยเยาว์ที่เคยใช้ชีวิตอยู่บ้านไม้ รวมถึงปลูกฝังให้ลูกๆ รักและเข้าใจธรรมชาติรอบตัว เพราะการอยู่กับธรรมชาติคือการสร้างสมดุลชีวิต โดยเลือก คุณน๊อต – สุริยา เขาทอง สถาปนิกแห่ง ช่างเฮ็ดแบบ มาเป็นผู้ออกแบบให้
เรือนอีสานผสมล้านนา
จากความประทับใจการอยู่บ้านไม้ในวัยเด็กของเจ้าของบ้านซึ่งมีพื้นเพเดิมอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์ และย้ายมาอยู่จังหวัดเชียงใหม่นานจนหลงรัก จึงกลายเป็นโจทย์ในการออกแบบ บ้านไม้กลางทุ่งนา หลังนี้ “ชอบอยู่บ้านไม้ เพราะเป็นบ้านที่มีเสน่ห์ และชอบงานช่างฝีมือ แต่ไม่ชอบบรรยากาศของบ้านไม้เก่า จึงคุยกับสถาปนิกว่าอยากให้บ้านไม้มีความทันสมัยมากขึ้น ตอบโจทย์การใช้งานปัจจุบัน มีมุมถ่ายรูปหลายๆ มุม มีห้องใต้หลังคาให้เด็กๆ ขึ้นไปเล่นได้ และมีความเป็นอีสานผสมล้านนา” ซึ่งตรงกับความถนัดของสถาปนิกชาวยโสธรในการออกแบบบ้านไม้ ทั้งยังเข้าใจวิถีชีวิตคนอีสานอย่างดี จึงมีกลิ่นอายอีสานที่ทำให้เจ้าของบ้านได้หวนนึกถึงบ้านเกิดอย่างอบอุ่นหัวใจ
กันแดด รับลม ชมวิว
บนที่ดิน 243 ตารางวา เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นท้องนาที่เป็นพื้นที่ชุ่มนํ้าซึ่งมีลำเหมืองผ่านริมที่ดินในการสร้างบ้านจึงขุดบ่อน้ำด้านที่อยู่ใกล้ลำเหมืองเพื่อผันนํ้าเข้ามาในบ่อ ทำให้มีปลาตามธรรมชาติเข้ามาอยู่ในบ่อด้วย แล้วนำดินจากการขุดบ่อมาถมพื้นที่ให้สูงขึ้นประมาณ 1 เมตร และด้วยโจทย์ข้างต้นสถาปนิกจึงออกแบบบ้านพื้นที่ใช้สอยประมาณ 200 ตารางเมตรให้ผสมผสานลักษณะอีสานและความเป็นเชียงใหม่ปัจจุบันเข้าด้วยกัน โดยประยุกต์ฟังก์ชันและองค์ประกอบให้ทันสมัยขึ้น วางผังบ้านให้เปิดรับวิวด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านที่มีวิวสวยที่สุด ด้านทิศตะวันตกซึ่งร้อนที่สุดทำเป็นโรงจอดรถ ส่วนทิศใต้เป็นห้องครัวและห้องนํ้าที่ทั้งช่วยป้องกันความร้อนเข้าบ้าน และใช้ประโยชน์จากแสงแดดสร้างสุขอนามัยที่ดีภายในห้อง
ใช้ทรัพยากรหมุนเวียน
เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ความชื้น จึงออกแบบบ้านยกพื้นสูง โดยทำโครงสร้างพื้นและเสาชั้นล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อความทนทานต่อความชื้นและการใช้งาน ชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ ซึ่งเป็นไม้ที่มาจากการซื้อบ้านไม้เก่าของชาวบ้าน แล้วนำไม้มาปรุงแต่งและประยุกต์ใช้เป็นส่วนต่างๆ จึงยังเห็นร่องรอยของการเข้าไม้แบบพื้นถิ่น ผสมกับการเพิ่มฟังก์ชันและดีเทลสมัยใหม่ เช่น การทำช่องเปิดขนาดใหญ่เพื่อเปิดมุมมองเห็นวิวและรับลม ซึ่งต่างจากบ้านพื้นถิ่นภาคเหนือที่มักทำช่องเปิดขนาดเล็ก เน้นการเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมชุมชน ลดค่าขนส่ง อย่างกระเบื้องวิบูลย์ศรีและอิฐมอญปั้นมือ โดยใช้ทีมช่างสล่าไม้ที่ก่อสร้างตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายในบ้านจัดวางเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบเรียบง่ายซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์เดิมที่มีอยู่แล้ว ในห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหารวางโต๊ะไม้ตัวยาวและที่นั่งตอไม้ซึ่งเป็นไม้ที่มาจากต้นไม้ประธาน ที่ปลูกในพื้นที่บ้านอีกหลังของเจ้าของบ้านแล้วยืนต้นตายเอง จึงนำเนื้อไม้มาแปรรูปให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
อยู่อย่างเข้าใจธรรมชาติ
ความเป็นธรรมชาติมักมีความไม่แน่นอนที่ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ จึงเป็นความตั้งใจของเจ้าของ บ้านไม้กลางทุ่งนา หลังนี้ ที่อยากปลูกฝังให้ลูกได้ซึมซับตั้งแต่ยังเด็ก “อยากสร้างประสบการณ์ในการอยู่กับธรรมชาติให้ลูกทั้ง 2 คน ได้ทำ กิจกรรมและเติบโตกับธรรมชาติ เด็กๆ ก็จะพาเพื่อนมาตกปลา ทำสวนครัว ได้สัมผัสกับธรรมชาติ เรียนรู้ที่จะเฝ้ารอเวลาปรับตัวและเข้าอกเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัว ในขณะเดียวกันแม่ก็ได้ใช้เวลากับเพื่อนๆ ได้ด้วย ซึ่งนอกจากบ้านจะอยู่สบายแล้ว ยังประทับใจในบรรยากาศทุ่งนาที่ในหน้านาก็จะเห็นเป็นทุ่งสีเขียวขจี เห็นการเติบโตและเปลี่ยนแปลง พอหน้าหนาวก็จะกลายเป็นทุ่งสีทองอร่าม เป็นทัศนียภาพที่เกิดจากวิถีชีวิตซึ่งเปลี่ยนไปตามฤดูกาล”
เจ้าของ : คุณรวิษฎาวิมล หฤทรังสรรค์
ออกแบบสถาปัตยกรรม : ช่างเฮ็ดแบบ โดยคุณสุริยา เขาทอง
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส
สไตล์ : Suntreeya