“บ้านเรา” บ้านชนบทสมัยใหม่ ที่ตอบรับจังหวะชีวิตเรียบง่าย
บ้านชนบทสมัยใหม่ ที่หยิบยกความเป็นพื้นถิ่นมาใช้กับองค์ประกอบสำคัญของบ้าน อย่างรูปทรงอาคารที่มีหลังคาเป็นทรงจั่ว เพื่อให้บ้านดูถ่อมตัว ขณะที่ภายในบ้านมีความโมเดิร์นตามวิถีสมัยใหม่ โดยไม่ลืมนำธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิตของคนในบ้านด้วย
DESIGNER DIRECTORY สถาปนิก : Homesook Studio
บ้านชนบทสมัยใหม่ หลังนี้ เป็นของ คุณโอ๋ – วรพล พลสุขเจริญ และ คุณปอ – ปรียาพร พลสุขเจริญ เมื่อจังหวะชีวิตเข้าสู่ช่วงของการย้ายถิ่นฐานและเปลี่ยนจากวิถีคนเมืองสู่วิถีชนบทที่เรียบง่ายในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งสองจึงตัดสินใจสร้างบ้านไว้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว
ด้วยคุณปอเป็นคนท้องถิ่นเดิมจึงมีที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านของคุณแม่ แวดล้อมด้วยธรรมชาติที่สวยงามและมีแม่น้ำไหลผ่านในบริเวณด้านหลัง แน่นอนว่าการออกแบบบ้านในครั้งนี้ต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตที่ผสมผสานระหว่างคนเมืองกับพื้นถิ่นเข้าด้วยกัน จึงได้สองสถาปนิกจาก ฮอมสุข สตูดิโอ (Homesook Studio) คุณรติ จิรานุกรม และคุณทศวีร์ โพคา มาเป็นผู้ออกแบบ โดยมีโจทย์ที่เจ้าของบ้านได้มอบไว้ให้ในตอนต้น คือต้องการสร้างบ้านสองหลังในผืนที่ดินเดียวกันสำหรับอยู่อาศัยของครอบครัว และสำหรับเป็นที่พักโฮมสเตย์ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากวิกฤตของโควิด-19 แผนโฮมสเตย์จึงเป็นอันต้องพับเก็บไป โฮมสเตย์ปรับเปลี่ยนมาเป็นบ้านสำหรับรองรับแขก และคุณพ่อคุณแม่ที่แวะเวียนมาพบปะ ซึ่งทั้งสองสถาปนิกก็สามารถปรับการดีไซน์ไปตามจังหวะชีวิตของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี คุณโอ๋และคุณปอจึงตั้งใจให้นิยามของบ้านหลังนี้ขึ้นมาว่า “บ้านเรา”
“ลม แสงแดด และต้นไม้” องค์ประกอบธรรมชาติที่นำมาใช้ในการออกแบบ
“บ้านเรา” ประกอบด้วยอาคารสองหลัง หลังแรกเป็นบ้านสองชั้นสำหรับอยู่อาศัยของครอบครัว และบ้านชั้นเดียวขนาดกะทัดรัดสำหรับแขกที่แวะมาเยี่ยมเยียน ซึ่งเดิมตั้งใจอยากให้เป็นโฮมสเตย์ บ้านหลังใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหลัก ประกอบด้วยฟังก์ชันการใช้งานที่ครบครัน ตั้งแต่พื้นที่สำหรับนั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร ห้องครัว และห้องนอน
เมื่อเข้ามาภายในบ้านจะพบกับพื้นที่ต้อนรับกึ่งภายนอก-ภายในบริเวณโถงบันไดที่โปร่งโล่งด้วยแสงธรรมชาติลอดผ่านผนัง ซึ่งออกแบบให้เป็นช่องแสงและบานเกล็ดไม้สลับกันเป็นแพตเทิร์นในจังหวะที่สวยงาม มีต้นไม้ในอีกฝั่งหนึ่งเป็นจุดนำสายตาแรกพบของบ้านหลังนี้ โถงบันไดที่ว่าทำหน้าที่แจกจ่ายฟังก์ชันไปยังห้องต่างๆ เมื่อเข้ามาในส่วนห้องนั่งเล่นจะพบว่าพื้นที่นั่งเล่นและรับประทานอาหารไร้ผนังกั้นซึ่งกันและกัน ทั้งสองฟังก์ชันจึงเบลนด์เข้าหากัน ทำให้สะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น
สถาปนิกกล่าวว่าตั้งใจออกแบบให้ฝ้าบริวณนี้เป็นฝ้าสูงหรือดับเบิลสเปซ ผนังด้านข้างทั้งสองฝั่งเลือกใช้เป็นบานเปิดประตูกระจกแทนผนังทึบซึ่งเจ้าของบ้านสามารถเลือกเปิด-ปิด ใช้งานได้ตามความต้องการ ทำให้อากาศไหลเวียนได้สะดวก บรรยากาศภายในห้องจึงดูโปร่งโล่งเหมาะสำหรับเป็นส่วนต้อนรับและพื้นที่นั่งเล่นของครอบครัวได้อย่างดี
“เราตั้งใจออกแบบโดยคำนึงถึงทิศทางของลมและแสงแดดในทุกส่วน เพื่อให้ภายในบ้านดูโปร่ง โถงบันไดออกแบบเป็นพื้นที่กึ่งภายนอก-ภายใน ด้วยการใช้ช่องแสงและหน้าต่างบานเกล็ด เพื่อนำแสงธรรมชาติและลมเข้ามาในบริวณโถง เสมือนพื้นที่หายใจได้ของบ้าน”
เมื่อขึ้นมาชั้น 2 ของตัวบ้านผ่านทางโถงบันได จะพบกับพื้นที่ภายทางเดินกึ่งภายนอกของชั้น 2 ซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนเชื่อมระหว่างห้องนอนกับห้องทำงาน ห้องทำงานแยกตัวออกมาจากส่วนอื่นโดยการใช้ “คอร์ตต้นไม้” ในขนาดพอดิบพอดีที่จะสร้างความเป็นส่วนตัวให้การทำงาน และยังคงมอบความร่มรื่นให้ตัวบ้านอีกด้วย
“เราออกแบบให้ห้องทำงานแยกออกจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ภายในบ้านโดยการใช้ต้นไม้ นอกจากจะได้ความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังสามารถทำงานโดยยังคงใกล้ชิดกับธรรมชาติ และพื้นที่คอร์ตนี้ยังช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชั้นได้ เนื่องจากเปิดมุมมองให้สามารถมองกันได้ผ่านคอร์ตต้นไม้นี้ ซึ่งผมมองว่าสิ่งนี้คือเรื่องราวของงานออกแบบที่ทำให้บ้านมีชีวิตชีวามากขึ้น” สถาปนิกกล่าว
ห้องนอนออกแบบให้พื้นยกต่างระดับขึ้นมาเพื่อแบ่งพื้นที่สำหรับวางฟูกเตียงเพียงเท่านั้น และเปิดมุมมองระเบียงไปยังสวนหลังบ้าน พื้นภายในห้องเลือกใช้เป็นไม้สักจริงทั้งหมดเพื่อให้บรรยากาศภายในบ้านดูอบอุ่น เหมาะสำหรับการพักผ่อนยิ่งขึ้น
หยิบยกองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาใช้ได้อย่างลงตัว
แม้ฟังก์ชันการใช้งานภายในบ้านจะมีความโมเดิร์นตามวิถีสมัยใหม่ของเจ้าของบ้าน แต่สถาปนิกไม่ลืมที่หยิบยกวัสดุพื้นถิ่นมาใช้กับองค์ประกอบสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงอาคารที่มีหลังคาเป็นทรงจั่วแทนการเป็นหลังคาแบนหรือ Flat Slab แบบบ้านโมเดิร์นทั่วไป เพื่อให้บ้านดูถ่อมตัว และนอบน้อมต่อบริบทโดยรอบมากที่สุด
สถาปนิกไม่ได้หยิบจับความเป็นพื้นถิ่นมาเพียงแค่วัสดุเท่านั้น แต่ยังถอดเอกลักษณ์มาตั้งแต่โครงสร้าง จะเห็นได้ว่าแม้พื้นที่ภายในบ้านแลดูมีความโมเดิร์น ทันสมัย แต่ยังคงมีองค์ประกอบความเป็นพื้นถิ่นแทรกตัวอยู่ให้เห็น ตั้งแต่ในส่วนของโครงสร้างหลังคาที่ตั้งใจโชว์แนวจันทันและค้ำยันทแยงไม้ แม้กระทั่งฝ้าก็เลือกโชว์โครงสร้างของพื้นไม้จริงแทน การติดตั้งฝ้าตามปกติ เนื่องจากเนื้อวัสดุไม้มอบความรู้สึกที่นุ่มนวลและมีชีวิตชีวา ทั้งยังสร้างมิติให้ในพื้นที่ภายในบ้าน โดยคงกลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่นเอาไว้ ซึ่งสอดคล้องไปกับความต้องการของเจ้าของบ้านที่หลงใหลในวิถีพื้นถิ่นเช่นกัน
“แรงบันดาลใจในการเลือกใช้วัสดุของบ้านหลังนี้มาจากบ้านหลังเก่าในพื้นที่เดิมซึ่งถูกรื้อถอนออกไป แต่เรายังคงเลือกเก็บลักษณะและวัสดุของบ้านเดิมไว้ โดยนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบ้านหลังใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่างแบบบานเกล็ด ผนังก่ออิฐ และไม้ โดยนำวัสดุทั้งหมดมาจัดเรียง หาจังหวะการใช้วัสดุใหม่ให้สอดคล้องกับจังหวะชีวิตของผู้อยู่อาศัย”
แน่นอนว่าถ้าผนังบ้านใช้วัสดุเป็นฉาบปูนทาสีตามปกติ จะมอบความรู้สึกที่ดูเรียบง่าย ทันสมัย แต่สิ่งที่น่าสนใจของการออกแบบบ้านหลังนี้คือการนำวัสดุในท้องถิ่นมาผสมผสานเพื่อบอกเล่าเรื่องราวดั้งเดิมผ่านตัวบ้าน สถาปนิกจึงมีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ผนังปูนเรียบๆ ธรรรมดาเหล่านี้ดูมีมิติและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น การออกแบบรูปด้านอาคารของบ้านหลังนี้จึงน่าสนใจมากทีเดียว เราจะเห็นว่ามีลูกเล่นของวัสดุหลากหลายชนิดผสมปะปนกันไปอย่างลงตัว โดยไม่ละทิ้งความทันสมัยและความเป็นพื้นถิ่นไป
“หน้าตาอาคารของบ้านหลังใหญ่มีการใช้วัสดุหลากหลาย เราออกแบบให้ผนังมีการใช้วัสดุไม้สลับปูน ไม้สลับกับผนังก่ออิฐโชว์แนว เพื่อให้บ้านดูมีมิติยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความตั้งใจของเจ้าของบ้านเองด้วยที่อยากให้บ้านมีลูกเล่นของวัสดุ รวมไปถึงการนำรูปทรงวงกลมเข้ามาใช้เพื่อลดทอนความชะลูดของตัวบ้านอีกด้วย”
เราจะเห็นว่า “เหล็ก” ก็เป็นอีกวัสดุหนึ่งที่สถาปนิกหยิบยกมาใช้ในการออกแบบเพื่อยังคงความโมเดิร์นเอาไว้ “บานประตูครัว และราวกันตกเลือกใช้เป็นเหล็กเนื่องจากคำนึงถึงความแข็งแรง และการใช้เหล็กแทนไม้ในบางส่วนนั้นยังช่วยให้สเปซมีความโปร่ง เบา ทั้งยังช่วยสร้างเส้นสายที่ทันสมัยอีกด้วย”
จากโฮมสเตย์สู่บ้านที่ออกแบบโดยคำนึงถึงถึงความเรียบง่ายมากที่สุด
เมื่อแผนโฮมสเตย์พับเก็บไป พื้นที่ของบ้านหลังเล็กจึงออกแบบให้มีความเรียบง่ายมากที่สุดสำหรับรองรับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูงที่แวะเวียนมาพบปะเท่านั้น แปลนของบ้านหลังนี้จึงมีลักษณะเปิดโล่ง ค่อนข้างยืดหยุ่น ฟังก์ชันหลักรวมพื้นที่นั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร และเตรียมอาหารเข้าไว้ด้วยกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีห้องครัวจริงจัง เนื่องจากฟังก์ชันห้องครัวในบ้านหลังใหญ่นั้นสามารถรองรับได้อย่างครบครัน ห้องน้ำเพียงหนึ่งห้องจึงเพียงพอต่อ ความต้องการใช้งานที่ไม่บ่อยครั้งนัก
ห้องนั่งเล่นของบ้านหลังนี้จึงมีความกึ่งอเนกประสงค์มากกว่าจะเป็นเพียงห้องนั่งเล่นเท่านั้น สถาปนิกออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนสเปซสำหรับใช้งานอื่นๆ ได้ตามโอกาส ชั้นวางหนังสือที่ตระเตรียมไว้จึงทำให้ห้องนั่งเล่นของหลังนี้ กลายเป็นพื้นที่สำหรับนั่งอ่านหนังสือได้เช่นกัน
แน่นอนว่าภาษาในการออกแบบของบ้านหลังนี้ยังคงถอดลักษณะมาจากบ้านหลังใหญ่ ด้วยความที่บ้านมีเพียงหนึ่งชั้น สถาปนิกจึงออกแบบให้อาคารลดทอนขนาดลง ด้วยการแยกพื้นที่ระเบียงออกจากตัวบ้านหลัก หลังคาของอาคารหลังนี้จึงแบ่งออกเป็นสองส่วน ทำให้สัดส่วนบ้านดูมีขนาดพอดิบพอดีไม่เทอะทะมากจนเกินไป
“บ้านหลังเล็กหรือบ้านสำหรับให้แขกมาพักมีโจทย์สำคัญคือต้องก่อสร้างให้เร็ว เนื่องจากเป็นช่วงหลังสถานการณ์โควิด -19 การออกแบบจึงต้องการความเรียบง่ายมากที่สุด แปลนของบ้านหลังนี้จึงมีลักษณะโอเพ่นแปลน เราจึงต้องหาลูกเล่นมาหยอดเพิ่มเติม โดยหยิบภาษาพื้นถิ่นอย่างชานบ้านมาใช้ในการออกแบบเพื่อช่วยลดทอนขนาดของอาคาร และให้ชานบ้านทำหน้าที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อไปยังบ้านหลักอีกด้วย”
จังหวะชีวิตที่เชื่อมต่อเข้าหากันผ่านพื้นที่ภายในและภายนอก
สถาปนิกออกแบบให้บ้านทั้งสองหลังเชื่อมต่อกันด้วยคอร์ตยาร์ดตรงกลาง เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียว ได้อย่างเต็มที่ ทั้งสองอาคารจึงออกแบบให้เปิดมุมมองเข้าหาคอร์ตยาร์ดด้วยการใช้บานเปิดกระจกเต็มบานในอาคารหลัง ใหญ่ และการออกแบบให้มีพื้นที่ชานบริเวณหน้าบ้านของอาคารหลังเล็ก ทั้งสองหลังจึงสามารถใกล้ชิดต้นไม้และ ธรรมชาติที่ร่มรื่น ทั้งยังมองเห็นซึ่งกันและกัน เกิดเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ขึ้นอีกด้วย
“ห้องนั่งเล่น – คอร์ตยาร์ด – ห้องนั่งเล่น คือส่วนที่เราตั้งใจออกแบบให้มีการเชื่อมต่อระหว่างสามพื้นที่นี้ โดยมีคอร์ตยาร์ดเป็นพื้นที่ภายนอกที่ไหลเวียนเข้าไปยังพื้นที่ภายในผ่านมุมมองทางสายตาและเป็นสวนที่ให้ทุกคนสามารถมานั่งเล่นรับลมได้ โดยมองเห็นกันและกัน เช่นเดียวกับการออกแบบพื้นที่ภายในบ้านที่ตั้งใจให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ ภายนอก – ภายใน และระหว่างผู้อยู่อาศัยด้วยกัน คือหัวใจสำคัญของบ้านหลังนี้”
สวนบริเวณหลังบ้านซึ่งติดเว้นไว้ให้ธรรมชาติได้เติบโต และเป็นพื้นที่เล่นสนุกของลูกๆ พื้นที่ด้านหลังนี้ติดกับแม่น้ำที่ไหลผ่าน จึงมีเพียงต้นไม้ใบหญ้า ไม่มีการออกแบบอาคารเข้าไปข้องเกี่ยว แต่ตั้งใจเว้นไว้เป็นพื้นที่ปลูกผักและสนามเด็กเล่น ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องเล่น ต้นไม้ สวนผักมาช่วยเพิ่มความชีวิตชีวาให้บ้านหลังนี้
ด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย ไม่หวือหวา และยังคงลูกเล่นภาษาจากพื้นถิ่นมาใช้ ทำให้ “บ้านเรา” หลังนี้ไม่แสดงตัวโดดเด่นมากจนเกินไป แต่ก็ไม่เรียบง่ายเสียทีเดียว บรรยากาศภายในบ้านมีความทันสมัยและสอดแทรกกลิ่นอายที่คุ้นเคยในอดีต โดยไม่ลืมที่จะนำธรรมชาติที่มีอยู่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิตของคนในบ้าน “บ้านเรา” จึงเป็นบ้านที่มีชีวิตชีวา ใกล้ชิดธรรมชาติ ปลอดโปร่ง และอยู่สบายสำหรับครอบครัวซึ่งสะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้านที่ตั้งใจนิยามบ้านหลังนี้ออกมาได้อย่างดี
เจ้าของ : คุณวรพล พลสุขเจริญ และคุณปรียาพร พลสุขเจริญ
ออกแบบสถาปัตยกรรม – ออกแบบตกแต่งภายใน : ฮอมสุข สตูดิโอ (Homesook Studio)
เรื่อง : Nantagan
ภาพ : รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ