ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ชีวิตนี้ชะตาลิขิต หนังสือชีวประวัติของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้ถวายงานสนองเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จวบจนถึงปัจจุบัน
ตลอดช่วงชีวิตกว่า 36 ปี ในประสบการณ์ทำงาน อาจารย์พูดเสมอว่าตนเองมีแต่“ได้รับ” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ทุกอย่าง ทั้งพระเมตตา ความใส่ใจดูแลในข้าราชบริพาน แบบอย่างในการเป็นหัวหน้า นายคน จนถึงสรรพวิชาความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่พระองค์ทรงทำให้ชายผู้หนึ่งซึ่งไม่เคยมีความรู้เรื่องดิน น้ำ ลมฟ้า อากาศ ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญได้โดยละมุนละม่อม ชีวิตนี้ชะตาลิขิต
เมื่อคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานรุ่น ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ นพย. เรียนอาจารย์สุเมธว่า อยากทำหนังสือชีวประวัติของอาจารย์ ผู้เป็นครูใหญ่ของ นพย. อาจารย์สุเมธ จึงขอพระราชทานพระราชานุญาต สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์และประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อจัดพิมพ์หนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต” และมอบให้เป็นลิขสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนาและรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือมอบสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา
หนังสือแบ่งบทต่างๆ ออกเป็น 7 รอบนักษัตร หรือ 84 ปี ตั้งแต่เกิด วัยเยาว์ การศึกษา การเดินทางสู่โลกกว้าง และกลับมารับใช้แผ่นดินด้วยการพัฒนา ซึ่งสาเหตุที่แบ่งเป็น 7 รอบนักษัตร นอกจากจะตรงกับช่วงอายุของอาจารย์แล้ว อาจารย์ยังกล่าวว่า “ชีวิตผมเปลี่ยนแปลงทุกๆ 12 ปี” และเล่าชีวิตที่มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี เพราะชีวิตคนเราจะมีแต่เรื่องดีอย่างเดียวมิได้ วันร้ายก็ต้องมีด้วย เพราะนี่คือ ชีวิตจริง
หนังสือ ชีวิตนี้ชะตาลิขิต แบ่งเนื้อหาเป็น 7 บท ตาม 7 รอบนักษัตร คือ
รอบนักษัตรที่ 1 (พุทธศักราช 2482 – 2494) วัยเยาว์รสหวานปนขม : ช่วงชีวิตวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงก่อนวัยเรียน ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยด้วยร่างกายที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงนักและครอบครัวแตกแยก
รอบนักษัตรที่ 2 (พุทธศักราช 2494 – 2506) เปิดประตููสู่โลกกว้าง : ช่วงชีวิตวัยเรียนที่ต้องเดินทางเพื่อศึกษาต่อในหลายประเทศเนื่องจากเกิดภัยสงคราม
รอบนักษัตรที่ 3 (พุทธศักราช 2506 – 2518) กลับสู่มาตุภูมิ : ช่วงชีวิตของการทำงานในประเทศไทย เริ่มรับราชการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพทั้ง 4 ภาค และจุดเริ่มต้นชีวิตกลางสนามรบ
รอบนักษัตรที่ 4 (พุทธศักราช 2518 – 2530) รอนแรมในสมรภูมิ : ดำรงตำแหน่งเลขานุการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานเลขานุการ กปร.) และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจในสภาพัฒน์ไปพร้อมกัน ชีวิตการทำงานที่ต้องวางแผนรับมือสงครามและปฏิบัติงานในสนามรบจริงถึง 11 ปี และเริ่มต้นการเป็นนักเรียนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยาวนานถึง 35 ปี
รอบนักษัตรที่ 5 (พุทธศักราช 2530 – 2542) ถวายงานด้านการพัฒนา : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.สุเมธ เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นช่วงของการดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมกับเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ชีวิตการทำงานแบบซี 22
รอบนักษัตรที่ 6 (พุทธศักราช 2542 – 2554) รางวัลแห่งชีวิต : ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และการทำงานอย่างไม่มีวันเกษียณ
รอบนักษัตรที่ 7 (พุทธศักราช 2554 – 2566) ฝากไว้ให้สานต่อ : ดร.สุเมธ เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานสถานการณ์ต่างๆ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ โรงพยาบาลศิริราชครั้งสุดท้ายและรับสั่งว่า “สุเมธ งานยังไม่เสร็จนะ”
หนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” จะจำหน่ายอย่างเป็นทางการในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานและทรงซื้อหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” เล่มแรกที่วางจำหน่าย ในวันที่ 28 มีนาคม 2567 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อ ดร.สุเมธ อย่างหาที่สุดมิได้
หนังสือ ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล จะมีวางจำหน่ายที่ ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ได้แก่ ร้านนายอินทร์ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ (SE-ED Book Center) บีทูเอส (B2S) คิโนะคูนิยะ (Kinokuniya) และเอเซียบุ๊คส (Asia Books)
ร้านภัทรพัฒน์
– สำนักงานใหญ่ สนามเสือป่า
– สาขาพระราม 8
– สาขาโครงการชัยพัฒนาประชาเกษม
– สาขาเดอะพาซิโอ ทาวน์
– สาขาพระราม 9
– สาขาไอคอนสยาม
– สาขา ปตท. ทางด่วนบางนาขาออก
– สาขาบองมาร์เช่
– สาขา ปตท. วิภาวดี 62
ร้านมูลนิธิชัยพัฒนา สาขาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย