ไอเดียสวนไทยมินิมัล จากภาพจำของมุมสวนยอดนิยมในอดีต - บ้านและสวน

ไอเดียสวนไทยมินิมัล จากภาพจำของมุมสวนยอดนิยมในอดีต

ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ภาพของ “สวน” มีการเปลี่ยนแปลงไปในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากมีการปรับหน้าตาของสวนให้สวยงามเข้ากับยุคสมัย และประโยชน์ใช้สอยให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น

บ้านและสวน จึงอยากชวนทุกคนมาย้อนดูภาพจำของมุมสวนยอดนิยมในอดีต พร้อมแนะนำวิธีและตัวอย่างการประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสวนสมัยใหม่ เป็น ไอเดียสวนไทยมินิมัล โดยยังคงเสน่ห์และกลิ่นอายของสวนแบบไทย ๆ ที่จะทำให้รุ่นย่ารุ่นยายกับรุ่นลูกรุ่นหลานอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว 

บ่อบัว

บ่อบัวในปัจจุบันถูกนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานฮาร์ดสเคปและการออกแบบของสถาปัตยกรรม โดยจะมีการลดทอนรายละเอียดจากเดิมลง มีการกำหนดขนาดที่ดูพอดีกับพื้นที่ว่าง เน้นความสวยงามของภาพรวมให้ดูสวยงามกลมกลืน เป็นระเบียบ และสบายตามากขึ้น

ไอเดียสวนไทยมินิมัล

การใช้งาน: สร้างความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติกับงานสถาปัตยกรรมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน หรือช่วยเสริมความโดดเด่นและสภาวะน่าสบายในแก่บ้านไปจนถึงอาคารที่อยู่อาศัย

วัสดุที่ใช้: ใช้วัสดุที่เรียบง่ายอย่างใดอย่างหนึ่งหรือน้อยอย่าง เพื่อสร้างบ่อบัว เช่น อิฐ หิน ไม้ หรือกระเบื้อง พร้อมทั้งคุมโทนสีของวัสดุให้เรียบง่าย คำนึงถึงความสบายตา ความเข้ากันได้ดีกับโทนสีของอาคารและการตกแต่งบ้าน

การตกแต่ง: เน้นองค์ประกอบที่น้อย ไม่มีการเพิ่ม ประดิษฐ์ หรือตกแต่งมากเกินไป เพื่อให้ยังคงความงดงามและความสง่างามของวัสดุเดิมไว้ ส่วนพรรณไม้จะเลือกใช้ชนิดที่มีฟอร์มสวย ชัดเจน แต่น้อยชนิด

ภาพจำของมุมสวนที่เป็นแรงบันดาลใจ: บ่อบัวในบ้านมักจะมีขนาด และรูปทรงขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่างภายในบ้าน เช่น หากบ้านที่มีพื้นที่กว้างขวาง อาจเลือกเป็นบ่อบัวขนาดใหญ่รูปทรงฟรีฟอร์ม หรือในบ้านที่มีขนาดจำกัดอาจเลือกเป็นบ่อบัวสำเร็จรูปขนาดเล็ก

ทางเดินในสวน

ทางเดินใช้เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ต่าง ๆ ในสวนเข้าด้วยกัน เช่น สวนดอกไม้ บริเวณนั่งพักผ่อน และพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ มักมีการออกแบบให้มีเส้นทางและขอบทางที่ชัดเจน โดยใช้เส้นตรงหรือเส้นโค้งเล็กน้อย เน้นความเรียบง่ายและคล่องตัว มักมีการออกแบบเส้นสายของทางเดินให้สวยงามและสอดคล้องกับมุมมองมากขึ้น บางครั้งอาจออกแบบมาพร้อมกับงานอาคาร เพื่อสร้างลักษณะทางเดินที่ดูสะอาดและคงทน

ไอเดียสวนไทยมินิมัล

วัสดุที่ใช้:  วัสดุที่ใช้สร้างทางเดินในสวนสมัยก่อนมักเป็นวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่มีความเป็นธรรมชาติ เช่น กระเบื้อง ไม้ หิน หรืออิฐ ที่เป็นไปได้ในพื้นที่นั้น ๆ โดยไม่มีการปรับแต่งมากนัก หรือบางครั้งอาจมีการผสมผสานของวัสดุที่มีในบ้านรวม ๆ กัน จึงเกิดเป็นความหลากหลายมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่มีแพตเทิร์นตายตัว

การตกแต่ง: ด้านข้างของทางเดินตกแต่งด้วยพรรณไม้นาน ๆ ชนิด ในรูปแบบของสวนที่มีความเป็นธรรมชาติ และอาจมีการติดตั้งเสาไฟ เพื่อเพิ่มการมองเห็นและความปลอดภัยในการใช้งานยามค่ำคืน บริเวณปลายทางเดินอาจมีประตูรั้วขนาดเล็ก มีเสาและการตกแต่งบนหัวเสาเป็นกระถางหรือตุ๊กตาปูนปั้น

ภาพจำของมุมสวนที่เป็นแรงบันดาลใจ: วัสดุที่ใช้สร้างทางเดินในสวนสมัยก่อนมักเป็นวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่มีความเป็นธรรมชาติ เช่น กระเบื้อง ไม้ หิน หรืออิฐ ที่เป็นไปได้ในพื้นที่นั้น ๆ โดยไม่มีการปรับแต่งมากนัก หรือบางครั้งอาจมีการผสมผสานของวัสดุที่มีในบ้านรวม ๆ กัน จึงเกิดเป็นความหลากหลายมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่มีแพตเทิร์นตายตัว

ศาลาและซุ้มที่นั่ง

ไอเดียสวนไทยมินิมัล มักมีลักษณะที่เรียบง่าย โดยออกแบบเน้นความสะดวกสบายและความสมดุลของพื้นที่ ไม่มีการใช้ลวดลายที่ซับซ้อนมากนัก รูปทรงและโครงสร้างอาจเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่เรียบง่าย ไม่ทึบตัน ดูเบาบางสบาย เข้ากับองค์ประกอบของบ้านและสวน

ไอเดียสวนไทยมินิมัล

การใช้งาน: มักออกแบบให้เหมาะสมสำหรับการพักผ่อนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อ่านหนังสือ ทำสมาธิ หรือนั่งจิบชา นอกจากนี้ยังอาจมีการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน เช่น เตาพิซซ่า ชั้นวางของ หรือชิงช้า แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวของพื้นที่

วัสดุที่ใช้: มักใช้วัสดุที่เรียบง่ายและทนทาน เช่น ไม้ หิน และเหล็ก คุมโทนสีให้เรียบง่าย เช่น สีไม้ สีขาว สีดำ หรือสีเทา แต่บางครั้งอาจมีการใช้วัสดุที่ใส่สีให้โครงสร้างเพื่อเพิ่มความสดใสและความโดดเด่นมากขึ้นได้

การตกแต่ง: นอกจากการตกแต่งแบบบิลท์อินที่มีความเรียบง่ายในพื้นที่แล้ว ยังอาจเพิ่มเฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน สำหรับกิจกรรมที่แตกต่างกัน

ภาพจำของมุมสวนที่เป็นแรงบันดาลใจ: ศาลาและซุ้มที่นั่งยอดนิยมในอดีตมักมีกลิ่นอายของความเป็นไทย มีการนำวัสดุ เช่น ไม้เก่า ล้อเกวียน มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน

แปลงผัก

แปลงผักในปัจจุบันมักมีการออกแบบให้เป็นไปตามพื้นที่ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ มีการคำนึงถึงความสวยงามมากขึ้น ลดข้อจำกัดหรือแนวคิดเดิม ๆ ลง รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยในการเพาะปลูก เช่น แปลงผักแนวตั้ง (Vertical Gardening) ระบบไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) หรือระบบรดน้ำอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ สามารแก้ไขข้อจำกัดของพื้นที่และสภาพอากาศได้

ไอเดียสวนไทยมินิมัล

การใช้งาน: นอกจากความสวยงามของพื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว การปลูกผักเพื่อการบริโภคก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการปลูกที่เน้นการดูแลแบบอินทรีย์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สะอาดและดีต่อสุขภาพ

วัสดุที่ใช้: มีความแตกต่างหลากหลาย มักใช้วัสดุที่ทนทานและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีการใส่ไอเดียเพิ่มเติมเพื่อทำให้แปลงผักสวย หรือมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น เช่น ยกระดับความสูงให้เป็นโต๊ะปลูกผักสำหรับผู้สูงอายุ หรือแปลงปลูกระดับความสูง 40-50 เซนติเมตร สามารถใช้ริมขอบแปลงเป็นพื้นที่นั่งเล่นได้

ภาพจำของมุมสวนที่เป็นแรงบันดาลใจ: แปลงผักมักถูกซ่อนอยู่ข้างบ้านหรือหลังบ้าน ไม่ค่อยเอาออกมาโชว์ เนื่องจากแปลงผักในสมัยก่อนมักจะเน้นการปลูกเพื่อเป็นแหล่งอาหารของครัวเรือน ปลูกผักที่ใช้ในการทำอาหารประจำวัน เช่น ผักสลัด คะน้า ผักกาดขาว และผักต่าง ๆ อาจมีการขายหรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านบ้าง แต่จะไม่ได้ถูกออกแบบหรือคำนึงถึงความสวยงามมากนัก