บ้านสวนริมน้ำ ที่โอบล้อมด้วยแมกไม้สีเขียว
บ้านสวนริมน้ำ ฝันที่เป็นจริงของผู้ชื่นชอบการนั่งมองน้ำท่ามกลางแมกไม้เงียบสงบ บนผืนดิน 12 ไร่ที่ออกแบบบ้านให้กลมกลืนไปกับระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ จนกลายเป็นที่ชื่นชอบของสัตว์เลี้ยง และเป็นที่พักอาศัยของสัตว์ในธรรมชาติ
Design Directory : สถาปนิก : EKAR Architects
ด้วยวัตถุดิบตั้งต้นของบ้านหลังนี้ไม่ได้อยู่ที่สไตล์บ้าน แต่เป็นขนาด งบประมาณ และโจทย์การอยู่อาศัยผ่านเรื่องราวของครอบครัวที่ค่อยๆ เผยออกมาจากการพูดคุยพบปะกันแต่ละครั้ง ทำให้เจ้าของ บ้านตัดสินใจให้ คุณหนึ่ง – เอกภาพ ดวงแก้ว แห่ง EKAR Architects เป็นผู้ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน และออกแบบชีวิตของทั้งครอบครัวไว้ใน บ้านสวนริมน้ำ หลังนี้
บ้าน สวน (ริม) น้ำ
โจทย์ใหญ่ของครอบครัวซึ่งประกอบด้วยคุณพ่อ คุณแม่ อากง และลูกชายอีกสามคน กับการใช้ชีวิตในบ้านหลังใหม่ คือการมีพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคนที่จะได้ใช้ชีวิตในรูปแบบของตัวเอง โดยที่ยังคงความอบอุ่นสนิทสนมเอาไว้เหมือนครั้งยังอยู่ร่วมกันในบ้านเดิม ผนวกเข้ากับฮวงจุ้ย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแกนหลักในการออกแบบ นำมาสู่ตำแหน่งหลักของบ้านที่หันหน้าออกสู่ผืนน้ำ ไล่เรียงขึ้นไปตามทรงของหลังคาบ้าน ซึ่งเปรียบเสมือนภูเขาที่อิงอยู่ด้านหลัง
ที่มาของ บ้านสวนริมน้ำ นั้นเริ่มต้นจากคำเรียบๆ ของคุณพ่อ “ผมชอบนั่งมองน้ำ” เนื่องจากภายใต้เหตุผลต่างๆ ตลอดชีวิตการทำงานหลายปี สิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจเสมอมา คือจิตวิญญาณของการได้อยู่กับสิ่งที่รัก ซึ่งสำคัญมากพอที่จะอุทิศผืนดิน 12 ไร่ และปรับแบบจากสระน้ำประดิษฐ์ขนาดพอเหมาะกับบ้าน มาสู่ผืนน้ำกว้างใหญ่ท่ามกลางธรรมชาติที่เพียงได้นั่งมองก็เป็นสุข และเมื่อรวมเข้ากับความสุขของคุณแม่ ในการทำอาหารเพื่อดูแลคนในครอบครัวด้วยผักในสวนที่ปลูกเอง ความหลงใหลในปลาคาร์ปและการทดลองสูตรเครื่องดื่มใหม่ของลูกชาย บ้านหลังนี้จึงเต็มไปด้วยรายละเอียดมุมเล็กมุมน้อยในแบบที่เป็นตัวเอง และพื้นที่แห่งความอบอุ่นที่ยังคงกลิ่นอายการอยู่ร่วมกันสมัยอยู่ในบ้านเดิมได้เสมอ
ศาลาใจบ้าน เชื่อมความอบอุ่นใน บ้านสวนริมน้ำ
กลิ่นอายของระเบียงในบ้านหลังเดิมที่ทุกคนมักนั่งคุยกันก่อนเข้าบ้าน สถาปนิกนำมาไว้ในส่วนศาลาเชื่อมระหว่างบ้านพ่อแม่กับลูกๆ ซึ่งประเด็นสำคัญของการเข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกันไม่ได้อยู่เพียงแค่การออกแบบศาลาที่น่าใช้งาน แต่คือการออกแบบฟังก์ชันในบ้านส่งเสริมให้คนอยากไปนั่งรวมกัน ที่ศาลามากกว่าอยู่แต่ในบ้านของตัวเองด้วย
การออกแบบ บ้านสวนริมน้ำ สถาปนิกจึงออกแบบบ้านส่วนตัวของลูกๆ ให้มีฟังก์ชันพื้นฐานเพียงพอกับการใช้งานหลัก ส่วนที่จะทำให้กลายเป็นบ้านที่สมบูรณ์พร้อม อย่างห้องนั่งเล่นรวมและครัวไทยจะมีอยู่แค่ที่บ้านหลักของคุณพ่อคุณแม่ ทำให้ในแต่ละวันถึงทุกคนจะมีงานล้นมือ ก็จะมีช่วงหนึ่งของวันสำหรับการนั่งพักผ่อนและรับประทานอาหารร่วมกันในบ้านกลางเสมอ ด้วยการไปมาหาสู่ระหว่างบ้านผ่านศาลาที่สถาปนิกตั้งชื่อ ให้ว่า “ศาลาใจบ้าน”
ออกแบบบ้านให้สัมผัสธรรมชาติได้
จากความต้องการอยู่กับน้ำ สถาปนิกจึงออกแบบประสบการณ์ใน บ้านสวนริมน้ำ ให้มากกว่าการได้นั่งมองวิวจากระยะไกล โดยออกแบบสะพานไม้ลาดยาวลงเชื่อมลงสู่น้ำ เพื่อให้สัมผัสและอยู่ร่วมกับน้ำอย่างกลมกลืนไร้ขอบเขต ซึ่งนอกจากเป็นท่าสำหรับผูกเรือแล้ว ยังเป็นทางสัญจรของเป็ดที่มาเล่นน้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มาอาศัยตามธรรมชาติ รวมถึงปลาน้ำตื้นซึ่งมักจะมาว่ายเวียนบริเวณทางลาดใต้น้ำ เมื่อยืนอยู่ที่ท่าน้ำนิ่งๆ ให้น้ำปริ่มเท้าสักพัก จะรู้สึกถึงได้แรงตอดจากเหล่าปลาเล็กปลาน้อย ชวนให้นึกถึง ช่วงเวลาเมื่อเที่ยวตามริมน้ำธรรมชาติสมัยเด็ก
การสัมผัสน้ำขยายออกไปจนถึงน้ำฝนที่ไหลผ่านไปยังชายคา ซึ่งสถาปนิกออกแบบรางรับน้ำฝนขึ้นใหม่ เพื่อชะลอน้ำฝนเร็วแรงให้กลายเป็นหยดน้ำฝนละมุน ที่สามารถยื่นมือออกไปสัมผัสน้ำจากผืนฟ้าได้ในศาลากลางบ้านของเราเอง
ออกแบบระบบนิเวศที่เป็นมิตรกับสัตว์ทุกชนิด
แรกเริ่มของการก่อสร้าง ขอบเขตที่ดินของบ้านอยู่ติดกับแนวเขตน้ำของสวนหลวง ร.9 แต่วิวน้ำธรรมชาติที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของนั้นไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะคงอยู่เป็นน้ำตลอดไป อาจพัฒนาไปเป็นผืนดินหรืออาคารในวันใดวันหนึ่งก็ได้ อย่างที่เจ้าของเคยพูดไว้ว่า “อย่าไปคิดว่าน้ำจะเป็นน้ำไปตลอด สักวันหนึ่งน้ำนั้นอาจกลายเป็นดิน” จึงเป็นที่มาของการขยายที่ดินและขุดสระน้ำกว้างใหญ่ภายในบริเวณบ้าน
สระน้ำของบ้านที่ขุดใหม่ใช้ระบบกักเก็บน้ำอย่างบ่อธรรมชาติเพื่อเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์ของสวนหลวง ร.9 ปูแผ่นกันซึมที่ก้นสระเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและปลูกพืชน้ำ ทำระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Natural Pond รวมถึงออกแบบงานภูมิทัศน์โดยรอบเพื่อเอื้อให้เกิดนิเวศของสัตว์และแมลงที่ดูแลกันเอง ซึ่งในช่วงแรกที่ทำบ่อนั้นต้องอาศัยการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ระบบนิเวศของทั้งสองสวนก็เชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกันไปโดยปริยาย
การออกแบบบ้านเพื่ออยู่กับธรรมชาติอย่างบ้านหลังนี้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่างานออกแบบ สามารถสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และเติมเต็มจิตวิญญาณด้วยการร้อยเรียงมนุษย์ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง โดยที่ยังคงคุณภาพชีวิตที่ดีเอาไว้ได้
ออกแบบสถาปัตยกรรม : EKAR Architects โดยคุณเอกภาพ ดวงแก้ว
ตกแต่งภายใน : DoubleVSpace Interior Studio
ภูมิสถาปัตยกรรม : TK studio
เรื่อง : ณัฐวรา
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส, ธนายุต วิลาทัน และกรานต์ชนก บุญบำรุง
สไตล์ : Suanpuk
สถานที่ : กรุงเทพมหานคร