พื้นที่ชีวิตขนาดพอเหมาะพอดีของท็อป-นุ่น
เพราะต้องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องเร่งรีบ คุณท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และคุณนุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา จึงเลือก แต่งคอนโด ให้เป็นบ้านสำหรับชีวิตคู่ เพื่อสามารถเดินทางไปทำงานได้ภายใน 8 นาที!
ทุกๆ เช้าขณะที่ใครหลายคนกำลังเร่งรีบเดินทางออกจากบ้านไปทำงาน ถนนหลายสายคลาคล่ำไปด้วยการจราจรที่แน่นขนัด เพราะทุกคนล้วนอยากถึงจุดหมายปลายทางกันให้ทันเวลา แต่ที่ระเบียงคอนโดย่านสุขุมวิท โซนที่ขึ้นชื่อว่ารถติดหนักที่สุดในเมือง คุณท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และคุณนุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ยังละเมียดอยู่กับกาแฟแก้วแรกของวัน ดื่มด่ำความสดชื่นยามเช้าอย่างเนิบช้าจากระเบียงริมห้องนั่งเล่นของตัวเอง เพราะนี่คือชีวิตที่ไม่เร่งรีบ และเป็นวิถีชีวิตที่ทั้งคู่เลือกแล้ว ด้วยการเลือก แต่งคอนโด ให้เป็นที่อยู่อาศัยให้ใกล้กับที่ทำงานในระยะการเดินเพียง 8 นาทีเท่านั้น
ขนาดพอดีสำหรับชีวิตคู่
“หลังแต่งงานแล้วเราอยู่บ้านตรงแถวรัชดา-สุทธิสารมาตลอด แต่เวลาขับรถมาทำงานเจอรถติดอยู่ชั่วโมงครึ่ง รู้สึกไม่ชอบชีวิตแบบนั้นเลย ก็เริ่มมองหาคอนโดใกล้ที่ทำงานและใกล้สถานีรถไฟฟ้า ทั้งหมดเลือกจากพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของเราจริงๆ ถึงกับลิสต์รายการเลยว่าจะใช้ชีวิตกันยังไงบ้างจากเช้าถึงค่ำ วันหยุดอยากทำอะไร เพื่อจะได้รู้ว่าควรเลือกห้องแบบไหน ก็ได้คำตอบของตัวเองว่าเราให้ความสำคัญกับการกินมื้อเช้าด้วยกัน ชอบอยู่เอาต์ดอร์ ไม่ได้ชอบอยู่ห้องแอร์ตลอด ซักผ้าเองไม่อบผ้าก็คือต้องมีระเบียงตากผ้าได้ มีห้องที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเพื่อรับแดดเช้า และเราดูแลทำความสะอาดกันเอง ดังนั้นห้องจะต้องมีขนาดไม่ใหญ่เกิน 100 ตารางเมตร ซึ่งก็มาเจอห้องนี้ที่มีขนาด 80 ตารางเมตรในฟังก์ชันที่ตอบโจทย์เราได้ครบเลย”
เมื่อถามว่าขนาดห้องเล็กไปไหม คุณนุ่นรีบตอบเลยว่า “ตอนแรกคิดเหมือนกันว่าเล็กไปไหมเพราะเคยอยู่บ้านที่มีพื้นที่กว้าง แต่พอได้มาอยู่จริงๆ ก็รู้สึกว่าพอดีกับเรามากๆ (ย้ำด้วยการลากเสียงยาว) และนุ่นเคยเป็นเด็กหอด้วยเลยค่อนข้างชินกับพื้นที่จำกัดอยู่แล้ว หวั่นใจแค่ว่าพี่ท็อปจะอยู่ได้ไหม ซึ่งปรากฎว่าเขาโอเคมากค่ะ นุ่นปล่อยให้เขาตกแต่งเลยเพราะเชื่อในเซ้นต์ดีไซเนอร์ของเขาและพี่ท็อปเองก็รู้ว่านุ่นชอบอะไร งานคราฟต์ งานไม้ หรืออยากได้ฟังก์ชันอะไรเขาจะถามก่อนด้วย”
แต่งคอนโด จากความชอบของตัวเอง
ด้วยความที่เป็นคอนโดมือสอง คุณท็อปจึงต้องรีโนเวตเพื่อตกแต่งห้องใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มจากการรื้อบิลท์อินเก่าออกก่อน
“ช่วงนั้นเหมือนเราสองคนจะชอบโทนสีน้ำเงิน ไม่ได้มีเหตุผลอะไรพิเศษ มันเหมือนเวลาชอบงานศิลปะ ก็แค่ชอบ บางทีก็ไม่ได้ต้องการรู้ความหมาย เราก็เลยพ่นสีผนังมุมนั่งเล่นด้วยสีน้ำเงิน มีสีเหลือก็เอามาพ่นผนังด้านในตู้เสื้อผ้าต่อ แล้วก็บิลท์อินส่วนเคาน์เตอร์ครัวใหม่ เห็นว่านุ่นชอบไม้ ท็อปเลยเอาแผ่นไม้ลามิเนตมาปิดผิวส่วนบิลท์อินให้ดูเป็นธรรมชาติขึ้น”
“ส่วนที่เติมเข้าไปก็เป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวซึ่งซื้อมาผสมผสานให้ดูกลมกลืน บางชิ้นก็เป็นงานของดีไซเนอร์ที่ท็อปสะสม กับบางส่วนที่หาขนาดตามต้องการไม่ได้ก็ต้องออกแบบเองและไปให้ช่างทำ อย่างที่วางลำโพงและโต๊ะกลางเตี้ยๆ หน้าโซฟา ท็อปเลือกใช้หินเพราะดูแลง่ายกว่า โดนน้ำได้ ไม่ต้องระวังมาก พออยู่ในห้องแล้ว ภาพรวมออกมาดูโอเค ฟีลลิ่งดี สะอาดตา”
คุณนุ่นช่วยเล่าเสริมถึงงานออกแบบว่า “นุ่นว่าการมีคนออกแบบให้เป็นเรื่องสำคัญนะ อย่างเวลาเราไปสถานที่ที่สวยงามจนเกิดเป็นสุนทรียะ สร้างความเบิกบานอยู่ข้างใน กระทบกับความรู้สีกเราได้เลย ส่วนบางที่อาจจะแต่งสไตล์มินิมัลสวยมากแต่ก็ทำให้เราเกร็งก็มี ซึ่งนุ่นว่าพี่ท็อปช่วยทำให้การอยู่บ้านนี้กลมกล่อม สบายและมีความสุข รู้สึกเป็นตัวเองมากๆ เพราะถ้าเราเกร็งก็คงอยู่ไม่ได้เหมือนกัน”
ความทรงจำในรูปแบบของศิลปะ
นอกจากเฟอร์นิเจอร์ที่เลือกมาเพื่อใช้งานแล้ว คุณท็อปยังให้ความสำคัญกับงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ ที่มาช่วยสร้างบรรยากาศของการใช้ชีวิต โดยจัดวางงานศิลปะไว้ตามจุดต่างๆ ได้อย่างพอเหมาะพอดี
“ท็อปกับนุ่นมักจะใช้เงินเพื่อทำให้ตัวเองมีความสุข แต่ไม่ได้หมายถึงต้องซื้อของแพงๆ นะ เราอยากใช้เงินไปกับสิ่งที่เรารักและรู้สึกดี ไม่ใช่กับสิ่งที่จะมาทำให้คนอื่นรู้สึกดีกับเรา ท็อปหมายถึงงานศิลปะที่เรามักจะซื้อตามความรู้สึกในแต่ละช่วงเวลา ถ้ารู้สึกดีหรือชอบชิ้นนั้นก็ซื้อ แต่ละชิ้นบอกเล่าถึงช่วงชีวิตในตอนนั้นๆ ไว้ด้วย อาจเป็นเพราะท็อปชอบเก็บอะไรที่เป็นความทรงจำอยู่แล้ว อย่างที่บ้านแม่ก็มีงานศิลปะที่เก็บไว้ส่วนหนึ่ง แต่พอมาอยู่ที่นี่ ท็อปจะเลือกงานศิลปะชิ้นใหม่เพื่อให้เป็นความทรงจำของชีวิตในช่วงเวลานี้ไปเลย”
และยังมีความทรงจำในรูปแบบของภาพถ่ายหรือลายเซ็นจากคนพิเศษที่คุณท็อปนำมาใส่กรอบเพื่อติดผนังตรงทางเดินให้เป็นเหมือนมุมแห่งความทรงจำ ที่มายืนมองเมื่อไหร่ก็เห็นภาพชีวิตจากช่วงเวลาเหล่านั้นย้อนกลับมาสร้างรอยยิ้มให้เสมอ เช่นเดียวกับมุม Hall of Frame ที่คุณท็อปจัดไว้ให้เป็นพิเศษบนโต๊ะยาวในห้องนอนเพื่อบอกเล่าเรื่่องราวน่าประทับใจในแต่ละช่วงชีวิตของคุณนุ่น
“นุ่นรู้สึกว่าพี่ท็อปให้มุมที่ดีที่สุดกับนุ่นเสมอ อย่างมุมโต๊ะกินข้าวที่นุ่นมักจะใช้นั่งทำงานด้วย พี่ท็อปจะเลือกให้นุ่นนั่งตรงที่สามารถมองออกไปเห็นภาพรวมของห้องได้รอบ และมองผ่านระเบียงออกไปเห็นท้องฟ้าได้สบายตา ทุกครั้งที่มองห้องตัวเองก็จะรู้สึกภูมิใจที่ทุกอย่างมาจากน้ำพักน้ำแรงเราเอง มองไปมุมไหนก็สบายตา ทำให้ชอบอยู่ห้องมาก แล้วก็โชคดีที่ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์เราจะกลับไปบ้านคุณแม่พี่ท็อป ม๊ามักจะทำกับข้าวใส่กล่องมาให้ด้วยเสมอ เราก็จะมีอาหารการกินที่ทำให้อยู่ในบ้านได้ยาวๆ แบบไม่ต้องไปไหนเลย”
พอดี พอเหมาะ พอได้
แม้ว่าในวันทำงานที่ทั้งคู่ต่างต้องแยกย้ายออกไปทำหน้าที่ของตัวเอง กิจกรรมโปรดในทุกๆ เช้าของทั้งคู่คือมื้อเช้าที่พร้อมหน้ากัน เป็นมื้อเช้าที่คุณท็อปเข้าครัวลงมือทำเอง ไม่ว่าจะกาแฟที่ระเบียงหรืออาหารเช้าบนโต๊ะ แต่ก็เป็นการเริ่มต้นวันที่มีคุณภาพมากพอจะหล่อเลี้ยงความสุขใจไปได้ทั้งวัน
“นุ่นรู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้านมากๆ เมื่อก่อนตอนอยู่บ้านใหญ่ก็มีชีวิตแบบหนึ่ง แต่มาอยู่นี่เราได้ใช้ชีวิตแบบสองคนจริงๆ ผจญภัยกับชีวิตคู่ไปด้วยกัน ไม่มีเซฟโซนจากม๊าและไม่มีแม่บ้านมาคอยดูแล ด้วยพื้นที่ที่มันพอดีมากทำให้เราช่วยกันดูแลได้ไม่เหนื่อยเกินไป” ถึงตรงนี้คุณท็อปช่วยปิดท้ายด้วยแนวคิดเท่ๆ ว่า “เราตั้งชื่อบ้านนี้ว่า ‘พอดี พอเหมาะ พอได้’ เพราะมันพอดีกับชีวิตเรา ใส่ฟังก์ชันได้พอเหมาะไม่เกินตัว และก็ดูสวยพอได้ในแบบของเราสองคนครับ”
เจ้าของ-ออกแบบ : คุณพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และคุณศิรพันธ์ วัฒนจินดา
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : Suntreeya