บ้านโมเดิร์นสีชมพู ล้อมคอร์ต แสนสบาย - บ้านและสวน
บ้านโมเดิร์นสีชมพู

บ้านโมเดิร์นสีชมพู ในมิติความแข็งแกร่งและอ่อนโยน

บ้านโมเดิร์นสีชมพู ที่ผสานหลักฮวงจุ้ย และออกแบบให้เป็นบ้านที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน มีการสร้างพื้นที่เปิดโล่งแบบคอร์ตยาร์ด จึงเกิดการระบายอากาศและความชื้นได้ดี ทำให้บ้านมีสภาวะน่าสบาย

Design Directory : ออกแบบสถาปัตยกรรม – ตกแต่งภายใน – ภูมิสถาปัตยกรรม TA-CHA Design

บ้านโมเดิร์นสีชมพู
บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่มีน้ำท่วมบ่อย จึงยกตัวบ้านสูงและทำทางลาดขึ้นไป โดยทาสีชมพูเข้มในส่วนฐานซึ่งเป็นระดับที่เคยน้ำท่วมประจำ
บ้านโมเดิร์นสีชมพู
หน้าบ้านหันไปทางทิศใต้ จึงออกแบบบ้านคอร์ตรูปตัวยู (U) ให้พื้นที่สวนช่วยสร้างร่มเงา และลดอุณหภูมิอากาศก่อนพัดเข้าภายในบ้าน
บ้านโมเดิร์นสีชมพู
บ้านโมเดิร์นสีชมพู
บ้านทรงกล่องที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Movement) ออกแบบกลุ่มแมส (Mass) อาคารให้มีมิติ สอดคล้องกับฟังก์ชัน และมีองค์ประกอบที่รองรับภูมิอากาศแบบทรอปิคัล

บ้านโมเดิร์นสีชมพู หลังนี้ อาจทำให้เกิดคำถามว่า“อะไรคือแรงบันดาลใจของการใช้สีชมพูในการออกแบบบ้าน” แต่เราอยากให้เป็นคำถามสุดท้าย เพราะสิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ เบื้องลึกของแนวคิดการออกแบบที่ว่า “นักเขียนแสดงความเคารพครูด้วยบทกวี นักดนตรีแสดงความเคารพอาจารย์ด้วยบทเพลง สถาปนิกแสดงความเคารพสถาปนิกเอกด้วยสถาปัตยกรรม” ของ TA-CHA Design โดย คุณวรัญญู มกราภิรมย์ คุณสณทรรศ ศรีสังข์ และ คุณพรทิชา ทวีวัฒน์ ซึ่งเป็นแนวคิดต้นทางของการออกแบบบ้านที่สร้างสุขภาวะที่ดี อยู่สบาย และตอบโจทย์เจ้าของบ้านในทุกมิติ

บ้านโมเดิร์นสีชมพู
บ้านโมเดิร์นสีชมพู
ออกแบบทางเข้าบ้านจากที่จอดรถให้เดินผ่านใต้อาคารที่เรียงรายด้วยเสาลอย ซึมซับบรรยากาศสวนปรับความรู้สึกก่อนเข้าบ้าน โดยฝั่งขวาเป็นสระว่ายน้ำในร่ม และมีทางเดินแยกสำหรับไปห้องรับรองแขก

โจทย์เริ่มต้นของการออกแบบ

บ้านโมเดิร์นสีชมพู ทรงกล่องของ ครอบครัววงศ์ธีระธร ไม่เพียงแสดงถึงบุคลิกที่กระฉับกระเฉงของเจ้าของบ้านนักธุรกิจสาวที่เดินทางบ่อยเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงวิธีคิดของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น และพาเข้าสู่มิติแห่งสีสันที่ฉาบฉายในสเปซ ด้วยแสงและเงาของกาลเวลา ทำให้ภายในรูปทรงเรียบ ตรง ที่ดูมั่นคงแข็งแกร่ง แฝงความรู้สึกอ่อนโยนที่ชวนผ่อนคลายร่างกาย ในขณะเดียวกันก็มีห้วงขณะให้ได้พักใจ

เดิมพื้นที่นี้เป็นโกดังเก็บสินค้าของครอบครัว ซึ่งอาศัยอยู่ในทาวน์เฮ้าส์ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องๆกัน แต่ด้วยพื้นที่นี้มีปัญหาน้ำท่วม ประจวบกับมีความต้องการขยับขยายบ้านให้สะดวกมากขึ้น จึงย้ายโกดังและใช้เป็นพื้นที่สร้างบ้านหลังใหม่ของครอบครัวสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ และน้องชาย นอกจากโจทย์ด้านการใช้งานแล้ว มีสิ่งที่เจ้าของบ้านให้เป็นแนวทางคือ ชอบบ้านโมเดิร์น ผสานหลักฮวงจุ้ย และเป็นบ้านที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

บ้านโมเดิร์นสีชมพู
แยกฟังก์ชันส่วนรับรองแขกให้อยู่โซนด้านหน้าใกล้ทางเข้า คล้ายกับการแยกเรือนแล้วเชื่อมด้วยทางเดิน เพื่อสร้างพื้นที่พักผ่อนในบ้านให้เป็นส่วนตัว
บ้านโมเดิร์นสีชมพู
ลดความทึบตันด้วยการดีไซน์ระนาบผนัง หลังคา และช่องเปิดให้ชัดเจน ทำให้รูปทรงเหลี่ยมดูมีมิติจากแสงเงา
บ้านโมเดิร์นสีชมพู
ทำทางเดินใต้อาคารล้อมสวนให้เป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้งที่สร้างร่มเงา และเปลี่ยนถ่ายสเปซระหว่างภายนอกและภายในบ้าน

แรงบันดาลใจจากสถาปนิกเอก

หลังจากที่สถาปนิกได้พูดคุยเพื่อซึมซับตัวตนเจ้าของบ้านทำให้เห็นว่า ด้วยการทำงานที่เดินทางไปต่างประเทศบ่อย ได้พบเห็นอาคารสไตล์โมเดิร์นที่หลากหลาย และชื่นชอบในองค์ประกอบที่เรียบง่าย ผู้ออกแบบจึงนึกถึงงานของสถาปนิกระดับตำนาน เลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier) ผู้เป็นหนึ่งในผู้นำแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Movement) และในส่วนการใช้โทนสีได้แรงบันดาลใจมาจากการศึกษางานของ ลุยส์ บาร์รากัน มอร์ฟิน (Luis Barragán Morfin) สถาปนิกที่นิยมใช้สีสันจัดจ้าแบบเม็กซิกันและไล่ระดับความอ่อนเข้มของสีด้วยแสงเงาจากดวงอาทิตย์ โดยนำมาตีความใหม่ให้ตอบโจทย์เจ้าของบ้าน และสะท้อนผลึกความรู้จากสถาปนิกเอกผู้เป็นเสมือนครู

บ้านคอร์ตที่สร้างสุขภาวะที่ดี

จากบริบทที่เป็นหมู่บ้านจัดสรรเดิม ไม่มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่สามารถเปิดมุมมองที่ดีได้ สถาปนิกจึงวางผังบ้านลักษณะตัวยู (U) เพื่อเปิดมุมมองเข้าสู่ภายใน โดยอ้างอิงการสร้างพื้นที่เปิดโล่งแบบคอร์ตยาร์ด (Open Courtyard) จากงานสถาปัตยกรรมแบบเอเชีย ที่นิยมเปิดพื้นที่กลางอาคารเพื่อลดทอนความหนาของอาคาร ทำให้มีการระบายอากาศและความชื้นได้ดี โดยออกแบบคำนึงถึงสภาวะน่าสบายภายในบ้านเป็นพื้นฐาน ซึ่งแม้ในชีวิตประจำวันเจ้าของบ้านจะเปิดระบบปรับอากาศอยู่แล้ว แต่การออกแบบให้บ้านเย็นตามธรรมชาติก็จะลดการใช้พลังงานลง และบางช่วงเวลาก็สามารถอยู่สบายโดยเปิดบ้านรับลมได้ ซึ่งนอกจากการวางผังบ้านตามทิศทางแดดและลมแล้ว มีการทำผนังหนา 20 เซนติเมตร และทำผนังบางส่วนด้านทิศตะวันตกหนา 40 เซนติเมตร พร้อมวางแปลนส่วนเซอร์วิสอย่าง ลิฟต์ บันได ห้องซักล้าง และทางเดินไว้ด้านทิศตะวันตกเพื่อช่วยบล็อกความร้อน

ฟังก์ชันของบ้าน 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้งาน 1,200 ตารางเมตร ออกแบบการใช้งานแยกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนรับรองแขกให้อยู่โซนด้านหน้าซึ่งแยกทางเข้าและการใช้งานจากส่วนของบ้านที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว ชั้นล่างภายในบ้านเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับพักผ่อน นั่งเล่น รับประทานอาหาร ชั้นบนประกอบด้วย 3 ห้องนอน และมีชั้นดาดฟ้าแบบมีหลังคาคลุมรองรับกิจกรรมอเนกประสงค์ที่ญาติมิตรมารวมตัวสังสรรค์กัน เป็นจุดที่ลมเย็นมาก และสามารถมองไปด้านสนามหลวงจะเห็นการจุดพลุในช่วงเทศกาล ซึ่งเป็นความใส่ใจของผู้ออกแบบที่เก็บรายละเอียดจากการพูดคุยว่า “ตอนอยู่บ้านเดิมได้เห็นพลุแค่ปลายๆ” จึงเช็กมุมมองของบ้านหลังใหม่ให้เห็นพลุได้แบบเต็มตา

บ้านโมเดิร์นสีชมพู
บริเวณโถงทางเข้าบ้านเว้าผนังเข้ามาเป็นพื้นที่นั่งใส่รองเท้า ออกแบบผนังกระจกบานเลื่อนสูงถึงฝ้าเพดานให้เลื่อนเปิดโล่งได้ทั้งสองฝั่ง
บ้านโมเดิร์นสีชมพู
วางผังชั้นล่างแบบโอเพ่นแปลนให้ต่อเนื่องระหว่างส่วนโถงบันได นั่งเล่น รับประทานอาหาร และแพนทรี่ ตกแต่งด้วยโทนสีชมพู ขาว เขียวและโรสโกลด์
ห้องนั่งเล่นสีชมพู
ส่วนนั่งเล่นอาบด้วยโทนสีชมพูหลายเฉดที่เกิดจากเนื้อสี แสงสะท้อน เงาตกกระทบ และเพิ่มมิติด้วยการซ่อนไฟใต้พื้นเล่นระดับ
บันไดสีชมพู
ออกแบบโถงบันไดให้บางเบาแบบโมเดิร์นจัดๆ โดยใช้เหล็กแผ่นตันหนา 20 มิลลิเมตรทั้งชิ้นทำผนังรับน้ำหนักตรงกลางและราวกันตก โดยต้องใช้เครนยกทั้งชิ้นเข้ามาติดตั้งก่อนทำหลังคา

ความอ่อนโยนในความแข็งแกร่ง

การใช้สีชมพูไม่ใช่โจทย์หลักในการออกแบบบ้าน ด้วยเจ้าของบ้านมีลุกเป็นผู้หญิงทำงานที่กระฉับกระเฉง ซึ่งเมื่อผู้ออกแบบพูดคุยก็สัมผัสได้ถึงมิติความอ่อนโยน จึงนำเสนอโทนบ้านเป็นสีนู้ดหรือ Neutral Tone ซึ่งมีหลายเฉดให้เลือกใช้ จึงพัฒนาเป็นคู่สีชมพู สีขาว สีเขียว ตัดกับโลหะสีโรสโกลด์ และสีน้ำเงินในบางจุด ด้วยตัวบ้านมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมแบบโมเดิร์น จึงเลือกพื้นผิวภายนอกเป็นงานสีฉาบที่เห็นร่องรอยให้ดูมีเสน่ห์แบบงานคราฟต์ที่มีความนุ่มนวล

ห้องนอนสีชมพู
ห้องนอนหลักทำผนังตกแต่งสีน้ำเงินเปลี่ยนบรรยากาศให้ตัดกับโทนสีชมพู ออกแบบช่องเปิดให้มองเห็นหน้าบ้านและสวนโดยรอบ
ห้องแต่งตัว
ออกแบบห้องแต่งตัวและห้องน้ำให้เป็นส่วนเดียวกัน โดยคำนึงถึงปริมาณแสงธรรมชาติและการระบายอากาศที่เหมาะสม พร้อมติดตั้งกระจกเงาบานใหญ่ซ่อนไฟสำหรับการแต่งตัวและเพิ่มมิติในห้อง
ตกแต่งห้องนอนโทนสีเบจและลายไม้ที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ทำหน้าต่างบานใหญ่ถึงพื้นแล้วใช้ราวกันตกกระจกเปลือยไม่ให้บดบังมุมมอง
ห้องพระสีชมพู
ห้องพระสไตล์โมเดิร์นเน้นความเรียบง่ายด้วยผนังโทนสีเทา ลายกราฟิก และการใช้แสงไฟที่สมมาตร
ดาดฟ้า
ดาดฟ้าเป็นพื้นที่สังสรรค์ของครอบครัวและจุดชมวิว เปิดมุมมองกว้างให้เห็นการจุดพลุในช่วงเทศกาล โดยออกแบบหลังคาโครงสร้างเหล็กพาดช่วงยาว 21 เมตร ทำราวกันตกกระจกเปลือยไม่บดบังมุมมอง
ห้องรับรอง
บันไดสีชมพู
ห้องรับรองออกแบบเป็นห้องกระจกที่เห็นวิวได้รอบ เป็นส่วนที่แยกจากพื้นที่ส่วนตัวของบ้าน โดยทำบันไดขึ้นจากข้างสระว่ายน้ำที่อยู่โซนหน้าบ้าน
บ้านโมเดิร์นสีชมพู
บ้านโมเดิร์นสีชมพู
สระว่ายน้ำในร่มใต้อาคาร โดยทำช่องเปิดโล่งบริเวณที่นั่งจากุชชี่ ออกแบบเป็นสระยกสูงเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินตกสระหากสระอยู่ระดับพื้น เป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านให้ความสำคัญกับความปลอดภัยสำหรับทุกคน
บ้านโมเดิร์นสีชมพู
สระว่ายน้ำ
ออกแบบระบบหมุนเวียนน้ำในสระ ด้วยการทำรางน้ำตกบนผนัง ช่วยสร้างบรรยากาศเสียงน้ำตกและดูสวยงาม
เสาสีชมพู
บ้านโมเดิร์นสีชมพู
ทำบัวหยดน้ำครอบเหนือยอดผนังให้ยื่นออกมาเล็กน้อย ช่วยลดการเกิดคราบน้ำฝนบนผนัง
บ้านโมเดิร์นสีชมพู
ทำร่องระบายน้ำไว้กลางพื้นเฉลียง เพื่อลดปัญหาน้ำขังจากพื้นคอนกรีตที่มักเป็นแอ่ง
ผนังสีจระเข้
เติมความคราฟต์ให้บ้านโมเดิร์นด้วยงานฉาบสี SEE Jorakay Color Cement ที่เห็นร่องรอยที่ดูมีเสน่ห์

มิติที่สวยตรึงตาไม่ใช่เพียงวัตถุที่มองเห็น แต่รับรู้ได้ถึงกาลเวลาที่ขับเคลื่อนให้ต่างไปในแต่ละองศาแสง สเปซบ้านที่เปิดรับลมหายใจร่วมกับธรรมชาติรอบตัว ทำให้สถาปัตยกรรมเป็นทั้งที่พักพิงและชาร์ตพลังอย่างสมดุล “เป็นการมอบประสบการณ์การอยู่บ้านให้กับเจ้าของ แม้ไม่ได้เป็นโจทย์ตั้งต้น แต่เป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่จะทำให้สถาปัตยกรรมสร้างความสมดุลให้กับผู้อยู่อาศัย”

เจ้าของ : ครอบครัววงศ์ธีระธร

ออกแบบสถาปัตยกรรม – ตกแต่งภายใน – ภูมิสถาปัตยกรรม : TA-CHA Design


เรื่อง: ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ: BeerSingnoi

บ้านอยู่เย็น

บ้านไม้ฐานสองที่เจตนารบกวนโลกให้น้อยด้วยการออกแบบ