ชมงานศิลป์ Bangkok Art Biennale ผ่านพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์
บ้านและสวน พาชมงานศิลปะผ่านพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ณ เทศกาลงานศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2024
ในครั้งนี้ บ้านและสวน จะพาชมงานศิลปะ ณ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รอบเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ตามโบราณสถานอันงดงามอย่างวัดวาอาราม และพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด 4 แห่งด้วยกัน
โดยในแต่ละสถานที่ ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นแบ็กกราวนด์ขับเน้นการเล่าเรื่องราวของผลงานงานศิลปะให้เด่นชัดขึ้นเท่านั้น แต่ยังแฝงร่องรอยทางประวัติศาสตร์ซึ่งคงอยู่กับความร่วมสมัย ชวนให้เราได้ขบคิดถึงแง่มุมต่างๆ ในมิติของธรรมชาติ ชีวิต ปฏิสัมพันธ์ระหว่างยุค ผ่านบริบทที่ตั้ง ใต้ร่มใหญ่ของคำว่า “รักษา กายา” ซึ่งเป็นธีมของงาน Bangkok Art Biennale 2024 ทั้งยังเปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปสัมผัสสถานที่ ที่ซึ่งนานๆ ครั้งเราจะได้มีโอกาสย่างก้าวเข้ามา โดยในแต่ละแห่ง ศิลปินได้จัดวางผลงานชิ้นเอกของตนเอง เพื่อเล่าเรื่องราวเชื่อมโยงกับสถานที่ อันร้อยเรียงบทสนทนาทั้งในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน เพื่อให้เราได้ชื่นชมงานศิลปะได้อย่างลึกซึ้งกว่าที่เคย
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์
“แรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์วัดโพธิ์หนึ่งในวัดสำคัญของประเทศไทย ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ที่มีองค์พระยาวถึง 46 เมตร”
ด้วยผลงานติดตั้งอยู่ในสองสถานที่ซึ่งมีพื้นเพของบริบทที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงอย่าง วัดโพธิ์และหอศิลป์กรุงเทพฯ ศิลปินจึงพยายามที่จะเชื่อมโยงสถานที่สองแห่งนี้เข้าไว้ด้วยกัน ผ่านโคลงกลบทพยัคฒ์ข้ามห้วย จากจารึกวัดโพธิ์ ซึ่งประพันธ์โดย กรมหมื่นไกรสรวิชิต โดยมีใจความสำคัญของวรรคหนึ่งที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน “จะนับวันคืนลับไม่กลับคืน” ศิลปินนำต้นพยูงอายุกว่า 40 ปี ที่ล้มตายหลังจากการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มาบดเป็นผงแล้วโรยเป็นถ้อยคำจากดังกล่าวบนพื้นของสถานที่จัดแสดงทั้งสองแห่ง พร้อมกับติดตั้งผลงานบนผนังที่สะท้อนถึงความสูญเสียของธรรมชาติ เพื่อเชิญชวนให้ขบคิดว่า “ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งระบบนั้นเป็นพลังงานสะอาดจริงหรือ?”
ถ้อยคำที่ว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” ดูเป็นประโยคบอกเล่าที่จริงใจอย่างถึงที่สุด ผลงานศิลปะชิ้นนี้ก็เช่นกัน วางโดดเด่นประจันหน้าพระพุทธรูปทองคำศักดิ์สิทธิ์ สื่อถึงการมอง แอบมอง หรือการลวงตา ซึ่งสามารถตีความได้หลากหลาย หรือในอีกนัยยะหนึ่งนั้น อาจจะหมายความถึง ดวงตาเห็นธรรม หรือการรู้แจ้งในรสพระธรรมก็เป็นได้
ผลงานที่จัดแสดงประกอบไปด้วย หินอ่อนแกะสลัก, โต๊ะไม้, หนังสือ, งานจัดวางเสียง
ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจาก จารึก รูปปั้น และภาพวาดสมัยรัชกาลที่ 3 ในวัดโพธิ์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวย้อนหลังไปหลักศตวรรษของชาวต่างชาติ และดินแดนที่ชาวสยามรู้จัก ผ่านวิธีการนำเสนอภาพเคลื่อนไหว พร้อมเสียงร้องที่ร้อยเรียงขึ้นจากอุปรากรเรื่องสำคัญของโลก อันสะท้อนถึงแนวคิดที่ชาวตะวันตกมีต่อโลกตะวันออก ทั้งนี้ผู้ชมงานสามารถหยิบหนังสือที่จัดวางมาอ่านประกอบการเสพงานศิลปะได้อีกด้วย
วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
“ขุดค้นเรื่องเล่าจากอดีต ท่ามกลางพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ที่มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมผสมผสาน ไทย จีน เขมร และยุโรป ในรูปแบบศิลปะแบบโกธิก”
ศิลปะจัดวางชิ้นนี้ท้าทายความคิดที่ว่าวิศวกรเปรียบเหมือนผู้สร้างมนุษยชาติ และลำดับความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่านประติมากรรมประตูขนาดใหญ่ 2 บาน ซุ้มประตูรูปโค้งนี้ทำจากไม้สะเดาและลินินเผา ออกแบบเป็นทางเข้าออกและทำให้นึกถึงวัฏจักรอันไม่รู้จบของการเกิดและดับ ศิลปินใช้ไฟเผาสร้างร่องรอย เพื่อสำรวจถึงต้นกำเนิด ตำราทางประวัติศาสตร์ คัมภีร์ทางศาสนา เทวตำนานโบราณวัตถุ และการเดินทางข้ามเวลา
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
“งานศิลป์ท่ามกลางวัดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนกุฎีจีน และเป็นที่ประดิษฐานของ “พระบรมมหาธาตุเจดีย์” ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงลังกาองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ และภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอันงดงาม”
“เล่นกับความเสี่ยงในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและความเปราะบางของสิ่งแวดล้อมเองด้วย”
ผลงานชิ้นนี้นำพาศิลปินเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ที่เอารัดเอาเปรียบรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่อนุญาตให้เอกชนเป็นเจ้าของสัตว์ ศิลปินจึงออกแบบผลงานสื่อถึงความเป็นผู้หญิงอย่างสุดโต่ง ซึ่งดูขัดแย้งกับสัตว์ที่มีความดุร้าย สังเกตได้จากจังหวะภาพที่จับท่วงท่าการเคลื่อนไหวอย่างอ่อนโยน ประกอบกับสีสันจากชุดและสีทาเล็บแดงสด ความอ่อนโยนดังกล่าว ชวนใคร่ครวญถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ในแง่ของการควบคุมและความบันเทิงที่สัตว์เหล่านี้ต้องเผชิญ
ประติมากรรมชิ้นนี้แทรกตัวอยู่ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติของเขามอ หรือภูเขาจำลองขนาดเล็กก่อด้วยศิลา หรือ เขาเต่า แวดล้อมด้วยสระน้ำและพรรณไม้นานาชนิด ศิลปินสร้างชิ้นงานเป็นรูปเขาสัตว์เสริมมงคลซึ่งทำมาจากวัสดุเรซิน โดยเลือกใช้เป็นสีส้มประการัง เพื่อสื่อความหมายถึงการขอพรจากพระแม่ธรณี
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
“ชิ้นงานที่สอดแทรกแนวคิดทางพุทธศาสนา ท่ามกลางสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา”
กลุ่มประติมากรรมไฟเบอร์กลาส 15 ชิ้น สูง 2-5 เมตร จัดวางเป็นกลุ่มคล้ายคนโต้ตอบกัน ด้วยรูปลักษณ์คล้ายสิ่งมีชีวิต ที่มีตำหนิ หรือจุดบกพร่อง บ้างมีจมูกยาวคล้ายดาบ สร้างบทสนทนา และความตึงเครียดระหว่างกันอย่างเงียบๆ ชิ้นงานเคลือบด้วยสีขาวประกายแวววาว เพื่อล้อกับแสงที่ตกกระทบ และสะท้อนโทนสีขาวของวัด
พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ มิวเซียมสยาม
“งานศิลปะที่ลงลึกสำรวจถึงความหมายของธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ และชีวิต”
เป็นศิลปะจัดวางรูปลูกตาขนาดใหญ่ที่ทำให้นึกไปถึงกิจกรรมหนึ่งในสนามเด็กเล่นนั่นคือการเล่นโยกเยก
ผลงานชิ้นนี้ปรับตัวเข้ากับบริบทได้ดี ด้วยวิธีการนำเสนอที่เรียบง่าย Eye of Newt เข้าถึงผู้คนได้ทุกช่วงวัย
ด้วยแนวคิดมาจากไข่กบ ศิลปินสังเกตไข่กบและไตร่ตรองถึงความเป็นไปได้ที่ ไข่กบจะเป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวเป็นกลุ่ม ความสามัคคี หรือโอกาส ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคสมัยนี้
ผลงาน Mother Tongue ชุดนี้ ศิลปินได้กลับสำรวจถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมชาวออสเตรเลียหมู่เกาะทะเลใต้ของเธอ ด้วยการไปเยือนจุดที่ “เรือดอนฮวน” เทียบฝั่งอ่าวเดบาราห์ ประเทศเอาเตอารัว นิวซีแลนด์ และนำเสนอผลงานชิ้นนี้ออกมา
ศิลปินเริ่มต้นเล่าเรื่องราวด้วยการพายเรือออกนอกฝั่งกับแม่ที่ฮัมเพลงในภาษาที่ฟังไม่ออก ชวนให้คิดใคร่ครวญถึงการสูญเสียภาษาแม่และรอยแยกทางวัฒนธรรม ผลงานชุด Bones and Bellies นี้ นำเสนอภาพชาวหมู่เกาะทะเลใต้สามรุ่น ได้แก่ ตัวศิลปิน แม่และลูกสาวของเธอ เชื่อมโยงและแสดงภาพอดีตกับปัจจุบันด้วยเรื่องเล่าของบรรพบุรุษในโคลนตมและเม็ดเกลือ ผ่านเรื่องราวการเดินทางของเรือดอนฮวนซึ่งมาถึงรัฐควีนส์แลนด์เมื่อปี พ.ศ. 2406 นำชาวเกาะวานูอาตูมา 67 คนเพื่อเป็นแรงงานในไร่ฝ้ายแห่งแรกของประเทศออสเตรเลีย อันนับเป็นจุดเริ่มการแพร่กระจายของ “แบล็คเบอร์ดิง” (blackbirding) คำที่ใช้เรียกการค้าทาสในมหาสมุทรแปซิฟิก ชาวหมู่เกาะทะเลใต้ตระหนักว่าเรือลำนี้เป็นสัญลักษณ์ของความอดทนของบรรพบุรุษ ส่วนมหาสมุทรก็เป็นตัวแทนทั้งอัตลักษณ์และการบังคับย้ายถิ่นฐานซึ่งสร้างรอยแยก ผลงานของโตโก-บริสบีนำเสนอความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนเหล่านี้โดยไม่ได้ต้องการปลดแอกอาณานิคมแต่แย่างใด เพียงแต่ต้องการเปิดเผยให้เห็นถึงผลกระทบต่อคนรุ่นหลังผ่านชิ้นงานของเธอ
ด้วยความที่ศิลปินทำงานร่วมกับบริบทที่ตั้ง จึงสร้างสรรค์ผลงานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหลวงของประเทศไทย กับหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง กลุ่มชนที่ดํารงชีพอยู่กับธรรมชาติทางภาคเหนือของประเทศ โดยใช้พื้นที่ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติ สวนสาธารณะ ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางของถนนหลวง นำมาเป็นพื้นที่และเส้นทางในการเชื่อมโยง ประกอบด้วยทั้งผลงาน 3 ชุด ได้แก่
“ช่องว่างระหว่างยอดดอยกับที่ราบ” นำเสนอความสัมพันธ์ทางพฤกษศาสตร์จากแรงบันดาลใจที่ได้จากชื่อ รูปทรงของลําต้น ใบ และสีสันของพันธุ์ไม้ที่พบได้ทั้งในแหล่งสงวนที่ดินตามธรรมชาติและสวนสาธารณะในเมือง
“จังหวะของตัวโน้ตนับจากล่างขึ้นบน” ประติมากรรมที่นำโครงสร้างของศาลากระโจมแตร (bandstand) หรือเวทีรูปทรงแปดเหลี่ยมในสวนสราญรมย์ ที่เคยใช้เป็นที่บรรเลงดนตรีหรือแตรวงของทหารมาผ่าครึ่งปรับเปลี่ยนวัสดุให้เป็นวัสดุเดียวกันกับที่ใช้สร้างบ้านของชาวกะเหรี่ยง
“เสียงหายใจท่ามกลางสิ่งที่มีอยู่จริงแต่มองไม่เห็น” ที่เป็นเสมือนจุดเชื่อมโยงระหว่างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ อุทยานแห่งชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง
ผลงานชิ้นนี้มีที่มาจากประเพณีพื้นบ้านที่มีชื่อว่าซุสเคเวียต (Suskewiet) กีฬาที่ใช้สัตว์ซึ่งเล่นกันในภูมิภาคแฟลนเดอส์ตะวันตกเฉียงใต้ นกฟินช์ตัวผู้แข่งกันว่าตัวไหนจะร้องหาคู่มากครั้งที่สุด
งานชิ้นนี้เก็บผลการนับคะแนนแบบต่อเนื่องและมีลักษณะเฉพาะบนแท่งไม้สีดำซึ่งใช้นับมาตั้งแต่เดิมแล้วนำมาสร้างสรรค์เป็นเสียงของสิ่งที่สร้างขึ้นมาใช้ชั่วคราวตามแม่น้ำลิส แหล่งองค์ประกอบเสียงแบบอัลกอริธึมสำหรับอนาคต ชวนให้เราสำรวจถึงเกณฑ์วิธีของการแข่งขันซึ่งมีมนุษย์และนกในกรง ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเครื่องมือสากลขึ้นมา เพื่อศึกษาและฟังเสียงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราในแบบที่แตกต่างออกไป
เพราะศิลปะไม่เคยปิดกั้น การมีผลงานจัดแสดงในสถานที่ที่มีความสำคัญทางศาสนาอย่าง วัด จึงทำให้ศิลปะเข้าใกล้ผู้คนในทุกกลุ่มมากขึ้น ศิลปินได้จัดวางผลงานชิ้นเอกของตนเอง เพื่อเล่าเรื่องราวเชื่อมโยงกับสถานที่ อันร้อยเรียงบทสนทนาทั้งในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน เพื่อให้เราได้ชื่นชมงานศิลปะได้อย่างลึกซึ้งกว่าที่เคย
ยังมีหลายจุดที่น่าติดตามในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากผลงานอีกกว่า 200 ชิ้น ยังมีผลงานอีกน่าสนใจมากมาย ณ สถานที่จัดแสดงที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะและสังคม
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.bkkartbiennale.com
FB: BkkArtBiennale
ภาพ :ณัฐวรรธน์ ไทยเสน, ภาพประชาสัมพันธ์