ANTIQUE BRICK แต่งบ้านด้วย “ผนังอิฐ” ถึงลุคเก่าแต่ก็เก๋ามาก
ผนังอิฐ เก่าแต่เก๋า [The cool old look 4 ลุคสุดคลาสสิก – room Series]
ผนังอิฐ ก่อโชว์แนวเป็นชั้นสับหว่างกันอย่าง เป็นระเบียบ ชวนให้นึกถึงบ้านกระท่อมในนิทาน และนำมาใช้ตกแต่งผนังภายในบ้านได้หลายสไตล์ เช่น คอตเทจ ลอฟต์ หรือบ้านพักตากอากาศริมทะเล ส่วนใหญ่นิยมใช้อิฐมอญ มีทั้งแบบโบราณปั้นมือและ แบบโบราณอัดเครื่อง รวมถึงอิฐมอญ 2 – 4 รูซึ่งมีขนาดและรูปแบบให้เลือกมากมาย นอกจากนี้ชนิดของอิฐและเทคนิคการก่อก็ให้อารมณ์แตกต่างกันไป หรือจะลองเลือกใช้กระเบื้องเซรามิกที่ก่อเป็นลายผนังได้ ก็ดูสวยงามไม่แพ้กัน
มุมนั่งเล่นเติมเต็มความอบอุ่นด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งต่างๆ กรุผนังอิฐหินทรายให้เท็กซ์เจอร์และอารมณ์ สไตล์ลอฟต์ เวลามีแสงตกกระทบจะเกิดมิติที่ดูสวยงาม ผสมผสานกับการใช้ไม้มาตีเป็นระแนงเพื่อปิดคานขนาดใหญ่ และทําฝ้าแผ่นเหล็กปัดเงาเพื่อช่วยหลอกตาให้ห้องดูสูงและโปร่งขึ้น
เจ้าของ : คุณ Abdullah Saleh Abdat
ออกแบบ : คุณ Suhaimi Bin Lazim
Read More : THINK OUT OF THE BOX พื้นที่เล็กๆที่แตกต่าง
ตกแต่งผนังแบบดิบ ๆ ด้วยการใช้อิฐมอญแดงตัดตามด้านกว้างแปะลงบนผนังปูนได้ผิวสัมผัสแบบเปลือยสไตล์ลอฟต์โดยไม่ต้องก่อผนังอิฐจริง จัดวางเฟอร์นิเจอร์สไตล์สแกนดิเนเวียนที่ดูโปร่งสบาย ช่วยลดทอนความแข็งของโครงสร้างแบบเปลือยได้
เจ้าของ – ออกแบบ : คุณสุรพงษ์ เพลินแสง และคุณฤทัยรัตน์ รุ่งงาม
Read More : BEHIND THE SCENES อีกฉากหนึ่งของชีวิต
โดดเด่นที่ผนังด้านหนึ่งก่ออิฐเปลือยเป็นทรงโค้งเหมือนเวทีแสดงดนตรี กับการจัดแสงสีเสียงให้ประสาทสัมผัสทุกส่วนได้ต้อนรับความเป็นบริติชที่เจ้าของได้จัดเตรียมไว้ ยิ่งดึงคาแร็กเตอร์ของห้องออกมาได้อย่างเต็มตัว
เจ้าของ – ออกแบบ : คุณเปรมณัช สุวรรณานนท์
Read More : PP CAVE บริติชคลับ ฉบับฮาร์ตเมด
ก่อผนังอิฐอีกชั้นเพื่อกันเสียงจากห้องข้างๆ และใช้เป็นผนังรับน้ำหนักชั้นวางหนังสือ ผนังนี้ทำจากอิฐมอญปั้นมือที่แต่ละชิ้น ไม่เหมือนกันเลย ร่วมด้วยการใช้เทคนิคตกแต่งปูนก่อให้เรียบ เสมอกับก้อนอิฐ (Flush Joint) ให้ลุคดูดิบๆ ตัดกับการตกแต่ง แบบประณีตและคลาสสิกของตู้ ช่วยให้บรรยากาศในห้องนี้มีเสน่ห์ไปอีกแบบ
อิฐมอญโบราณอัดเครื่องที่มีขนาดมาตรฐานเท่ากัน เลือกชนิดที่มีสีต่างกันไป ก่ออิฐเรียงแบบสับหว่าง และใช้เครื่องมือขูดตามแนวก่อเพื่อให้เกิดร่องเว้าโค้ง (Concave Joint) ทำให้เห็นก้อนอิฐชัดเจนขึ้นและให้ลุคที่ดูประณีต
การก่อผนังหนึ่งแผ่นอิฐที่ให้ความหนาเท่ากับความยาวอิฐ 1 ก้อน ซึ่งเรียกว่า “การก่อแบบ Flemish Bone” เป็นการเรียงอิฐตามแนวกว้าง (Header) สลับกับแนวยาว (Stretcher) ในแต่ละแนว ให้อารมณ์เหมือนผนังบ้านโบราณที่เรียบและลึกสม่ำเสมอ (Raked Joint)
หากอยากได้วัสดุที่ให้ลุคใกล้เคียงกับอิฐ แต่มีสีและขนาดต่างกันไป อาจเลือกใช้อิฐขาว อิฐเทียม หรือกระเบื้องคอนกรีต ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าติดตั้งและดูแลรักษาง่ายกว่า
มู้ดเท่ๆ ของผนังอิฐสีเทานี้ นอกจากเรื่องสีสันแล้ว ยังเป็นวิธีการก่ออิฐ ที่ทำให้ผนังอิฐผืนใหญ่นี้ไม่จำเจ
เจ้าของ : คุณชาตรี อํามาตริยกุล
ออกแบบ : คุณคำรน สุทธิ Eco Architect
เรื่อง : “รนภา นิตย์”
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน นิตยสาร room สำนักพิมพ์บ้านและสวน และภาพประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบ : อาภาศรี มีมานะ
เรียบเรียงใหม่ : Parichat K.