แบบบ้านสไตล์โมเดิร์น หลังคาทรงจั่ว สำหรับผู้ที่ไม่ชอบหลังคาราบ ใช้โทนสีเรียบๆ

รักจะปิด รักจะเปิด

บ้านเป็นสิ่งที่ค่อยเป็นค่อยไป บ้านเป็นสิ่งที่ต้องใช้ใจสร้าง สำคัญพอๆกับเงินทอง เพราะแม้จะมีเงินทองมากมายแค่ไหน แต่หากไม่ได้ใช้ใจในการออกแบบและสร้างบ้าน บ้านหลังนั้นอาจไม่น่าอยู่ก็ได้


DESIGNER DIRECTORY

ออกแบบ: all(zone)

แบบบ้านสไตล์โมเดิร์น

แบบบ้านสไตล์โมเดิร์น หลังคาทรงจั่ว หลังนี้เป็นของนายแพทย์ปภากร และแพทย์หญิงคัคณางค์ มิ่งมิตรพัฒนะกุล ด้วยอาชีพที่ออกห่างจากการออกแบบในสายของการก่อสร้าง เจ้าของบ้านจึงเลือกทำงานร่วมกับสถาปนิกซึ่งมีความสามารถ และที่สำคัญต้องเชื่อใจกันได้

แบบบ้านสไตล์โมเดิร์น หลังคาทรงจั่ว
ผู้ออกแบบบ้านหลังนี้คือ คุณรชพร ชูช่วย และคุณสรวิศ คล้ายมาก จาก บริษัทออลโซน จำกัด โดยบอกความต้องการว่าอยากได้บ้านธรรมดาที่สวยและน่าอยู่ มีข้อจำกัดบางประการคือ อยากให้หลังคามีความลาดชัน ไม่ใช่หลังคาราบ (Flat Slab) ไม่จำเป็นต้องดูล้ำสมัย ใช้โทนสีเรียบๆ ที่เหลือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสถาปนิก

แบบบ้านสไตล์โมเดิร์น หลังคาทรงจั่ว
เจ้าของบ้านเป็นชายวัยกลางคนซึ่งมีอาชีพเป็นแพทย์ ชอบบ้านที่ดูอบอุ่นและเรียบง่าย แต่ต้องใช้งานได้ดี สถาปนิกจึงเล่นกับรูปทรงของบ้านที่ดูเหมือนบ้านทั่วไปตามหมู่บ้านจัดสรร นำเส้นรอบรูปของบ้านที่คล้ายรูปบ้านที่เราชอบวาดกันตอนเด็กๆ คือเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีด้านบนเป็นสามเหลี่ยมครอบอยู่ มาเป็นรูปทรงหลักของบ้านหลังนี้

แบบบ้านสไตล์โมเดิร์น หลังคาทรงจั่วhouse-single-02-06
สถาปนิกบอกกับเราว่า “การออกแบบในช่วงแรกเป็นการหาตัวตนของเจ้าของบ้านว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านหลายคนไม่สามารถบอกได้ตรงตามความต้องการจริงๆ เจ้าของบ้านหลังนี้ก็เช่นกัน เราจึงนำรูปบ้านสไตล์ต่างๆมาให้ทั้งสองท่านได้ดู และให้ทั้งคู่กลับไปทำการบ้านแล้วกลับมาบอกกับเราว่าชอบส่วนไหนของบ้านหลังไหนบ้าง ไม่นานเราก็พอจะจับรูปแบบบ้านที่เจ้าของต้องการได้ ซึ่งก็ไม่ต่างจากบ้านแบบในหมู่บ้านจัดสรรมากนัก แต่เราคิดว่าจะแปลจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง เพื่อให้ใช้งานได้ดีมากขึ้น ร่วมสมัยมากขึ้น ที่สำคัญสวยขึ้น”

house-single-02-11house-single-02-07
บ้านหลังนี้มีความพิเศษที่ช่องเปิด เช่น ประตูและหน้าต่าง สถาปนิกออกแบบให้อยู่ในตำแหน่งที่สัมพันธ์กันทั้งด้านการมองเห็นและความรู้สึก จากห้องหนึ่งสู่อีกห้องและอีกห้อง รู้สึกได้ถึงความมีชีวิตชีวาที่อยู่รอบตัว เมื่อเราอยู่บนห้องนอนก็ยังมีช่องที่มองออกมาเห็นโถงบันไดได้ หรือจากโถงบันไดก็มีช่องไว้มองว่าใครอยู่ที่โต๊ะอาหารบ้าง

house-single-02-09
แนวคิดหลักที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือแปลนและการจัดวางส่วนต่างๆของบ้านที่มีความสมมาตรในแนวยาว คือหากพับครึ่ง แปลนของบ้านก็จะทับกันสนิท เพราะสถาปนิกคิดถึงเรื่องพื้นที่สวนที่อยู่รอบบ้าน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะจัดสวนด้านหน้าและหลังของบ้าน แต่สำหรับบ้านนี้ตัวบ้านตั้งอยู่กลางที่ดิน เพื่อให้เกิดสวนรอบบ้านในขนาดที่ใหญ่พอสำหรับการใช้งานจริง แปลนของบ้านยังมีความน่าสนใจที่การเว้นและการเว้าเข้าไปของตัวบ้าน เพื่อให้เกิดช่องทางของลมและแสงแดดที่จะผ่านได้อย่างดีที่สุด

house-single-02-03
ด้านหน้าบ้านเป็นถนนทางเข้า สถาปนิกเลือกใช้ผนังสองชั้นเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ผู้อยู่อาศัย ผนังสูงที่เพิ่มขึ้นมาอีกชั้นจากผนังจริงของบ้านทำให้เกิดช่องว่างกว้างประมาณ 2 เมตร สูงจากพื้นจรดหลังคา ด้านบนเจาะช่องเปิดที่ไม่สลับตำแหน่งกับหน้าต่างด้านในบ้าน เหมือนเป็นผนังกรองสายตา กรองแสงและความร้อนอีกชั้นหนึ่ง เมื่อเปิดไฟที่ผนังของบ้านก็จะเหมือนงานประติมากรรมที่มีการจัดวางองค์ประกอบไว้อย่างดี

house-single-02-10
แม้ผนังจะเป็นสิ่งแบ่งแยกพื้นที่เป็นสองส่วนและทำให้เราดูห่างกัน แต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่พอดี ไม่ใกล้เกินไปและไม่ห่างจนเหงา บ้านหลังนี้คงเป็นเช่นนั้น สร้างผนังเพื่อให้การเจาะช่องเปิดมีความหมาย ปิดบ้าง เปิดบ้าง ดูน่าสนุกและน่าสนใจกว่าเป็นไหนๆ ว่าไหมครับ

เจ้าของ : นายแพทย์ปภากร – แพทย์หญิงคัคณางค์ มิ่งมิตรพัฒนะกุล
ออกแบบจัดสวน : คุณดวงพร หาญเสรี
ออกแบบบ้าน : คุณรชพร ชูช่วยและคุณสรวิศคล้ายมาก บ.ออลโซน


รื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพ : ศุภกร สรีสกุล

ผลงานออกแบบของ all(zone) เพิ่มเติม 

S49 RESIDENCE – ทลายกำแพง รีโนเวตตึกแถว ที่ปิดทึบให้โปร่งโล่ง

MAIIAM CONTEMPORARY ART MUSEUM