Functional Walk in Closet ตามระเบียบ…พับ
ปัจจุบันห้องแต่งตัว หรือ “Walk in closet” ไม่ได้เป็นแค่ที่เก็บเสื้อผ้าเท่านั้น ด้วยตำแหน่งที่วางใกล้ห้องน้ำและห้องนอน เราจึงอาจปรับพื้นที่นี้เป็นที่เก็บของใช้ต่างๆ ได้ด้วย เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม หรือกระเป๋าเดินทาง การออกแบบที่ดีจะทำให้ใช้งานห้องนี้ได้สะดวกขึ้น มีการจัดแบ่งหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ เพื่อการหยิบใช้งานได้ง่าย เรามีไอเดียและระยะในการออกแบบห้องแต่งตัวมาฝากกันค่ะ
- การออกแบบตู้เสื้อผ้าควรคำนึงถึงระยะการใช้งานของส่วนต่างๆ เช่น ลิ้นชักเก็บเสื้อชั้นใน ช่องสำหรับเก็บเสื้อยืด ระยะแขวนเสื้อหรือชุดเดรสยาว ระยะแขวนกางเกง ส่วนเก็บกระเป๋าและเครื่องประดับ ทั้งหมดนี้มีรายละเอียดของความสูงต่างกัน การออกแบบที่ดีควรยึดระยะเหล่านี้ จะทำให้ห้องแต่งตัวมีการหยิบใช้งานที่สะดวกสบาย และแบ่งประเภทของใช้ได้อย่างมีระบบ
- ระยะการใช้งานเป็นสิ่งสำคัญ ระยะติดตั้งราวแขวนไม่ควรสูงเกินเอื้อมเก็บ ระยะพอดีอยู่ที่ 1.50-1.60 เมตร ส่วนลิ้นชักเก็บของหรือชั้นวางของด้านล่างควรสูงประมาณ 35-40 เซนติเมตร ส่วนบนสุดของชั้นวางของที่ใช้สำหรับเก็บเครื่องนอนหรือกระเป๋าเดินทางควรมีความสูงไม่เกิน1.80 เมตร
- การแบ่งรูปแบบการใช้งานภายในตู้มีหลายแบบ เรามีไอเดียของการจัดเก็บด้านในตู้มาให้ดูเป็นตัวอย่าง การจัดเก็บที่ดีต้องมีครบทั้งหน้าบานทึบ หน้าบานเปิดโล่ง ลิ้นชัก และกล่องจัดเก็บ เพื่อให้ใช้งานได้เต็มที่ ทั้งหมดนี้สามารถปรับขนาดและรูปแบบให้เหมาะกับพื้นที่ที่มีอยู่ได้ไม่ยาก
A: ยกร้านหรูมาไว้ในบ้าน
เลียนแบบการจัดวางของร้านเสื้อผ้าหรูๆที่มีการใช้ราวแขวน ส่วนโชว์ของกระจุกกระจิกอย่างเครื่องประดับ เน็กไท และเข็มกลัด ออกแบบเป็นไอส์แลนด์ที่แยกการจัดเก็บได้เป็นหมวดหมู่ ด้านบนแบ่งเป็นช่อง ขนาด 15 X 15 เซนติเมตร ด้านในกรุผ้ากำมะหยี่เพื่อช่วยถนอนเครื่องประดับที่นำมาวาง แนะนำให้กำหนดการใช้งานไว้ล่วงหน้าว่าคุณต้องการจัดเก็บอะไรบ้าง เช่น ชั้นนี้วางรองเท้า ลิ้นชักนี้เก็บกางเกงขาสั้นหรือเสื้อยืด เพื่อความสะดวกในการหยิบใช้และจัดเก็บ
สถานที่: บ้านคุณพล ตันฑเสถียร
สถานที่: บ้านคุณรัชดาภรณ์ ทาระวรรณ และคุณกมษา วิศวพลานนท์
B: เรียบโล่ง สบายตา
ออกแบบหน้าบานตู้สูงปิดบังการจัดเก็บด้านใน หากห้องมีขนาดไม่ใหญ่ การกรุกระจกก็ช่วยให้ห้องดูกว้างขึ้น และยังใช้เป็นกระจกส่องแบบเต็มตัวได้ บ้านที่มีพื้นที่เพียงพอออกแบบเคาน์เตอร์ยาวเป็นส่วนโต๊ะแต่งตัว โดยบริเวณใต้เคาน์เตอร์ยังใช้เป็นส่วนจัดเก็บเพิ่มเติมได้อีกด้วย
สถานที่: บ้านคุณสิทธิชัย บูรณะกิจไพบูลย์
C: ห้องนั่งเล่นในห้องแต่งตัว
ความฝันเล็กๆของหญิงสาวคือการได้ใช้เวลาอยู่ในห้องแต่งตัว ได้ส่องกระจกลองเสื้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างจินตนาการได้ดี ลองวางโซฟาตัวสวยสักตัวในห้อง หากมีพื้นที่จำกัดเลือกโซฟาที่มีรูปทรงโค้งมนหรือจะใช้โซฟาทรงกลมหรือทรงรี ก็ช่วยให้ห้องดูไม่คับแคบ ตู้สูงแบบเต็มผนังไม่จำเป็นต้องออกแบบให้ทึบทั้งผนังก็ได้ เว้นบางส่วนสำหรับวางเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวบ้าง ก็ทำให้ห้องดูไม่ทึบ และคุณก็จะสนุกกับการจัดวางได้มากขึ้น
สถานที่: บ้านคุณกมล ฉัตรเสน
D: เพื่อนสนิทของห้องน้ำ
วอล์คอินคลอเซตเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนสนิทของห้องน้ำเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นการใช้งานที่มาคู่กันเสมอ หากต้องการความสะดวกควรออกแบบให้อยู่ต่อเนื่องกัน แต่หากอยากวางในพื้นที่เดียวกัน ห้องน้ำมีความชื้นควรเว้นระยะห่างของส่วนเปียก เช่น อ่างล้างหน้าและตู้ โดยเว้นระยะห่างตั้งแต่ 1.20 เมตรขึ้นไป และควรใช้ตู้เสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุทนความชื้นได้อย่างเหล็กทำสี จะเหมาะกว่า แนะนำว่าควรมีตู้เก็บของหรือตู้สูงสักใบไว้หน้าห้องน้ำ เพื่อการจัดเก็บของใช้อย่างสบู่ ผ้าเช็ดตัว หรือเสื้อผ้าใส่อยู่บ้าน ก็หยิบใช้งานได้สะดวกดี
สถานที่: บ้านคุณกมล ฉัตรเสน
E: พื้นที่จำกัดก็ครบครันได้
หากมีพื้นที่น้อย ลองออกแบบพื้นที่ให้คุ้มค่าด้วยการจัดวางแบบเต็มผนังด้านใดด้านหนึ่งยาวเต็มพื้นที่ หากต้องการให้เป็นส่วนตัวก็ติดประตูบานเลื่อนปิดอีกชั้น แค่นี้ก็ได้มุมแต่งตัวแบบไม่กินพื้นที่ ในบ้านทาวน์โฮมที่มีพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างห้องนอนกับห้องน้ำ ออกแบบพื้นที่ส่วนนี้ให้เชื่อมต่อกัน แบ่งการใช้งานให้พอดี คุณก็จะมีส่วนแต่งตัวและส่วนจัดเก็บเสื้อผ้าในพื้นที่เดียวกันได้แบบสบายๆ
สถานที่: บ้านดร. จรัล พิรัญเจริญ
สถานที่: บ้านคุณต่อศักดิ์ ชื่นประภา และคุณกุสุมา รุจกิจยานนท์
Tips
- Walk in closet เซตแนวยาวเต็มผนัง อย่าลืมเผื่อพื้นที่สัญจรด้วย ความกว้างไม่ควรต่ำกว่า 90 เซนติเมตร เพื่อความสะดวกสบายในการขยับเลือกเสื้อผ้าหรือจัดเก็บของ
- Walk in closet แบบสองฝั่ง ควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ตรงกลางที่เป็นทางสัญจรด้วย ความกว้างไม่ควรต่ำกว่า 1.20 เมตร หากใช้หน้าบานตู้แบบเปิด ไม่ควรออกแบบเป็นบานใหญ่ อาจแบ่งย่อยขนาดลงหากต้องการใช้งานทั้งสองฝั่ง ระยะการเปิดจะไม่ทำให้หน้าบานตู้ตีกัน