รู้จัก สัญลักษณ์รีไซเคิล พลาสติก กันเถอะ
เราใช้พลาสติกกันอยู่ทุกวัน ทั้งถุงพลาสติก ขวดพลาสติก และอุปกรณ์เครื่องใช้มากมาย ในปัจจุบันเราใช้พลาสติกกันอย่างฟุ่มเฟือยมาก ซึ่งพลาสติกบางชนิดก็ยังไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ ส่วนชนิดที่ย่อยสลายได้ก็ต้องใช้เวลานานมาก ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมตามมา สัญลักษณ์รีไซเคิล
วิธีที่ดีที่สุดก็คือการลดปริมาณการใช้ และนำพลาสติกบางชนิดกลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านขั้นตอนการผลิตหรือที่เรียกว่าการ รีไซเคิล วันนี้ บ้านและสวน จะมาพามารู้จักกับ สัญลักษณ์รีไซเคิล ที่มักจะปรากฏอยู่ใต้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เราใช้กันอยูุ่ทุกวัน เพื่อบอกประเภทของพลาสติกกันแต่ละประเภทว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
เบอร์ 1 Polyethylene Teraphthalate (No. 1 PETE / PET)
พลาสติกจำพวกโพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต ( PET หรือ PTET ) เป็นพลาสติกใส แข็งแรง และมีน้ำหนักเบา ซึ่งมักจะถูกใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร และ เครื่องดื่มแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ขวดโซดา ขวดน้ำ ขวดเบียร์ ขวดน้ำสลัด และภาชนะบรรจุเนยถั่ว รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จำพวกพลาสติกชนิดใสอื่น ๆ พลาสติกชนิด Polyethylene Terephthalate หรือ PET หรือ PTET นั้นสามารถรีไซเคิลได้ แต่อัตราการรีไซเคิลเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30% ในแต่ละปี ภาชนะเหล่านี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากโรงงานรีไซเคิล การรีไซเคิลขวดและภาชนะ PETE นั้นสามารถสร้างภาชนะพลาสติกชิ้นใหม่ขึ้นได้ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ พรม เส้นใย และขนแกะเทียม
เบอร์ 2 High-Density Polyethylene (No. 2 HDPE)
พลาสติกจำพวกโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง เป็นพลาสติกอีกประเภทหนึ่ง ที่พบได้ทั่วไปในผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน อย่างเช่นเหยือกนม ภาชนะสำหรับทำความสะอาด ขวดแชมพู และบรรจุภัณฑ์ผงซักฟอก พลาสติกประเภท HDPE เหมาะอย่างยิ่งสำหรับสินค้าอุปโภค บริโภค เนื่องจากพลาสติก HDPE มีน้ำหนักเบา แต่ทนทาน พลาสติกจำพวก HDPE สามารถรีไซเคิลได้ง่าย ส่วนใหญ่จะนำไปผลิตเป็น โต๊ะปิกนิก ม้านั่ง และรั้ว
เบอร์ 3 Polyvinyl Chloride (No. 3 PVC or V)
พลาสติกโพลิไวนิลคลอไรด์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าไวนิล มีความหลากหลายมาก มีคุณสมบัติน้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน และยืดหยุ่น มักพบในผลิตภัณฑ์ประเภท พลาสติกที่ใช้สำหรับห่ออาหาร ขวดน้ำยาทำความสะอาด ท่อ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ถุงมือพลาสติก และบรรจุภัณฑ์อาหาร พลาสติก PVC นั้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือสามารถนำกลับมารีไซเคิลให้เป็น บรรจุภัณฑ์สินค้าอาหาร ของเล่นพลาสติก พลาสติกห่อหุ้มอาหาร และท่อพลาสติก
เบอร์ 4 Low-Density Polyethylene (No. 4 LDPE)
พลาสติกประเภทโพลิเอทิลีน เป็นที่รู้จักกันดี ในกลุ่มของผลิตภัณฑ์ถุงช้อปปิ้ง พรม ขวดบีบได้ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า และบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง เป็นพลาสติกชนิดที่มีความหนาแน่นต่ำ ยืดหยุ่นได้ดี ทนทานต่อสารเคมีได้ น้ำหนักเบาทำให้สะดวกในการบรรจุหีบห่อ แต่รีไซเคิลได้ยากมากแต่ทำได้ สามารถรีไซเคิลเป็นถุงพลาสติกแบบบาง พลาสติกแร็ป ถุงดำ ถุงขยะ เป็นต้น
เบอร์ 5 Polypropylene (No. 5 PP)
พลาสติกประเภทโพลิโพรพิลีน มีความเหนียวน้ำหนักเบา ทนต่อความชื้น จาระบี และสารเคมีได้ พลาสติกประเภทนี้มักพบในถังสี จาน ชาม พลาสติก ขวดซอส ถ้วยโยเกิร์ต หลอด และขวดยา สามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็น ถุงร้อนใส่อาหาร หรือกล่องพลาสติกที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ แก้วพลาสติกแบบแข็ง
เบอร์ 6 Polystyrene (No. 6 PS)
พลาสติกโพลิสไตรีน เป็นพลาสติกที่มีลักษณะโปร่งใส ทนต่อกรด และ ด่าง ไอน้ำผ่านเข้าไปได้ มีน้ำหนักเบามาก และมักถูกกำจัดทิ้งหลังจากใช้งานครั้งเดียว มักพบกับกลุ่มบรรจุภัณฑ์ชนิดกล่องโฟมใส่อาหาร แก้วน้ำดื่ม แผ่นฉนวน พลาสติกชนิดโพลีสไตรีนมีต้นทุนการผลิตที่ราคาไม่แพง ผลิตได้ง่าย ซึ่งทำให้เหมาะสำหรับการใช้งานครั้งเดียว สามารถรีไซเคิลเป็น จาน แผงไข่ไก่ และกล่องซีดี เป็นต้น
เบอร์ 7 “OTHER” (No. 7)
เป็นหมวดหมู่เบ็ดเตล็ดสำหรับพลาสติกทั้งหมด ที่ไม่เข้ากับอีก 6 ประเภทข้างต้น หรืออาจจะเป็นพลาสติกแต่ละชนิดมาผสมกัน พบได้ในผลิตภัณฑ์อย่าง ฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า แว่นกันแดด และอุปกรณ์กีฬาอื่น ๆ พลาสติกในหมวดนี้มักประกอบด้วย BPA , โพลีคาร์บอเนต และ LEXAN ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ หากไม่ถูกกำจัดอย่างเหมาะสม มักจะนำกลับมารีไซเคิลเป็นขวดน้ำ กล่อง และถุงบรรจุอาหาร กระสอบปุ๋ย ถุงขยะ
เรื่อง : Jaranya LW
ภาพประกอบ : เอกรินทร์