ทางเข้าไปสู่โรงหล่อ อาคารกลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ พุทธมณฑล ศาลายา จังหวัดนครปฐม เรียงรายด้วยพระบรมรูปปั้น และต้นแบบพระราชานุสาวรีย์มากมาย
ภายในพื้นที่สำหรับจัดสร้างประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ ต้นแบบประติมากรรมถูกปั้นขึ้นจากดินเหนียวโดยทีมประติมากร หลังจากนั้นจะนำไปหล่อเป็นปูน เก็บรายละเอียดลวดลายเพื่อนำไปทำแม่พิมพ์ ก่อนส่งแม่พิมพ์เหล่านั้นไปยังท้องสนามหลวงเพื่อขึ้นรูปประติมากรรมเหล่านี้ด้วยไฟเบอร์กลาสที่โรงหล่อ ณ ท้องสนามหลวง และส่งเขียนสีในขั้นตอนสุดท้าย
ต้นแบบประติมากรรม ท้าววิรูปักษ์ หนึ่งในท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ที่จะประดับอยู่ทั้งสี่ทิศของพระเมรุมาศ ความสูง 2 เมตร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจัดทำเครื่องทรงและเก็บรายละเอียดลวดลาย
สิงห์ สัตว์มงคลประจำทิศ ใช้ประดับทางขึ้นบันไดชั้นที่ 1 ของพระเมรุมาศ อยู่ในระหว่างการเก็บรายละเอียดและปรับแก้
สิงห์ สัตว์มงคลประจำทิศ ใช้ประดับทางขึ้นบันไดชั้นที่ 1 ของพระเมรุมาศ อยู่ในระหว่างการเก็บรายละเอียดและปรับแก้
ต้นแบบปูนของเทวดานั่งรอบพระเมรุมาศ มีการเก็บรายละเอียดลวดลายเพิ่มเติมด้วยขี้ผึ้งก่อนนำไปทำแม่พิมพ์เพื่อหล่อไฟเบอร์กลาส
. หุ่นโครงสร้างไม้สักส่วน “องค์บุษบก” ของ “พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย” ที่ทางสำนักช่างสิบหมู่ในออกแบบจัดสร้างขึ้นใหม่เพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยทำขึ้นตามแบบพระที่นั่งราเชนทรยานองค์เดิมซึ่งสร้างขึ้นโดยช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่มีขนาดย่อมกว่า
แบบร่าง “พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย” องค์ใหม่ ซึ่งจะใช้ในการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารจากท้องสนามหลวงไปยังพระบรมมหาราชวัง
ช่างอาวุโสกำลังแกะสลักไม้ส่วน “กาบพรหมศร” เพื่อใช้ประดับเสาขององค์พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย
อีกด้านช่างฝีมือกำลังแกะสลักส่วนประดับราชรถ
พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย” เป็นพระที่นั่งทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง (ส่วนมุมทั้ง 4 ของพระที่นั่งทำหักย่อลงทำให้เป็น 3 มุมย่อย) โดยมีการศึกษาการเข้าไม้แบบโบราณ มีรูปแบบการเข้าเดือยตัวผู้และตัวเมียที่ปลายไม้
ลวดลายประณีตสุดๆ ของ “กระจังปฏิญาณ” อีกส่วนประดับพระที่นั่งฯ ที่ทางสำนักช่างสิบหมู่คัดลอกลวดลายแกะสลักไม้จากรูปแบบขององค์พระที่นั่งราเชนทรยานองค์เดิม
งานบูรณปฏิสังขรณ์ “พระที่นั่งราเชนทรยานองค์เดิม” ซึ่งมีอายุกว่า 200 ปี แต่เนื้อไม้สักยังคงงดงามเนื่องจากมีการลงรักปิดทองจึงรักษาเนื้อไม้ไว้เป็นอย่างดี โดยอาสาสมัครผู้ชำนาญการจะทำการลอกผิวทองเดิมส่วนที่ชำรุดออก ซ่อมแซมให้ลวดลายแกะสลักไม้มีความคมชัด ก่อนลงรักปิดทองใหม่อีกครั้ง
ในขั้นตอนการบูรณะ จะใช้ปลายสิ่วขูดลวดลายแกะสลักในส่วนประดับต่างๆ ให้ในความคมชัดยิ่งขึ้น
ส่วนหลังคาขององค์บุษบกของพระที่นั่งราเชนทรยานองค์เดิม ได้รับการลงรัก ประดับกระจก ก่อนทำสีและปิดทองใหม่
แบบร่างฉัตรกลีบบัวฉลุโลหะ 11 ชั้น
งานดุนลายแผ่นโลหะเพื่อชั้นประกอบฉัตร 11 ชั้น
ผ้าลายทองแผ่ลวด เป็นงานช่างแขนงหนึ่งใน “หมู่ช่างสนะไทย” หรือช่างเครื่องภูษาอาภรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีต่างๆ โดยผ้าจะถูกใช้เป็นเครื่องประกอบพระมหาพิชัยราชรถ พระที่นั่งราเชนทรยาน และราชรถน้อย ในส่วนต่างๆ เช่น ธงสามชายประจำงอนราชรถ ฉัตร ฯลฯ
งานเย็บผ้าลายทองแผ่ลวดนั้นต้องใช้ฝีมือและความอุตสาหะอย่างยิ่ง ตั้งแต่กระบวนการฉลุลาย ประดับกระจกไปจนถึงขั้นตอนการเย็บที่ต้องประณีต
ฉากบังเพลิงประกอบพระเมรุมาศ ซึ่งใช้ในการกั้นลมในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ มีทั้งหมด 4 ทิศ โดยเป็นเรื่องราวของนารายณ์อวตาร 8 ปางจากฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 โดยมีภาพเทวดาขนาบข้าง
ขณะนี้ทางทีมกำลังวาดรายละเอียดของภาพเทวดาประกอบเรื่องราวนารายณ์อวตารลงบนผ้าแคนวาสขนาดเท่าจริง ก่อนจะนำไปติดบนฉากบังเพลิง
เพื่อให้เกิดความกลมกลืนของภาพรวมทั้งหมด งานจิตรกรรมฉากบังเพลิงจะแบ่งทีมตามขั้นตอนคือ ผู้ร่างภาพ ผู้ลงสีบรรยากาศโดยรวมของภาพ ผู้ลงสีรายละเอียดภาพ โดยแต่ละฝ่ายจะทำงานในเฉพาะส่วนของตน
ภาพแบบร่างภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิงด้านหลัง ตรงกลางมีพระปรมาภิไธยย่อ ภปร มีดอกดาวเรืองสีเหลืองอันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ ด้านล่างเป็นภาพดอกไม้มงคลอันได้แก่ ดอกบัวเงิน ดอกบัวทอง ดอกบัวสวรรค์
เมื่อ room ได้มีโอกาสไปเยือน “สำนักช่างสิบหมู่” เพื่อเยี่ยมชมเบื้องหลังของส่วน “งานศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์” ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เชื่อว่าชาวไทยทุกคนล้วนติดตามพระราชพิธีครั้งนี้อย่างใกล้ชิด งานนี้เราจึงเก็บภาพมาฝากแบบเต็มอิ่ม แต่ละภาพล้วนสะท้อนถึงความร่วมมือร่วมใจของบรรดาช่างฝีมือชั้นครู ลูกศิษย์ผู้สืบทอด ไปจนถึงบรรดาพี่น้อง “จิตอาสางานพระเมรุมาศ” ทุกคนที่ลงแรง “สุดฝีมือ สุดหัวใจ” รังสรรค์งานศิลปะไทยดั้งเดิมอันทรงคุณค่าเพื่อน้อมรำลึกถึงพ่อหลวงรัชกาลที่ 9
“ช่างสิบหมู่” ที่เราได้ยินกันมาแต่เล็กแต่น้อยนั้นหมายถึง กลุ่มช่างผู้ทำงานด้วยมือ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยโบราณ คำว่า “สิบ” นั้นยังไม่อาจตีความได้แน่ชัด บางท่านก็ว่ามาจากคำว่า “สิปปะ” ในภาษาบาลี ซึ่งหมายถึง ศิลปะ บางท่านว่าหมายถึง สิบๆ ซึ่งเป็นวิธีการเรียกรวมๆ ในสิ่งที่ยากแก่การนับ คือ มีช่างเป็นสิบๆหมู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่างานช่างศิลปะไทยโบราณมีสิบอย่างเท่านั้น (www.finearts.go.th/promotion )
ในงานพระราชพิธีครั้งนี้ สำนักช่างสิบหมู่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบจัดสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ อย่างสมพระเกียรติและเป็นไปตามโบราณราชประเพณี รวมทั้งเป็นการสืบทอดภูมิปัญญา งานศิลปะไทยโบราณให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน เราได้เก็บภาพ 3 กลุ่มงานหลักที่กำลังดำเนินการสร้างสรรค์งานฝีมือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประดับตกแต่งพระเมรุมาศ ได้แก่
-งานประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ ประกอบด้วย เทวดา 32 องค์ มหาเทพ 4 องค์ ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ สัตว์มงคลประจำทิศ ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศ และคชสีห์-ราชสีห์
-งานประณีตศิลป์ ได้แก่ งานจัดสร้างฉัตรโลหะกลีบบัว 11 ชั้น งานจัดสร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย และงานบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาพิชัยราชรถ ราชรถน้อย ๙๗๘๔ และพระที่นั่งราเชนทรยานองค์ดั้งเดิม
-งานจิตรกรรม ฉากบังเพลิงประกอบพระเมรุมาศทั้ง 4 ทิศ และภาพจิตรกรรมเรื่องราวตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ณ สำนักช่างสิบหมู่ ที่นี่จึงเป็นเหมือนโลกอีกใบ โลกที่เหมือนถูกหยุดเวลาไว้ โลกที่ทุกคนกำลังมุ่งมั่นกับการสร้างสรรค์งานศิลปะไทยโบราณขึ้นอีกครั้ง เพื่อเทิดพระเกียรติ และสืบสานความเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้เป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ
นอกเหนือจากสำนักช่างสิบหมู่ ยังมีงานจัดสร้างพระเมรุมาศในส่วนอื่นๆ อีก อาทิเช่น พื้นที่เตรียมพระราชพิธีบริเวณท้องสนามหลวง ซึ่ง room จะเก็บภาพมาฝากเพิ่มเติมกันในคราวหน้าแน่นอน
อ่านต่อ :
สุดฝีมือเพื่อพ่อ ๒ : ชมเบื้องหลังการสรรค์สร้าง “พระเมรุมาศ”
เรื่อง Monosoda
ภาพ ศุภวรรณ