โฮมสเตย์ บ้านไททอ ที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจจากกันและกัน

โฮมสเตย์ บ้านไททอ ที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจจากกันและกัน

 

บ้านสองหลังที่ต่อเติมเพื่อเติมเต็มชีวิตของคนหลากวัย มีบ้านไม้เก่าที่ถูกทิ้งไว้เป็นสิบปีจนปลวกกินพื้นบ้านหมดจนต้องใช้เวลาซ่อมแซม และต่อเติมให้เป็นส่วนของร้านกาแฟ ร้านเสื้อผ้า และ โฮมสเตย์

เจ้าของ : คุณเกรียงไกร พิทยะปรีชากุล และคุณศศิธร ไชอุปถัมภ์

DESIGNER DIRECTORY 

ออกแบบ : คุณเกรียงไกร พิทยะปรีชากุล

จากการซ่อมแซมบ้านที่ถูกทิ้งไว้นานนับสิบปี ของ คุณกิ๊ก – กานต์ศิริ พิทยะปรีชากุล คุณพ่อ (คุณเกรียงไกร พิทยะปรีชากุล) และคุณแม่ (คุณศศิธร ไชอุปถัมภ์) ค่อยๆปะติดปะต่อความฝันและความผูกพันเข้าด้วยกัน เกิดเป็นการต่อเติมร้านกาแฟของคุณแม่ ร้านเสื้อผ้าของคุณกิ๊ก และ โฮมสเตย์ ของครอบครัวตามลำดับ ที่สำคัญคือทั้งหมดนี้รวมอยู่ในบ้านหลังเดียวกันอย่างลงตัวและน่าสนใจ จนทำให้เราอยากเข้าไปสัมผัสบ้านหลังนี้ด้วยตัวเอง

โฮมสเตย์

คุณกิ๊กเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง ก่อนหน้านี้เราออกไปเดินเล่นรอบคูเมืองใกล้ๆบ้าน แล้วก็ค้นพบว่าย่านนี้เต็มไปด้วยบรรยากาศของ “กำลังใจ” และ “ความอบอุ่น” บ้านหลังนี้ก็เช่นกัน ตอนเดินกลับมาก็พบว่าคุณยายเด็ดยอดผักเฮือด เพื่อนำไปเตรียมทำอาหาร บ้านนี้เป็นเรือนสองหลังที่ปลูกไว้ใกล้กัน ก่อนจะต่อเติมให้เชื่อมโยงเป็นหลังเดียวกันอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เรือนหลังแรกเป็นของคุณยายที่ปลูกไว้นานมากแล้ว ต่อมาในปี  2529 ที่คุณกิ๊กเกิด คุณยายจึงยกที่ดินบางส่วนให้คุณพ่อปลูกเรือนหลังเล็กไว้ใกล้ๆกัน

โฮมสเตย์

“เราเคยย้ายออกไปอยู่บ้านตึกในย่านการค้ากลางตัวเมือง” คุณพ่อเริ่มต้นเล่า ก่อนที่คุณแม่จะต่อความว่า “ตอนนั้นเราคาดหวังกับการทำธุรกิจ แต่พอถึงที่สุดเราก็ย้ายกลับมาอยู่ตรงนี้ ตอนนั้นแม่ (คุณยาย)ป่วยก็ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านนี้ เพราะอยากอยู่ใกล้กับท่าน ตอนนั้นน้องกิ๊กก็เรียนใกล้จะจบแล้ว เราก็คิดว่าที่นี่เป็นที่ที่เราสบายใจ งานบาติกที่เราถนัดก็เริ่มมาจากที่นี่ ทำกันใต้บ้านตรงนี้เลย ถ้าอย่างนั้นก็กลับมาอยู่บ้านเราให้พร้อมหน้ากันดีกว่า”

งานบาติกที่คุณแม่กล่าวถึงคือผ้าบาติกแบรนด์ “ไททอ” ซึ่งมีลักษณะคล้ายงาน Rōketsuzome ของญี่ปุ่นมากกว่าแบบชวา และทำให้คุณกิ๊กเลือกไปร่ำเรียนด้านการออกแบบพัสตราภรณ์ เพื่อจะได้กลับมาสานต่อกิจการของที่บ้าน

“เราเริ่มทำบ้านหลังนี้เมื่อ 5 ปีก่อน เพราะเป็นบ้านไม้ที่ถูกทิ้งไว้เป็นสิบปี พื้นบ้านจึงแทบไม่เหลือเลย ปลวกกินเรียบ” คุณพ่อเท้าความให้ฟัง ก่อนที่คุณกิ๊กจะเสริมว่า “ใช้เวลาซ่อมบ้านปีหนึ่ง แล้วจึงเริ่มต่อเติมส่วนด้านข้างของตัวบ้านที่ติดกับถนนใหญ่ออกไป แบ่งเป็นส่วนของร้านกาแฟและร้านเสื้อผ้า โดยร้านกาแฟมีประตูเชื่อมต่อกับบ้านเดิมและอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน เป็นโครงสร้างปูนผสมเหล็ก พอได้เริ่มทำ คุณพ่อก็เหมือนสนุก คืออยากทำอะไรแบบนี้มานานแล้ว เลยทำไม่หยุดเลยค่ะ”  

จากด้านหนึ่งของบ้านที่ต่อเติมเป็นร้านค้า อีกด้านจึงสร้างเป็นโฮมสเตย์ที่เชื่อมบ้านหลังเล็กกับบ้านคุณยายเข้าด้วยกัน โดยที่บ้านหลังเล็กจะเชื่อมกับส่วนครัวของโฮมสเตย์ ก่อนจะแบ่งเป็นบันไดขึ้นห้องพักและชานนั่งเล่นที่ชั้นบนและชั้นล่าง ซึ่งห้องหนึ่งของโฮมสเตย์ในชั้นล่างเจ้าของเปลี่ยนใจปรับเป็นห้องดูหนังฟังเพลงของครอบครัวแทน

โฮมสเตย์ โฮมสเตย์ โฮมสเตย์

บ้านนี้มีลักษณะเป็นอาคารโครงสร้างปูนผสมเหล็กที่มีการนำไม้เก่ามาใช้ด้วย เช่น พื้นชั้นสองตีไม้เว้นร่องคล้ายในบ้านโบราณ เพื่อเชื่อมโยงไปยังบ้านคุณยาย ส่วนนั่งเล่นของโฮมสเตย์ที่แทรกตัวเข้าไปในพื้นที่ใต้ถุนบ้านคุณยาย โดยยังคงปล่อยเสาชั้นล่างเอาไว้เช่นเดิม และพยายามไม่รบกวนองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของบ้านคุณยายมากนัก เพราะต้องการจะอนุรักษ์หน้าตาเดิมของบ้านเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

ส่วนโฮมสเตย์นั้นสามารถเข้าถึงได้จากกลางบ้าน แต่บ้านคุณยายจะต้องอ้อมไปขึ้นบันไดหน้าบ้านอีกด้านหนึ่ง จึงเป็นการแยกความเป็นส่วนตัวออกจากกัน คุณพ่อตั้งใจเก็บต้นมะม่วงไว้เพื่อให้ร่มเงา พื้นที่ระหว่างบ้านทั้งสามหลังเว้นให้โล่งเพื่อการไหลเวียนของอากาศ จึงทำให้ทุกมุมในบ้านรับลมตลอดเวลา นอกจากนี้การเลือกใช้โครงสร้างเหล็กก็เพราะว่าชอบทั้งรูปลักษณ์และน้ำหนักเบา ซึ่งไม่เป็นภาระแก่อาคารเดิมมากนัก อีกทั้งรายละเอียดของงานเหล็กยังเข้ากันได้ดีกับบ้านไม้ด้วย

โฮมสเตย์ โฮมสเตย์

คุณพ่อบอกว่าของตกแต่งที่อยู่ในบ้าน โฮมสเตย์ และร้านกาแฟ เป็นของที่สะสมเอาไว้เรื่อยๆตามความชอบของครอบครัว นานวันเข้าก็เยอะขึ้น เก็บจนลืมบ้าง หายบ้าง มีแต่จะผุพังไป แต่พอได้จัดพื้นที่และนำออกมาตั้งโชว์ ทำให้สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้ บานหน้าต่างและประตูไม้เก่าก็เช่นกัน ทุกส่วนที่มีการปรับปรุงก็จะผสมเอาของเก่าเหล่านี้ลงไปด้วย เช่น ไม้เก่าก็กลายมาเป็นโต๊ะ หรือโครงสร้างบางส่วนใช้ไม้ฝาบ้านจากอีกหลังหนึ่งเข้าไปผสม

ร่องรอยของกาลเวลาทำให้หลากวัสดุในบ้านหลังนี้ดูเข้ากันได้อย่างลงตัว ทั้งส่วนต่อเติมใหม่และองค์ประกอบเดิมๆของบ้าน จนเราอยากจะเรียกบ้านหลังนี้ว่าเป็นสไตล์ไทยลอฟต์เสียจริงๆ

ใครอยากลองแวะไปชมเสื้อผ้าฝีมือการออกแบบของคุณกิ๊ก จิบกาแฟฝีมือคุณแม่ หรือพักผ่อนแบบคนท้องถิ่นในโฮมสเตย์แห่งนี้ เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  Homelynestphrae ครับ


สถานที่ : 8/1 ถ.ร่องซ้อ ซ.3 ต.ในเวียง อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ 54000

 

เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”

ภาพ : ธนกิตติ์   คำอ่อน

สไตล์ : ทิพยา   ตาริชกุล


3 โฮมสเตย์จากหลองข้าวเก่า

บ้านใต้ถุนสูง บ้านกึ่งโฮมสเตย์