รวมกันเราอยู่…
“การรวมบ้านสองหลังให้กลายเป็นบ้านหลังเดียว ต้องอาศัยการวางผังภายในที่ดี และการวางกลุ่มก้อนของตัวอาคารที่ลงตัว ซึ่งผมคิดว่ายากกว่าการออกแบบบ้านใหม่เสียอีก นอกจากนี้เรายังต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าอีกด้วย”
ผืนน้ำและเส้นขอบฟ้าของเมืองซิดนีย์คือสิ่งที่เจ้าของบ้านหลังนี้มองเห็นทุกเช้าจากหน้าต่างภายในห้องนอน สามีเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ใช้เวลาขับรถไปทำงานในย่านดาวน์ทาวน์เพียงวันละไม่กี่นาที ส่วนภรรยาเป็นทนายความอิสระ มีห้องทำงานอยู่ในบ้านติดกับห้องของเล่นของลูกๆ ทุกอย่างที่พวกเขาต้องการอยู่ไม่ไกลจากบ้าน ความสะดวกสบายคือเสน่ห์ของชีวิตในเมือง ซึ่งทำให้พวกเขาเลือกที่จะอยู่ในบ้านหลังนี้
วิวสวย สะดวกสบาย แต่คับแคบอาจเป็นลักษณะของบ้านในเมืองใหญ่ที่เราคิดกัน สองข้อแรกตรงกับบ้านนี้อย่างที่ผมเล่าไปแล้ว จริงๆบ้านหลังนี้ก็เคยคับแคบ (ดูจากรูปแล้ว คุณผู้อ่านคงสงสัยว่าไม่เห็นจะแคบเลย ออกจะใหญ่ปานนี้) พื้นที่ใช้สอยในบ้านหลังนี้เคยมีขนาดหนึ่งในสามของที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก่อนที่จะมีลูกๆ พวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวชั้นเดียวหลังเล็กได้อย่างสบายๆ แต่เมื่อลูกๆ(สามคน)เริ่มโตขึ้น ความต้องการพื้นที่ก็มีมากขึ้น เจ้าของบ้านจึงบอกกับสถาปนิกว่า “จะให้ขายแล้วย้ายออกไปอยู่บ้านใหญ่นอกเมือง คงทำไม่ลง เราอยากต่อชั้นสอง” เรื่องราวหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร กว่าจะมาเป็นบ้านหลังนี้ พวกเขาต้องทำอะไรกันบ้าง คุณแอนดรูว์ นิมโม่ สถาปนิกที่เราเคยนำเสนอผลงานมาแล้วกำลังจะเล่าให้เราฟังเป็นฉากๆครับ
“ที่ไม่พอก็ต้องต่อเติม” ฟังดูเหมือนเป็นการแก้ปัญหาบ้านคับแคบที่ง่ายที่สุด คุณแอนดรูว์เท้าความถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจ็คท์นี้ว่า “ลูกค้าโทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องการต่อเติมชั้นสองของบ้านชั้นเดียวที่ทั้งแคบทั้งเก่า ผมได้ยินแล้วรู้สึกสนใจ และคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสทำให้บ้านเก่าหลังนี้กลับมากระชุ่มกระชวยอีกครั้ง
“เมื่อออกแบบคอนเซ็ปต์เสร็จเรียบร้อย ผมก็นำแปลนไปขออนุญาตที่สำนักงานเขตเทศบาล แต่น่าเสียดายที่คณะกรรมการตรวจสอบไม่อนุมัติการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของบ้าน เพราะบ้านหลังนี้อยู่ในเขตอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่า เราก็เลยคอตก อกหัก แต่ก็เข้าใจ”
“ปรับปรุงได้ แต่ห้ามเปลี่ยนแปลง” แม้จะถูกปฏิเสธกลับมาด้วยคำพูดนี้ แต่ทั้งสถาปนิกและลูกค้าก็ยังไม่ยอมแพ้ กลับมานั่งประชุมโต๊ะกลม (ผมจินตนาการเอาเอง) เพื่อร่วมกันตีความของคำว่า “อนุรักษ์” ก่อนตัดสินใจรักษาส่วนหน้าของบ้านให้เป็นชั้นเดียวเหมือนเดิม แต่ต่อเติมชั้นสองบนครึ่งหลังของบ้านที่มองไม่เห็นจากด้านหน้า ไอเดียนี้ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการของเทศบาลเป็นอย่างดี “เท่านั้นยังไม่พอเจ้าของบ้านยังได้ขอซื้อบ้านข้างๆด้วย เขาอยากให้เชื่อมบ้านทั้งสองหลังเข้าด้วยกัน” สถาปนิกเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น “การแก้ปัญหาบ้านแคบจึงเป็นเรื่องรองทันที โจทย์ใหม่ของเราก็คือ จะรวมบ้านสองหลังบนที่ดินสองผืนให้กลมกลือนเหมือนเป็นบ้านเดียว และยังต้องอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าไว้ด้วยได้อย่างไร”
“รวมกันเราอยู่ (ไม่ต้องย้าย)” คือคอนเซ็ปต์ของบ้านหลังนี้ การซื้อบ้านข้างๆอาจไม่ใช่ทางออกของทุกครอบครัวในการแก้ปัญหาเรื่องบ้านแคบ แต่ในกรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะโดยมากครอบครัวในเมือง
ซิดนีย์ที่ต้องการขยับขยาย มักจบด้วยการต่อเติม(เท่าไหร่ก็ไม่พอ)หรือไปสร้างบ้านใหม่นอกเมือง งานออกแบบบ้านใหม่อาจเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่โจทย์แปลกๆอย่างนี้สถาปนิกที่ไหนจะปล่อยให้หลุดมือไปง่ายๆ “ผมตื่นเต้นกับโจทย์ชิ้นนี้มาก การรวมบ้านสองหลังให้กลายเป็นบ้านหลังเดียว ต้องอาศัยการวางผังภายใน (Interior Planning)ที่ดี และการวางกลุ่มก้อนของตัวอาคาร (External Massing)ที่ลงตัว ซึ่งผมคิดว่ายากกว่าการออกแบบบ้านใหม่เสียอีก”
“หน้าไหว้หลัง…หยอก” คือคำพูดที่วิ่งเข้ามาในหัวผมเมื่อได้เห็นสถานที่จริง หลังจากพูดคุยกันที่สำนักงานของคุณแอนดรูว์จนผมพลอยรู้สึกตื่นเต้นไปกับเขาด้วย วันต่อมา เราก็มีโอกาสไปดูของจริง เมื่อเดินทางไปถึงเราเห็นบ้านชั้นเดียวสองหลังที่ไม่ใหญ่ไม่โต ยังดูไม่ออกว่าบ้านสองหลังนี้เชื่อมกันได้อย่างไร เพราะเรายังเห็นประตูทางเข้าสองทาง (หลังละบาน) “ประตูของบ้านด้านซ้ายไม่ได้ใช้งาน แต่เราเก็บไว้เพื่อรักษาลวดลายทางสถาปัตยกรรม และความทรงจำเก่าๆเกี่ยวกับบ้านทั้งสองหลัง” คุณแอนดรูว์อธิบายก่อนพาเราเข้าไปในบ้าน
ถ้าไม่ได้มาดูด้วยตัวเอง ผมคงไม่เชื่อว่านี่คือบ้านหลังเดียวกัน ภายในไม่ถึงกับโอ่อ่า แต่ห่างไกลจากคำว่า “คับแคบ” ลิบลับ หน้าบ้านดูเก่าแก่คลาสสิก แต่ข้างในกลับดูโมเดิร์นโก้เก๋… สถาปนิกเดินยิ้มก้มหน้า (มองออกว่าภูมิใจมาก) พาเดินดูบ้านต่อไป
“บ้านแฝดสยาม” ตัวติดกันที่สะโพก (Joined at the Hips)น่าจะเป็นคำอธิบายบ้านนี้ได้ดีกว่า “หน้าไหว้หลัง…หยอก” ส่วนหน้าของบ้านทั้งสองหลังมีหน้าตาละม้ายคล้ายกันเหมือนฝาแฝด ส่วนด้านหลังเป็นบ้านเดี่ยวสองชั้นสไตล์โมเดิร์นที่ดูกว้างขวาง มีรูปทรงไม่สมมาตรต่างจากด้านหน้าอย่างสิ้นเชิง มีการซ้อนทับของรูปทรงต่างๆจนได้เป็นเรขาคณิตที่ลงตัว และการใช้วัสดุอย่างผนังสังกะสีเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ “ด้านหน้าแสดงออกถึงความเป็นทางการ ความเคารพต่อเอกลักษณ์ของชุมชนเก่า ความสำรวม และความมั่นคง” คุณแอนดรูว์อธิบาย “แต่ด้านหลังแสดงถึงความทันสมัย สัจจะของวัสดุ ความเป็นกันเอง และความอบอุ่นในครอบครัว”
ความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองต้องการของเจ้าของบ้าน (ไม่ย้ายเด็ดขาด) ความฉลาดหลักแหลมในการแก้ปัญหาของสถาปนิก (บ้านแฝดสยาม) และโชค(ใช่ว่าใครจะซื้อบ้านข้างๆได้ง่ายๆ) เป็นสูตรสำคัญที่ทำให้บ้านนี้ออกมาสวยงาม พื้นที่ภายในลงตัว รูปทรงภายนอกก็ลงตัว และที่สำคัญบ้านหลังนี้ลงตัวกับเอกลักษณ์ของชุมชนตามที่เทศบาลต้องการ เจ้าของบ้านพอใจ คนออกแบบก็(แสนจะ)ภูมิใจ ส่วนเรา..ก็ดีใจที่ได้นำเสนอบ้านหลังนี้ครับ
เรื่อง : เจรมัย พิทักษ์วงศ์
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข , สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
ออกแบบ : Lahz Nimmo Architects