รางน้ำตัน ป้องกันได้ง่ายๆ
น้ำล้นทะลัก น้ำท่วมเจิ่งนองอยู่ภายในบริเวณบ้าน ส่วนใหญ่มักเกิดจากปัญหาการอุดตันตามบริเวณ รางน้ำฝน ท่อระบายน้ำ ช่วงฤดูฝน เนื่องจากขาดการดูแลทำความสะอาด หรือการป้องกันอย่างถูกวิธี
ก่อนที่หน้าฝนจะวนมาอีกครั้ง สิ่งที่จะตามมาพร้อมหน้าฝน ที่กระทบกับบ้านซึ่งมีมากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง รางระบายน้ำฝนจากหลังคา(rain drain) เป็นปัญหาที่พบบ่อยครั้ง ซึ่งอาจจะเกิดจากการทับถมของซากใบไม้แห้งที่ร่วงมาในทุกๆวันบนรางระบายน้ำ เป็นต้น คอลัมภ์นี้เรามีวิธีการแนะนำการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาดังกล่าว ก่อนอื่นขอนำรายละเอียดของรางระบายน้ำฝนมาขยายให้รู้จักกันก่อน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของมัน รวมถึงวิธีแก้ไข และการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตดังนี้
1. รางน้ำชายคา
เป็นแบบที่พบเห็นได้ทั่วไป ติดตั้งด้วยตะขอสำหรับแขวนรางไว้กับเชิงชาย รูปแบบนี้เมื่อมองจากภายนอกบ้านจะเห็นแนวรางน้ำชัดเจนตลอดชายคา หากรางน้ำไม่สวยหรือไม่เข้ากับตัวบ้านก็จะทำให้ความงามของบ้านดูด้อยไปด้วย รางน้ำตัน
2. รางน้ำชายคาแบบซ่อน
ดูคล้ายๆกับรางน้ำแบบแรก แต่เพิ่มกล่องไม้หรือใช้วัสดุทดแทนไม้เพื่อปิดบังหรือหุ้มรางน้ำไว้ ทำให้บ้านหรืออาคารดูสวยงามมากขึ้น
3. รางน้ำซ่อนในหลังคา
เป็นรางน้ำที่ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) ซ่อนอยู่ในความลาดเอียงของหลังคา เมื่องมองจากภายนอกจะเหมือนหลังคา 2 ชั้นไม่มีรางน้ำวิ่งตามชายคาแต่รูปแบบนี้จะยังมีน้ำฝนบางส่วนไหลตามธรรมชาติลงด้านล่างบ้าง
วิธีแก้ปัญหาและป้องกันรางน้ำตัน
ปัจจุบันรางน้ำฝนที่ติดตามแนวชายคาบ้านนั้นมีให้เลือกใช้หลายชนิด อาทิ รางน้ำที่ทำจากไวนิล เหล็กหรืออะลูมิเนียมเคลือบสี ซึ่งดูสวยงามมากกว่าสมัยก่อนที่ใช้สังกะสีและสเตนเลสพับขึ้นรูปแต่ไม่ว่าบ้านของคุณจะใช้รางน้ำแบบใด ปัญหาที่พบเหมือนๆกันก็คือ มักมีใบไม้กิ่งไม้แห้ง หรือเศษขยะเข้าไปอุดตันภายในราง โดยเฉพาะบ้านที่มีต้นไม้สูงหรือข้างบ้านมีต้นไม้เยอะๆ เศษใบไม้อาจปลิวมาอุดรางระบายน้ำ น้ำฝนจึงล้นรางไหลเข้าไปในฝ้าเพดาน ทำให้บ้านเกิดความเสียหายขึ้นได้
ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการทำตะแกรงมาครอบหรือปิดรางน้ำฝนไว้เพื่อป้องกันเศษใบไม้ไปอุดตันในราง แต่น้ำฝนยังไหลลงช่องระบายน้ำได้ ทั้งนี้เจ้าของบ้านสามารถทำได้เองไม่ต้องพึ่งพามืออาชีพให้ยุ่งยาก
เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็น
- ลวดตาข่ายหรือลวดกรงไก่พลาสติก
- กรรไกรหรือคีมตัดลวด
- ลวดเส้นเล็กหรือลวดผูกเหล็ก
- ตลับเมตร
- บันได
- ถุงมือ
- เกรียงโป๊
- สายล้างท่อ หรือ “งูเหล็ก” และเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง(ถ้ามี)
ขั้นตอนการทำงาน
- ทำความสะอาดรางน้ำฝน ด้วยการเก็บเศษใบไม้และเศษวัสดุที่ทำให้เกิดการอุดตันขึ้นภายในรางและท่อระบายน้ำ
2. ใช้เกรียงโป๊ขูดสิ่งสกปรกต่างๆ อาทิ เศษดิน เมล็ดพืชให้หลุดออกไปให้หมด
3. ใช้งูเหล็ก (ถ้ามี) ซึ่งเป็นสายเคเบิ้ลทะลวงสิ่งอุดตันต่างๆที่อยู่ภายในท่อระบายน้ำ โดยทำทั้งด้านบนลงล่างและด้านล่างขึ้นบน
4. ใช้สายยางฉีดน้ำหรือใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงก็ได้เพื่อล้างทำความสะอาดรางน้ำอีกครั้ง
5. เมื่อทำความสะอาดรางน้ำฝนเสร็จแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเศษใบไม้และเศษขยะเข้าไปอุดตันในรางน้ำฝนอีก ให้ใช้ตลับเมตรมาวัดขนาดความกว้างของตัวราง แล้วใช้กรรไกรตัดลวดตาข่ายให้กว้างกว่าเดิมเล็กน้อยเพื่อทำเป็นตะแกรงป้องกัน จากนั้นนำไปครอบหรือปิดที่ปากรางรับน้ำฝนตลอดแนวเพื่อความแข็งแรงและปลอดภัย ให้ใช้ลวดเส้นเล็กมายึดตะแกรงเข้ากับตัวรางน้ำด้วย(หากมีลมพัดแรงๆแผ่นตะแกรงจะได้ไม่ปลิวหลุดไป)
6. สำหรับความยาวของลวดตาข่าย ควรตัดให้มีขนาดเท่าๆกัน สักประมาณ 1-2 เมตร เพื่อให้ติดตั้งและซ่อมแซมได้ง่าย นอกจากนี้ยังดูสวยงามและเป็นระเบียบอีกด้วย
TIPS
- ไม่ควรใช้ข้อต่อ 90 องศาในการต่อท่อระบายน้ำฝนกับราง เพราะแรงกระแทกของน้ำอาจทำให้ข้อต่อนั้นหลุดได้
- หมั่นตัดกิ่งไม้ที่ยื่นเหนือหลังคาออกไป
- ควรทำความสะอาดหลังคารางน้ำฝนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีลมพัดแรง ทำให้มีปริมาณใบไม้สะสมมากเป็นพิเศษ