ธรรมชาติอันสมบูรณ์ใน ฟาร์มหอยทาก

ธรรมชาติอันสมบูรณ์ในฟาร์มหอยทาก

จากความสนใจในเรื่องหอยทากของ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มานานกว่า 30 ปี ผ่านผลงานวิจัยที่ต่อยอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายใต้แบรนด์สยามสเนล (Siam Snail) และสเนลเอท (Snail 8) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง ฟาร์มหอยทาก เชิงนิเวศ Siam Snail Eco Farm แห่งแรกในเอเชียบนพื้นที่ 10 ไร่ในย่านหนองจอก กรุงเทพฯ ที่รายล้อมด้วยสวนซึ่งออกแบบอย่างสวยงามและเป็นธรรมชาติ

ฟาร์มหอยทาก

“แนวคิดในการออกแบบสวนแห่งนี้ไม่ได้ยึดเรื่องสไตล์หรือความสวยงามเป็นหลัก แต่จะเน้นไปที่การสร้างระบบนิเวศให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของหอยทาก ที่สำคัญคือการพัฒนาจัดการทรัพยากรที่อยู่ในโครงการให้สามารถอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์ยั่งยืน” คุณดอส-ปณัฐ สุมาลย์โรจน์ ผู้ออกแบบสวนแห่งนี้พูดถึงแนวคิดในการออกแบบ

พื้นที่โดยรอบมีคันดินและคลองล้อมอยู่เพื่อป้องกันน้ำจากภายนอกและช่วยระบายน้ำภายในสวน ด้านหน้าเป็นอาคารส่วนต้อนรับและนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับหอยทาก นอกจากนี้ในอนาคตยังเตรียมเปิดเป็นคาเฟ่ด้วย สวนในบริเวณนี้จะเน้นการจัดวางที่สวยงามแต่เรียบง่ายรับกับตัวอาคาร โดยเน้นสนามหญ้าและหญ้าประดับอย่างหญ้าน้ำพุและหญ้าเม็กซิกันเป็นหลัก ถัดมาเป็นบริเวณสวนขนาดใหญ่จัดในลักษณะคล้ายเกาะมีคูน้ำล้อมรอบ สำหรับเป็นพื้นที่ให้หอยทากชนิดต่างๆที่มีอยู่ประเทศไทยได้อยู่อาศัยแบบใกล้เคียงกับในธรรมชาติมากที่สุด ปัจจุบันเริ่มนำร่องเพาะเลี้ยงอยู่ 2 ชนิด คือ หอยทากนวล ซึ่งมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางมากที่สุด และหอยทากยักษ์แอฟริกันที่เจริญเติบโตเร็วและทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ด้านหลังถัดจากโรงเรือนสำหรับพักและรีดเมือกหอยทากเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ ซึ่งสันนิษฐานว่ามีการขุดขายหน้าดินไปจนขยายกลายเป็นบึง ทำให้น้ำหรือตะกอนต่างๆที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบตกลงมาสะสมและไม่มีทางระบายออกสู่แหล่งน้ำอื่น พอน้ำนิ่งนานเข้าก็เริ่มขาดออกซิเจนและสะสมความเค็ม ทำให้ดินที่อยู่รอบๆได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ท้าทายสำหรับการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวที่สมบูรณ์

“จุดเด่นของพื้นตรงนี้คือมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ราวครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมด เดิมตั้งใจจะใช้น้ำในบ่อเพื่ออุปโภคและรดน้ำต้นไม้ภายในโครงการ แต่หลังจากเข้าไปสำรวจคุณภาพน้ำก็พบว่าน้ำมีความกร่อยและมีประจุโซเดียมในปริมาณมากและมีออกซิเจนในน้ำน้อย ประกอบกับบ่อน้ำไม่มีที่ระบายน้ำออกสู่ภายนอก    น้ำจึงไม่เกิดการหมุนเวียน มีสารตะกอนสนิมตกค้างในปริมาณมาก ก่อให้เกิดการอุดตันตามท่อและเป็นคราบสีแดงบนพื้น เราสามารถแก้ไขโดยการติดตั้งกังหันน้ำเพื่อเติมออกซิเจน และกรองน้ำด้วยระบบกรองแบบเดียวกับที่ใช้กรองพวกสารแขวนลอยในสระเลี้ยงปลาและใส่ถ่านดักเอาไว้เพื่อช่วยดูดกลืนสารพิษ” คุณดอสเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการจัดการพื้นที่แห่งนี้ให้เราฟัง

เรื่องดินก็เป็นปัญหาสำคัญเช่นกัน ดินที่นี่เป็นดินเหนียว จึงไม่ระบายน้ำ ประกอบกับน้ำที่มีประจุโซเดียมมากทำให้เกิดปัญหาในการปลูกต้นไม้ วิธีบรรเทาปัญหาคือการใช้โดโลไมท์ (สารปรับสภาพดินและโครงสร้างดิน) ร่วมกับปุ๋ยคอกและปุ๋ยพืชสดผสมกับหน้าดิน ส่วนใต้ดินลึกลงไปประมาณ 60 เซนติเมตรฝังท่อเป็นแนว โดยเฉพาะใต้ตุ้มดินของต้นไม้ใหญ่สำหรับระบายน้ำจากการรดน้ำต้นไม้ซึ่งซึมสู่ใต้ดินได้ยากให้มีที่ระบายออกสู่คันคลองที่ขุดไว้รอบที่ดินทั้งสองด้าน ก่อนปล่อยออกสู่บึงน้ำธรรมชาติด้านหลัง พร้อมกับปลูกพืชตระกูลถั่วช่วยเพิ่มแร่ธาตุในดิน ประมาณ 6 เดือนจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าดินมีความร่วนขึ้น นอกจากนี้สภาพอากาศที่ร้อนในตอนกลางวันก็เป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิตของหอยทาก ซึ่งชอบอยู่ในที่ร่มและชุ่มชื้น จึงจำเป็นต้องเลือกปลูกต้นไม้ใหญ่ที่ทนต่อสภาพอากาศร้อนและเติบโตได้ในพื้นที่ที่อาจมีน้ำท่วมขังในระยะเวลาหนึ่ง อย่างเช่น ตีนเป็ดน้ำ ตีนเป็ดฝรั่ง หลิวลู่ลม และจามจุรี โดยยกตุ่มรากลอยเหนือหลุมขุดครึ่งหนึ่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทเข้ารากได้ เมื่อปลูกไม้ยืนต้นชุดแรกสำเร็จจนพ้นระยะวิกฤตไปได้ ก็สามารถสร้างร่มเงาและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงหอยทากได้ในที่สุด

หลายคนอาจมองว่าสิ่งมีชีวิตอย่างหอยทากไม่ได้มีคุณค่าสำคัญอะไร แต่หากขยับออกมามองในมุมมองที่กว้างขึ้น สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ก็เป็นฟันเฟืองที่ช่วยในกระบวนการย่อยเศษใบไม้จนกลายเป็นปุ๋ย และจากปุ๋ยที่อุดมสมบูรณ์ในดินก็ส่งต่อให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโตให้ร่มเงาและความสุขแก่ฝูงนก และสิ่งมีชีวิตอีกมากมาย รวมถึงตัวเราด้วย

อ่านต่อ : DEVA FARM – “สมาร์ทฟาร์มฮอปส์” แห่งแรกในไทย

 

สถานที่ : Siam Snail Eco Farm หนองจอก

ออกแบบ : บริษัทเพอโกล่าร์ จำกัด โดยคุณปณัฐ สุมาลย์โรจน์ โทรศัพท์ 086-327-9983 www.pergolar.com

 

เรื่อง: “ปัญชัช”

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, สังวาล พระเทพ