พักกาย พักใจ ในสวนเมืองร้อน-บ้านและสวน

พักกาย พักใจ ในสวนเมืองร้อน

“กรุงเทพฯ นั้น เต็มไปด้วยรถรา มองไปทางไหนก็มีแต่ตึกรามบ้านช่อง มีป่าคอนกรีตขึ้นแทนต้นไม้ การได้พบเจอธรรมชาติเป็นสิ่งที่ผมโหยหา จึงได้เป็น สวนเมืองร้อน อย่างที่เห็น”

นั่นคือความในใจที่เจ้าของบ้านหลังนี้บอกกับเรา สวนเมืองร้อน บนเนื้อที่ประมาณ 225 ตารางวา แบ่งเป็นที่พักอาศัย 100 ตารางวาที่เหลือใช้เป็นพื้นที่จัดสวน แม้เทรนด์การจัดสวนจะมีให้เลือกหลากหลาย ทว่า “สวนเมืองร้อน” ยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอบรรยากาศรอบตัวที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติของต้นไม้และสายน้ำ มีลมพัดโชยมาตลอดเวลา ชวนให้รู้สึกน่าพักผ่อน จึงเป็นความต้องการหลักของเจ้าของบ้าน

สวนเมืองร้อน

คุณไห – ทินกร ศรีวัฒนะธรรมา ผู้ออกแบบสวนเล่าว่า “ตอนผมเข้ามาจัดสวนนี้ เจ้าของบ้านอยู่อาศัยมาได้ประมาณ 6 ปีแล้ว จึงพอมีพื้นที่สวนอยู่บ้าง ความต้องการหลักคืออยากได้อารมณ์แบบสวนป่า มีธารน้ำตก ศาลานั่งเล่น และพื้นที่กิจกรรมของสมาชิกในครอบครัว ผมออกแบบให้ทั้งบ้านและสวนมีความต่อเนื่องกัน เริ่มจากเพิ่มร่มเงาให้บริเวณหน้าบ้านที่ต้องโดนแดดตลอดทั้งวัน โดยปลูกปาล์มหางกระรอก ไม้ทรงสูงฟอร์มสวยงาม ดูแลง่าย ที่สำคัญใบไม่ร่วงมาก ตลอดแนวรั้วเลือกปลูกคริสตินาเพื่อบังสายตาจากภายนอก สร้างความรู้สึกเป็นส่วนตัวให้ผู้ใช้งานในสวน ตบท้ายด้วยการปลูกไม้พุ่มและไม้คลุมดินอย่างหมากผู้หมากเมีย พุดศุภโชค เข็มชมพู คล้า และเฟินใบมะขาม ให้มีความต่อเนื่องกัน บริเวณนี้เคยเป็นสนามหญ้า นอกจากต้องคอยตัดแต่งเป็นประจำแล้ว ในช่วงฤดูฝนยังค่อนข้างเฉอะแฉะ เจ้าของบ้านจึงขอเปลี่ยนมาปูแผ่นหินทรายแทน เพื่อการดูแลรักษาได้ง่าย เลยหาเฟอร์นิเจอร์สนามมาจัดเป็นมุมนั่งเล่นในสวนเพิ่ม

ถัดไปเป็นศาลานั่งเล่นริมธารน้ำตก ผู้ออกแบบใช้สะพานเชื่อมพื้นที่ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสกับบรรยากาศระหว่างทางได้ยินเสียงน้ำ เห็นความเคลื่อนไหวของน้ำและปลาคาร์พสีสันสวยงามที่กำลังแหวกว่ายไปมา เราหยุดยืนตรงหน้าทางเข้าศาลาซึ่งออกแบบให้มีลักษณะเปิดโล่งรับลมได้ทุกทิศทาง แต่บนเพดานก็มีการติดตั้งพัดลมเสริมด้วย ถือเป็นจุดพักผ่อนที่มองเห็นวิวสวนได้รอบ แม้แดดข้างนอกจะร้อน แต่เมื่อเข้ามานั่งในศาลากลับรู้สึกเย็นสดชื่นมาก เจ้าของบ้านเองก็ยังยืนยันว่า

“ทุกครั้งที่ใช้งานไม่ว่าจะเป็นมุมไหนของสวนเหมือนกับการได้พักกายและใจไปพร้อมกัน แต่ละวันที่ออกไปทำงานต้องเจอเรื่องราวมากมาย เมื่อทำงานเหนื่อยกลับมา บรรยากาศเหล่านี้มีส่วนช่วยเติมพลังชีวิตให้พร้อมลุกขึ้นต่อสู้กับวันพรุ่งนี้ เพราะคงไม่มีสถานที่พักผ่อนใดจะดีเท่ากับบ้านของเราอีกแล้ว ทุกครั้งที่ก้าวเข้าไปยังสวนจะรู้สึกเหมือนว่าเราหลุดเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่ง เสียงนกร้องหรือเสียงน้ำเป็นเสียงของธรรมชาติที่ฟังกี่ครั้งก็ไพเราะ นอกจากนี้ยังมีสัตว์อย่างกระรอกและนกแวะเวียนมาเที่ยวเล่นในสวน พลอยทำให้เราได้สังเกตพฤติกรรมของสัตว์เหล่านี้ ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเห็นกันบ่อยๆ ในเมืองหลวง ดังนั้นการดึงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตจึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการออกแบบสวนแห่งนี้ครับ

ถัดจากศาลามีโรงจอดรถคั่นระหว่างกลางพื้นที่สวน จากเดิมที่เป็นพื้นสนามหญ้าก็เปลี่ยนเป็นพื้นบล็อกปูหญ้า แต่เลือกปลูกหนวดปลาดุกแคระแทนการใช้หญ้า แล้วปลูกปาล์มยะวากับอินทผลัมเป็นหลังคาธรรมชาติ ช่วยบังแดดให้บริเวณนี้รวมถึงทางเข้าประตูหน้าบ้านด้วย เมื่อเดินไปยังอีกฟากหนึ่งเราจะเห็นชานไม้กว้าง เป็นพื้นที่เปิดโล่งรับลมทุกช่วงเวลา มีชิงช้าทำจากไม้เนื้อแข็งเอาไว้ให้ไกวเล่นตากลมเพลินๆ รวมถึงบ่อน้ำเล็กๆ ของเดิมแต่คุณไหจัดสรรให้ดูเป็นสัดส่วนมากขึ้น ตกแต่งด้วยโอ่งเซรามิกสีส้มให้สีสันตัดกับสีเขียวของหมากเขียว เศรษฐีไซ่ง่อน และเอื้องหมายนาด่างได้อย่างลงตัว

แม้หลับตาก็ยังสัมผัสได้ถึงความเคลื่อนไหวของใบไม้ สายลม และเสียงน้ำ ทำให้ผมลืมเรื่องมากมายที่คิดอยู่ในหัว และอยากทิ้งตัวลงนอนในสวนแห่งนี้ ถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เปี่ยมด้วยความสุขและสงบ เหมือนได้อยู่ในอ้อมกอดอันอบอุ่นของธรรมชาติอย่างไรอย่างนั้น

ออกแบบ – จัดสวน : บริษัทสวนสวยแลนด์สเคป จำกัด โดยคุณทินกร ศรีวัฒนะธรรมา

เรื่อง : “อิสรา สอนสาสตร์”

ผู้ช่วยกองบรรณาธิการ : อารียา อ่อยอารีย์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

อ่านต่อ : สวนป่าเล็กๆริมรั้ว 

อ่านต่อ : สาระพันปัญหาบ่อปลา